แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530


    ครั้งที่ ๑๕๓๐


    สาระสำคัญ

    ขุ. มหา.มหาวิยูหสุตตนิทเทส - ผู้ที่ละเอียดจึงเห็นกิเลสของตนเอง

    เห็นโทษกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย

    ขุ. เถรคาถา สิริมาเถรคาถา - ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักตนเองตามความเป็นจริง

    นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๙


    พระธรรมช่วยเกื้อกูลหลายท่านซึ่งเป็นผู้ที่สังเกตพิจารณาตนเอง และเปลี่ยนแปลงจากอุปนิสัยเดิม

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้เล่าถึงเพื่อนของท่านคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนตั้งแต่เด็ก และเป็นอัมพาต เส้นโลหิตฝอยแตกเป็นอัมพาตมาได้ ๔๑ ปี ซึ่งปกติท่านเป็นคนที่ตระหนี่ แต่ในเดือนนี้เอง ท่านได้เอาเงินที่ท่านเก็บสะสมไว้ตามที่ต่างๆ แจกเพื่อนฝูงของท่านคนละ ๗๐๐ บ้าง ๖๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง ทำให้เพื่อนแปลกใจว่า ทำไมจึงเปลี่ยนจากเดิม ท่านผู้นั้นก็บอกว่า ได้อ่านอรรถกถาสัทธัมมโชติกา ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ และท่านก็เห็นกรรมของท่านที่ทำให้เป็นผู้ที่คดงอ เป็นอัมพาตถึง ๔๑ ปี เพราะฉะนั้น ท่านก็เริ่มนำทรัพย์ที่ซุกซ่อนไว้ออกแจก

    นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละบุคคล ซึ่งพระธรรมเกื้อกูลทำให้เห็นว่า สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้น

    และสำหรับการดำเนินหนทางไปสู่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ถ้าเห็นกิเลสของตนเองเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาจจะเห็นเพียงความตระหนี่ แต่ยังมีกิเลสอีกหลายประเภท ซึ่งถ้าสังเกตจริงๆ ก็พอที่จะรู้เพิ่มขึ้นว่า มีอะไรบ้างที่ยังจะต้องขัดเกลา ซึ่งอกุศลทั้งหลายก็ไม่ค่อยจะยอมให้ปัญญาขัดเกลาเลย ยังคงคิดว่า ถ้ายังมีมานะอยู่บ้างก็ต้องดี หรือยังมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่บ้างก็ต้องดี จนกว่าจะเห็นความไม่ดีของอกุศลทั้งหลายจริงๆ และสามารถกระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เช่น คนที่มีความสำคัญตนก็เริ่มที่จะเห็นว่า ความสำคัญตนไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะเพิ่มความสำคัญตนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และนับวันความสำคัญตน ความถือตน ความทะนงตนนั้น ก็จะปรากฏในลักษณะที่น่ารังเกียจทั้งทางกาย ทางวาจา

    นอกจากนั้น ยังมีอกุศลเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่สังเกตเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ขัดเกลามากขึ้น เพราะว่าการติด ไม่ได้ติดแต่เฉพาะในรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ แต่ยังมีการติดในแม้คำสรรเสริญ หรือคำชมเชย

    เรื่องการติดในลาภ ในยศ และพอใจที่จะแสวงหาลาภบ้าง ยศบ้าง ก็เพราะ ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นการติดในความเป็นตัวตน เช่น บางคนเพียง คำสรรเสริญ ก็เป็นที่พอใจ บางคนบอกว่า ไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญ แต่ขอให้คิด ให้ละเอียดไปกว่านั้นว่า ที่ว่าไม่ต้องการคำสรรเสริญ ต้องการคำชมเชยเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหม คือ คำสรรเสริญอาจจะมาก เพราะฉะนั้น ก็ย่อลงมาเป็นเพียงคำชมเชย เล็กๆ น้อยๆ ต้องการไหม

    แม้แต่คำชมเชยในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย หรือเครื่องประดับต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่ได้ยินเสียงชม เพียงเสียงที่กระทบหูและดับไป แต่ให้สังเกตว่า ขณะนั้นมีความหวั่นไหว มีความพอใจ มีอกุศลจิตที่เกิดสืบต่อ ทางมโนทวารวิถีอีกหลายวาระ แม้ว่าเสียงที่กระทบหูเป็นคำชมเพียงเล็กๆ น้อยๆ และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เรื่องของอกุศล อย่าคิดถึงเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เรื่องเล็กๆ นิดเดียว ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่แสดงความติดในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งจะต้องเห็นความจริง และจะต้องเป็นผู้ที่คลายความหวั่นไหวลงไปบ้าง เรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส มหาวิยูหสุตตนิทเทสที่ ๑๓ ข้อ ๖๐๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่า ก็ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ในคำว่า ก็ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส ความว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย

    นี่คือผู้ที่ทรงอนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทเห็นโทษของกิเลส แม้เพียงคำสรรเสริญ หรือคำชมเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม โดยตรัสถึงความจริงที่ว่า ก็ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส

    ขอให้คิดดูว่า ชั่วขณะที่เสียงสรรเสริญกระทบหู เพียงเล็กน้อย จะทำให้คนที่ ได้รับคำสรรเสริญนั้น สงบกิเลสหรือเปล่า

    ใครจะชมใครก็ได้ พิสูจน์ดู คนที่ถูกชม สงบกิเลสหรือเปล่า คำสรรเสริญนั้นเป็นประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า เป็นของเล็กน้อยจริงๆ เพราะว่า ไม่พอเพื่อสงบกิเลส เพราะฉะนั้น ที่ว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นส่วนน้อย ต่ำช้า นิดหน่อย ลามก สกปรก ต่ำต้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย

    ถ. พระอริยเจ้าจะมีความปีติเล็กน้อย คือ ความพอใจเล็กน้อยใน คำสรรเสริญบ้างไหม หรือไม่มี

    สุ. แล้วแต่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นไหน ถ้าเป็นขั้นพระอริยบุคคลที่ท่านดับความพอใจยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านก็ไม่มีความยินดีใน คำสรรเสริญ แต่ผู้ที่ยังติดในรูป ย่อมพอใจเมื่อมีผู้สรรเสริญในรูป ผู้ที่ติดในเสียง ผู้ที่ติดในกลิ่น ผู้ที่ติดในรส ผู้ที่ติดในโผฏฐัพพะ ผู้ที่ติดในลาภ ผู้ที่ติดในยศ ย่อมจะพอใจ ถ้าเป็นผู้ที่ดับความยินดีพอใจแล้ว ท่านไม่หวั่นไหว แต่สำหรับผู้ที่ยังหวั่นไหวอยู่ เป็นผู้ที่เริ่มพิจารณาตนเองเพื่อที่จะละกิเลส เพราะเห็นว่าคำสรรเสริญ หรือคำชมนั้นไม่ได้มีความหมายอะไร ยิ่งถ้าทำให้กิเลสเกิด ก็ยิ่งเป็นของที่ต่ำต้อย ลามก

    ถ. พระโสดาบันยังมีโลภะ โทสะ โมหะบ้างเล็กน้อย สภาวะที่อาจารย์แสดงธรรมมานั้น อริยะเบื้องต้นนี้ละได้ไหม

    สุ. สำหรับพระโสดาบันนั้น ท่านละมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด รวมทั้งสักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นเหตุของมิจฉาทิฏฐิด้วย ไม่มีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิด แต่เมื่อยังมีความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความยินดีความพอใจก็ต้องเกิด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงให้ระลึกได้ว่า ก็ความสรรเสริญนั้น เป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส เตือนคนที่ได้รับคำชมหรือคำสรรเสริญให้รู้สึกตัว ในขณะนั้นว่า ขณะที่ได้รับคำชมหรือคำสรรเสริญนี้ จิตอะไรเกิดต่อ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ

    ถ. พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เผ็ดร้อนและทารุณ ชื่อเสียงกับคำสรรเสริญเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า

    สุ. ชื่อเสียง หมายความถึงเป็นที่รู้จัก ใช่ไหม

    ถ. โดนเขาชมเรื่อย พูดเรื่อย ก็ทำให้เกิดชื่อเสียง

    สุ. คนที่มีชื่อเสียง ก็ต้องเลือกว่าในทางไหน เพราะคนที่มีชื่อเสียง หมายความถึงคนที่มีคนรู้จัก ชื่อนั้นมีเสียงด้วย เป็นที่รู้จัก

    ถ. แต่ก็นิดหน่อยจริงๆ เราก็ไปหลง ไปติด

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถึงคำสรรเสริญมากๆ การที่จะเป็นผู้ละเอียด แม้แต่คำชมนิดๆ หน่อยๆ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จิตใจหวั่นไหวไปแค่ไหน

    ถ. หวั่นไหวมากๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น กิเลสก็มีมากมายจริงๆ นี่ก็จะทำให้ทุกท่านที่ต้องการ คำชม ถึงจะไม่ใช่คำสรรเสริญ เพียงคำชมเล็กน้อยในเรื่องใดๆ ก็ตาม จะระลึกได้ทันทีว่า จิตในขณะนั้นเป็นอะไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า ไม่พอเพื่อสงบกิเลส ความว่า ไม่พอเพื่อยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความมัวเมากิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิสังขารทั้งปวง ให้สงบ เข้าไปสงบ ดับ สละคืน ระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อสงบกิเลส

    พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงความละเอียดต่อไปอีก เพราะบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาตลอดไปจนกระทั่งถึงว่า คำที่คนอื่นชมหรือสรรเสริญนี้ที่ว่าไม่พอที่จะสงบกิเลสนั้น กิเลสอะไรบ้าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่พอเพื่อยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่

    ทั้งหมดนี้ ทุกคนมี

    ถ้าใครชมแล้วกิเลสพวกนี้หมดไปก็คงจะดี ใช่ไหม แต่เมื่อชมแล้ว คิดดูว่า มีกิเลสเหล่านี้เพิ่มเติมต่อไปหรือเปล่า มารยา ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความมัวเมากิเลสทั้งปวง ทุจริต ทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลาภิสังขารทั้งปวง ให้สงบ เข้าไปสงบ ดับ สละคืน ระงับไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความสรรเสริญนั้นเป็นของน้อย ไม่พอเพื่อความสงบ

    ถ้าอยากจะได้อะไรในชีวิต ก็ขอให้พิจารณาถึงความจริงว่า เมื่อได้มาแล้ว ทำให้อกุศลจิตเกิดเพิ่มพูนขึ้น หรือทำให้อกุศลนั้นลดลง แม้แต่คำสรรเสริญ ถึงใครจะสรรเสริญสักเท่าไร ผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงก็จะรู้ได้ว่า กิเลสของตนเองนั้นไม่ได้หมดไปเพราะคำสรรเสริญนั้นๆ ได้

    ต่อไปนี้เวลาใครชม จะคิดอย่างนี้ไหม

    คำชมนั้นไม่ได้ทำให้อกุศลของเราลดน้อยลงเลย และสังเกตพิจารณาจิต ในขณะที่ได้รับคำชมด้วย เพราะไม่ว่าใครจะชมหรือไม่ชม จะสรรเสริญผิด หรือ จะสรรเสริญถูกก็ตาม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงบุคคลนั้นไปได้เลย

    ขุททกนิกาย เถรคาถา สิริมาเถรคาถา ข้อ ๒๗๗ มีข้อความว่า

    ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่านั้นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่น ก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว

    เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ไม่ว่าใครจะสรรเสริญสักเท่าไร หรือใครจะติเตียนสักเท่าไร ตัวท่านเองมีปัญญามากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคำสรรเสริญหรือคำชมของบุคคลอื่น แต่ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของจิต ในขณะนั้นได้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศลเพียงไร

    สำหรับการทำกุศลของแต่ละท่าน ไม่ทราบว่าที่ทำมีเจตนาหรือมีความหวัง ความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใดในบางครั้งบางขณะหรือเปล่า หรือว่ากุศลทั้งหมดที่ทำ เพื่อมุ่งอย่างเดียวที่จะดับกิเลส เพื่อที่จะหมดกิเลส ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงเตือนไว้ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ ข้อ ๘๒๕ มีข้อความว่า

    ผู้มีปัญญาทำกุศลเพื่ออะไร

    ต่างกันแล้ว ระหว่างคนที่มีปัญญากับคนที่ไม่มีปัญญา

    คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

    นิพพาน ยากที่ใครจะน้อมไปได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ดับทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มจากดับกิเลส จึงดับทุกข์และดับขันธ์ได้

    ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ทุกข์ก็ยังดับไม่ได้ ขันธ์ก็หมดไปไม่ได้ ยังต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการเกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ดับ และจะต้องประสบกับทุกข์อย่างหนึ่ง อย่างใด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทันทีที่เกิดก็เป็นทุกข์ เพราะต้องดับ ทั้งจิต เจตสิก รูป สภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มีเลย แต่เนื่องจากปัญญายังไม่สามารถประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ทำให้แม้เห็นก็กลับยินดีพอใจ แม้ได้ยินก็ยินดีพอใจ ทั้งในการเห็นและในสิ่งที่เห็น ทั้งในการได้ยินและในเสียงที่ได้ยิน จนกระทั่งอวิชชาปิดบังสภาพของธรรม ทำให้ไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงพอที่จะดับกิเลสและดับขันธ์ คือ ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของนิพพาน เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจถูกว่า เป็นเรื่องของการดับกิเลสอย่างเดียว

    คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุ แห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ อันมีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

    อนึ่ง นรชนกระทำจิตให้กลับจากสังขารธาตุอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาติใด คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ธรรมชาตินี้สงบ ประณีต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

    สมจริงดังพระพุทธภาษิตที่ว่า

    บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทาน เพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไป โดยส่วนเดียว

    บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ เพื่อภพต่อไป แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌาน เพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยส่วนเดียว

    บัณฑิตเหล่านั้นมุ่งนิพพาน มีจิตเอนไปในนิพพาน น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    นรชนพึงปราบความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน

    ขณะนี้ทุกคนพอที่จะรู้จักตนเองว่า มีจิตน้อมไปในนิพพานแค่ไหน หรือว่ายัง แต่เริ่มที่จะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระนิพพานได้

    ถ. เจริญสติมาถึงขณะนี้ ยังไม่เคยน้อมใจไปถึงนิพพานเลย

    สุ. เพราะอะไร ทราบไหม

    ถ. ปัญญายังไม่แก่กล้า

    สุ. นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าแม้แต่การที่จะให้ทาน หรือการที่จะรักษาศีล ก็ไม่ควรจะเป็นไปโดยหวังคติ โดยหวังภพ หรือโดยหวังสังสารวัฏฏ์ หวังสุขซึ่งเป็นวิบาก แต่ควรที่จะเห็นโทษของ สิ่งต่างๆ เหล่านั้น และรู้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีสุขเป็นวิบากสักเท่าไร ก็ไม่เที่ยง ไม่เหมือนกับการที่จะดับสนิท ไม่มีการเกิดของขันธ์อีกเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564