แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178


    ครั้งที่ ๑๗๘


    ท่านที่กำลังนั่งอยู่ มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรปรากฏให้รู้ มีลักษณะของรูปปรมัตถ์อะไรที่ปรากฏให้รู้

    ทางตา รู้รูปปรมัตถ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ทางหู รู้รูปปรมัตถ์ คือ เสียงที่กำลังปรากฏทางหู

    ทางจมูก รู้รูปปรมัตถ์ คือ กลิ่นที่กำลังปรากฏทางจมูก

    ทางลิ้น รู้รูปปรมัตถ์ คือ รสที่กำลังปรากฏทางลิ้น

    ทางกาย รู้รูปปรมัตถ์ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่กำลังปรากฏทางกาย

    แต่ถ้าจะให้ทรงอยู่เป็นท่าเป็นทาง มีลักษณะของรูปปรมัตถ์อะไรที่ปรากฏให้รู้ รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้แยกมหาภูตรูปทั้ง ๔

    แม้ทางกาย ฆนสัญญาจะหมดสิ้นไปได้ ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่ต่างกันของมหาภูตรูปทั้ง ๔ อย่างเช่น สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่เย็น เย็นเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนที่ลักษณะที่เย็น

    สติจะต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัด ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ปรากฏ ไม่ใช่นึกเฉยๆ โดยที่ไม่มีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏ และเข้าใจว่ารู้แล้ว รู้อะไร นอกจากนึกรู้

    ในคราวก่อน ได้พูดถึงผู้ที่แสวงหาพระอรหันต์ ไม่ว่าท่านจะคิดว่า ผู้ใดเป็นพระอรหันต์ ผู้ใดเป็นพระอนาคามี ผู้ใดเป็นพระสกทาคามี ผู้ใดเป็นพระโสดาบันก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นแสดงธรรมไม่ตรงกับพระธรรมวินัย ท่านยังจะคิดหรือยังจะเชื่อได้ไหมว่า ผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้า

    ถ. ฆนสัญญา หมายถึงแตกย่อยรูปหรือนามต่างๆ ให้กระจัดกระจายออกไปแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง ตามที่ผมเล่าเรียนมารู้สึกว่า ตรงกับที่ท่านอาจารย์บรรยาย แต่บางท่านอธิบายว่า ฆนสัญญาของท่านเป็นอย่างนี้ เช่น นั่งอยู่แล้วก็เปลี่ยนเป็นยืน ยืนอยู่เปลี่ยนเป็นเดิน เดินอยู่เปลี่ยนเป็นนั่ง อะไรอย่างนี้ นี่คือ ฆนสัญญาที่ท่านอธิบาย ก็รูปทั้งแท่งนั่นเอง เมื่อเปลี่ยนจากนั่งเป็นยืน นี่เป็น ฆนสัญญาแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจ ถามว่า จะให้รู้ได้อย่างไร จะรู้ลักษณะอะไรให้ปรากฏชัดออกมาว่าเป็นฆนสัญญา หรือว่าเป็นรูปอะไรในขณะที่นั่ง หรือท่าทาง ท่านบอกเอาท่าทาง ถามว่า ท่าทางมีลักษณะอะไรที่ปรากฏให้รู้ได้ ทีแรกท่านบอกว่า รูปนั่งนี้วิการรูป ก็ท้วงท่านว่า วิการรูปพิจารณาไม่ได้ เป็นสติปัฏฐานไม่ได้ ท่านก็บอกว่าให้รู้ท่าทาง ถามว่า ท่าทางมีลักษณะอะไร ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเอาลักษณะ เมื่อไม่เอาลักษณะแล้ว จะเจริญสติปัฏฐานกันท่าไหน ก็ซักไซ้ไล่เลียงกัน แต่ก็ยังไม่ได้รู้ว่า ฆนสัญญาของท่านนั้นจะแตกย่อยอย่างไร

    อาจารย์บางท่านอธิบายว่า เช่น ยกมือแค่นี้ ยกขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง รูปเดิมหายไปแล้ว รูปใหม่เกิดขึ้นแล้ว ยกขึ้นอีกนิดหนึ่งก็มีรูปใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ คือทั้งแท่งนี่แหละ มือทั้งมือนี่แหละ แต่เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง รูปเก่าก็ไม่มีแล้ว เป็นรูปใหม่

    ท่านยกตัวอย่างว่า เวลาก้าวเดิน ก้าวไปทีละนิดๆ เท้าที่แกว่งไป รูปเดิมหายไปเรื่อย มีแต่รูปใหม่เกิดขึ้น ก็ทั้งแท่งนี่เอง ยังไม่เข้าใจชัดว่า คืออะไรกันแน่

    สุ. ไม่ว่าเรื่องที่ยกมือขึ้นนิดหนึ่ง รูปเก่าก็หายไป ยกขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง รูปเก่าก็หายไป มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรที่ปรากฏ จากก้าวหนึ่งไปสู่อีกก้าวหนึ่ง มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรปรากฏให้รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตนที่เคยยึดถือรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะอิริยาบถนั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คือ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป สภาพของปรมัตถธรรมที่จะให้ปัญญารู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าปรากฏแล้วหมดไป ต้องมีลักษณะที่ปรากฏแล้วหมดไปให้รู้

    ทีฆนิกาย มหาวรรค ชนวสภสูตร อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ชนวสภสูตร มีข้อความว่า

    ข้อว่า ทำไว้ในใจโดยอุบายแยบคาย คือ มนสิการด้วยสามารถว่า เป็นอนิจฺจํ เป็นต้น โดยอุบาย ปถ โดยคลอง การณโต โดยการณะ

    เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ จะเรียกว่า อุปายมนสิการ ปถมนสิการ ก็ได้

    ได้แก่การรำพึงทางจิต หรือได้แก่ สมันนาหาร ซึ่งแปลว่า นำมาพร้อม นำมาทั้งหมด มาพิจารณา ตามสัจจานุโลมว่า อนิจฺเจ อนิจฺจํ อสุเภ อสุภํ ทุกฺเข ทุกฺขํ อนตฺตนิ อนตฺตา

    ซึ่งหมายความว่า เห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นความไม่งามของสภาพธรรมที่ไม่งาม เห็นความเป็นทุกข์ของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป การที่จะชื่อว่า โยนิโสมนสิการ เพราะพิจารณา รำพึงถึงความไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมีลักษณะปรากฏว่าไม่เที่ยง เย็นเมื่อสักครู่นี้ที่กระทบปรากฏนิดหนึ่ง หมดแล้ว ไม่เที่ยง

    โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณารู้สภาพปรมัตถธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป

    รูปนั่ง ทั้งกลุ่มทั้งก้อนที่เป็นท่าเป็นทาง มีลักษณะอะไรที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง เย็นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง แต่ท่านั่ง หรือท่านอน หรือท่ายืน หรือท่าเดินก็ตาม มีลักษณะอะไรที่ปรากฏว่าไม่เที่ยงบ้าง เย็นยังปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง เสียงยังปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง แต่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ไม่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น จะไปโยนิโสมนสิการในสิ่งที่ไม่มีลักษณะปรากฏ แล้วจะไปรู้ว่าไม่เที่ยงนั้นไม่ได้

    ถ. คำว่าไม่เที่ยง สมมติว่า นั่งอยู่แล้วเปลี่ยนเป็นลุกขึ้นยืน ความไม่เที่ยงก็เกิดขึ้น เพราะนั่งอยู่ไม่ได้แล้ว จึงต้องลุกขึ้นยืน หรือว่ายืนอยู่อย่างนี้ก็ไม่เที่ยงอีก จะต้องเปลี่ยนเป็นเดิน อะไรอย่างนี้ จะเรียกว่าไม่เที่ยงหรืออย่างไร

    สุ. ยังไม่เปลี่ยน กำลังยืนอยู่อย่างนี้จะไม่เที่ยงอย่างไร ที่จะปรากฏให้โยนิโสมนสิการว่า สภาพนั้นไม่เที่ยง อย่างทางตา สติระลึกขณะที่กำลังรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางจมูกได้กลิ่น ก็ปรากฏความไม่เที่ยงของทางตาแล้ว คือ ถ้าทางตายังเที่ยงอยู่ กลิ่นย่อมปรากฏไม่ได้ มีลักษณะที่ปรากฏแล้วว่าไม่เที่ยง

    ไตรลักษณ์ไม่ใช่แยกกัน สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นไม่งาม สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่แยกว่า ท่านผู้นี้รู้ทุกข์ ก็ไม่รู้ความเกิดดับ ไม่รู้สภาพความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของนามของรูปอะไรเลย มีแต่ทุกข์ นั่งเมื่อย นอนเมื่อย ยืนเมื่อย เดินเมื่อย นั่นไม่ใช่ทุกขลักษณะที่เป็นอริยสัจจะ ถ้ารู้ทุกข์อย่างนั้นไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะไม่รู้ว่าสภาพที่เป็นเวทนา เป็นความรู้สึกปวดเมื่อยนั้น ไม่เหมือนกับสภาพอื่นที่เป็นนามอื่นเป็นรูปอื่นแต่ละชนิด ซึ่งเกิดแล้วก็ดับๆ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    บางท่านกล่าวว่า รูปนั่งเป็นทุกข์ แต่ต้องนานๆ หน่อย คือ ต้องนั่งเสียนานจนเมื่อย แล้วก็เป็นทุกข์ แต่ว่าทุกขลักษณะไม่ใช่ต้องนั่งนานจึงจะปรากฏความเป็นทุกข์

    ทุกอย่างที่เกิดปรากฏเป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏแต่ละทาง แต่ละลักษณะ เกิดปรากฏแล้วหมดไป นั่นเป็นทุกขลักษณะ เป็นไตรลักษณะ เป็นสภาพธรรมที่ผู้ใดรู้ชัด ก็จะทำให้ละคลายกิเลสและรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และกว่าจะประจักษ์สภาพความเกิดขึ้นและดับไปเป็นอุทยัพพยญาณได้นั้น ความรู้ต้องทั่ว ต้องละเอียด ต้องชัดเจน

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาของ วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ ตอนจบของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    กัมมัฏฐานให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการได้ด้วยสติและสัมปชัญญะ อีกประการหนึ่ง สติและสัมปชัญญะเป็นอุบายบริหารกัมมัฏฐาน

    ท่านคงจะได้เคยฟังเรื่องการบริหาร การรักษา การเจริญกัมมัฏฐาน ไม่มีอะไรเลยนอกจากสติและสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อจะได้รู้ชัดขึ้น ชินขึ้น ถ้าไม่ชัด ไม่ชิน ก็ละ ก็คลายไม่ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ได้สมถะ คือ ความสงบ ด้วยสามารถกายานุปัสสนาก็ด้วยสติ ได้วิปัสสนาก็ด้วยสัมปชัญญะ พึงทราบว่า ท่านกล่าวผลแห่งภาวนาไว้ ก็ด้วยการกำจัดอภิชฌาและโทมนัส

    เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่มีวิธีอื่น นอกจากระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏให้รู้ ที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็ปรากฏให้รู้ด้วย

    ถ. ถ้าเปรียบเป็นปรมัตถธรรม ถ้าขณะนั้นจิตระลึกรู้จิตที่รู้นามธรรมที่รู้รูปนั่ง อย่างนี้จะเรียกว่ารู้ปรมัตถธรรมได้ไหม

    สุ. สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ผู้เจริญสติจะระลึกรู้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญารู้ชัด และรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ถูก

    อย่างเช่น ถามท่านว่า กำลังทำอะไร ท่านอาจจะตอบว่า กำลังนั่ง เป็นความรู้เพราะความทรงจำ เหมือนเห็นกระเป๋า ถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นกระเป๋า ถ้าเห็นเก้าอี้ก็ตอบว่าเห็นเก้าอี้ หรือเก้าอี้จะล้มนอนลงไป ท่านก็ยังมีความทรงจำในลักษณะอาการของสิ่งนั้นอยู่ แต่ผู้ที่เจริญสติละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดถึงอนุสัย ที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางถูกต้องตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นมีความทรงจำรู้ว่า รูปกำลังทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนั้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นที่จำได้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะปรมัตถธรรมจริงๆ ในขณะนั้นไม่ใช่รูป แต่เป็นนามธรรม เป็นความทรงจำ เพราะฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานท่านจะทราบว่า ท่านรู้ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

    มีท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันได้บอกให้ทราบว่า รู้ ลักษณะของสัญญาขันธ์มากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนี้หลงลืมสติ ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะนี้ที่จำได้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แท้ที่จริงก็เป็นสภาพของนามธรรมที่จำได้ในสิ่งนั้นในสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ละเอียด รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง

    ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ แต่จิตที่ทรงจำได้ จิตที่จำได้ในขณะนั้นมีจริง ผู้ที่เจริญสติจึงรู้ว่า แม้ขณะที่รู้อย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับไป และก็มีลักษณะปรมัตถธรรมจริงๆ ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่เที่ยง มีลักษณะที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ เป็นปรมัตถธรรมอย่างถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริงนั้น ไม่มี สภาพใดเป็นนามธรรมก็รู้ชัดในนามธรรมนั้น สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ชนิดใด ประเภทใด รู้ได้ทางใด เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ระลึกรู้ ตรง ชัด ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่สับสน ไม่คลาดเคลื่อน

    สิ่งที่ไม่มี ก็ไม่มี อย่างท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งไม่มี ก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ความทรงจำ ความรู้ว่า ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอาการอย่างไร มี เพราะฉะนั้นสภาพที่จำได้เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่ารู้ผิดๆ ถูกๆ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เชตวนสูตร ที่ ๘ มีข้อความว่า

    อนาถบิณทิกเทพบุตรได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลสรรเสริญพระเชตวันวิหาร

    ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า

    เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรม โดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น

    ข้อความใน อรรถกถาสารัตถปกาสินี อธิบายว่า

    ข้อว่า พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ คือ พึงเลือกเฟ้นธรรม ได้แก่ ขันธ์ ๕ ด้วยอุบาย

    สิ่งที่ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ไม่มีลักษณะปรากฏ หลงไปพิจารณา และก็ไม่มีความเกิดดับปรากฏเลย ย่อมไม่ทำให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ที่มีลักษณะไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงได้ ถ้าใครไปหลงพิจารณาสิ่งที่ไม่มี และหวังจะให้สิ่งนั้นดับลงไป ให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    และอนาถปิณฑิกเทพบุตร ก็ยังได้กล่าวว่า

    เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น

    ทำไมอนาถบิณฑิกเทพบุตรจะต้องมากล่าวคาถาอย่างนี้ด้วย ถ้าไม่ใช่เพื่อเตือน เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังให้ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่ตรงที่จริงว่า จะต้องเลือกเฟ้น ไม่ใช่ว่าไม่เลือกเฟ้นธรรม ปฏิบัติไปผิดๆ ถูกๆ ย่อมจะหมดจดไม่ได้ในธรรมเหล่านั้น

    เพื่อประกอบความเข้าใจของท่านผู้ฟังหลายๆ ประการ ให้ได้พิจารณา เลือกเฟ้นธรรมด้วยตัวของท่านเอง ขอกล่าวถึงข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ที่เป็นข้อความเรื่องเอกายนมรรค ซึ่งเป็นทางเดียว ไม่เป็นทางสองแพร่ง คือ ไม่แบ่งเป็นสอง

    ข้อความอธิบายว่า

    ทางเป็นที่ไปที่เดียว ชื่อว่า เอกายนะ

    ที่เดียว คือ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ไม่เป็นไปในที่อื่น นั่นประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง มรรค คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

    มรรคที่ชื่อว่า เอกายนะ เพราะถึงที่แห่งเดียว แม้จะเป็นไปโดยมุขะต่างๆ โดยนัยแห่งภาวนาต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น แต่ในกาลต่อมาก็ถึงที่เดียว คือ พระนิพพานนั่นเอง

    สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามต่างๆ ของรูปต่างๆ ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งความจริงไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไร และไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้ชัด รู้ทั่ว และถึงพระนิพพานได้

    นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นญาณเบื้องต้น เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จะต้องรู้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม และต้องทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เสมอกันจริงๆ จึงจะถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นญาณที่เป็นเครื่องแสดงความสมบูรณ์ของ ตีรณปริญญา

    ตีรณ แปลว่า พิจารณา ปริญญา คือ ความรู้ที่พิจารณาทั่วในนามในรูปจนกระทั่งนามและรูปทั้งหมดเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นโสภณธรรม อโสภณธรรมอย่างใดๆ ก็ตาม เพราะจะต้องทราบว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สมบูรณ์ด้วยปัจจยปริคหญาณ และประจักษ์ความเกิดดับสืบต่อกันเสียก่อน ถึงจะประจักษ์สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปโดยความรู้ชัดของอุทยัพพยญาณได้

    เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยที่จะกล่าวว่า ไม่ให้รู้ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริง นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สิ่งที่ไม่มี ไม่ควรที่จะเอามายึดถือว่ารู้ หรือว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าตรวจสอบทานได้ทั้ง ๓ ปิฎก

    และท่านที่แสวงหาพระอริยเจ้า ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า ผู้ใดแสดงธรรมไม่ตรงกับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ผู้นั้นจะเป็นพระอริยเจ้าได้ไหม มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา เป็นธรรมที่ตรวจสอบทาน เทียบเคียงพิจารณา ตามสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ด้วย

    ทางตามีอะไรที่มีลักษณะไม่เที่ยง ปรากฏแล้วหมดไป ทางหูมีอะไรที่มี ลักษณะไม่เที่ยง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งนั้นๆ แหละเป็นสิ่งที่สติควรที่จะระลึก เพราะว่ามีสภาพที่ไม่เที่ยงปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่สิ่งใดที่ไม่มีลักษณะ ไม่สมควรที่จะไประลึก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564