แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549


    ครั้งที่ ๑๕๔๙


    สาระสำคัญ

    ระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาในอดีตแม้นานได้

    ทางปัญจทวาร - วิตกเจตสิกไม่ได้คิดเป็นเรื่องราว


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๙


    . เรื่องสติเป็นเรื่องที่เข้าใจกันยาก เพราะว่าความคิดความเข้าใจของชาวบ้านทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจสับสนกันอยู่ ตามหลักแล้วสติเป็นธรรม เป็นเจตสิก เป็นกุศลสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น กรณีที่ระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ นึกถึงได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องทำดี ทำไม่ดี หรือซุกซนอะไรต่างๆ การที่ระลึกถึงอย่างนี้นั้นจะถือว่าเป็นสติหรือเปล่า

    สุ. ไม่เป็น บางคนจำเก่งและระลึกได้ตอนเด็กทำอะไรไว้ แต่ไม่ใช่สติ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ไม่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

    . ที่อาจารย์ว่า อสัมมุสนตา หมายความถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดที่ล่วงเลยมานานได้นั้น เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้นหรือ

    สุ. ระลึกด้วยกุศล เวลาที่คิด คิดด้วยอกุศลจิตได้ คิดด้วยกุศลจิตได้ คิดด้วยโลภะก็เพลิดเพลิน คิดถึงเรื่องเก่าๆ สนุกสนาน บางคนอาจจะถึงกับยิ้ม หรือหัวเราะเมื่อนึกขึ้นมาได้ และเวลาที่นึกถึงเรื่องเศร้า บางคนอาจจะถึงกับร้องไห้ น้ำตาไหล ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปอาจจะถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปีแล้วก็ได้ ในขณะนั้นเป็นการระลึกด้วยโลภมูลจิตบ้าง ด้วยโทสมูลจิตบ้าง แต่กุศลจิตย่อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วได้ในทางที่ถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ

    บางทีคิดถึงสิ่งที่ทำแล้ว ซึ่งในขณะที่ทำไม่รู้สึกตัวเลยว่าไม่ดีแค่ไหน ยังเป็นผู้อ่อนเยาว์ปัญญา คือ ยังคิดว่าต้องมีอกุศลอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่เมื่อได้เข้าใจเรื่องของธรรมถูกต้องยิ่งขึ้น เมื่อระลึกถึงความคิดเห็นเก่าๆ ก็พิจารณารู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ถูก เป็นความเห็นที่ไม่ตรง จิตที่กำลังคิดในขณะนั้นเป็น สติที่ระลึกในเรื่องนั้นโดยความถูกต้อง

    . อย่างกรณีเราออกจากบ้าน เดินไปมีอะไรปรากฏสักอย่างหนึ่งทำให้เราระลึกขึ้นมาได้ว่า เราลืมกระเป๋าสตางค์ เราลืมแว่นตา การระลึกอย่างนี้ถือว่า เป็นสติหรือเปล่า

    สุ. ขณะนั้นจิตเป็นอะไร ต้องดูที่จิต จิตเป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไป ในศีลหรือเปล่า เป็นไปในภาวนาหรือเปล่า เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล วันหนึ่งๆ คิดไปเถอะ อกุศลทั้งนั้น นอกจากขณะใดที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ เมื่อนั้นจึงจะเป็นไปในกุศลจิต

    . ถ้าลักษณะอย่างนี้ไม่เป็นสติ เรียกว่าเป็นอะไร

    สุ. วิตกเจตสิก

    . การระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาในอดีตแม้นานได้ แต่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ในทางกุศล ในทางที่ดี ก็เป็นวิตกเจตสิก

    สุ. ข้อสำคัญที่คิดนั้น คิดด้วยกุศลหรือคิดด้วยอกุศล

    . เป็นทั้งกุศลและอกุศล

    สุ. ต้องเจริญสติปัฏฐานจึงจะรู้ ตอบได้ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ใครจะรู้จริงๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดในขณะนั้น

    . ความคิดนั้น คิดทั้งในเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดี

    สุ. และสลับกันด้วย ใช่ไหม ถ้าคิดถึงเมื่อครั้งที่ไปนมัสการสังเวชนียสถาน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เป็นความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างไร ก็ขอให้พิจารณาว่า มีอกุศลแทรกคั่นบ้างไหม มีความสำคัญตนเกิดขึ้นบ้างไหม มีความติดในรูปหนึ่ง รูปใดบ้างหรือเปล่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะให้พิสูจน์ด้วยตา หรือว่าให้ได้ยินด้วยหู เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงสภาพความละเอียดของนามธรรมซึ่งไม่มีรูปปะปนเลยสักประเภทเดียว และเกิดขึ้นอย่างสั้นมาก เพียงชั่วขณะ สั้นที่สุด รูปๆ หนึ่งซึ่งดับไปเร็วมากก็ยังมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ จะเร็วสักแค่ไหนที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว มิฉะนั้นแล้วก็เป็นการกล่าวโดยประมาณ ใช่ไหม แต่ไม่ใช่โดยการรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนั้น

    . เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะส่วนมากชาวบ้านมักจะเข้าใจสับสนจริงๆ เรื่องสติ ถ้าเป็นคนหลงๆ ลืมๆ เขาก็ว่าไม่มีสติ ซึ่งความจริงคงไม่เข้าข่ายของสติที่ พูดถึง

    สุ. ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจพระพุทธศาสนาในยุคนี้สมัยนี้จึงกล่าวได้ว่า สับสน ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ

    . ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตต่างก็มีวิตกเจตสิก แต่กุศลจิตมีสติเพิ่มขึ้น อีกตัวหนึ่ง ส่วนอกุศลจิตไม่มีสติ เวลาที่นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้วก็เป็นได้ ทั้งอกุศลและกุศล แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ จะสังเกตเทียบเคียงอย่างไรจึงจะเห็นว่า ขณะนั้นเป็นสติ หรือเป็นแค่วิตกเจตสิกเท่านั้น

    สุ. สำหรับวิตกเจตสิก เป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย และสติก็เป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย สำหรับวิตกเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก คือ เกิดกับ จิตได้เกือบทุกดวง แต่ไม่ใช่สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เพราะถ้าเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่เมื่อวิตกเจตสิกเป็นอัญญสมานาเจตสิก ประเภท ปกิณณกเจตสิก ก็ย่อมเกิดได้ทั้งที่เป็นอกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต นั่นคือวิตกเจตสิก

    เวลาที่อกุศลจิต เช่น โลภมูลจิตเกิด ก็ต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก และต้องมีวิตกเจตสิกซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก และเพิ่มอกุศลเจตสิก คือ ต้องมีโลภเจตสิกรวมอยู่ด้วย มิฉะนั้นจิตนั้นก็ไม่เป็นโลภมูลจิต ฉันใด ทางฝ่ายกุศล แทนที่จะมี โลภเจตสิก ก็เป็นสติเจตสิกและโสภณเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะขาดวิตกเจตสิกทั้งฝ่ายอกุศลจิต คือ โลภมูลจิตและโทสมูลจิต แต่ทางฝ่ายโสภณจิตนั้นมีวิตกเจตสิก ไม่มีโลภะ แต่มีศรัทธา มีสติ และมี โสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ

    ลักษณะของวิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ตามระดับขั้น ของจิตที่เกิดแต่ละขณะ เช่น เวลาที่เกิดทางปัญจทวารวิถี ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะว่าจิตใดก็ตามที่ชื่อว่าจักขุทวารวิถี หมายความว่าจิตซึ่งเป็นวิถีนั้นทั้งหมด มีรูปารมณ์ซึ่งยังไม่ดับเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าจักขุทวารวิถี เพราะความหมายของ จักขุทวารวิถี คือ วิถีจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุเป็นทวาร เป็นทางที่จะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นั่นเป็นจักขุทวารวิถี ซึ่งทวิปัญจวิญญาณทั้งหมด ๑๐ ดวง ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ไม่มีวิตกเจตสิก แต่ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิด มีวิตกเจตสิก ขณะนั้น วิตกเจตสิกไม่ได้คิดเป็นเรื่องเป็นราวเป็นรูปร่างสัณฐานอะไรเลย เพียงแต่เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่รับต่อจากจักขุวิญญาณ

    เพราะฉะนั้น นี่เป็นลักษณะและเป็นกิจของเจตสิกตามระดับขั้น ซึ่งถ้าเป็นทางปัญจทวาร ไม่มีการตรึกนึกถึงเรื่องใดเลย แต่ถ้าเป็นทางมโนทวารวิถี เวลาเกิด นึกคิดขึ้นด้วยโลภมูลจิต ลักษณะของวิตกคือเป็นสภาพที่ตรึกหรือจรดในเรื่องที่คิด

    . ที่กล่าวว่า สติต้องเกิดในกุศลจิตเท่านั้น คำกล่าวนี้ถูกต้องหรือ

    สุ. ก็แคบไปหน่อย เพราะว่าสติเป็นโสภณเจตสิก หมายความว่า เกิดกับโสภณจิตซึ่งเป็นกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้

    . แต่อกุศลจิตไม่ได้ อาจารย์ช่วยอธิบายมิจฉาสติ

    สุ. มิจฉาสติ หมายความถึงโลภมูลจิต

    . ไม่ใช่สติ

    สุ. ไม่ใช่แน่นอน ทรงแสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อสัมมามรรค มี ๘ มิจฉามรรคซึ่งคนเข้าใจว่าเป็นสติแต่ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สติ คนที่เข้าใจผิด เข้าใจว่าตนเองมีสติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นมิจฉาสติ แต่โดยลักษณะก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    . พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้มีสติ จำได้ทุกเรื่องที่ผ่านมาในอดีต ใช่ไหม

    สุ. ไม่จำเป็น ท่านอาจจะเห็นว่าไร้สาระที่จะคิดถึงเรื่องเก่าๆ เพราะถึงแม้ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เบื่อที่จะคิดเรื่องเก่าๆ ก็ได้ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันสบายใจกว่าไหม ทุกคนทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะอดีตและอนาคต

    . เน้นเรื่องประโยชน์ ประโยชน์ว่ามีความสามารถ …

    สุ. แล้วแต่คุณธรรม พระอรหันต์เองก็ต่างกันไปตามการสะสมของชวนวิถี

    . พระพุทธเจ้าก็อย่างหนึ่ง

    สุ. แต่ใครอยากจะคิดถึงเรื่องเก่าๆ บ้าง ซึ่งทุกขณะนี้ผ่านไปแล้ว เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า มิจฉาสมาธิ เราจะเอาอะไรมาตัดสินว่า อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ อะไรเป็นสัมมาสมาธิ

    สุ. ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะนั้นไม่มีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา เกิดร่วมด้วย นั่งทำสมาธิกันไปเปล่าๆ โดยไม่รู้อะไร ไม่รู้เหตุ และไม่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นด้วยว่า กุศลจิตกับอกุศลจิตต่างกันอย่างไร มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นอกุศล และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นกุศล

    . เราจะเอาการประพฤติปฏิบัติของเขามาตัดสินได้ไหมว่า ที่เขาทำเป็นมิจฉาสมาธิ

    สุ. ขณะไหน

    . หมายถึงการกระทำในชีวิตประจำวัน

    สุ. คนละขณะแล้ว ถ้าทำสมาธิโดยมาก นั่ง ใช่ไหม และจะไปรู้อะไรกับคนที่กำลังนั่ง นั่งเหมือนกัน และก็นั่งหลับตาเหมือนกันด้วย จะไปรู้ได้อย่างไร เอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าจะเอาชีวิตประจำวัน คนละขณะแล้ว

    . ถ้าอย่างนั้น คนที่เขาทำมิจฉาสมาธิ แต่ในชีวิตประจำวันเขาเป็นคนดี และเขาทำเช่นนั้นไปตลอดชีวิตจนตาย ความดีที่เขาทำจะทำให้เขามีโอกาสได้มาเป็นสัมมาสมาธิไหม

    สุ. ไม่มีโอกาส ถ้าอาศัยมิจฉาสมาธิทำให้เป็นสัมมาสมาธิได้ เหตุกับผล ไม่ตรงกัน นอกจากว่ามิจฉาสมาธิจะยิ่งทำให้เกิดมิจฉาสมาธิต่อไปอีก

    . คนที่ถือศีล ๘ กับศีล ๕ ได้บุญแตกต่างกันไหม

    สุ. ต้องการอานิสงส์อะไร ต้องการจะขัดเกลา หรืออยากจะได้ผล อยากจะได้อานิสงส์

    . เคยได้ยินคำกล่าวว่า อยากได้บุญมากๆ ต้องถือศีลมากๆ ข้อ

    สุ. กุศลจิตอยู่ที่ไหน

    . ก็ที่จิต

    สุ. เพราะฉะนั้น ดูสภาพของจิต ไม่ใช่หวังอานิสงส์ ถ้ากุศลจิตเกิดมาก ผลมากไหม มาก ถ้ากุศลจิตเกิดน้อย ผลก็น้อย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถามใคร เพราะเหตุกับผลต้องตรงตัว

    . เมื่อสักครู่อาจารย์ก็ได้พูดแล้วว่า สมัยนี้พุทธศาสนาสับสนมาก และพุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจะไปยึดหลักอะไรได้ว่า อันไหนถูกต้อง

    สุ. ต้องเรียนจึงจะรู้ ตราบใดที่ยังไม่เรียนก็ไม่มีทางจะรู้ เพราะถ้าเป็นโดยวิธีนั้น จะประมาทพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถึงไม่เรียน พระธรรมก็คิดว่าเข้าใจได้ ใช่ไหม แต่ผู้ที่ไม่ประมาทในพระปัญญารู้ว่า ต้องศึกษาแน่นอน ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมโดยถูกต้องเลย คิดเองไม่ได้ คิดเองผิดมากกว่าถูก

    . อย่างพระคุณเจ้าหลายที่ท่านยึดถือว่า การปฏิบัติของท่านถูกต้อง ของคนอื่นไม่ถูก แต่ท่านก็ศึกษานี่

    สุ. พุทธบริษัทฟังพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครพูด ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรืออุบาสก หรืออุบาสิกากล่าวธรรม พุทธบริษัทย่อมฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคล เมื่อฟังพระธรรมก็พิจารณาว่า พระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจ ในสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องขึ้นไหม หรือไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรเลย ถ้าไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และมีพระมหากรุณาทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้บุคคลที่ได้ฟังพิจารณาแล้วเกิดปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    . ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง อยากจะเห็นคนไทยมีการสอนธรรมที่มีแนวทางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

    สุ. อยากจะให้เป็นอย่างไร

    . คือ ไม่ให้มีการโจมตีกัน

    สุ. โจมตีหมายความว่าอย่างไร

    . ก็อย่างที่ได้ยินทุกๆ วันนี้

    สุ. เช่น ยกตัวอย่างเลย ธรรมเป็นเรื่องตรง ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แล้วควรพูด แต่ถ้าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ก็ไม่ควร ถ้าต้องการประโยชน์ คือ ความเข้าใจ ต้องมีตัวอย่าง

    . อย่างที่พระคุณเจ้าท่านหนึ่ง เวลาที่ท่านไปแสดงธรรม ณ ที่ใด ท่านมักจะยกตัวอย่างว่า การนั่งสมาธิแบบธรรมกายนี้ไม่ถูกต้อง

    สุ. และท่านผู้ฟังมีความเห็นว่าอย่างไร

    . ก็ยังไม่ทราบ

    สุ. ถ้าอยากจะทราบ ต้องศึกษาว่าที่ใช้คำว่า ธรรมกาย ที่กำลังปฏิบัติ กันนั้น ปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้ เราก็วินิจฉัยไม่ได้ แต่ถ้ารู้แล้ว เราก็พอจะวินิจฉัยได้ว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรต้องศึกษาทั้งนั้นแหละ

    . แม้ตัวพระคุณเจ้าเอง ท่านก็ไม่ศึกษานี่ แต่ท่านก็มาพูดว่าไม่ถูก ฟังดูแล้วรู้สึกว่า ...

    สุ. เราก็มีสิทธิ ขอประทานโทษที่ใช้คำว่า สิทธิ เพราะธรรมเป็นเรื่องอิสรเสรี ไม่ใช่เป็นเรื่องบังคับ หรือไม่ใช่เป็นเรื่องที่ให้ทุกคนเชื่อ เมื่อต้องการปัญญา ก็สามารถซักถามได้ ก็กราบเรียนถามท่านด้วยความนอบน้อม เพื่อให้ท่านอธิบาย ให้เราเข้าใจในข้อผิดและในข้อถูก

    ดิฉันขอถาม ถ้ามีคนบอกว่า ให้นั่ง นั่งเลยไหม ยังไม่ทันรู้อะไรเลย บอกให้นั่ง จะนั่งไหม

    ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่มีคนบอกให้นั่ง นั่งไหม หรืออยากจะทดลอง ก็นั่ง ก็ย่อมได้ ใช่ไหม นั่งไป และให้คิดว่ามีลูกแก้วอยู่ในปาก ยอมไหม ยอมจะคิดอย่างนั้นไหม

    เริ่มที่จะเข้าใจในเหตุในผลแล้วใช่ไหม

    พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอย่างนั้นหรือเปล่า เรื่องของตาที่กำลังเห็น เป็นสัจธรรม เป็นของจริง สัจจะ คือ จริง ธรรมก็คือสิ่งที่ มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าพูดอย่างนี้พอที่จะพิจารณาเข้าใจได้ไหม พอที่จะติดตามรับฟังและพิสูจน์ได้ไหม หรือว่าต้องมานั่งคิดว่า กำลังมีลูกแก้วอยู่ในปาก จะยอมทำไหม

    นี่เป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องโจมตี แต่เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาได้ ไม่ได้กล่าวว่าสำนักใดถูกหรือผิด แต่ถ้ามีคำสอนว่าอย่างนี้ ท่านผู้ฟังจะพิจารณาอย่างไร จะนึกไหมว่า มีลูกแก้วอยู่ในปาก ขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลัง ได้ยินอย่างนี้

    . อีกกรณีหนึ่ง ได้ทราบมาว่า มีเด็กคนหนึ่งเขาไม่เคยไปสำนักที่ว่านี้ เขาก็นั่งที่บ้าน เขาบอกว่า เขาไม่ทราบว่าจะนึกอะไร ก็นึกถึงลูกแก้ว ก็ปรากฏว่า ลูกแก้วมาปรากฏในกึ่งกลางกายของเขา ต่อมาระยะหลังเขามีโอกาสไปที่วัดนั้น ที่นั้นก็บอกเขาว่า เป็นเพราะในชาติก่อนเขาเคยนั่งแบบนี้มา ก็อยากจะทราบข้อเท็จจริง

    สุ. เมื่อเร็วๆ นี้ มีชาวต่างประเทศ ๔ ท่านไปสนทนาธรรมที่บ้าน ซึ่งทั้ง ๔ ท่านได้ผ่านสำนักปฏิบัติ และท่านก็เล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งดูเหมือนกับน่าสนใจ และท่านถามความเห็นของดิฉันว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง คำตอบของดิฉันทำให้ทั้ง ๔ ท่านหัวเราะใหญ่ทีเดียว เพราะดิฉันตอบว่า ดิฉันไม่ตื่นเต้น ไม่ว่าใครจะมีเรื่องอะไรที่แปลกประหลาดวิจิตรพิสดาร แต่ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติในขณะนี้ ดิฉันไม่ตื่นเต้น และไม่สนใจด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๕ ตอนที่ ๑๕๔๑ – ๑๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564