แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541


    ครั้งที่ ๑๕๔๑


    สาระสำคัญ

    บุญกิริยาวัตถุที่เป็นธัมมเทศนา สมถภาวนา ทำความเห็นให้ตรง

    กุศลทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะศรัทธา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๙


    สำหรับการฟังธรรม คือ ธัมมสวนะ จะเห็นได้ว่า ต้องมีศรัทธาแน่นอน เพราะว่าบางวันอาจจะต้องตื่นแต่เช้ามาก เช่น ตีสี่ครึ่ง และบางท่านอาจจะบอกว่า ตื่นไม่ได้ แต่ถ้าได้ฟังและสนใจ มีศรัทธาที่จะพิจารณาข้อความที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ศรัทธาเจริญขึ้นหรือยังไม่เจริญพอที่จะกระทำกุศล เช่น การฟังธรรมใน เวลาที่ยังเช้าอยู่ได้

    สำหรับบุญกิริยาที่เป็นธัมมเทศนา ทางวาจาได้แก่การแสดงธรรม การสนทนาธรรม อย่างท่านผู้ฟังก่อนจะถึงเวลาฟังคำบรรยาย ก็มีการสนทนาธรรมกัน ในเรื่องของรูปบ้าง ในเรื่องของนามบ้าง เรื่องรูปนามทางตาบ้างตามที่ได้ทราบ ซึ่งแสดงว่าท่านผู้นั้นมีศรัทธาในธัมมเทศนา คือ ในการแสดงธรรมและสนทนาธรรมกัน หรือบางท่านก็ตอบจดหมายธรรม เวลาที่มีท่านผู้ฟังเขียนปัญหาธรรมมา แม้ไม่เป็น คนที่ขยันในการเขียนจดหมายเลย คือ มีท่านผู้หนึ่งท่านไม่เขียนจดหมายถึงลูก ที่อยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อมีคนเขียนถามปัญหาธรรม ท่านเขียนตอบ แสดงให้เห็นถึงขณะนั้นเพราะศรัทธาเกิด จึงเป็นเหตุให้มหากุศลจิตกระทำกุศลซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น

    การอบรมจิตใจ เช่น สมถภาวนาในชีวิตประจำวัน รู้ว่าขณะใดจิตไม่สงบ และจิตจะสงบได้อย่างไร เช่น ด้วยการเจริญเมตตา การระลึกถึงความตาย เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตซึ่งเกิดเพราะศรัทธา

    สำหรับการกระทำความเห็นให้ตรงก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคง จริงๆ ในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้ที่ไม่อยากจะมีความเห็นผิดใดๆ ในพระธรรมวินัยและในข้อปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่พอใจยึดติดในข้อปฏิบัติซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญาหรือทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และมีศรัทธาที่จะทิ้งความเห็นผิดต่างๆ

    นี่ก็เป็นศรัทธาทั้งนั้น และถ้าศรัทธาเจตสิกไม่เกิด กุศลทั้งหลายก็เกิดไม่ได้เลย นอกจากนั้น การทำกุศลก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียด กุศลจิตย่อมจะเกิดได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเห็นดอกไม้สวย กุศลจิตเกิดได้ไหม

    ระลึกถึงคนป่วยเจ็บซึ่งเขาจะต้องนอนอยู่เป็นเวลานาน และไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจเบิกบานได้ นอกจากถ้าได้มีผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนและมีสิ่งที่ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ที่จะลืมความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้น เพียงแต่การคิดถึงว่า น่าจะมีดอกไม้ให้ คนป่วยเจ็บ และก็ให้ ในขณะนั้นก็เพราะเห็นสีที่ปรากฏทางตา กุศลจิตก็เกิดได้ โดยการคิดที่จะสละสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น และนอกจากดอกไม้แล้วก็ยังมี หลายสิ่งหลายประการ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่ากุศลจิตจะเกิดขึ้นในขณะใด

    แม้แต่ในเรื่องของเสียง กุศลจิตจะเกิดได้ไหม ไม่สามารถที่จะหยิบยกยื่นเสียงให้ได้อย่างข้าวปลาอาหารหรือว่าดอกไม้เสื้อผ้าก็จริง แต่แม้กระนั้นก็ยังมีขณะจิต ซึ่งสามารถที่จะเป็นไปในเสียงได้ เช่น ถ้ามีคนป่วยไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ ไม่มีเสียง เกิดกุศลจิตได้ไหมที่จะให้ยาที่ทำให้เขาพูดได้ตามปกติ มีเสียงได้ตามปกติ

    นี่เป็นเรื่องที่แล้วแต่ศรัทธาจริงๆ ว่า ถ้าศรัทธาเกิดขึ้นขณะใด ย่อมไม่พ้นจากกุศลที่จะเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    สำหรับกลิ่นทางจมูก มีโอกาสที่ศรัทธาจะเกิดเป็นกุศลได้ไหม ให้วัตถุที่มี กลิ่นหอมหรือของที่เป็นประโยชน์ทั้งกลิ่นและคุณภาพ เช่น ยาหอม หรือเพียงกลิ่นหอมที่จะทำให้คนที่ป่วยไข้รู้สึกสบายขึ้น ขณะนั้นแม้แต่รูปกลิ่นก็ยังเป็นปัจจัยให้ ศรัทธาเกิดที่จะเป็นกุศลได้

    สำหรับรสอาหารก็เป็นที่ทราบว่า ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้โดยจัดหาอาหารอร่อยถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือมิตรสหาย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลนั้นได้รับรสที่อร่อย เป็นผู้ที่เจริญอาหาร ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้

    สำหรับโผฏฐัพพะ การกระทบทางกาย ก็มีหลายสิ่งหลายประการซึ่งศรัทธา จะเกิดทำให้กุศลจิตระลึกเป็นไปในการให้ ให้สัมผัสที่สะดวกสบาย เช่น ที่นอน หมอน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ เครื่องกันความหนาว ความร้อน เป็นต้น

    นอกจากนั้นแล้ว อารมณ์ที่เป็นธัมมารมณ์ทางใจ ก็มีทางที่จะกระทำได้ เช่น การบริจาคตา หรือบริจาคโลหิต ก็ล้วนแต่เป็นธัมมารมณ์ เป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคล ที่ได้รับดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

    และไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กุศลจิตย่อมเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสติปัฏฐาน ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น กุศลจิตในวันหนึ่งๆ ถ้าได้สะสมจนกระทั่งศรัทธาเจริญ ศีลเจริญ สุตะเจริญ ปัญญาเจริญ จะทำให้เป็นผู้ที่เจริญในกุศลธรรม ถ้าไม่สังเกตอาจจะไม่รู้ว่าเป็นศรัทธาทั้งนั้น

    . พูดถึงเรื่องศรัทธา ผมนึกถึงพระสาวกองค์หนึ่งชื่อพระวักกลิ ท่านเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา แต่ศรัทธาที่อาจารย์บรรยายมาก็อาจจะเข้าใจสับสน คือ อาจจะเข้าใจโลภะว่าเป็นศรัทธาก็ได้ อย่างพระวักกลิ ท่านออกบวชเพราะ ท่านต้องการเห็นพระผู้มีพระภาคอยู่ตลอดเวลา ท่านหลงชมเชยในพระรูปโฉมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความสวยงาม อยากจะดู อยากจะเห็น ไม่อิ่ม ลักษณะอาการที่ท่านอยากจะดู อยากจะเห็น ไม่อิ่มนี้ จะมีโลภะอยู่ด้วยหรือเปล่า

    สุ. เป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจที่น่าพิจารณาจริงๆ เพราะท่าน พระวักกลิในขณะนั้น ท่านยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และไม่ใช่เฉพาะแต่ท่าน พระวักกลิ แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ควรที่จะ พิจารณาว่า เลื่อมใสในอะไร ถ้าเลื่อมใสในคุณธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านพระวักกลิท่านเป็นเอตทัคคะในการบรรลุธรรมด้วยศรัทธา แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องมีศรัทธาอย่างมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะในพระรูปเท่านั้น ท่านต้องมีศรัทธา ในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แต่เนื่องจากท่านยังมีกิเลสอยู่ ฉะนั้น การที่จะไม่ให้กิเลสเกิดเลย ให้มีแต่ศรัทธาโดยตลอดในขณะที่ได้เห็น หรือ ได้ฟังพระธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียด และเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโลภมูลจิตเกิดเลย แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่มีโลภมูลจิตอยู่ ก็ต้องพิจารณาขณะที่เลื่อมใสว่า ขณะนั้นจะมีอกุศลเกิดแทรกบ้างหรือเปล่า

    . ศรัทธาที่เกิดทางตาที่เห็นรูป อย่างเห็นพระพุทธรูปก็ดี หรือเห็น สิ่งที่เคารพนับถือ ถ้าตามอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้วหมายความว่า ถ้ามีความชอบใจ มากๆ หรือว่าเลื่อมใสมากๆ อารมณ์ที่ปรากฏทางตาที่จะเป็นกุศล เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

    สุ. แน่นอน นี่เป็นข้อที่เตือนใจจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาว่า รูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลจิต แต่ว่าเป็นอารัมมณปัจจัยแก่กุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นพระพุทธรูป ระลึกถึงพระคุณ นั่นเป็นกุศล แต่ถ้า เป็นวัตถุที่มีค่า และมีความพอใจในความวิจิตรหรือในความงดงามของพระพุทธรูปนั้น ขณะนั้นก็ควรพิจารณาว่า เป็นความพอใจในอะไร เป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ผมสังเกตดูตัวเอง เวลาจะซื้อดอกไม้ไปถวายพระ ไปบูชาพระ จะต้องนึกถึงความสวยก่อน อย่างดอกบัวนี้สวยไหม สดไหม ไม่เอาดอกที่เหี่ยวหรือบาน อะไรอย่างนี้ ขณะที่เลือกก็เพื่อจะได้ดอกที่สวยๆ ดีๆ ไปบูชาพระ ขณะนั้นรู้สึกว่าศรัทธาจะไม่สดใส โลภะจะขึ้นหน้ามากกว่า

    สุ. ต้องพิจารณาว่า อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจนี้ จะทำให้เกิดกุศลโสมนัส ถ้าได้ดอกบัวที่ไม่สวย เหี่ยวแห้ง แต่จำเป็นที่จะต้องบูชา ความรู้สึก ในขณะนั้นจะเป็นมหากุศลที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น แม้แต่มหากุศลก็ยังต้องอาศัยอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ จึงจะทำให้เกิดมหากุศลโสมนัสได้

    แต่ต้องเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นความติด ความพอใจในดอกไม้ที่สวย ไม่ได้คิดถึงการที่จะบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาค ขณะนั้น ต้องเป็นโลภมูลจิตแน่นอน เพราะว่ากำลังติด กำลังพอใจในดอกไม้ที่สวย แต่ถ้าคิด จะบูชาพระคุณด้วยดอกไม้ที่สวย ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ก็ทำให้เกิดกุศลโสมนัส ไม่ใช่ ทำให้เกิดกุศลที่เป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น จิตของใครก็จิตของคนนั้นจริงๆ เรื่องของศรัทธากับเรื่อง ของโลภะ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียด

    ถ. อย่างดอกไม้ที่ผมว่าเมื่อกี้ ถ้าเราเลือกเอาดอกไม้ที่ดีๆ ที่สวยงาม ความมุ่งหมายที่เลือกก็เพื่อบูชาพระรัตนตรัย จิตมุ่งหมายว่าเพื่อบูชาพระรัตนตรัย อย่างนี้เป็นศรัทธาใช่ไหม

    สุ. ใช่ เพราะไม่ใช่การติด ไม่ใช่การยึดไว้ นี่เป็นการสละ ใช่ไหม เพื่อ พระรัตนตรัย ไม่ใช่เพื่อตนเอง ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล

    . เวลาไปใส่แจกันแล้ว กราบไหว้พระแล้ว และดูดอกไม้รู้สึกว่า สวย ชอบใจ อย่างนี้สงสัยจะเป็นโลภะขึ้นมาแล้ว ใช่ไหม

    สุ. ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า เดี๋ยวทางตา เดี๋ยว ทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ เร็วที่สุดที่โลภะจะเกิด คือ ตะกรุมตะกรามอย่างลิง

    ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธเจ้านี้ช่างมากมาย เป็นเราทั้งกุศลและอกุศล วันนี้เรียนเรื่องศรัทธา ซึ่งอาจารย์ก็ได้บรรยายอย่างละเอียด เรื่องศรัทธานี้สะสมมาน้อยเหลือเกิน อย่างผมเรื่องจะไปซื้อดอกไม้ ไม่เคยคิดเลย น่ากลัวต้องสะสมอีกนาน เรื่องซื้อดอกไม้ไปบูชาพระ

    สุ. ก็ขออนุโมทนา นี่เป็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ที่จะได้พิจารณาตนเองว่า มีศรัทธามากน้อยแค่ไหน เพราะว่าศรัทธาเป็นสิ่งที่ควรเจริญจริงๆ เป็นความเจริญทางด้านจิตใจที่จะทำให้เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฝั่ง คือ มรรคผลนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าขาดศรัทธาโน่น ศรัทธานี่ ขาดไปเรื่อยๆ กุศลก็จะเล็กน้อยจริงๆ และอกุศลก็จะเพิ่มขึ้นๆ ทุกๆ วัน แต่ถ้าได้ทราบลักษณะของศรัทธา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่จะเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้าง ย่อมจะเกื้อกูล และพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็เป็นการ กันอกุศล คือ ให้รู้ว่าขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นศรัทธา เพราะว่าเรื่องของโลภะกับเรื่องของศรัทธา ถ้าเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แทนที่จะเป็นความเจริญทางกุศล ก็จะเป็นการเจริญทางอกุศล และอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดคลาดเคลื่อนไปได้

    . พระอริยบุคคลท่านแสดงไว้ว่า เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในศรัทธา แต่ พระอริยบุคคลที่ยังดับโลภะไม่ได้ ขณะที่โลภะเกิดก็ไม่มีศรัทธา ฉะนั้น ที่ท่านแสดงว่า มีศรัทธาตั้งมั่น มีความหมายว่าอย่างไร

    สุ. มีความหมายว่า สำหรับพระอริยเจ้าแล้ว ไม่ล่วงศีล ๕ เลย ซึ่งผู้ที่ ยังไม่ใช่พระอริยเจ้ามีศรัทธาได้ ในทานบ้าง ในศีลบ้าง แต่ยังล่วงศีลได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว นอกจากจะมีศรัทธาความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยโดยไม่ คลอนแคลนแล้ว เพราะความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยโดยไม่คลอนแคลนนั้นเอง จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะล่วงศีล ๕ ได้

    นี่เป็นความต่างกัน แสดงถึงความมั่นคงของศรัทธา ซึ่งสำหรับการอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า ศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้น เป็นศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน แต่ในการเจริญสมถภาวนานั้น ลักษณะของศรัทธาที่จะปรากฏได้ต้องถึงทุติยฌาน เพราะแม้ปฐมฌาน ลักษณะของศรัทธาก็ยังไม่ผ่องใส เพราะว่ายังมีองค์ ๕ คือ ทั้งวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา เพราะฉะนั้น ที่ศรัทธาจะผ่องใสขึ้นก็ต่อเมื่อสามารถละองค์ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกได้ จึงจะเห็นว่า ความละเอียด ความสงบนั้น มีสภาพของความผ่องใสอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของศรัทธา

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ทุกคนให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง วิรัติทุจริตบ้าง รักษาอุโบสถศีลบ้าง จึงไม่ค่อยจะเห็นลักษณะของศรัทธา เพราะว่าเป็นสภาพที่มีกำลังน้อย

    เรื่องของกุศลจิต มีเป็นลำดับขั้น และมีมากต่างกันไปโดยประเภท ทั้ง อย่างอ่อน อย่างปานกลาง อย่างประณีต ต่างกันโดยสภาพของอธิบดี คือ โดย ฉันทะบ้าง โดยวิริยะบ้าง โดยจิตบ้าง โดยวิมังสา คือ ปัญญาบ้าง

    เพราะฉะนั้น กุศลมีปริมาณไม่มีที่สุด เช่นเดียวกับสภาพของจิต มีปริมาณ ไม่มีที่สุด เพราะว่าเกิดขึ้นปรุงแต่งจากขณะหนึ่งเป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะมีชีวิต ในมนุษยโลกเท่าไร ในสัตว์ ในนรก ในเปรต ในอสุรกาย ในสวรรค์ ในรูปพรหมภูมิ ก็จะเห็นได้ว่า จิตมีต่างกันไม่มีที่สุด มีทั้งกุศลที่เป็นอดีต กุศลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และกุศลในปัจจุบัน มีทั้งกุศลที่หยาบ มีทั้งกุศลที่ประณีต

    เป็นไปได้ไหม กุศลหยาบ กุศลประณีต บางคนทำกุศลก็ทำให้เสร็จๆ สวย ไม่สวยไม่ว่า ดีไม่ดีไม่คำนึงถึงเหมือนกัน อร่อยหรือไม่อร่อยก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลที่หยาบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๕ ตอนที่ ๑๕๔๑ – ๑๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564