แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141


    ครั้งที่ ๑๔๑


    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจคำว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติระลึกได้แม้ในขณะนี้ แม้ในขณะที่กำลังขับรถยนต์ แม้ในขณะที่กำลังหลบหลีกอันตราย ทุกอย่าง ขณะนี้เจริญสติอย่างไร เวลาขับรถยนต์ก็เจริญอย่างนั้น แม้ขณะที่กำลังหลบหลีกอันตราย ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมทั้งนั้น สติจะต้องระลึกรู้แม้นามธรรมในขณะนั้น แม้รูปธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต กำลังมีสุขเวทนา ทุกขเวทนา ก็เป็นสิ่งปกติที่สติระลึกได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    เวลาที่กำลังรับประทานอาหาร มีก้างไหม มีกระดูกไหม และมีการหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากการรับประทานสิ่งที่ทำให้เกิดโทษนั้น สภาพนามธรรมรูปธรรมในขณะนั้นสติระลึกได้ไหม มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องมีตัวมีตนแทนที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ขณะที่กำลังหลบหลีกอันตรายนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    ใครที่ปล่อยชีวิตให้เป็นอันตราย นั่นไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติ

    เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สี เสียง ซึ่งธรรมดาก็มีปรากฏ แต่ผู้ที่เจริญสติ แทนที่จะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต สติก็เกิดขึ้น กั้นกระแสของโลภะ โทสะ โมหะ เพราะระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    นี่เป็นความต่างกันของปุถุชนกับพระโสดาบันบุคคล หรือเป็นความต่างกันของผู้ที่ไม่ได้เจริญสติกับผู้ที่เจริญสติ ผู้ที่ไม่เจริญสติก็เดินไปพร้อมๆ กับผู้ที่เจริญสติ ผู้ที่ไม่เจริญสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามรูป โลภะ โทสะ โมหะเต็ม ไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นสติก็เกิดได้ ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แต่ผู้ที่เข้าใจ การเจริญสติปัฏฐานเดินไปด้วยกัน สติของผู้นั้นระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ หลบหลีกอันตรายเหมือนกัน แต่รู้ลักษณะว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

    ดังนั้น ตลอดชีวิตในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และก่อนที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคล การเจริญสติไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นปกติ ไม่ใช่ว่าขณะที่หลบหลีกอันตรายเป็นตัวเป็นตนจึงจะหลบหลีกอันตรายได้ ถ้าโดยวิธีนี้จะไม่เป็นพระโสดาบันบุคคลได้เลย เพราะเหตุว่ายังรู้นามและรูปไม่ทั่ว แม้ในขณะที่หลบหลีกอันตรายก็ไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า มีผู้เป็นห่วงว่า การเจริญสตินี้จะคลาดเคลื่อนไป เพราะเหตุอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการดูแลหรือควบคุมอยู่ ผมเองยังไม่เข้าใจว่า คลาดเคลื่อนนั้น คลาดเคลื่อนอย่างไร สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาปริยัติเลย ก็ต้องมีผู้คอยแนะนำ แต่ถ้าศึกษาปริยัติให้เข้าใจแล้ว เมื่อเจริญสติจำเป็นหรือที่จะต้องมีผู้มาแนะว่า จะต้องเจริญอย่างนั้นหรืออย่างนี้ นั่นถูกนี่ผิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติไม่มีปัญญาที่จะตัดสินด้วยตนเองหรือกระไรที่ว่า จะคลาดเคลื่อนไป

    สุ. ท่านผู้ฟังที่เป็นห่วง คือ ห่วงการปฏิบัติของท่านว่า จะคลาดเคลื่อนจากเหตุผลที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าจะให้มีผู้มาควบคุมท่าน ท่านไม่ได้ต้องการให้มีใครมาควบคุม แต่ท่านเกรงว่า ถ้าท่านเข้าใจข้อปฏิบัติผิด การปฏิบัติของท่านก็จะคลาดเคลื่อน

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจข้อปฏิบัติ พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเพื่ออุปการะให้ผู้ฟังเกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก แล้วการปฏิบัติที่ถูกก็เกิดขึ้น เพราะมีความเห็นถูกในข้อปฏิบัตินั้นแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องมีบุคคลไปควบคุม แม้พระผู้มีพระภาคเอง หรือว่าพระอัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านก็อนุเคราะห์พุทธบริษัทด้วยการแสดงธรรมให้ผู้นั้นเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ความดำริ การตรึกก็ถูก การกระทำก็ถูก ข้อประพฤติปฏิบัติก็ถูก เพราะเข้าใจถูกนั่นเอง เมื่อบุคคลใดมีความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้นั้นก็เจริญมรรคมีองค์ ๘ ได้ถูกต้อง

    . สติกับสติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไร

    สุ. สติเป็นโสภณธรรม เป็นสภาพที่ระลึกได้ ในขณะที่กำลังให้ทาน ก็มีสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ในการให้ขณะนั้น ในขณะที่กำลังวิรัติจากทุจริต ขณะนั้นสติก็เกิดขึ้นเป็นไปในศีล ดังนั้น สติที่เป็นไปในทาน คือ ในขณะที่กำลังให้ทาน สติที่เป็นไปในศีล คือ ในขณะที่เกิดขึ้นวิรัติทุจริต หรือในขณะที่จิตใจไม่สงบแล้วรู้ว่า สภาพของอกุศลจิตนั้นไม่ควรจะสะสมให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ระลึกไปในการให้จิตสงบ ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณบ้าง หรือว่าศึกษาธรรม พิจารณาธรรมให้จิตสงบบ้าง ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในความสงบ แต่ทั้งหมดนั้น ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังให้ทาน มีสติที่เป็นไปในทาน แล้วยังสามารถเจริญสติที่เป็นสติปัฏฐานได้ โดยที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร กำลังรู้รสอะไร กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือว่ากำลังคิดนึก

    ถ้าเห็นอุบัติเหตุ และไม่เคยฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเลย ในขณะนั้นจิตใจจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอกุศลจิตอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะที่กำลังเห็นอสุภะ ซากศพ หรือว่าอุบัติเหตุ ในขณะนั้นมีเวทนา ความรู้สึกเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น สติระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพของความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น ในขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานแล้ว

    ตลอดทั้งวันก็มีเวทนา ความรู้สึกต่างๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส คิดนึกต่างๆ มีกาย มีรูปมีนามทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติทราบว่า ขณะใดสติปัฏฐานเกิดขึ้น และขณะใดที่หลงลืมสติ

    ความเมตตาก็เป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตน ความกรุณาก็เป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายดีก็ไม่ใช่ตัวตน ธรรมฝ่ายไม่ดีก็ไม่ใช่ตัวตน ผู้ที่จะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้ คือ สติที่กำลังระลึกลักษณะที่กำลังเกิดปรากฏ แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรม หรือเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกวันๆ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสะสมการที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน จนกระทั่งปัญญาสามารถเพิ่มขึ้น รู้ชัดจนกระทั่งถึงผล คือ การรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลได้ในวันหนึ่ง แล้วแต่ว่าเหตุจะสมควรแก่ผลเมื่อไร ซึ่งถ้าสะสมเจริญเหตุที่ถูกต้องแล้ว ใครก็กั้นผล คือ การรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ให้เกิดไม่ได้เลย ต้องเกิดแน่ ถ้าสติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเจริญสติได้เป็นปกติธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งสิ้น

    แต่ที่เจริญไม่ได้เพราะอะไร ขอให้ผู้ที่เจริญไม่ได้คิดใคร่ครวญ แล้วกำจัดเครื่องกั้นที่ว่า ทำไมจึงเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะมีความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ เพราะมีความต้องการผลอย่างมากมาย ชักพาให้ไปสู่การไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    มีผู้เจริญสติปัฏฐานหลายท่านกล่าวว่า แต่ก่อนนี้ท่านก็เคยเจริญสมาธิ มีความสงบมาก แต่พอท่านเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ฟังแนวทางเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า อายตัวเองเหลือเกิน เพราะว่าใครจะรู้จักใจตนเองดีเท่ากับผู้ที่เจริญสติย่อมไม่มี ตามธรรมดาทุกท่านก็มีโลภะ โทสะ โมหะ ในลักษณะที่ต่างๆ กัน สะสมกันมามากมาย แต่ท่านไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ตัวของท่านมีความน่ารังเกียจ เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะที่กำลังเกิดขึ้นและปรากฏ แต่เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีอะไรมาปิดบัง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็กล่าวว่า อายตัวเองมาก เพราะมีความไม่ดีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นจะรู้ไม่ได้ แต่ตัวเองรู้ได้

    ถ้าใครจะกล่าวว่า รู้จักท่านผู้ใดผู้หนึ่งดี ก็ไม่จริงเท่ากับบุคคลผู้นั้นเองที่กำลังเจริญสติจึงจะสามารถทราบว่า จิตใจของท่านน่าอายสักเท่าไรขณะที่เป็นไปในอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ตรง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเพศใด ถ้าท่านมีศรัทธาที่จะละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต ท่านจะต้องตรงต่อศรัทธาที่มั่นคงของท่านที่สละละการครองเรือนจริงๆ หรือว่าการประพฤติอย่างฆราวาสจริงๆ แล้วก็เจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ขัดเกลาด้วยธรรมวินัย จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นผู้ตรง ฆราวาสที่ยังไม่ละอาคารบ้านเรือน ก็ต้องตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าจะน่าอายแต่สติก็ระลึกว่า เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะสะสมมาตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    นี่เป็นหนทางเดียวที่จะละอกุศลต่างๆ ที่ท่านสะสมมาให้ลดคลายและบรรเทาไปได้ เพราะมีหลายท่านได้มาเล่าให้ฟังว่า ในอดีตท่านเคยเป็นผู้ที่ถือตัวจัด โทสะกล้า ทั้งกิริยา ทั้งวาจา ทุกอย่างหมด ท่านเจริญสมาธิสามารถที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่ท่านกล่าวว่า ถ้าท่านยังขืนติด หรือว่ามีมานะ มีความทะนงตนในสภาพของจิตที่สงบ สามารถที่จะรู้แจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้แล้วละการที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นความพอใจ เป็นความต้องการ เป็นการติดในสภาพธรรมที่ท่านมีสมาธิดี

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการติดมีมากมายเหลือเกิน มีตั้งแต่อย่างหยาบๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปจนถึงกระทั่งอารมณ์ที่ละเอียด ดังนั้น หนทางเดียวที่จะละได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะน่าติดสักแค่ไหนก็ตาม คือ สติระลึกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นก็ดับ สติก็ดับ เพราะฉะนั้น ปรารภสติ สติเกิดอีก ระลึกอีก รู้ลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด แล้วก็ละได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท เพราะว่าการเจริญปัญญาแล้วต้องละ ไม่ใช่ต้องติด

    ตัวอย่างการเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเพศใด ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร เป็นเรื่องของท่านอริฏฐภิกษุซึ่งมีความเห็นผิดว่า ธรรมที่เป็นอันตรายิกธรรม เป็นธรรมซึ่งทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน ๕ ประการนั้น ไม่เป็นธรรมที่ทำอันตรายได้จริง

    สำหรับอันตรายิกธรรม ๕ คือ

    ธรรมประการที่ ๑ คือ กรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ และภิกขุณีทูสกกรรม คือ การประทุษร้ายภิกษุณี

    ธรรมประการที่ ๒ คือ กิเลส ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดที่ดิ่ง)

    ธรรมประการที่ ๓ คือ การปฏิสนธิ ได้แก่ การเกิดของพวกบัณเฑาะก์ สัตว์เดรัจฉาน และอุภโตพยัญชนกะ

    ธรรมประการที่ ๔ อริยุปวาทะ คือ การกล่าวร้ายพระอริยะ

    ธรรมประการที่ ๕ อาณาวีติกกมะ คือ อาบัติที่ภิกษุแกล้งต้องทั้ง ๗ กอง ตราบใดที่ยังปฏิญาณว่าเป็นภิกษุ หรือยังไม่ออกจากอาบัติ หรือยังไม่แสดง ก็ย่อมเป็นเครื่องกั้นทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เมื่อยอมรับแล้ว ก็หาทำอันตรายไม่

    นี่เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ถึงธรรมที่เป็นอันตราย ๕ ประการ แต่ว่าอริฏฐภิกขุมีความเห็นผิดว่า ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ที่ส้องเสพได้จริง

    ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทนี มีว่า

    ภิกษุรูปนี้ คือ ท่านพระอริฏฐภิกขุนี้เป็นพหูสูตร เป็นธรรมกถึก รู้อันตรายิกธรรมที่เหลือ แต่เพราะไม่ฉลาดในวินัย จึงไม่รู้อันตรายิกธรรม คือ การก้าวล่วงพระบัญญัติ ดังนั้นเธอไปในที่ลับ จึงคิดอย่างนี้ว่า

    บุคคลผู้ครองเรือนเหล่านี้ บริโภคกามคุณ ๕ อยู่ เป็นโสดาบันก็มี เป็น สกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี ถึงพวกภิกษุเห็นรูปที่จักษุจะพึงเห็นได้อันน่าชอบใจ ถูกต้องโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้ได้ด้วยกาย ใช้สอยเครื่องปูลาด นุ่งห่มอันอ่อนนุ่มทั้งหมดนั้น ก็ย่อมควร เหตุไรเล่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของพวกหญิงเท่านั้นจะไม่ควร แม้รูปเป็นต้นนั้น ก็ย่อมควร เธอ (คือ ท่านอริฏฐภิกขุ) ครั้นเทียบเคียงรส ด้วยรสอย่างนี้แล้ว จึงทำการบริโภคอันมีฉันทราคะ และการบริโภคอันปราศจากฉันทราคะ ให้เป็นอันเดียวกัน

    คือ ท่านคิดว่า เมื่อคฤหัสถ์ประพฤติปฏิบัติแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระสกทาคามีได้ เป็นพระอนาคามีได้ เพราะฉะนั้น แม้บรรพชิตก็ย่อมจะเสพได้ ความคิดผิดของท่าน ความดำริผิดของท่านที่ไม่ทราบฐานะความเป็นจริงของความต่างกันระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ต่างกันมากในการที่สละละอาคารบ้านเรือนด้วยศรัทธาที่มั่นคง ที่จะประพฤติมรรคพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สิ้นเชิง

    ความดำริของท่านที่ผิดไปเช่นนี้ เหมือนกันกับเอาเส้นด้ายอันละเอียดไป เปรียบกับเปลือกปออันหยาบ เธอมาทำ คือ เปรียบให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนกับเอาเขาสิเนรุเข้าไปเปรียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด อันทิฏฐิอันชั่วช้าให้เกิดขึ้นว่า ปฐมปาราชิกที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วด้วยความอุตสาหะอันใหญ่ ราวกะว่ากั้นมหาสมุทรไว้ ยังจะมีอยู่หรือ โทษในข้อนี้ไม่มี ซึ่งความดำริเช่นนี้ขัดแย้งกับ พระสัพพัญญุตญาณ ปฏิเสธเวสารัชญาณ ใส่เสี้ยนหนามเป็นต้นเข้าไปในอริยมรรค ให้การประทุษร้ายในอาณาจักรของพระผู้มีพระภาคว่า โทษในความประพฤติอย่างฆราวาส คือ การประพฤติของคนคู่ในเมถุนธรรมนั้นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้น คือ อริฏฐภิกขุ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า

    เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว และเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่าเป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง

    นี่เป็นความละเอียดของสราคจิต หรือโลภมูลจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่ ปุถุชนไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิตจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วประพฤติตามเพศตามความเป็นจริงที่ถูกต้องด้วย ถ้าบรรพชิตที่สละอาคารบ้านเรือนไปแล้วจะประพฤติอย่างฆราวาส จะไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวจริงๆ เป็นการหลอกลวง ไม่ได้ตรงต่อความคิดที่จะสละละอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง แต่จะมาเปรียบเทียบกับเพศฆราวาส ซึ่งเทียบกับบรรพชิตไม่ได้เลย เหมือนกับการเอาด้ายที่ละเอียดมาเปรียบกับเปลือกปอ เอาเขาสิเนรุมาเปรียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ เจริญสติปัฏฐาน อริยมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของฆราวาสก็จะต้องตรงต่อสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีโลภะเท่าไร โทสะเท่าไร ทางกาย ทางวาจาเป็นอย่างไร ก็เป็นปกติที่ได้สะสมมา

    การที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ มีทางเดียวเท่านั้น คือ สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงของท่าน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๑๔๑ – ๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564