แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507


    ครั้งที่ ๑๕๐๗


    สาระสำคัญ

    อดีตกรรมของภิกษุ ๕๐๐

    ความต่างกันของอสุภกัมมัฏฐาน และอานาปานสติ

    ความไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๙


    ท่านพระอานนท์ท่านจึงทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการณ์อย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสามารถที่จะบรรลุอรหัตได้

    เพราะว่ากัมมัฏฐานอื่นๆ ก็ยังมีอีก นอกจากอสุภกัมมัฏฐาน เช่น อนุสสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ จตุธาตุววัฏฐาน พรหมวิหาร และอานาปานสติ เหมือนท่าสำหรับลงสู่ทะเลหลวงซึ่งมีหลายท่า ก็ย่อมไปสู่ทะเลหลวงด้วยกัน

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงให้ประชุมภิกษุทั่วพระนครเวสาลี และได้ทรงแสดง อานาปานสติสมาธิ

    สำหรับความต่างกันของอสุภกัมมัฏฐานกับอานาปานสติ คือ

    อสุภกัมมัฏฐานนั้นสงบและประณีต ด้วยอำนาจการแทงตลอดอย่างเดียว

    คือ สงบประณีตเฉพาะในขณะที่ปัญญาเกิดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะว่าอสุภเป็นอารมณ์ที่หยาบ และเวลาที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็น ผู้ที่มีปกติเจริญปัญญาอยู่เสมอแล้ว จิตใจย่อมหวั่นไหวในอสุภที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อสุภกัมมัฏฐานจึงไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีตและสงบอย่าง อานาปานสติ ซึ่งเริ่มสงบประณีตตั้งแต่เริ่มพิจารณาลักษณะของลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียดประณีต

    ลมที่กำลังกระทบสัมผัสกายในขณะนี้ เป็นโผฏฐัพพารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ เมื่อกระทบกับกายปสาทเช่นเดียวกับลมหายใจ แต่ในขณะนี้ ทุกๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ มีลมหายใจ แต่ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างโผฏฐัพพะอื่น เพราะว่าลักษณะของ ลมหายใจนั้นละเอียดและประณีต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะระลึกหรือพิจารณาลักษณะของลมหายใจ จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นจิตที่สงบในขณะนั้น จึงจะพิจารณาอารมณ์ที่สงบและละเอียดอย่าง ลมหายใจได้

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงให้ประชุมภิกษุทั่วพระนครเวสาลี และทรงแสดงอานาปานสติสมาธิ แต่ไม่ใช่หมายความว่า จะให้ท่านผู้ฟังเลือกที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจ เพราะแท้ที่จริงแล้วอารมณ์ที่ละเอียด อารมณ์ที่ประณีตนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่สะสมปัญญามามาก พร้อมที่จะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม โดยเฉพาะสามารถถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คอยที่จะรู้ลมหายใจ แต่สติเกิดเมื่อไร ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าปัญญายังไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงตามปกติอย่างนี้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย

    ด้วยความไม่รู้ ดับกิเลสไม่ได้ แต่ต้องด้วยความรู้จริงๆ ซึ่งเกิดเพราะสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และปัญญาค่อยๆ พิจารณาเพิ่มความรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น จนกว่าจะชิน

    ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะทำกิจการงาน ที่ไหน ขณะไหน ถ้าสติเกิด เมื่อเป็นผู้ที่ชินแล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมยังไม่ปรากฏ แต่การฟังบ่อยๆ การเข้าใจจริงๆ การน้อมพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ ก็เป็นทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นและหมดไป ค่อยๆ ชินขึ้น

    สำหรับเรื่องของท่านพระภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ได้ฆ่าตัวตายที่เมืองเวสาลี ถ้าพิจารณาโดยปรมัตถธรรม จะต้องมีวิถีจิตเกิดก่อนจุติจิต เพราะว่าความตายจะมาถึงในขณะไหน ไม่มีนิมิตล่วงหน้าเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่า ก่อนที่ จุติจิตจะเกิด จะเป็นวิถีจิตทางตาที่เห็น หรือเป็นวิถีจิตทางหูที่ได้ยินเสียง หรือเป็น วิถีจิตทางจมูกที่ได้กลิ่น หรือเป็นวิถีจิตทางลิ้นที่ลิ้มรส หรือเป็นวิถีจิตทางกายที่ กระทบสัมผัส หรือเป็นวิถีจิตทางใจที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    เมื่อวิถีจิตดับหมดแล้ว จะเป็นภวังคจิต หรือเป็นตทาลัมพนจิต หรือแม้จะไม่มี ตทาลัมพนจิต ไม่มีภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตก็เกิดขึ้นได้ และดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาโดยสภาพความเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะตายโดยวิธีไหนทั้งสิ้น คือ เห็น และจุติจิตก็เกิดต่อจากวิถีจิต หรือทางกายซึ่งกำลังกระทบสัมผัสสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ ทำให้เกิดทุกขเวทนา ความปวดเจ็บมากมายต่างๆ ความป่วยไข้ก็คือวิถีจิตทางกายดับหมดแล้ว จุติจิตก็เกิดขึ้นได้

    ถ้าพิจารณาโดยสภาพของปรมัตถธรรม ก็ไม่ต่างกับขณะหนึ่งขณะใดที่ยัง มีชีวิตอยู่ เพราะว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีการรับผลของอกุศลกรรมทางกาย เช่น การป่วยไข้ หรือความเจ็บปวด เมื่อมีกายแล้วต้องมีทุกขเวทนา ปวดตา ปวดหู ปวดจมูก ปวดอวัยวะส่วนต่างๆ มีการเจ็บไข้ โรคภัยต่างๆ ชนิด ซึ่งในขณะที่ยัง ไม่ตายก็เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่เมื่อจะจุติ คือ จะสิ้นชีวิต บางท่านอาจจะมีทุกขเวทนาทางกายมาก ก็เหมือนกับก่อนที่จะตาย ไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย จะตายหรือไม่ตาย อกุศลวิบากทางกายก็เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าจะตายโดยที่มีอกุศลวิบากทางกาย ปวดเจ็บทรมาน เจ็บไข้ได้ป่วย ก็เหมือนกับขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่ว่าจุติจิตเกิดต่อจากนั้น และเปลี่ยนสภาพความเป็นบุคคลนั้นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตายโดยอาการอย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะเป็นการเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ การได้ยินสิ่งที่ไม่น่าพอใจ การได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ การลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ การกระทบสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ ก็เหมือนกับขณะที่ยังไม่ตายนั่นเอง เพียงแต่ว่าจุติจิตยังไม่ได้เกิดขึ้น ยังไม่ได้ทำกิจ ทำให้สูญสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนควรจะคิดว่า พร้อมหรือยัง เท่านั้นเอง ผู้ที่ไม่ประมาทย่อมเพียงแต่คิดว่า ความตายไม่ใช่เรื่องเล่น ความตายเป็นเรื่องจริง ต้องเกิดแน่นอน และจะเกิดหลังจากที่วิถีจิตดับไปแล้ว ทุกขณะ ได้หมด และก่อนจะจุติ บางคนอาจจะมีโลภะมาก บางคนอาจจะมีโทสะมาก บางคนอาจจะมีกุศลมาก ก็เหมือนกับก่อนจะตายเหมือนกัน คือ ก่อนจะตายคนที่โกรธจัดๆ ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้โกรธจัด โกรธรุนแรงเมื่อยังไม่ตาย และเมื่อกำลังจะตาย ถ้ามีเหตุปัจจัยให้โทมนัสเกิดอย่างรุนแรง ก็ห้ามไม่ได้ เพราะเหมือนกับก่อนจะตายก็ยังมีโทสะได้แรงกล้าถึงอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าจุติจิตเกิดต่อจากนั้น ก็ย่อมเป็นไปได้

    เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงๆ สำหรับผู้ที่พิจารณาลักษณะของปรมัตถธรรมและ รู้ว่า ความตาย คือ จุติจิต ซึ่งเกิดขึ้นขณะเดียวหลังจากที่วิถีจิตทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางดับไป ส่วนการที่จะเกิดโลภะก่อนจุติ หรือจะเกิดโทสะก่อนจุติ หรือจะเกิด กุศลจิตก่อนจุติ ก็เหมือนกับชีวิตประจำวันนั่นเอง

    เมื่อเป็นโดยลักษณะนี้ ทุกท่านก็น่าจะพิจารณาว่า ถ้าต้องตายโดยอาการอย่างไรๆ ก็แล้วแต่ จะโดยอุบัติเหตุ หรือโดยเจ็บไข้ได้ป่วยก็ตาม พร้อมหรือยัง ที่จะตาย

    ถ้าเป็นผู้ที่พร้อม คือ เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม และไม่หวั่นไหว เพราะว่าก็เหมือนกับทุกๆ วัน เพียงแต่ว่าสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ และกรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ ไม่จบสิ้น ถ้ายังไม่ได้ดับกิเลสถึงความเป็น พระอรหันต์

    . อานาปานสติสมาธิ กับอานาปานสติในมหาสติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไร

    สุ. อาปานสติมี ๒ อย่าง สมถภาวนาก็ได้ วิปัสสนาภาวนาก็ได้ ถ้าเจริญสมถภาวนาก็เป็นอานาปานสติสมาธิ แต่แม้ว่าจะเจริญสมถภาวนาโดยมีลมหายใจเป็นอารมณ์และมีความสงบของจิตเพิ่มขึ้นจนกระทั่งปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ สติปัฏฐานก็สามารถระลึกที่ลักษณะของสภาพของนามธรรมในขณะนั้นและรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    . อานาปานสติสมาธิ เจริญจนเป็นสมาธิ จะมีนิมิตอะไรเกิดหรือเปล่า

    สุ. มี

    . นิมิตที่เกิดนั้นจะเป็นลมหายใจ หรือจะเป็นนิมิตอีกต่างหาก

    สุ. ลมหายใจไม่มีรูปร่าง ใช่ไหม แต่นิมิตมีลักษณะของนิมิต

    . นิมิตในที่นี้หมายความว่า ลมหายใจปรากฏชัด หรือว่ามีนิมิตอย่างอื่น

    สุ. นิมิตของลมหายใจจะปรากฏเหมือนกับปุยนุ่น หรือสภาพที่เป็นนิมิต ไม่ใช่ลักษณะของธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม

    . แต่นิมิตที่ปรากฏ ไม่ใช่ลมหายใจ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่

    ถ. แต่เนื่องจากลมหายใจ

    สุ. เนื่องจากลมหายใจ

    . สงสัยมานานว่า เมื่อเจริญอานาปานสติสมาธิ จิตสงบขึ้นแล้วจะปรากฏนิมิต นึกว่าจะเป็นลมหายใจปรากฏชัดเจนขึ้นมา

    สุ. ถ้ากล่าวถึงนิมิตของสมถภาวนา จะไม่ใช่อารมณ์เดียวกับสิ่งที่เจริญ ในเบื้องต้น เพราะจะต้องให้นิมิตนั้นติดตา ฉะนั้น เมื่อติดตาก็ไม่ใช่สิ่งที่เห็น แต่เพียงแต่อาศัยสิ่งที่เห็นทำให้เกิดนิมิตที่ติดตา

    เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะจะมีสักกี่ท่านที่อบรมเจริญ สมถภาวนาโดยถูกต้องจริงๆ นอกจากจะทำสมาธิและเข้าใจว่า นั่นเป็นสมาธิภาวนา เพราะถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาและรู้เรื่องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แทนที่จะไปเจริญ ความสงบให้มั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สติปัฏฐานย่อมจะเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน มากกว่าที่จะไปพยายามทำให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิต ซึ่งไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ชาติก่อนๆ อาจจะเคยทำมาแล้วมากหลายชาติ แต่ก็ต้องมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยที่ว่ายังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะถ้าจะดับได้ต้องเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ส่วนการที่จะสงบเพียง ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วยกำลังของความสงบที่เป็นสมถภาวนานั้น ดับกิเลสไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม พร้อมด้วยฌานสมาบัตินั้น มีน้อยกว่าผู้ที่เป็นสุกขวิปัสสกะ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ถึงขั้นฌานจิต

    สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ ถ้ารู้เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทุกท่านก็คงจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานสมาบัติเป็นเรื่องที่ไกลแสนไกลทีเดียว

    . จากการฟังเทปของอาจารย์ที่ว่า นายมาลาการบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยดอกมะลิ ทำไมต้องพูดว่า ซัดไปเบื้องซ้าย เบื้องขวา เบื้องบน เข้าใจว่า โปรยดอกไม้ ใช่หรือเปล่า

    สุ. ก็โยนไปสูงๆ

    . แทนที่จะร้อยเป็นมาลัย ก็ใช่การขว้างไป รู้สึกจะไม่สุภาพ

    สุ. ดิฉันก็ต้องอ่านตามที่แปลไว้ แล้วแต่ผู้แปลจะใช้สำนวนอย่างไร นอกจากบางสำนวนที่เห็นว่าไม่เหมาะสมจริงๆ ก็เปลี่ยน

    . ความหมายที่แท้จริงของซัดดอกไม้ไป หมายความว่าอะไร

    สุ. โยนดอกไม้ไป ถ้าจะใช้คำสุภาพกว่านั้น จะใช้คำอะไรดี

    . ผมไม่ทราบ

    สุ. ก็นายมาลาการทำอย่างนั้น โปรยไปสูงๆ หรืออะไรก็แล้วแต่

    . นิมิตของอัปปนาสมาธิมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใช่ไหม ผมเคยฟังว่า นิมิตของอานาปานสติสมาธิ จะเป็นปุยนุ่นเป็นสีขาว เป็นฟอง

    สุ. ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวไว้โดยละเอียด เรื่องนิมิตของแต่ละอารมณ์ ซึ่งดิฉันได้กล่าวถึงน้อยที่สุด และสนใจน้อยที่สุด เพราะรู้แน่ว่าแต่ละท่านที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ไปเสียเวลากับการทำให้สมาธิเกิดถึงขั้นนั้นโดยที่ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าสนใจ ในวิสุทธิมรรคมีแสดงไว้โดยละเอียด

    . ที่เรียนถาม เพราะในสมัยหนึ่งกลุ่มของผมกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่อง อานาปานสติสมาธิ ซึ่งต่างก็เข้าใจว่า ตัวเองได้ฌานจิต คือ มีนิมิตอย่างอื่นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นปุยนุ่น เป็นแสงสว่างในตัว หรือแบ่งครึ่งในตัว หรือจะขยายตัวเองเข้าออก คือ ถ้ามีโอกาสผมจะได้คุยกับเพื่อนฝูง

    สุ. เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่แม้จะมีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง บางคนอาจจะสร้างนิมิตอย่างนั้นขึ้นมาก็ได้ และเข้าใจว่าเป็นนิมิตที่ตรงกับที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยในการที่จะเห็นนิมิตหรือไม่เห็น หรือเห็นนิมิตในลักษณะใด

    แต่ขั้นต้นที่สุดที่จะต้องเข้าใจ คือ ขณะนี้สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของจิต มีไหม ถ้าไม่มี ก็แยกลักษณะของอกุศลจิตและกุศลจิตไม่ออก เมื่อแยกไม่ออก แทนที่กุศลจิตจะเจริญ ก็กลายเป็นความจงใจ ความต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของโลภมูลจิต เป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เป็นอัปปนาสมาธิ หรืออานาปานสติสมาธิเลย เพราะเป็นเรื่องที่ยากเท่าๆ กับเรื่องของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ว่าสมถภาวนานั้น ไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ลักษณะของจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564