แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506


    ครั้งที่ ๑๕๐๖


    สาระสำคัญ

    พระธรรมคิดเองไม่ได้

    ส.ส. อรรถกถาอนุรุทธสูตร - ไม่ละโอกาสแม้เพียงเล็กน้อย ที่จะกระทำกุศล

    ผลของการสะสมของกรรมและกิเลส

    ส.ม.เวสาลีสูตร - วิบากของกรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๙


    ผู้ฟัง สมัยนี้คนศึกษาพระพุทธศาสนาโดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน คือ ถ้าสิ่งไหนที่ตัวเองไม่เข้าใจจะเห็นว่าหลักฐานต่างๆ นั้นไม่สามารถจะเป็นไปได้ ผม เคยสนทนากับพวกเด็กหนุ่มๆ อายุไม่เกินวัยเบญจเพส เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สาวกจะมีฤทธิ์สามารถเหาะเหินเดินอากาศ หรือเดิน บนน้ำ ดำไปในดิน เพราะไม่มีทางพิสูจน์ได้ ไม่เหมือนอย่างวิทยาศาสตร์ซึ่งเขาสามารถจะพิสูจน์ได้ ท่านผู้เขียนจดหมายมาก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีความเห็นเหมือนอย่างพวกเด็กๆ ที่ผมเคยสนทนาด้วย เพราะเขาศึกษาธรรมโดยเอาตัวเองเป็น บรรทัดฐาน ไม่ได้ศึกษาธรรมโดยเอาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเป็นบรรทัดฐาน

    ในเรื่องนี้ ผมเองแม้ไม่ได้บรรลุมรรคผล หรือไม่ได้ฌาน แต่ผมมีความเชื่อมั่นจริงจังว่า อิทธิปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนานั้นมีได้จริงๆ แต่บุคคลผู้นั้นต้องบรรลุฌาน คือ รูปฌาน หรืออรูปฌาน ตามหลักฐานที่ปรากฏในตำรา ไม่ใช่เหมือนอย่างสมัยนี้ที่มีผู้บรรลุฌานเยอะแยะ มีฌาน ๑ ฌาน ๒ วสี ๑ วสี ๒ ซึ่งทำประเดี๋ยวเดียวก็ได้แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บางทีก็สามารถดักใจคนอื่นได้ กระผมก็เคยสนทนาด้วย ฌานของบุคคลพวกนี้เรียกว่า ฌานลืมตา หมายความว่า เวลาที่เป็นฌานจิตก็ยังสามารถรู้เรื่องอะไรต่างๆ ได้ แต่ความจริงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะถ้าจิตที่เป็นฌานจิตเกิดขึ้นแล้ว จะไม่รู้เรื่องอะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย จะมีอารมณ์ดิ่งอยู่เฉพาะแต่ทางมโนทวารเท่านั้น แต่ฌานสมัยนี้ก็มีแพร่หลายเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ที่กำลังเผยแพร่กันอยู่ ผมเห็นว่าเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

    การที่บุคคลใดก็ตามมีความเห็นค้านที่อาจารย์บรรยาย ผมเห็นว่า แทนที่จะเข้าใจคนอื่นว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตัวเขาเองนั่นแหละเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างมหันต์ และรู้สึกว่า จะชักจูงเข้ามาในทางพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องได้ยากอย่างยิ่ง

    สุ. น่าเห็นใจท่านผู้ฟังท่านนี้ที่ท่านเข้าใจว่า ท่านเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และพอใจที่จะให้กล่าวเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน โดยที่ท่านไม่ได้พิจารณาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ เช่น รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต เป็นต้น ตามข้อความที่ท่านกล่าวว่า

    ... ท่านได้อธิบายธรรมเป็นสัมมาทิฏฐิ ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้รับฟัง ได้ปัญญา จากการเจริญสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ด้วยการเจริญวิปัสสนา โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาวุธ ใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเดิน และไม่เจริญภวังคฌาน ...

    ซึ่งถ้าฟังโดยละเอียดก็จะรู้ได้ว่า ท่านผู้ฟังท่านนี้ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องของ จิตประเภทต่างๆ โดยละเอียดจริงๆ เมื่อพอใจเรื่องสติปัฏฐานและเห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เลยปฏิเสธ เพราะใช้ความเชื่อมั่นในความคิดความเข้าใจของตนเอง และท่านพยายามเปลี่ยนความหมายของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น เรื่องคนเดียวเป็นหลายคน ท่านก็อธิบายว่า เป็นการทำจิตที่ปราศจาก นิวรณ์กิเลสให้มีขึ้น ให้เป็นให้ได้มากๆ หลายจิต

    ท่านเข้าใจว่า ขณะที่จิตเปลี่ยนสภาพจากนิวรณ์เป็นจิตประเภทต่างๆ นั่นคือคนเดียวก็เป็นหลายคนได้

    และสำหรับหลายคนเป็นคนเดียวได้ ท่านอธิบายว่า เป็นการทำจิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์ต่างๆ ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ เป็นเอกัคคตา

    เมื่อท่านเชื่ออย่างนั้น ท่านก็พิจารณาพระไตรปิฎกตามแนวนั้น และพยายามคิดว่าต้องเป็นอย่างที่ท่านเข้าใจ ตัวอย่างของท่าน คือ เช่น ทำปุถุชนหลายๆ คนให้เป็นอริยบุคคลอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่ว่าทำคนหลายๆ คนที่ได้แบ่งภาคออกแล้ว ให้กลับมาเป็นคนเดียวอย่างเดิม

    ข้อ ๓ ท่านกล่าวว่า

    ทำให้ปรากฏก็ได้ หมายความว่า ทำจิตที่ปราศจากกิเลสให้ปรากฏให้เกิดขึ้น ... ก็เป็นเรื่องของจิต แทนที่จะเป็นอิทธิปาฏิหาริย์

    ข้อ ๕ ท่านกล่าวว่า

    ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ หมายความว่า แม้กิเลสตัณหาอุปาทาน หรือนิวรณธรรมใดจะหนาเท่าฝา จะแข็งแรงเท่ากำแพง จะเป็นเครื่องปิดกั้นขนาดภูเขา ผู้มีอิทธิวิธีแท้ก็จะต้องรู้แจ้งแทงทะลุ และไม่ติดไม่ยึดได้โดยไม่ยาก ...

    คือ ขณะใดที่ปัญญาเกิด ท่านก็คิดว่า นั่นคือทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ คือ ปะปนสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา

    ข้อ ๖ ท่านกล่าวว่า

    ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ หมายความว่า เรื่องที่ไม่น่าจะทำ ให้เกิดได้เป็นได้ ก็เกิดได้

    เช่น ดำดิน ไม่น่าเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ถ้าทำตนให้มีอำนาจจิตอยู่เหนือความคิด อยู่เหนือความติดความยึดเดิมๆ เรียกว่า เก่งเหนือธรรมชาติ ท่านเข้าใจว่า ในขณะนั้น ก็เหมือนกับผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้

    ข้อ ๗ ท่านกล่าวว่า

    เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ หมายความว่า เป็นเรื่องที่เก่งสามารถยิ่งขึ้นไปอีก แม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมสัมผัสที่จัดจ้านอย่างยิ่ง ก็สามารถทำให้ง่ายให้สบายได้ เหมือนก้อนน้ำแข็งกลางเตาหลอมเหล็ก

    นี่เป็นการเอาอิทธิปาฏิหาริย์มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นปัญญา

    แสดงให้เห็นว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจ ก็ควรที่จะได้พิจารณาและศึกษาให้หายสงสัยในสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่เมื่ออ่านแล้ว เมื่อทำอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนั้นไม่ได้ ก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ หรือคิดว่าเกิดขึ้นมีไม่ได้

    ขณะนี้ทุกคนเหมือนกับอยู่ในความมืด ท่านอาจจะคิดว่ามีแสงสว่าง มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า วันพรุ่งนี้ หรือแม้ขณะต่อไป ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ สำหรับในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ชื่อว่าไม่มืด เพราะสามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถรู้ว่า ปรมัตถธรรมมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แต่ชั่วขณะที่เลยปรมัตถธรรมนั้นไป มีความนึกคิดเรื่อง ปรมัตถธรรมในขณะใด ขณะนั้นเป็นสมมติ หรือบัญญัติ

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า ความมืดเกิดเมื่อไร และปัญญาความเห็นถูกต้อง เกิดเมื่อไร ถ้าขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นปัญญา ไม่ใช่ความมืด แต่ทันทีที่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ และนึกถึงเรื่องของสภาพธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ขณะนั้นอยู่ในความมืดทันที เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะอยู่ในความมืดนานสักเท่าไร และจะอยู่ในขณะที่สว่างกี่ขณะ

    นอกจากนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มี การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ผลของกรรมใดจะให้ผลในขณะใด เพราะว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว และกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การ ได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เวลาที่มีเหตุมีปัจจัยถึงกาลที่ควรจะให้ผลเกิดขึ้น ผลนั้นก็เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะปรินิพพาน เพราะแม้บุคคลที่ได้สะสมบุญกุศลจนสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สามารถพ้นจากผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีความทุกข์ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ก็ให้ทราบว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว และ ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วจะทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด เห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูก ลิ้มรสที่ไม่ดีทางลิ้น กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่สบายทางกาย ตลอดไปจนถึงกาลที่จะปรินิพพาน โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้

    เช่น ท่านพระปูติคัตตติสสเถระ ท่านเป็นโรคฝีทั่วตัว จนกระทั่งร่างกายเน่า และจีวรเปื้อนด้วยเลือดและน้ำหนอง เมื่อภิกษุทั้งหลายทอดทิ้งท่าน พระผู้มีพระภาคทรงทราบก็เสด็จไปอนุเคราะห์ เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จไป ก็ได้ช่วยพระผู้มีพระภาคพยาบาลท่านพระปูติคัตตติสสะ โดยให้ท่านสรงน้ำร้อน และช่วยกันเปลี่ยนจีวรให้ท่านสะอาดกาย สบายใจ ตามรับสั่งของพระผู้มีพระภาค เมื่อท่าน พระปูติคัตตติสสเถระพร้อมที่จะฟังพระธรรม พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรม เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ และปรินิพพาน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรที่จะระลึกถึงการไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีตอนันตชาติ ยังพร้อมที่จะให้ผลได้ เมื่อถึงกาลที่จะให้ผลนั้นๆ เกิด ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอดีตชาติของท่าน พระปูติคัตตติสสเถระว่า

    ในครั้งศาสนาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะนั้น ท่าน พระปูติคัตตติสสะเกิดเป็นพรานนก ฆ่านกขาย นกที่เหลือขายนั้นก็หักกระดูกขาและกระดูกปีกทิ้งไว้เป็นกองๆ ไม่ให้บินไปได้ เพราะถ้าจะฆ่าให้ตาย นกพวกนั้นก็จะ เน่าเสีย ตอนเช้าก็เอานกที่หักปีกหักขาเหล่านั้นไปเที่ยวขายอีก เหลือจากนั้นก็ทำอาหารบริโภคตามต้องการ

    วันหนึ่ง เมื่อพรานนกนั้นทำอาหารเสร็จแล้ว พระอรหันต์องค์หนึ่งได้เที่ยวบิณฑบาตไปถึงบ้านของนายพรานนก นายพรานนกเกิดความเลื่อมใสจึงได้ถวายอาหารบิณฑบาต และตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุธรรม ซึ่งในชาติสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุธรรม แต่ว่าอดีตอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ ทำให้ท่านเป็นโรคฝีทั่วตัว จนร่างกายเน่า

    และสำหรับการสงเคราะห์อนุเคราะห์สงฆ์นั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงสงเคราะห์เพียงการแสดงธรรมเท่านั้น พระผู้มีพระภาคยังทรงอนุเคราะห์ภิกษุผู้ป่วยไข้ ที่ขาดผู้ดูแลพยาบาล และแม้ในกิจเล็กๆ น้อยๆ ของภิกษุสงฆ์ เช่น ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาอนุรุทธสูตร มีข้อความว่า

    ขณะที่พระเถระ ๓ รูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระอนุรุทธะ ช่วยกันทำจีวรของท่านพระอนุรุทธะนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ทรงร้อยเข็มประทานให้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมและพิจารณาโดยละเอียด ย่อมจะเห็นประโยชน์ของการที่จะไม่ละโอกาสแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่จะกระทำกุศล เพียงการร้อยเข็มให้ ก็เป็นการกระทำจากกุศลจิต ถ้าได้ฟังว่า แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ทรงสงเคราะห์อนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการทรงแสดงธรรม หรือการพยาบาลภิกษุไข้ หรือแม้ในกิจเล็กๆ น้อยๆ ก็จะไม่ละเลยต่อการที่จะอบรมเจริญกุศล เพราะว่าอกุศลใน วันหนึ่งๆ นั้น ย่อมเกิดมากกว่ากุศล

    บางท่านที่มีทุกข์กาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย บางท่านก็สามารถที่จะทน และ ทนไป ทนไป ไม่ว่าจะมีความเจ็บป่วยร้ายแรงสักแค่ไหน แต่บางท่านก็ไม่ทน ความทุกข์ที่กายมีมากจนกระทั่งบางคนทนไม่ไหว หรืออาจจะทนได้เพียงเท่าที่สามารถจะทนได้ ยังไม่ถึงขีดขั้นที่ทนไม่ได้

    บางคนได้ยินเสียงในหูตลอดเวลา เป็นความเจ็บป่วยประการหนึ่งของร่างกาย มีความรู้สึกเหมือนกับจะทนไม่ไหว ก็เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถทนความป่วยเจ็บของร่างกายได้ แต่คนนั้นก็ยังไม่ถึงกับจะทนไม่ได้ เพียงแต่มีความรู้สึกเหมือนกับว่าทนไม่ไหว แต่ก็ยังทนไป ทนไป จนกว่าจะถึงเวลาที่บางท่านอาจจะไม่ทนอีกต่อไป

    ทุกข์กาย ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ใจ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสมาก จนกระทั่ง บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจทนความทุกข์ทรมานกายได้ บางคนก็เตรียมยาพิษ และบอกว่า ถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่ทำให้คนอื่นต้องพลอยลำบากเดือดร้อน และตัวเองต้องเป็นภาระของผู้อื่นเมื่อไร ก็ขอดื่มยาพิษ แทนที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

    สำหรับการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าตัวตายนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นไปตามกรรมและการสะสมของกรรม เพราะบางคนแม้ว่าจะไม่เจ็บป่วย ไม่มีทุกข์กาย ไม่มีโรคภัยใดๆ เลย แต่สะสมความเคยชิน หรือความคุ้นเคยกับการฆ่า ก็เป็นเหตุให้สามารถฆ่าตัวตายได้โดยง่าย เพราะว่าเป็นผลของการสะสมของกรรมและกิเลสที่ได้สะสมความโกรธ หรือความไม่พอใจ หรือการฆ่าบ่อยๆ ทำให้บางคนแม้ว่ามีเหตุเพียงความน้อยใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะฆ่าตัวตายได้

    แม้ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุซึ่งไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเลย แต่ก็ได้ฆ่าตัวตายตามกรรมและการสะสม

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวสาลีสูตร ข้อ ๑๓๔๘ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นนั้น ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้ฆ่าตัวตายเองบ้าง และขอให้นายมิคลัณฑิกะฆ่าบ้าง วันละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปขึ้นไปบ้าง

    ไม่เป็นสิ่งที่ใครๆ น่าจะได้เห็น หรือน่าจะได้ยินได้ฟังเลย แม้พระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลที่อดีตกรรมของภิกษุ ๕๐๐ นั้นจะให้ผล ขึ้นชื่อว่าวิบากของกรรมแล้ว ไม่มีใครแม้พระผู้มีพระภาคสามารถจะห้ามหรือจะป้องกันได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงอสุภกัมมัฏฐานแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดกุศลจิต คลายความยึดมั่นในร่างกาย และคลายความกลัวภัยของความตาย

    คือ ทรงมุ่งที่จะให้เกิดกุศลจิต ไม่ใช่มุ่งที่จะพรรณนาถึงคุณของความตาย ท่านผู้ฟังพิจารณาดูว่า เมื่อถึงกาลที่กรรมจะให้ผลที่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นจะสิ้นชีวิต การที่จะตายด้วยการเกิดกุศลจิตและละคลายความยึดมั่นในร่างกายในชีวิต กับ การตายโดยที่ยังยึดมั่นในร่างกายในชีวิตและถูกฆ่าตาย อย่างไหนจะมีความหวาดกลัว มีความตกใจ มีความหวาดหวั่นมากกว่ากัน การตายโดยสมัครใจกับการตาย โดยไม่สมัครใจ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของภิกษุเหล่านั้น คือ

    ในอดีตชาติ พวกพรานเนื้อ ๕๐๐ คนเอาท่อนไม้และบ่วงเป็นต้นขนาดใหญ่ๆ มาล้อมป่าไว้ ต่างดีอกดีใจ เลี้ยงชีวิตด้วยทำการฆ่าเนื้อและนกตลอดชีวิตมาด้วยกันทีเดียว เมื่อตายแล้วก็เกิดในนรก พวกเขาไหม้ในนรกนั้นแล้ว ด้วยกุศลกรรมบางอย่างที่ทำไว้เมื่อก่อนนั้น ภายหลังก็มาเกิดในหมู่มนุษย์ ด้วยอำนาจอุปนิสัยอันงาม ทุกคนก็ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค แต่อกุศลกรรมเดิมที่ฆ่าสัตว์มากมายนั้นให้ผลยังไม่หมด ทำให้เกิดวิบาก คือ ปลงชีวิตของตนด้วยความพยายามของตนเอง และด้วยความพยายามของคนอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564