แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146


    ครั้งที่ ๑๔๖


    อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร คือ จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทท่านพระราหุล เมื่อเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า

    ธรรมดาทารกกุมารา คนหนุ่ม และเด็กน้อยทั้งหลายย่อมพูดถ้อยคำที่ควรบ้าง ไม่ควรบ้าง ควรที่พระองค์จะทรงโอวาทแก่ท่านพระราหุล เพราะโทษใดๆ ที่มีอยู่เนื่อง ด้วยปาก เพื่อแสดงโทษนั้นให้เกิดความรังเกียจขึ้น เหมือนรังเกียจของสกปรก

    พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อทำภัตกิจแล้ว นั่งในที่พักกลางวัน ก็พึงพิจารณาว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นมาจนถึงนั่งในที่นี้ มีกายกรรม วจีกรรม ที่ไม่สมควรแก่ผู้อื่นอยู่บ้างหรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีอยู่ ก็พึงแสดงข้อที่ควรแสดง เปิดเผยข้อที่ควรเปิดเผย ถ้าไม่มี ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์

    ส่วนมโนกรรม พึงชำระในเวลาแสวงหาบิณฑบาต ชำระอย่างไร ชำระว่า ฉันทราคะ ปฏิฆะในรูป เป็นต้น ในที่แสวงหาบิณฑบาตวันนี้มีบ้างหรือไม่ ถ้ามี พึงอธิษฐานใจว่า จักไม่ทำเช่นนี้อีก ถ้าไม่มี พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์

    พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกในอดีต ก็ชำระแล้วอย่างนี้ ทั้งในอดีต อนาคต และแม้บัดนี้ก็ย่อมชำระอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลาย เมื่อศึกษาตามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เหล่านั้น ก็พึงศึกษาอย่างนี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการละตัณหาในปัจจัย ๔ การละฉันทราคะในกามคุณ ๕ การอาศัยกัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่มีคุณใหญ่ พระผู้มีพระภาคตรัสราหุลสังยุต เพื่อทรงแสดงว่า ไม่พึงทำฉันทราคะในภพทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคตรัสมหาราหุโลวาทสูตร เพื่อทรงแสดงว่า ไม่พึงทำฉันทราคะที่เป็นเคหสิตะ เพราะอาศัยอัตภาพของตัวเองว่าเรางาม

    สำหรับราหุลสูตรนั้น ไม่ควรกล่าวว่า ตรัสในกาลไหน คือไม่เจาะจงกาล จริงอยู่สูตรนั้น ตรัสเป็นโอวาท พร่ำสอนเนืองๆ

    แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญอินทรีย์มาแล้ว ก็ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา เพื่อการรู้แจ้งธรรม โดยระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย คือ ตั้งแต่ท่านพระราหุลบวชเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ และได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นก็จะต้องอบรมสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดขึ้นในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนท่านพระราหุลด้วยประการต่างๆ มากมายจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลนั้น หรือการที่ท่านพระสารีบุตรพร่ำสอนแก่พระภิกษุแต่ละองค์ๆ ตั้งร้อยตั้งพันครั้งจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลนั้น จะเปรียบเทียบกับสมัยนี้ได้ไหมว่า สมัยนี้ต้องไปสอบอารมณ์กับอาจารย์ที่สอน สติปัฎฐาน การไปสอบอารมณ์นี้จะเทียบกับสมัยของพระพุทธองค์ที่มีการสอบอารมณ์บ้างเหมือนกัน จะเปรียบเทียบกันได้ไหมครับ

    สุ. ในครั้งโน้น เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ปฏิบัติธรรม ถ้ามีความสงสัยประการใดก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม ในสมัยนี้ ท่านที่ฟังธรรมมีข้อสงสัยในข้อปฏิบัติก็เชิญถามได้ หรือจะสอบทานว่า ข้อปฏิบัตินั้นตรงกับปริยัติหรือไม่ ก็สอบทานได้ ถ้าไม่ตรงก็เป็นข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง แต่ข้อปฏิบัติเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าท่านไม่เจริญสติ ท่านจะไม่ทราบถึงตัณหา ความยินดี ความต้องการอย่างละเอียดที่มีฝังลึกอยู่ในใจของท่าน ที่ท่านย้ายจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาต้องการผลของการปฏิบัติ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเป็นฆราวาสที่พรั่งพร้อมด้วยวงศาคณาญาติ ท่านกล่าวว่า ตั้งแต่ท่านได้เจริญสติและฟังการเจริญสติปัฏฐาน ท่านอัดเทปแล้วฟังทบทวนด้วยความเข้าใจว่า ท่านได้เริ่มเข้าใจข้อปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน

    ในอริยสัจธรรมนั้นมีถึง ๓ รอบ รอบแรก คือ สัจจญาณ รอบที่ ๒ คือ กิจจญาณ รอบที่ ๓ คือ กตญาณ

    สำหรับรอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ หมายความถึงการฟังเรื่องของอริยสัจธรรม เรื่องของทุกขอริยสัจจ์ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สภาพใดเป็นทุกข์ นามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ชัด จะต้องรู้แจ้ง และท่านผู้นั้นก็รู้เรื่องของ สมุทยสัจจ์ คือ จะต้องละความต้องการยินดี วิธีที่จะละมีหนทางเดียวเท่านั้น เอกายนมัคโค คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วท่านจะถูกตัณหาพาวน โดยที่ท่านไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่า ขณะนั้นท่านต้องการอะไรหรือเปล่า

    ท่านผู้นั้นกล่าวว่า ชีวิตของท่านพรั่งพร้อมแวดล้อมไปด้วยวงศาคณาญาติ ท่านก็ถูกชักชวนให้ไปที่นั่น ให้ทำอย่างนี้ ให้เห็นสิ่งนั้น ให้เที่ยวที่นั่น ให้รู้อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องไปในวงสังคม ท่านต้องการที่จะปลีกตนเพื่อที่จะได้ฟังเทปและเจริญสติ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ความจริงที่คิดอย่างนั้น ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าในขณะที่ท่านรู้สึกว่าท่านเบื่อหน่าย ไม่อยากจะพบวงศาคณาญาติ แต่การที่ท่านจะไปพบใครหรือไม่ไปพบใคร ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจิตประเภทหนึ่งที่ทำให้ท่านกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม

    ในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้นก็ดี กำลังอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องมิตรสหายก็ดี สติควรจะระลึกลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ แทนที่จะกลุ้มใจเบื่อหน่าย เมื่อไปแล้วก็เกิดวิตก เบื่อ ไม่อยากจะพูดกับคนนั้น ไม่อยากจะพบกับคนนี้ อยากจะกลับไปบ้านเสียเร็วๆ จะได้ฟังเทป จะได้เจริญสติ

    แต่ทำไมสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นความต้องการอย่างละเอียด ซึ่งไม่ใช่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ในวันหนึ่งๆ มีท่านผู้ใดบ้างที่ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ในห้องน้ำ ในห้องนอน หรือว่าเวลารับประทานอาหาร บางครั้งที่ไม่มีญาติ ไม่มีมิตรสหาย ไม่มีแขก ท่านก็รับประทานอาหารตามลำพัง สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ้างไหม มากไหม ในชีวิตจริงๆ ขอให้ระลึกว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปมากไหม ในปีแรกๆ หรือในตอนเริ่มต้น แม้เป็นบรรพชิตอย่างท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคก็ยังต้องเสด็จมาทรงโอวาทที่จะไม่ให้กล่าวมุสา แม้เพื่อหัวเราะกันเล่น

    ทุกคนมีชีวิตจริงๆ ที่จะพิสูจน์สอบทานธรรมได้ว่า ท่านก็มีชีวิตที่อยู่ตามลำพังบางกาล บางเวลา แล้วสติเกิดบ่อยไหม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยไหม ถ้าสติเกิดไม่บ่อย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ไม่ว่าท่านจะเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้าน หรือท่านจะเป็นบรรพชิตอยู่ที่วัดวาอาราม ก็โดยนัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การเจริญสติจึงต้องเจริญให้มาก

    ถ. ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่ ๒ บรรพที่ยังไม่ชัดแจ้งนัก คือ ปฏิกูลมนสิการบรรพ และ นวสีวถิกาบรรพ

    ปฏิกูลมนสิการบรรพ ให้พิจารณาความไม่สะอาดต่างๆ ความไม่สวย ไม่งาม ความเป็นปฏิกูลต่างๆ ซึ่งความไม่สะอาดนี้จะเกี่ยวกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ประการใด

    อีกบรรพหนึ่งเกี่ยวกับอสุภะ เกี่ยวกับซากศพต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน สติจะระลึกรู้ลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวประการใด ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยชี้แจงให้ชัดด้วย

    สุ. เรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ถ้าเป็นส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกายแล้ว สติระลึกได้ในขณะนั้น ก็เป็นเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น ถ้าเห็นหัวใจ ตับ ปอด สะอาดหรือไม่สะอาด

    เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่สติระลึกส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จะเป็นภายนอกก็ได้ ภายในก็ได้ สิ่งที่ทำให้สติเกิดระลึกได้เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือ เมื่อเป็นเครื่องระลึก แล้วน้อมมาสู่ตน และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏก็ได้

    หรือถ้าจะกระทบสัมผัสปอด เคยยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นส่วนของกาย แต่ในขณะที่กระทบสัมผัส สติระลึกได้ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ผม เป็นส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกส่วนของกายว่าไม่สะอาด ไม่ใช่ระลึกที่อื่นว่าไม่สะอาด แต่ระลึกส่วนของกายว่าไม่สะอาด ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    คือ ส่วนใดก็ตามที่เป็นส่วนของกาย และสติระลึกที่ส่วนนั้น เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็รู้ชัดในสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นทางใด เมื่อระลึกแล้ว ธรรมปรากฏ และรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อาจจะเป็นกายที่กำลังกระทบกับผมก็ได้ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น เป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็งนั้น แล้วก็รู้ในสภาพนั้น ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าจะระลึกความรู้สึกที่กระทบก็ได้ แต่ตอนที่ระลึกนั้น ระลึกที่ส่วนของกายในเบื้องแรก เป็นการระลึกที่ส่วนของกาย

    จะเป็นอะไรก็ตาม แต่เป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่อสุภะ เห็นอสุภะ ก็เคยยึดถืออสุภะนั้นว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่อสุภะนั้นเป็นปัฏฐานให้สติระลึกได้เพราะอาศัยกาย คือ อสุภะนั้นๆ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานให้สติระลึก

    ที่ทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน ก็เพื่อที่จะให้ทุกอย่างที่มีจริงเป็นเครื่องให้สติระลึก แต่ถ้าระลึกในส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าส่วนนั้นเคยยึดถือว่าเป็นกาย แล้วระลึก ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    แต่ว่าทุกสิ่งที่มีจริง ควรที่จะให้สติระลึกเพื่อรู้ชัด จะระลึกที่ส่วนที่เป็นกาย ก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมใดๆ ก็ได้ แล้วปัญญาก็รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น

    ซึ่งเวลาที่เป็นปรมัตถ์ ต้องมีลักษณะของรูปและนามปรากฏตามความเป็นจริง

    . ผมยังข้องใจ เช่น “ผม” ทำไมจะต้องพิจารณาว่าไม่สะอาด มีหลักที่ไหนมา ในฐานะที่เป็นรูปหรือเป็นสังขาร เราก็พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตตาเท่านั้น ถ้าว่าไม่สะอาด ก็แสดงว่าเรายังมีกิเลสอยู่ ชอบสวย ชอบงาม อย่างปลาร้าจะว่าไม่สะอาดก็ได้ แต่ทำไมเราชอบกิน กลิ่นหอมๆ อย่างปลาร้า หอมอย่างกะปิ แต่ลิงจะว่าเหม็น ไม่มีหอมเลย ผมสงสัยอย่างนี้

    สุ. ชีวิตปกติธรรมดาคงจะไม่มีท่านผู้ใดปฏิเสธว่า หลงลืมสติเป็นอันมาก ยากเหลือเกินที่จะให้สติเกิดได้ เพราะมักจะเพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความนึกคิด แต่การที่สติจะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ถ้าอาศัยการที่เห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เพลิดเพลินไปด้วยโลภะ หรือไม่ได้เกิดจิตที่ไม่แช่มชื่นเป็นโทสะ แต่เกิดความสลดหรือสังเวชในความเป็นปฏิกูลของสิ่งนั้น ก็จะทำให้สติสามารถที่จะระลึกลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ท่านผู้ใดจะไม่ระลึกรู้สภาพที่เป็นปฏิกูล โดยที่สติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ลักษณะของนามและรูปในทันทีก็ได้

    ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีหลายนัย โดยไม่บังคับ โดยไม่กะเกณฑ์ว่า จะต้องอย่างนี้ หรือจะต้องอย่างนั้น แล้วแต่ท่านผู้ใดจะระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามเป็นรูปทันทีโดยไม่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลก็ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมาระลึกโดยความเป็นปฏิกูล แล้วแต่อัธยาศัยของบุคคลผู้นั้น แต่ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดสลด แล้วสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ได้

    ขอกล่าวถึง พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โพธิราชกุมารสูตร ว่า

    ดูกร ราชกุมาร อาตมาภาพนั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียดอันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ก็หมู่สัตว์นี้มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย ก็การที่หมู่สัตว์ผู้มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย จะเห็นฐานะนี้ได้โดยยาก คือ สภาพที่อาศัยกันเกิดขึ้น เพราะความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย แม้ฐานะนี้ก็เห็นได้ยาก คือ สภาพเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความปราศจากความกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ นิพพาน ก็เราจะพึงแสดงธรรม และสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่รู้ทั่วถึงธรรมของเรานั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นความลำบากเปล่าของเรา

    ดูกร ราชกุมาร ทีนั้นคาถาอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งกับอาตมาภาพว่า

    บัดนี้ยังไม่สมควรจะประกาศธรรมที่เราบรรลุได้โดยยาก ธรรมนี้อันสัตว์ทั้งหลายผู้ถูกราคะ โทสะครอบงำ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ทั้งหลายอันราคะย้อมแล้ว อันกองมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันยังสัตว์ให้ไปทวนกระแส ละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู ดังนี้

    ดูกร ราชกุมาร เมื่ออาตมาภาพเห็นตระหนักอยู่ดังนี้ จิตของอาตมาภาพ ก็น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม

    นามและรูปที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนี้ เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ในพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก ทั้งพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก สอบทานได้ว่า ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    การเห็นเป็นธรรมดา ทำไมทรงแสดงไว้เรื่องของการเห็น เรื่องของสี รูปารมณ์ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา เรื่องของสภาพที่รู้อารมณ์ทางตา การได้ยินมีอยู่ทุกวันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๑๔๑ – ๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564