แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147


    ครั้งที่ ๑๔๗


    ธรรมที่ทรงแสดง ไม่ได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่สัตว์โลกจะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ว่าทรงแสดงธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดยากที่จะรู้ได้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของธรรมทั้งปวง ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    และการปฏิบัติธรรม ก็ไม่ใช่ปฏิบัติผิดไปจากการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นเรื่องปกติธรรมดา การเจริญสติเพื่อรู้สภาพธรรมที่ลึกซึ้ง ที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังดับไป แต่ว่ายาก เพราะเป็นการทวนกระแสความต้องการ คือ โลภะ เพราะความต้องการชักพาทำให้วนไปโน่นบ้าง นี่บ้างตลอดเวลา ไม่ทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ดังนั้นหนทางเดียวจริงๆ ที่ละตัณหา ที่ละความต้องการในนามในรูปทั้งปวงได้ ก็คือสติเกิดขึ้นทันที ไม่เลือกว่าอยู่ในสถานที่ใด ไม่เลือกว่าขณะไหน ไม่เลือกอารมณ์ใด เพราะทรงแสดงไว้ว่า เอกายนมรรค คือ สติปัฏฐาน การเจริญสติเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญาเริ่มรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนมากขึ้น เพิ่มขึ้น

    ถ. นักศึกษาท่านหนึ่งเคยเข้าปฏิบัติที่สำนักวิปัสสนาแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับรูปนั่ง นอน ยืน เดิน ท่านก็ยืนยันว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินมีจริง ปรากฏชัดจริงๆ ผมก็เรียนถามท่านว่า ที่ว่าปรากฏชัดนั้น อะไรปรากฏ ท่านก็บอกว่าอาการ คือ ท่าทางนี่แหละ และท่านก็วนไปวนมา เลยยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร

    สุ. การเจริญปัญญานั้น จะต้องรู้ลักษณะสภาพของรูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกัน ละคลายการยึดถือความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ถ้ายังควบคุมประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ตราบใด ความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ว่าวัตถุสิ่งนั้นเที่ยงก็ต้องมีอยู่ เมื่อไม่กระจัดกระจายก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังประชุม ยังรวมกันอยู่

    ขอกล่าวถึงใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายสูตร

    ซึ่งครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้พญารัง ในสุภควัน เขตเมืองอุกกัฏฐา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปริยายอันเป็นมูลของธรรมทั้งปวง

    ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า

    ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้สภาพธรรม แต่ยินดียึดถือในสภาพธรรม เช่น ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนแข็ง

    มีใครบ้างไหมที่ไม่รู้ลักษณะที่อ่อนที่แข็ง ทุกคนรู้ในลักษณะที่อ่อนที่แข็งในสภาพที่อ่อนแข็งนั้น แต่ยึดถือ สำคัญโดยความเป็นของเรา รูปของเราหรือเปล่า อ่อนแข็งก็จริง แต่ก็ยึดถือโดยความเป็นของเรา และข้อความต่อไปก็กล่าวถึงสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    แม้ย่อมรู้สัตว์โดยความเป็นสัตว์ แต่ย่อมสำคัญในสัตว์

    ต่อไปก็เป็น ในเทวดา ในพรหม ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในอารมณ์ที่ได้ทราบ ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ ในสักกายะโดยความเป็นอันเดียวกัน ใน สักกายะโดยความต่างกัน

    เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีปรากฏ อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว เสียง สี กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ แต่มีความสำคัญในสิ่งนั้นโดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็นเรา โดยความเป็นของเรา

    ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทนี อธิบายพยัญชนะเหล่านี้ จะขอยกมาบางตอน ซึ่งมีว่า

    ทิฏฺฐํ กล่าวว่า เป็นชื่อของรูปายตนะ รูปารมณ์

    เห็นรูปารมณ์ด้วยสุภสัญญาและสุขสัญญา และให้เกิดฉันทราคะในรูปายตนะนั้น ชื่อว่า ชื่นชมยินดีรูปายตนะนั้น

    เห็นสิ่งต่างๆ เห็นรูปารมณ์ รูปารมณ์ที่มากระทบตาก็เป็นรูปายตนะ เวลาที่เห็นของที่สวยๆ งามๆ มีความรู้สึกว่าเป็นสุข เห็นวัตถุแก้วแหวนเงินทองต่างๆ ความจริงรูปนั้นปรากฏชั่วขณะที่เป็นรูปายตนะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น แต่ก็ชื่นชมยินดีในรูปายตนะ ในรูปารมณ์ ในสิ่งที่กำลังเห็นนั้น นี่เป็นประการหนึ่ง คือ เมื่อเห็นแล้ว ก็เกิดความชื่นชมยินดีด้วยตัณหาหนึ่ง

    ย่อมสำคัญรูปารมณ์นั้น ด้วยความสำคัญแห่งมานะ

    วันหนึ่งก็เห็นกันมากมาย เห็นทั้งเราเอง เห็นทั้งบุคคลอื่น แต่ว่าย่อมสำคัญรูปารมณ์ด้วยความสำคัญแห่งมานะ

    เพราะเมื่อเห็นสมบัติและวิบัติของรูปของตนและผู้อื่นแล้ว ให้เกิดมานะขึ้นว่า เราดีกว่า เราเสมอเหมือน เราเลวกว่า

    แล้วแต่ว่าเราจะเกิดมานะในลักษณะใด นี่เป็นประการหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง ย่อมสำคัญรูปายตนะว่าเที่ยง ยั่งยืน ด้วยอำนาจทิฏฐิ

    สิ่งที่กำลังเห็นนี้ไม่ดับเลยใช่ไหม กำลังเห็นกันอยู่ทุกคนๆ เวลานี้ ถ้าไม่เห็นการเกิดขึ้นและดับไปก็ด้วยอำนาจของทิฏฐิหนึ่ง ซึ่งในเรื่องของรูป ไม่ใช่แต่เฉพาะที่เห็นด้วยตาเนื้ออย่างเดียว ยังสำคัญรวมไปถึงสิ่งที่เห็นด้วยตาทิพย์

    สำหรับ สุตํ ก็โดยนัยเดียวกัน

    สุตํ ในที่นี้หมายถึงเสียง ที่ได้ยินด้วยโสตะและทิพพโสตะ ถึงมีทิพพโสตะได้ฌานอภิญญาสมาบัติสามารถรู้เสียงที่ไกล เสียงที่เป็นทิพย์ แต่ก็ยังมีความยึดถือสำคัญตนด้วยมานะได้ หรือว่ายึดถือด้วยความยินดี เพลิดเพลินด้วยอำนาจของความชื่นชมยินดีด้วยตัณหาได้ หรือด้วยอำนาจของทิฏฐิที่ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของเสียงนั้นได้

    ข้อต่อไป คือ มุตํ เป็นชื่อของกลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ส่วน วิญญาตํ เป็นสภาพธรรมที่รู้ด้วยใจอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะรู้ด้วยตา หรือด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย

    ที่สำคัญของสูตรนี้ คือ ตอนท้ายของ มูลปริยายสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสมูลปริยายนี้จบแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมิได้ชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

    ท่านผู้ฟังคงจะได้เห็นความละเอียดลึกซึ้งของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้พระภิกษุที่ท่านได้ฟังแล้ว ถ้าอินทรีย์ไม่แก่กล้า ท่านก็มิได้ชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    อรรถกถาสารัตถปกาสินี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นกุลปิตาสูตร มีข้อความว่า

    บทว่า ปริยุฏฺฐฏฺฐายี ความว่า เป็นผู้ดำรงอยู่โดยอาการที่ถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำ เป็นผู้ที่ยึดถืออย่างหนักแน่นด้วยตัณหา ทิฏฐิ อย่างนี้ว่า รูปํ อหํ มมํ รูปเป็นเรา รูปเป็นของเรา แม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน

    สำหรับสักกายทิฏฐิ ได้ทรงจำแนกเป็นอุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ คือ ถ้ามีอุจเฉททิฏฐิก็เป็นสักกายทิฏฐิ และถ้ามีสัสสตทิฏฐิก็เป็นสักกายทิฏฐิด้วย

    ถ้าท่านผู้ฟังพบพยัญชนะเรื่องตัณหา ๑๐๘ คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ รวมเป็นตัณหา ๓ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ ๖ คือ เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รวมเป็นตัณหา ๑๘ ตัณหาเหล่านี้เป็นไปในภายใน ๑๘ ภายนอก ๑๘ รวมเป็น ๓๖ และตัณหาเหล่านี้เป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ ก็รวมเป็นตัณหา ๑๐๘

    . ได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายทางวิทยุ มีข้อความตอนหนึ่งว่า ผู้ฟังจะต้องพิจารณาด้วยความแยบคายว่า ท่านได้เจริญข้อประพฤติปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้หรือเปล่า คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง รู้ว่าขณะนี้สติกำลังระลึกสภาพที่เป็นนามธรรมหรือว่าสภาพที่เป็นรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ คือ ไม่ต้องนึกว่า ขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา หรือขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางหู ไม่ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ต้องนึกอย่างนี้ ที่ว่าไม่ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ต้องนึกอย่างนี้ ผมสงสัยที่จะไม่ให้ระลึกชื่อทางตาหรือทางหู ไม่ให้เอ่ยชื่อนั้น แล้วจะให้ระลึกรู้อย่างไร

    สุ. การนึกคิดห้ามไม่ได้ แต่ท่านผู้ฟังจะต้องสังเกต สำเหนียก ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใดว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน อย่างขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องนึกเป็นชื่อเป็นคำออกมาว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา คือ ไม่ต้องนึกอย่างนี้ก็มีเห็น

    เวลาที่นึกว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกที่สภาพรู้ทางตา แต่สติจะต้องรู้ว่า ที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นนามธรรมต่างชนิดกัน การเห็นกับความคิดนึกไม่เหมือนกัน และถ้าระลึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริง เป็นรูปธรรม ก็เพราะเหตุว่าสามารถปรากฏให้เห็นได้ ให้รู้ได้ทางตา

    ถ้าระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม กับการนึกขึ้นมาว่า ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา ถ้าระลึกอย่างนี้ สติก็จะต้องสำเหนียก สังเกต รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมที่คิด ไม่ใช่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

    แต่ไม่ใช่ห้ามคิด ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้เข้าใจละเอียดชัดเจนพอที่ว่า เมื่อสติระลึกแล้วก็จะได้ชินกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏชัดเจนถูกต้องขึ้นว่า ขณะนั้นเป็นนามอะไร เป็นรูปอะไร ที่คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งแต่ไม่ใช่เห็น เพราะถ้ากำลังเห็น ถึงไม่ต้องคิดสภาพที่เห็นก็มี

    ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เวขณสสูตร ที่ยกสูตรนี้มากล่าวเพราะบางทีท่านผู้ฟังได้ยินบ่อยๆ ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แต่ถึงแม้ว่าสภาพธรรมจะลึกซึ้งอย่างไร พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็อุปการะเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจทั้งขั้นของปริยัติและขั้นของปฏิบัติได้

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เวขณสสูตร มีข้อความโดยย่อว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนคร สาวัตถี เวขณสปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วเปล่งอุทานว่า

    นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร กัจจานะ ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง ดังนี้ ก็วัณณะอย่างยิ่งเป็นไฉน

    เวขณสปริพาชกกราบทูลว่า

    ข้าแต่ท่านพระโคดม วัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง

    ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า คำพูดของเวขณสปริพาชกนั้น เป็นคำพูดซึ่งลึกซึ้ง หรือไม่ลึกซึ้ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๑๔๑ – ๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564