แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179


    ครั้งที่ ๑๗๙


    ถ. ตามความเข้าใจของผม ยืนนิ่งๆ เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง อย่างผมยืนเฉยๆ นี่ก็ไม่เที่ยงในตัวของผมเอง ผมก็รู้ว่าตัวของผมเองก็ไม่เที่ยง

    สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ไม่ต้องเดินหรือขยับมือ เพียงแต่นั่งหรือยืนเฉยๆ ยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ยังไม่เคลื่อนไหว ก็ไม่เที่ยง

    แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องมีลักษณะปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และลักษณะนั้นไม่เที่ยง กำลังยืนอยู่หรือนั่งอยู่ ทางตาก็ไม่เที่ยง ทางหูก็ไม่เที่ยง ทางจมูกก็ไม่เที่ยง ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่เที่ยง สติจะต้องระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมแต่ละทาง ทีละทาง และรู้ในความไม่เที่ยงของปรมัตถธรรมแต่ละทางนั้น

    ถ. สิ่งที่ปรากฏทางใจนั้นมีแต่นาม หรือว่ามีรูปด้วย

    สุ. โคจรรูป คือ รูป อันเป็นที่ไปของจิต หรือว่าเป็นอารมณ์ เป็นที่รู้ของจิต มีทั้งหมดด้วยกัน ๗ รูป คือ

    สี สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นรูปที่รู้ได้ทางตา

    ทางหู เสียง เป็นโคจรรูป เพราะเหตุว่าปรากฏให้รู้ได้ทางหู

    กลิ่น เป็นโคจรรูป รู้ได้ทางจมูก

    รส เป็นโคจรรูป รู้ได้ทางลิ้น

    เย็น ร้อน ธาตุไฟ อ่อน แข็ง ธาตุดิน ตึง ไหว ธาตุลม เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย

    รวมโคจรรูป รูปที่เป็นอารมณ์ให้จิตรู้ได้ ๗ รูป

    ส่วนทางใจ เมื่อรู้รูปทางตา วิถีจิตทางตาดับแล้ว มโนทวารวิถีรับรู้สีที่ปรากฏทางตาต่อ เวลาที่ได้ยินเสียงทางหู จิตทางโสตทวารวิถีดับหมดแล้ว มโนทวารวิถีเกิดขึ้นเป็นจิตที่รับรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น รูปที่รู้ได้ทางใจ คือ รูปที่รู้ต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คือ โคจรรูปทั้ง ๗ นั้นเอง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ได้

    สำหรับ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ๗ รูป และปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท อีก ๕ รูป รวม ๑๒ รูป เป็น โอฬาริกรูป เป็นรูปหยาบ รูปอื่นที่เหลืออีก ๑๖ รูป เป็น สุขุมรูป

    ในสุขุมรูป ๑๖ ยังแบ่งอีกว่า รูปใดเป็นสภาวรูป คือ เป็นรูปที่มีลักษณะจริงๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุขุมรูป แต่ก็มีลักษณะปรมัตถ์จริงๆ หรือรูปใดไม่มีลักษณะของตนอีกต่างหาก เป็นแต่เพียงวิการ เป็นความวิการ ความอ่อน ความเบา ความควรของรูป หรือว่าเป็น ลักขณรูป คือ อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา คือ ลักษณะที่เริ่มเกิด ลักษณะที่สืบต่อ ลักษณะที่เสื่อม ลักษณะที่ดับของรูปที่เป็นสภาวรูป ซึ่งลักษณะที่เริ่มเกิด ลักษณะที่สืบต่อ ลักษณะที่เสื่อม ลักษณะที่ดับนั้น ไม่ใช่แยกต่างหากจากสภาวรูป

    เพราะฉะนั้น ในสุขุมรูป ๑๖ ยังแยกว่า รูปใดเป็นสภาวรูป และรูปใดเป็น อสภาวรูป ซึ่งวิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔ ปริจเฉทรูป ๑ รวม ๑๐ รูป เป็น อสภาวรูป ๑๐

    ขออ่านจดหมายที่เป็นคำถามจากท่านผู้ฟัง จากสำนักสอนพระอภิธรรม วัดป่าธรรมโสภณ จังหวัดลพบุรี เพื่อความแจ่มแจ้งของท่านผู้ฟัง เพราะเหตุว่าเป็นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ข้อความบางตอนมีว่า

    เรื่องการเจริญสมถะ แล้วยกขึ้นพิจารณาเป็นวิปัสสนา ตามปริยัติธรรมสอนว่า ผู้ที่เจริญสมถะแล้วพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ โดยความเป็นรูปนาม ดิฉันสงสัยว่า มิเป็นการพิจารณาธัมมารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารทางเดียวเท่านั้น มิได้พิจารณาอารมณ์ทางทวาร ๕ ด้วย จะถือว่าเป็นการรู้รอบ รู้ทั่วทุกทวารแล้วได้ไหม ตามปริยัติสอนว่า ผู้ที่จะได้มรรคผลครั้งแรก นอกจากพุทธะทั้ง ๒ แล้ว (คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑) ต้องได้รับฟังคำแนะนำสั่งสอนเสียก่อน แปลว่า ต้องมีหูไว้ฟัง เมื่อมีหู ก็ต้องมีรูปขันธ์ เมื่อมีรูปขันธ์ อิริยาบถใหญ่ ๔ ก็ต้องมีเป็นปกติตลอดวัน ไม่อิริยาบถใด ก็อิริยาบถหนึ่ง จึงควรเจริญสติ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะมาทางทวารใด ในขณะที่อยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ เพราะกิเลสที่จะละ คือ กิเลสที่เกิดตามทวารทั้ง ๖ นั่นเอง หาได้เกิดที่อิริยาบถไม่ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทวารทั้ง ๖ ก็รับอารมณ์ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องเลือกอิริยาบถนั้นอิริยาบถนี้

    ดิฉันเข้าใจเช่นนี้ จะถูกผิดอย่างไร อาจารย์โปรดแก้ไขด้วย

    สุ. นี่เป็นข้อสงสัยของท่านผู้ฟังที่ได้ฟังว่า ผู้ที่เจริญสมถะแล้วพิจารณาองค์ฌานโดยความเป็นนามรูป สงสัยว่า มิเป็นการพิจารณาธัมมารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารทางเดียวเท่านั้น มิได้พิจารณาอารมณ์ทางทวาร ๕ ด้วย จะถือว่าเป็นการรู้รอบ รู้ทั่วทุกทวารแล้วได้ไหม

    ไม่ได้ แม้ว่าผู้ใดจะเคยเจริญสมถภาวนามาแล้วก็ตาม แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว ทางตากำลังเห็น ไม่เจริญสติได้ไหม ทางหูกำลังได้ยิน ไม่เจริญสติได้ไหม ทางจมูกกลิ่นกำลังปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม กำลังรับประทานอาหาร รสปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม กำลังเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวปรากฏ ไม่เจริญสติได้ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ใช่ผู้เจริญสติแน่นอน

    เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้นามรูปทางมโนทวาร เป็นธัมมารมณ์เท่านั้น แล้วก็จะหมดกิเลสได้ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้แจ้งทั้ง ๖ ทาง ถ้าไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย จะรู้แต่เฉพาะธัมมารมณ์ทางมโนทวาร ไม่สามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้

    ขอให้พิจารณาถึงชีวิตตามความเป็นจริง เป็นไปได้ไหมที่จะมีฌานจิตเกิดตลอด โดยไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการรู้กลิ่น ไม่มีการรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่มีคิดนึก สุขทุกข์ใดๆ เลย เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเป็นไปไม่ได้ และสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง จะละอะไรได้ รู้นิดรู้หน่อย ละคลายไม่ได้แน่นอน

    สำหรับการเจริญสติปัฏฐานในภูมิที่ไม่มีขันธ์ ๕ เช่น อรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปธรรมเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้น ถ้าบุคคลใดไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เวลาไปเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ โดยไม่ใช่พระอริยเจ้า ไม่มีโอกาสที่จะเป็นพระโสดาบันเลย เช่น อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นต้น ไม่สามารถเป็นพระอริยเจ้าในอรูปพรหมบุคคลได้ เพราะว่าไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    การที่เคยไม่รู้ลักษณะของนามของรูป การที่เคยยึดถือนามรูปทั้งหมด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนิ่นนานมาสักเท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะปล่อยให้ยังไม่รู้อยู่ และจะไปเป็นพระอริยเจ้าโดยสติไม่ระลึกรู้นามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจโดยทั่วถึงนั้น เป็นไปไม่ได้

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้สอบทานกับพระไตรปิฎก ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พราหมณสูตร ซึ่งมีข้อความเรื่องโลกในพระวินัยของพระอริยเจ้า มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์เรื่องโลก ๒ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาค มีข้อความว่า

    ปูรณกัสสปะ เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญาณการรู้การเห็นโลกอันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด แม้นิครนถ์นาฏบุตรก็ปฏิญาณอย่างนั้นว่า เรารู้ เราเห็นโลกอันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด

    และพราหมณ์ก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คนทั้งสองต่างก็พูดอวดรู้ด้วยกัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ อย่าเลย ข้อที่คนทั้งสองนี้ต่างพูดอวดรู้กัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้ก่อนเถิด

    ดูกร พราหมณ์ เราจักแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ว่าใครที่มีจะมีฝีเท้ารวดเร็วสักปานใดในการเดิน ในการวิ่งก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะไปถึงที่สุดโลกได้ ย่อมตายเสียก่อน

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่า บุคคลจะพึงรู้ จะพึงเห็น จะพึงถึงที่สุดของโลกด้วยการวิ่งเห็นปานนั้น แล้วเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ก็ไม่ควรกล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า กามคุณ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงจะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจมูก รสจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยลิ้น โผฏฐัพพะจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้แล เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัด ตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของทุติยฌานเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ภิกษุนี้เรียกว่าได้ถึงที่สุดโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก แต่ชนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกได้แล้ว

    โลกในวินัยของพระอริยเจ้าได้แก่อะไร จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กายได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะไปรู้ธัมมารมณ์ทางมโนทวารเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องรู้ด้วยปัญญาตามความเป็นจริงของโลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ขออ่านซ้ำอีกครั้ง ที่ว่า

    ดูกร พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า

    ดูกร พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก

    นี่เป็นข้อความตอนหนึ่ง หมายความถึงในขณะที่ฌานจิตเกิด ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก เพราะว่าในขณะนั้นพ้นจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชั่วคราว

    แต่พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัด ตนไม่พ้นไปจากโลก

    เพราะอะไร เพราะการที่จะละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ โลกในวินัยของพระอริยเจ้านั้น ต้องละอย่างละเอียดมาก ไม่ใช่เพียงด้วยสมาธิที่เป็นฌานจิตที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน หรือแม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่สามารถที่จะสลัดตนให้พ้นจากโลกในวินัยของพระอริยเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ดูกร พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก

    ถึงแม้ว่าจะได้ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌานทั้งหมด และ อรูปฌานทั้งหมด ทั้งอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะสลัดตนให้พ้นไปจากโลกได้นั้น คือ ผู้ที่อาสวะสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริง จึงสามารถสลัดตนพ้นจากโลกได้

    ที่จะไม่รู้นั้น ไม่ได้ จะข้ามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่พิจารณา และคิดว่า เพียงแต่รู้ธัมมารมณ์ทางมโนทวารเท่านั้นก็สามารถที่จะเป็น พระอริยบุคคลได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าอวิชชาและตัณหาที่เคยพอใจและไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปนั้นมากมายเหลือเกิน

    พระอริยเจ้า ผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมด้วยความสมบูรณ์ของญาณ แต่ว่าสำหรับบุคคลที่ยังไม่รู้แจ้ง อะไรที่กั้นไว้ กำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยินอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ อวิชชากับตัณหาที่สะสมมามากมายเหลือเกิน เหนียวแน่นเหลือเกิน ปิดบังหุ้มห่อไว้ ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ทุกขณะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น นอกจากสติที่จะระลึกรู้แล้วละ ก็ไม่มีหนทางอื่นอีกที่จะละกิเลสได้ และต้องตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งมีลักษณะปรมัตถธรรมปรากฏให้รู้ด้วย

    อย่างพวกรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ แม้จะไม่มีฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ไม่มีทุกขเวทนา สุขเวทนาทางกาย แต่ยังมีจักขุปสาท มีโลกที่เห็นสีต่างๆ มีโสตปสาท มีโลกที่ได้ยินเสียงต่างๆ ทำให้สามารถรู้ชัดในโลกนั้น เพราะเป็นโลกที่เกิดแล้วดับ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปรากฏให้รู้ ให้ละได้

    ส่วนในภูมิที่มี ๔ ขันธ์ คือ มีแต่นามขันธ์ ๔ ไม่มีรูปขันธ์นั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลจากภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาต่อในอรูปพรหมภูมิได้ เพราะเหตุว่ารู้แล้ว ละแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นนามทางมโนทวารเท่านั้น สติก็ระลึก รู้ แล้วก็ละ เป็นเรื่องของการละต่อไป เพราะเหตุว่ารู้ทั่วแล้ว ถึงแม้ว่าในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปธรรม แต่ก็รู้แล้วว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ความสมบูรณ์ของปัญญาก็เกิด ทำให้บรรลุความเป็นพระอริยเจ้าขั้นต่อไปได้ เมื่อรู้แล้ว เป็นพระอริยเจ้าแล้วจากภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ถ. มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุตติ คือ รู้ผิด พ้นผิดนั้น เป็นอย่างไร

    สุ. ยังไม่พ้น ก็คิดว่าพ้นแล้ว ยังไม่ได้รู้ ก็คิดว่ารู้แล้ว ยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็คิดว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่รู้ลักษณะปรมัตถธรรมของรูป ของนามตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่ารู้แล้วในสิ่งที่ไม่มีลักษณะปรากฏ นั่นเป็น มิจฉาญาณ และถ้าเข้าใจว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็เป็นมิจฉาวิมุตติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564