แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151


    ครั้งที่ ๑๕๑


    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ในคราวทุพภิกขภัย คือ ในคราวที่มีก้อนข้าวอันหาได้ยากอย่างนี้ พวกท่านเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว ด้วยความเป็นผู้ประพฤติเบานี้ และด้วยธรรมอันเป็นเครื่องขูดเกลานี้

    ถามว่า ชนะวิเศษอะไร

    แก้ว่า ชนะทุพภิกขภัยได้ ชนะความโลภได้ ชนะความประพฤติด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาได้

    ถามว่า คืออย่างไร

    แก้ว่า คือว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่งย่อมไม่มีความคิด หรือความคับแค้นใจว่า เมืองเวรัญชานี้มีภิกษาหาได้ยาก แต่บ้านและนิคมในระหว่างโดยรอบแห่งเมืองเวรัญชานี้ มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนัก คือผล คือว่า มีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิดพวกเราไปที่บ้านและนิคมนั้นแล้ว จึงจักฉัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคก็จักทรงรับเอาพวกเราอยู่ในเมืองนี้ทีเดียว ดังนี้ ทุพภิกขภัยอันภิกษุเหล่านั้นชนะวิเศษแล้ว คือ ครอบงำได้แล้ว ได้แก่ ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ก่อน

    คือ ไม่เกิดความขวนขวายในการแสวงหาภัตตาหารที่อื่น นอกจากที่เมืองเวรัญชา จึงเป็นผู้ที่ชนะวิเศษ เป็นผู้ที่ชนะทุพภิกขภัยได้ ถึงแม้จะเป็นเมืองที่มีทุพภิกขภัยก็อยู่ที่เมืองนั้น ไม่ไปสู่เมืองอื่นซึ่งไม่มีทุพภิกขภัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถามว่า ชนะความโลภได้อย่างไร

    แก้ว่า คือ แม้ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้ทำให้ราตรีขาดด้วยอำนาจแห่งความโลภว่า เมืองเวรัญชานีมีภิกษาหาได้ยาก ส่วนบ้านและนิคมในระหว่างโดยรอบแห่งเมืองเวรัญชานี้มีข้าวกล้าโน้มลงด้วยความหนัก คือ ผล ได้แก่ มีภิกษาดี มีก้อนข้าวหาได้โดยง่าย เอาเถิดพวกเราจักพากันไปฉันที่บ้านและนิคมนั้น หรือไม่ได้ทำให้พรรษาขาดด้วยคิดว่า พวกเราจะเข้าจำพรรษาในบ้านและนิคมนั้นในพรรษาหลัง ดังนี้ ความโลภอันภิกษุเหล่านั้นชนะวิเศษแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถามว่า ชนะความประพฤติด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาได้อย่างไร

    แก้ว่า คือ แม้ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้มีความปรารถนาเห็นปานนี้เกิดขึ้นเลยว่า เมืองเวรัญชานี้มีภิกษาหาได้ยาก และมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่สำคัญพวกเรา แม้ผู้พักอยู่ตั้ง ๒ - ๓ เดือนเพราะคุณธรรมอะไรๆ ไฉนหนอ พวกเราทำการค้าคุณธรรม คือ อวดอุตตริมนุสสธรรม คือ ประกาศซึ่งกันและกันแก่มนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูปโน้นได้อภิญญา ๖ ดังนี้ แล้วปรนปรือท้อง ภายหลังจึงค่อยอธิษฐานศีล ดังนี้ ความประพฤติด้วยอำนาจแห่งความปรารถนา อันภิกษุเหล่านั้นชนะวิเศษแล้ว คือ ครอบงำได้แล้ว เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้

    ส่วนในอนาคต เพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง นั่งอยู่ในวิหารแล้ว แม้ได้ภัตตาหารโดยความยากลำบากเพียงเล็กน้อย ก็จักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกที่ระคนด้วยเนื้อ คือ จักทำให้เป็นของน่าดูหมิ่น น่าติเตียน โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าวสุกนี่อะไรกันเป็นเมล็ดร่วน แฉะ ไม่เค็ม เค็มจัด ไม่เปรี้ยว เปรี้ยวจัด จะประโยชน์อะไรด้วยข้าวสุกนี้ ดังนี้

    ในสมัยนี้คงจะเคยได้ยินได้ฟังที่ว่า มีบุคคลนั้นบรรลุ หรือได้ญาณนั้นญาณนี้ การกล่าวเช่นนี้มีประโยชน์อะไร จะมีบุคคลใดเชื่อ แต่ผู้กล่าวย่อมต้องมีจุดประสงค์ให้ผู้อื่นเกิดศรัทธาที่จะเชื่อ ซึ่งบรรดาท่านพระเถระในครั้งโน้น ถึงแม้ว่าท่านจะประสบทุพภิกขภัยถึงเช่นนั้น ก็ไม่มีสักรูปหนึ่งที่จะคิดค้าคุณธรรมโดยการอวดอุตตริมนุสสธรรม เพื่อนำมาซึ่งความเลื่อมใส

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ต้องการประโยชน์ที่แท้จริง คือ ปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ท่านย่อมเทียบเคียง สอบทานเหตุผลของข้อประพฤติปฏิบัติว่าถูกต้องหรือยัง ตรงหรือยัง มีอะไรที่ยังคลาด เคลื่อนอยู่ มีอะไรที่ยังเป็นสีลัพพตปรามาส มีอะไรที่ถูกกิเลสนำไปด้วยความต้องการผล แต่ไม่ใช่ด้วยการเริ่มรู้สภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นเองจะละกิเลส การยึดถือธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน จะไม่สนใจเพียงคำบอกเล่า หรือคำกล่าวว่า ผู้นั้นได้บรรลุวิปัสสนาญาณนั้น หรือว่าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่เป็นผู้ที่หวั่นไหวไปเพียงเพราะคำบอกเล่าของบุคคลอื่น แต่สนใจเฉพาะข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง และผลที่ถูกต้องก็ย่อมเกิดได้

    ข้อความต่อไปใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทานพระ วโรกาสที่จะพลิกแผ่นดิน เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน เพราะเหตุว่าภิกษุทั้งหลายต้องฉันข้าวแดงเป็นเวลาตลอดพรรษา แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงอนุญาต

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กราบทูลขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า

    ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านคิดถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้า คือ ความยากลำบากของท่านพระเถระทั้งหลายเหล่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นประโยชน์ของกาลข้างหน้า จึงตรัสว่า อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย

    ข้อความใน ปฐมสมันตปาสาทิกา มีอธิบายว่า

    ถ้าเป็นอย่างนั้น ในครั้งนั้นแล้ว ครั้งหลัง หรือว่าชนรุ่นหลัง ก็จะเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในพระธรรมวินัยได้

    ข้อความใน ปฐมสมันตปาสาทิกา มีว่า

    ส่วนมนุษย์ทั้งหลายพึงได้รับความเข้าใจผิดอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าทุพภิกขภัยนี้หาใช่จะมีในบัดนี้เท่านั้นไม่ ถึงในอนาคตก็จักมี ในกาลนั้นภิกษุทั้งหลายจะได้เพื่อนพรหมจารีย์ผู้มีฤทธิ์เช่นนั้นแต่ที่ไหนเล่า ท่านเหล่านั้นเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระสุขวิปัสสกะ ท่านผู้ได้ฌาน และผู้บรรลุปฏิสัมภิทา แม้เป็นพระขีณาสพก็มี จักเดินเข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลอื่น เพราะไม่มีกำลังฤทธิ์ ความวิตกอย่างนี้ของมนุษย์ทั้งหลาย จักมีขึ้นในภิกษุเหล่านั้นว่า

    ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายได้เป็นผู้บำเพ็ญให้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งหลาย แล้ว ท่านเหล่านั้นได้ให้คุณทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ทั้งในคราวมีทุพภิกขภัยก็ให้พลิกแผ่นดิน แล้วฉันง้วนดิน แต่บัดนี้ท่านผู้บำเพ็ญให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมไม่มี ถ้าจะพึงมีไซร้ ก็จะพึงทำเหมือนอย่างนั้นทีเดียว

    นี่ก็จะเป็นความเข้าใจผิดของบุคคลในครั้งหลัง

    ข้อความต่อไปใน สมันตปาสาทิกา มีว่า

    เพราะความวิตกอย่างว่ามานี้ มนุษย์เหล่านั้นพึงได้วิปลาส ความเข้าใจเคลื่อนคลาดนี้ในพระอริยบุคคลทั้งหลายซึ่งมีตัวอยู่นั่นแหละว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่มี ก็แลมนุษย์ทั้งหลายผู้ติเตียนว่าร้ายอยู่ซึ่งพระอริยบุคคลด้วยอำนาจวิปลาส ความเข้าใจผิด จะพึงเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า การพลิกแผ่นดิน เธออย่าชอบใจเลย ดังนี้

    พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์ มีข้อความต่อไปว่า

    ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา รับสั่งว่า

    ดูกร อานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลาเวรัญชพราหมณ์

    ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า

    เป็นดังรับสั่งพระพุทธเจ้าข้า

    ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตร จีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย

    ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระองค์รับสั่งว่า

    ดูกร พราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท

    เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า

    เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทยธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ

    หลังจากนั้นเวรัญชพราหมณ์ สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้น ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคว่า

    ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว

    ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตร จีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือ พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียะโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถออกจากบาตร แล้วให้ทรงครอง แล้วถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละสำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ

    ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี

    ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไป โดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี

    ต่อไปจะเป็นเรื่องปฐมปาราชิกกัณฑ์ คือ เรื่องท่านพระสุทินน์ แต่ให้ทราบจากข้อความในเวรัญชกัณฑ์ว่า

    แม้พระผู้มีพระภาคเองและพระภิกษุสงฆ์ ก็ได้ประสพผลของกรรมที่ได้กระ ทำไว้แล้วในอดีตซึ่งมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม แล้วแต่กรรมใดจะให้ผลในขณะใด โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ก็พิสูจน์ได้จากชีวิตของทุกๆ คนในครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะในครั้งพุทธกาลเท่านั้น

    ขอกล่าวถึงบุพกรรมของพระผู้มีพระภาค ที่ทำให้พระองค์ต้องเสวยข้าวแดงตลอด ๓ เดือน

    ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธาปทาน ชื่อ ปุพพกัมมปิโลติ ที่ ๑๐ (ข้อ ๓๙๒) พระผู้มีพระภาคตรัสชี้แจงบุพกรรมทั้งหลายของพระองค์ แก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งพระพุทธดำรัสตอนหนึ่งมีว่า

    เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ผุสสะว่า ท่านทั้งหลายจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง แต่อย่ากินข้าวสาลีเลย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้ว อยู่ในเมืองเวรัญชา บริโภคข้าวแดงตลอด ๓ เดือน

    ถ้ายังมีวัฏฏะอยู่ บางครั้งก็จะเห็นสิ่งที่ดี บางครั้งก็ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี หรือบางครั้งก็ได้ยินเสียงที่ดี บางครั้งก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี บางครั้งก็ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้โผฏฐัพพะที่ดี บางครั้งก็ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี

    เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งทุกคนจะต้องประสพตามความเป็นจริง แล้วขอให้พิจารณาถึงพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาค ซึ่งถึงแม้ว่าเวรัญชพราหมณ์จะ ไม่ได้ถวายไทยธรรมตลอดไตรมาสที่จำพรรษาอยู่ที่เมืองเวรัญชาเลย แต่เมื่อพระองค์ได้ไปบอกลาเวรัญชพราหมณ์นั้น ก็ยังทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา

    ข้อความใน ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล มีว่า

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะบริษัทมีมากหรือน้อยก็หาไม่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่จักรวาลหนึ่งก็ดี สองจักรวาลก็ดี จักรวาลทั้งสิ้นก็ดี ย่อมทรงแสดงด้วยพระอุตสาหะเสมอกันทีเดียว ครั้นทอดพระเนตรเห็นบริษัทมีจำนวนน้อยแล้ว ทรงลดพระวิริยภาพลงก็หาไม่ ถ้าทอดพระเนตรเห็นบริษัทมีจำนวนมากแล้ว ทรงมีพระวิริยภาพมากขึ้นก็หาไม่ เพราะเหตุแห่งความใฝ่พระทัยอยู่ว่า เหล่าชนผู้หนักในธรรมของเรา อย่าได้เสื่อมไป ดังนี้ จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงหนักในธรรม ทรงเคารพธรรมแล

    ในเวรัญชกัณฑ์ จะเห็นได้ว่า นอกจากชีวิตจริงๆ ในครั้งนั้นจะได้ประสพกับวิบากกรรมที่บางครั้งก็ประณีต บางครั้งก็ไม่ประณีต พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ยังตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ซึ่งทรงเสด็จจาริกไปในชนบทต่างๆ เป็นชีวิตจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติอย่าพยายามไปทำอะไรที่ผิดจากชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะเหตุว่าโดยมากท่านที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวัน อยากประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม แต่ท่านไม่ได้เจริญความรู้เลย มีวิธีใดที่จะทำให้ท่านได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้ บรรลุญาณต่างๆ ได้ ท่านก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง แต่ไม่ได้เจริญความรู้ เพื่อละความไม่รู้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาจึงจะเพิ่มความรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าลักษณะที่สติกำลังระลึกรู้นั้น เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง

    สำหรับคำถามข้อ ๑ ที่ถามว่า การปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนาที่ว่าเป็นอัตตา มีว่าไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์ไหน

    ซึ่งการพิจารณาธรรมนั้น จะต้องพิจารณาโดยตลอดทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ใช่เพียงขอชื่อสูตร

    ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสถ์ สัปปุริสสูตร ที่มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัปปุริสธรรม และอสัปปุริสธรรมแก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

    สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของผู้สงบกิเลส อสัปปุริสธรรม คือ ผู้ที่ไม่ใช่สัตบุรุษ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๑๕๑ – ๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564