แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504


    ครั้งที่ ๑๕๐๔


    สาระสำคัญ

    ส.ม. อถ เจลสูตร

    พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม

    อถ.ส.ส. เทวปุตตสังยุตต์ สุสิมสูตรที่ ๙ - ปรารภความเพียร

    จดหมายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ.ฉะเชิงเทรา - แย้งเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ว่าไม่มีจริง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


    . ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาค แต่ปีเดียวกัน

    สุ. และก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วย ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาเจลสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จากนั้นมาครึ่งเดือน ในวันอุโบสถแห่งกาฬปักข์กึ่งเดือนนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ปรินิพพาน และหลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖

    . ท่านพระสารีบุตรไม่ได้ปรินิพพานเดือนมาฆะหรือ

    สุ. ไม่ใช่ ท่านรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ในเดือนมาฆะ และหลังจากนั้น ๔๕ ปี . สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนี้ ตรงกับวันมาฆบูชา

    สุ. วันนี้ ตอนเย็นๆ อย่างนี้

    . แต่ปรินิพพานวันเพ็ญเดือน ๑๒ รู้สึกว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเวลาท่านจะปรินิพพาน ท่านต้องไปลาพระพุทธองค์เสมอ สำหรับเรื่องอาพาธ เรื่องเจ็บป่วย ของท่าน ผมเข้าใจว่าคงจะมีอยู่ อย่างท่านพระสารีบุตรหลังจากท่านไปทูลลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็เดินทางมาที่หมู่บ้านนาฬกะใช้เวลา ๗ วัน และเมื่อมาถึงก็ป่วยหนัก แสดงว่าท่านคงป่วยอยู่แล้ว

    สุ. ไม่มีข้อความที่กล่าวไว้ แต่เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา วันนี้ ดูแข็งแรง พรุ่งนี้เจ็บหนักก็ได้ เป็นลมปัจจุบันทันด่วนก็ได้ หรือถึงกับจะสิ้นชีวิตใน วันพรุ่งนี้ก็ย่อมได้

    ถ. ที่ท่านเข้าผลสมาบัติ จะเข้าได้เฉพาะผู้ที่สำเร็จมรรคผลเท่านั้น ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน และต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานสมาบัติด้วย ถ้าเป็นพระโสดาบันหรือพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ซึ่งไม่ได้ฌานสมาบัติ ก็เข้าผลสมาบัติไม่ได้ เพราะว่าความต่างกันของผลสมาบัติและฌานสมาบัติ คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล สามารถอบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต และถ้ามีความคล่องแคล่ว ก็สามารถเข้าฌานออกฌานได้รวดเร็วตามที่ต้องการ

    แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แทนที่จะเป็นอารมณ์ของฌานสมาบัติ ผลจิตเกิด แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือ พระอรหันต์ ถ้าท่านเป็นพระโสดาบันบุคคลอย่างท่านพระอานนท์ ผลสมาบัติของท่านพระอานนท์ คือ โสตาปัตติผลจิตเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยไม่มีจิตอื่นคั่น ระหว่างที่เป็นผลสมาบัติ

    ปกติธรรมดาจิตเกิดขึ้นเป็นปริตตธรรม เป็นธรรมชั่วขณะสั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ทางตาเห็นก็สั้นมาก เพียงรูปเกิดมีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ รูปนั้นก็ดับ และ จะมีรูปนั้นต่อไปอีกไม่ได้ เพราะว่ารูปใดที่ดับไปแล้ว รูปนั้นไม่กลับมาเกิดอีก เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เหล่านี้ เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นทางตาวาระหนึ่ง ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ และภวังคจิตเกิดคั่น ซึ่งเป็นไปโดยรวดเร็วมาก แต่ผู้ที่สามารถอบรมความสงบของจิตจนกระทั่งฌานจิตเกิด สามารถมีฌานจิตเกิดดับสืบต่อกันโดยไม่มีภวังค์เกิดคั่นเลยตามที่กำหนด ที่เรียกว่า ฌานสมาบัติ

    . ผู้ที่จะเข้าผลสมาบัติได้ สมมติว่าเป็นพระอรหันต์ก็ ...

    สุ. ก็อรหัตตผลจิตเกิด

    . ผู้ที่เป็นพระอรหันต์และได้ฌานจิตด้วย เวลาเข้าผลสมาบัติ ท่านก็เข้าอรหัตตผลสมาบัติ

    สุ. ตามฌานที่ท่านได้

    . ไม่ใช่เข้าย้อนหลังตั้งแต่โสตาปัตติผล ใช่ไหม

    สุ. ท่านจะกลับไปเป็นพระโสดาบันอีกไม่ได้ ปุถุชนยังไม่ได้ดับกิเลส แต่พระอริยบุคคล คือ บุคคลที่อบรมเจริญปัญญาดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จะกลับไปมีกิเลสอย่างเดิมที่ไม่ดับไม่ได้ ฉันใด เวลาที่ท่านเป็นพระสกทาคามีบุคคล ท่านจะกลับไปเป็นพระโสดาบันบุคคลอีกไม่ได้ เพราะได้ดับกิเลสเป็น พระสกทาคามีบุคคลแล้ว เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลจะมีโสตาปัตติผลจิต เกิดอีกไม่ได้ มีสกทาคามิผลจิตเกิดอีกไม่ได้ พระอรหันต์ก็เช่นเดียวกัน และสำหรับพระอรหันต์ ฌานสมาบัติของท่านเป็นกิริยา ไม่ใช่เป็นกุศล

    . ท่านพระสารีบุตรเข้าผลสมาบัติ และปรินิพพานในผลสมาบัตินั้นหรือ

    สุ. ไม่ใช่ เวลาที่กำลังเป็นผลสมาบัติอยู่ จุติจิตเกิดไม่ได้ ต้องออกจากฌานก่อน ขณะที่กำลังเห็น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป จักขุวิญญาณเกิดและดับไป จะให้จุติเกิดแทรกคั่นไม่ได้เลย

    . ในระหว่างเข้าสมาบัติ

    สุ. วิถีจิตทั้งหลาย ตามปกติธรรมดาจะจุติไม่ได้

    . ที่ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมแก่อุบาสิกามารดาของท่าน ท่านแสดงเรื่องพระพุทธคุณว่า อิติปิโส ภควา อุบาสิกาฟังแล้วสำเร็จโสดาปัตติผล ขอให้ ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า อุบาสิกาท่านฟังอย่างไร ท่านจึงได้สำเร็จ

    สุ. ถ้าแสดงเรื่องของพุทธคุณ แสดงอย่างไรจึงจะรู้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงแสดงเรื่องศีล ไม่ใช่พระคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงแสดงเรื่องความสงบของจิตขั้นสมถภาวนา ก็ไม่เป็นทางที่จะให้รู้พระคุณของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ต้องแสดงเรื่องของสัจธรรม และการอบรมเจริญหนทางที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะทำให้เห็นได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ไม่พ้นไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ซึ่งเมื่อผู้ใดได้ฟังและได้อบรมเจริญปัญญามาพอที่จะเป็น พระโสดาบันบุคคล ย่อมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับเหตุว่า เหตุพอหรือยัง ถ้าเหตุยังไม่พอ ก็อย่าไปหวังว่า ธรรมที่ท่านพระสารีบุตรแสดงกับมารดาของท่าน เมื่อผู้ใดได้ฟังแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขึ้นกับการสะสมอบรมปัญญาของแต่ละท่านจริงๆ

    ในกาลข้างหน้า อาจจะเป็นสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์ต่อไป หรืออาจจะ ไม่ถึงสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์ต่อไป ถ้าท่านผู้ฟังได้อบรมเจริญหนทางข้อปฏิบัติและพร้อมด้วยเหตุเมื่อไร ก็อาจจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ ในระหว่างที่หมดสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แล้ว หรืออีก ๕,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ยากแสนยากสำหรับผู้ที่จะ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม และได้พิจารณาพระธรรม แต่ถ้าผู้ใดได้อบรมเจริญปัญญามาแล้ว อาจจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ในโลกมนุษย์ก็ได้ เพราะทุกคนจะอยู่ในโลกนี้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ก็คงจะอยู่ในภพหนึ่งภพใด และเมื่อเป็นสุคติภูมิ ก็มีโอกาสที่จะได้อบรมเจริญปัญญาต่อไป

    เพราะฉะนั้น เรื่องผล ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคำนึงถึง แต่ควรเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นไหม ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    . น่าสงสัยมาก ก่อนที่ท่านพระสารีบุตรจะมา มารดาของท่านยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่เลย ใช่ไหม

    สุ. เพราะว่าท่านเสียใจมากที่บุตรของท่านทั้งหมดไปบวช ไม่เหลือเลย

    . เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แต่ได้ยินพระพุทธคุณเท่านั้นบรรลุ ก็ต้องสงสัย

    สุ. พุทธคุณเท่านั้นอีกแล้ว ไม่ใช่เท่านั้น แต่แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ต้องแสดงถึงสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้

    . แม้เพราะเหตุนั้น แม้เพราะเหตุนั้น เฉพาะ ๒ คำนี้ ท่านอาจจะได้ถึง ๖๐,๐๐๐ นัย ใช่ไหม

    สุ. ท่านไม่ได้แสดงซ้ำแค่ แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ แต่แสดงจนกระทั่งอุบาสิกาสามารถบรรลุมรรคผลได้

    . แสดงว่าท่านต้องได้อบรมการเจริญสติปัฏฐานมาอย่างเต็มเปี่ยม ขาดอยู่นิดเดียวเท่านั้น

    สุ. ไม่น่าสงสัยเลย

    ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณา จะเห็นได้ว่า การสังเกตและการพิจารณาพระธรรมที่ได้ฟัง แต่ละท่านมีความละเอียดต่างๆ กัน อย่างในเรื่องของท่านพระสารีบุตรที่ท่านไปปรินิพพานที่บ้านเกิดของท่าน และได้โปรดมารดาของท่าน ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้สังเกตและพิจารณาเห็นว่า แม้อุบาสิกาท่านนั้นเป็นถึงมารดาของท่านพระสารีบุตร และเป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ได้เกิดในสมัยของพระผู้มีพระภาค แต่ ก็ยังอบรมปัญญามาเพียงขั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล

    นี่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะสังเกต คือ คนในสมัยนี้ อย่าเพิ่งรีบร้อนคิดที่จะบรรลุธรรมโดยเร็ว หรือคิดว่าจะต้องบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ เพราะว่าผู้ที่ได้อบรมปัญญาเป็นถึงมารดาของท่านพระสารีบุตร ก็ยังมีปัญญาที่ได้อบรมมาเพียงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น

    ท่านเป็นถึงมารดาของท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรจะโปรดให้ท่านบรรลุคุณธรรมสูงกว่าการเป็นพระโสดาบันบุคคลไม่ได้ ตามการสะสม ทั้งๆ ที่ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบกับบุคคลอื่น ในครั้งนี้ ที่หวังพึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใดและคิดว่า บุคคลนั้นสามารถช่วยให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นพระสกทาคามี พระอนาคามี หรือแม้พระอรหันต์ ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า แม้ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวก ผู้เลิศในทางปัญญา ยังไม่อาจโปรดมารดาของท่านให้บรรลุอริยสัจธรรมเกินกว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล

    สำหรับคุณธรรมของท่านพระสารีบุตรนั้นมีมาก ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวปุตตสังยุต สุสิมสูตรที่ ๙ ท่านพระอานนท์ได้สรรเสริญคุณธรรมของท่านพระสารีบุตรต่อพระผู้มีพระภาค สำหรับในข้อปรารภ ความเพียร มีคำอธิบายว่า

    ท่านพระสารีบุตรไม่เหยียดหลังบนเตียงนอนมาตลอดเวลา ๔๔ ปี

    นอกจากนั้น มีคุณธรรมอื่นๆ อีก ซึ่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะเป็นข้อเตือนใจให้พุทธบริษัทที่เข้าใจว่า ท่านมีความเพียร ความเพียรของท่านมากน้อยแค่ไหน และเป็นความเพียรในการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะละคลายกิเลส ดับความเห็นผิด หรือเป็นความเพียรเพราะหวังผลที่จะบรรลุ นี่เป็นสิ่งซึ่งต่างกันมาก เพียงแต่จะสังเกตสภาพของจิตใจว่า ความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เพื่อรู้ และละความไม่รู้ หรือหวังและอยากที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล

    นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และสังเกตพิจารณาแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเป็นประโยชน์ ยิ่งสังเกตมาก พิจารณาละเอียดมาก ประโยชน์ที่ได้รับก็มาก เพราะบางท่านบอกว่า ไม่ฟังพระสูตร ไม่สนใจพระสูตร ท่านคิดว่าท่านอ่านเองได้ แต่ถ้าไม่ฟังความคิดเห็นและการพิจารณาของบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะมีการพิจารณา ความละเอียดในลักษณะต่างๆ กัน ถ้าไม่ฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นเลย ย่อมจะขาดประโยชน์ เพราะว่าจะขาดข้อคิดในแง่ที่เป็นประโยชน์ของบุคคลอื่น

    บางท่านอ่านพระสูตรด้วย แต่อ่านและก็คิด และมีเรื่องสงสัยในพุทธวิสัยบ้าง ในฌานวิสัยบ้าง เป็นต้น ซึ่งตามความจริงถ้าจะพิจารณาว่า ปัญญาของผู้ที่อ่านไม่ใช่ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัครสาวก หรือพระอริยเจ้าในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพุทธวิสัย หรือในเรื่องของฌานวิสัย ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าบุคคลนั้นยังไม่อาจที่จะบรรลุได้ ย่อมจะหมดความสงสัยไม่ได้ แม้ในเรื่องของอิทธิฤทธิ หรือแม้แต่ในเรื่องของฌานจิตที่เป็นปฐมฌานก็ตาม

    ขอเชิญท่านผู้ฟังท่านหนึ่งอ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งด้วย

    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    อำเภอบางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา

    ๑๒ ก.พ. ๒๕๒๙

    เจริญธรรมแด่ญาติสัมมาปฏิบัติ

    ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับฟังการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนาของท่าน เห็นว่าท่านได้อธิบายธรรมเป็นสัมมาทิฏฐิ ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้รับฟัง ได้ปัญญา จากการเจริญสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ด้วยการเจริญวิปัสสนา โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาวุธ ใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเดิน และไม่เจริญภวังคฌาน คือ นั่งหลับตาพยายามสะกดจิต ทำสมาธิเข้าไปเรื่อยๆ ท่านใช้การลืมตาเป็นคนปกตินี่แหละ แต่มีสติให้ได้อยู่เสมอ แล้วก็เพ่งเพียรพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธัมมารมณ์ ให้ทะลุ ให้ได้จนรู้รูปรู้นามอันแท้จริง เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แล้วก็เพียรตัดขาดโลภกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพื่อที่จะบรรลุหลุดพ้นจากทุกข์ในภพนั้นๆ เป็นการหลุดพ้นด้วยการเจริญวิปัสสนาในแบบไม่นั่งหลับตาหรือไม่ใช้ฌานในภวังค์เป็นบาทฐาน เรียกว่า หลุดพ้นแบบอุภโตภาควิมุตติ โดยได้ปัญญามาทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ ตทังคปหานไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสมุจเฉทปหาน ซึ่งจะนำพาผู้เจริญอยู่ได้เข้าถึงพระนิพพาน

    ในวันที่ ๑๑ ก.พ. นี้ ข้าพเจ้าได้รับฟังท่านบรรยายพระไตรปิฎกเล่ม ๙ สามัญญผลสูตร ท่านได้บรรยายพระสูตรไปในทางมิจฉาทิฏฐิ ข้าพเจ้าเห็นว่า จะทำให้ผู้รับฟังเกิดมิจฉาทิฏฐิ และจะเป็นอนันตริยกรรมแก่ผู้บรรยาย เป็นผู้ทำให้ชีวิตพระพุทธศาสนาหยุดชะงัก คือ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ด้วยการที่ท่านได้บรรยายอิทธิวิธญาณ เป็นไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ที่พระพุทธองค์ทรงเกลียดมาก เป็นไปเพื่อมิจฉาทิฏฐิ พิสูจน์ให้เห็นตามได้ยาก ทำให้มีให้เกิดในตนไม่ได้ เป็นสิ่งที่วิญญูชนไม่แจ่มแจ้งในตน ทำให้พิสูจน์ให้เห็นตามได้ยาก ทำให้มีให้เกิดในตนไม่ได้ ศึกษาและปฏิบัติตามไม่ได้ในตน ทำให้เป็นสิ่งที่เพ้อเจ้อลอยลม เป็น อิทธิวิธญาณที่ปฏิบัติให้มีให้เกิดในตนไม่ได้ อิทธิวิธญาณที่เป็นสัมมานั้น คือ ความเก่งในการทำจิตให้ปราศจากกิเลสได้หลายวิธี ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เพื่อบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ

    ๑. คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หมายความว่า ทำจิตที่ปราศจากนิวรณ์กิเลส ให้มีขึ้น ให้เป็นให้ได้มากๆ หลายจิต เช่น พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ทรงสอนสาวกให้เป็นพระอรหันต์มากมาย ข้อนี้มิใช่ว่าเป็นการแสดงปาฏิหาริย์โดยการแบ่งภาคให้ตนเป็นหลายๆ คนเหมือนๆ กัน เหมือนหนังการ์ตูนในจอทีวี ตามที่พวกมิจฉาทิฏฐิแสดงเอาไว้ หรือดั่งฤๅษีเดียรถีย์ที่พยายามฝึกกระทำกัน

    ๒. หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ หมายความว่า ทำจิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์ ต่างๆ ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง (เอกัคคตารมณ์) เป็นฌาน เป็นสมาธิ เช่น ทำปุถุชนหลายๆ คนให้เป็นอริยบุคคลอันหนึ่งอันเดียวกัน (เอโกธัมโม) มิใช่ว่าทำคนหลายๆ คนที่ได้แบ่งภาคออกแล้วให้กลับมาเป็นคนเดียวอย่างเดิม

    ๓. ทำให้ปรากฏก็ได้ หมายความว่า ทำจิตให้ปราศจากกิเลสให้ปรากฏ ให้เกิดขึ้น เช่น ทำคนที่ฆ่ากิเลสได้ให้ปรากฏให้เกิดขึ้น (พุทธาภิเษก ทำคนให้เป็นพุทธะ) มิใช่ว่าจะทำการเสกให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นสิ่งนี้เกิดโดยไม่มีเหตุปัจจัย หรือ พุทธาภิเษก อิฐ หิน ดิน ปูนปั้น ปรุ อัด ยัด เป่า ให้เกิดสภาวะของพุทธะตาม ลัทธิดิรัจฉานวิชา ที่หลายคนทั่วไปมุ่งปรารถนาพยายามฝึกปรือให้ตนมีวิชาเหล่านี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564