แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548


    ครั้งที่ ๑๕๔๘


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - อธิบาย สตินทรีย์

    อรรถสาลินี - แสดงลักษณะอาการของสติขั้นต่างๆ

    อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - อกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ

    อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - สติและสัมปชัญญะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๙


    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไป คือ สติเจตสิก ซึ่งเป็นคำที่ได้ยินบ่อย ในภาษาไทย บางท่านอาจจะเข้าใจความหมายของสติผิด เพราะคิดว่า สติ คือ ความรู้สึกตัวธรรมดาๆ ไม่หลงฟั่นเฟือนก็เข้าใจว่ามีสติ หรือขณะที่ไม่ใช่เผลอก็เข้าใจว่าขณะนั้นมีสติ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สติเป็นโสภณเจตสิกซึ่งต้องเกิดเฉพาะกับโสภณจิตเท่านั้น

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายสตินทรีย์ มีข้อความว่า

    ธรรมที่ชื่อว่าสติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    นี่คือการที่จะแยกลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ละชนิด ซึ่งเกิดร่วมกัน ให้เห็นว่า ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ปะปนกัน เช่น สติกับปัญญา ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าสติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    ถ้าพิจารณาธรรมจะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าสติเป็นเจตสิก และเป็นขณะที่ระลึก ย่อมไม่มีเราที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

    มีแต่รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด หรือว่าขณะใดสติเกิด จึงทำกิจ ของสติ เพราะว่าสติเป็นสภาพที่ระลึก เจตสิกอื่นจะทำกิจระลึกซึ่งเป็นกิจของสติไม่ได้เลย

    ก็สตินั้นชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็น ผู้หลงลืมด้วยสติเสียได้

    วันหนึ่งๆ ทำไมกุศลจิตไม่เกิด เพราะว่าหลงลืมสติ สติไม่เกิดจึงไม่ระลึกเป็นไปในทาน ไม่ระลึกเป็นไปในศีล ไม่ระลึกเป็นไปในภาวนา และถ้าขณะใดระลึกที่จะให้ทาน ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่คือสติที่ทำกิจระลึกเป็นไปในทาน

    เพราะฉะนั้น สติชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วยสติเสียได้

    หรือชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการปรากฏ

    ที่จะรู้ได้ว่ามีสติหรือหลงลืมสติ ก็ทำให้รู้ได้เพราะลักษณะของสตินั่นเอง

    สตินั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าสตินทรีย์

    ก็สตินั้นมีความระลึกได้ อปิลาปนะ เป็นลักษณะ และมีการเข้าไปช่วยประคองไว้เป็นลักษณะ คือ สติย่อมให้กำหนด หรือย่อมให้ระลึกกุศลกรรมโดยชอบ

    ข้ออุปมาใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    เช่นเดียวกับขุนคลังของพระราชาซึ่งรักษารัตนะ ๑๐ ประการอยู่ ย่อมยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงพระอิสริยสมบัติทั้งตอนเย็นตอนเช้าฉะนั้น ฉันใด สติก็ย่อมระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา อริยสัจ ๔ เหล่านี้ นี้วิชชา นี้วิมุตติ โลกุตตรธรรมเหล่านี้ สติระลึกได้ เป็นลักษณะอย่างนี้แล

    ท่านผู้ฟังคิดถึงสมบัติข้าวของของท่านบ่อยๆ ใช่ไหม วันหนึ่งอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สติ ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึก แต่ไม่ใช่ระลึกในอกุศล แต่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ระลึกเป็นไปในสติปัฏฐาน ๔ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึก ระลึกรู้ลักษณะ สภาพของจิตในขณะนี้ หรือระลึกรู้ลักษณะของธรรม

    นอกจากนั้น การศึกษาธรรมขณะใด และมีความเข้าใจในเรื่องของ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งดูเป็นชื่อเมื่อสภาพธรรมนั้นๆ ยังไม่ปรากฏ แต่ความจริงขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม มีสัมมัปปธาน ๔ คือ วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า แม้ใน ขณะจิตเดียวที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น มีสภาพธรรมอื่นที่เป็น โสภณธรรมเกิดร่วมด้วย และให้ทราบว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นลักษณะที่ระลึก

    สติย่อมใคร่ครวญคติแห่งธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และมิได้เป็นประโยชน์เกื้อกูล และรู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้นไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วบรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลให้น้อยลง

    นี่คือผู้มีสติระลึกได้ ทำให้ระลึกถึงบาป ระลึกถึงบุญ ระลึกถึงคุณ ระลึกถึงโทษ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบก็ดุจสีขาวกับสีดำ ที่ทำให้เห็นความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศลและกุศล เพราะถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดหลายคนอาจจะคิดว่า อกุศลนั่นแหละเป็นกุศล หรือบางท่านก็อาจจะกล่าวว่า อกุศลเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร นั่นแสดงว่า ยังไม่เห็นความต่างกันของสีดำกับสีขาว แต่ความจริงแล้ว ถ้าสติเกิดขณะใด เป็นสภาพที่ระลึกให้รู้ในลักษณะของความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศลและกุศล

    รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายสุจริตเป็นต้นเหล่านั้นประโยชน์เกื้อกูล ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้ เหมือนปริณายกรัตนะของ พระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วจึงนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลออกไปเสีย

    อีกนัยหนึ่ง สติมีการระลึกได้เป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นรส คือ เป็นกิจ มีการรักษาอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการจดจ่อต่ออารมณ์ คือ ระลึกตรงลักษณะของอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ มีสัญญาอันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า เป็นเช่นเดียวกับเสาเขื่อน เพราะตั้งมั่นในอารมณ์ และพึงเห็นว่าเป็นเสมือนนายประตู เพราะรักษาจักขุทวารเป็นต้น

    ลักษณะของสติ เกิดทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ยังไม่คุ้นเคยกับลักษณะของสติ เพราะเวลาเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ก็ระลึกถึงการที่จะให้ทาน แต่ในขณะที่จิตกำลังระลึกเป็นไปในทานแต่ละขณะนั้นเอง มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีศรัทธาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า เรานึกถึงสมบัติของเรา ไม่ชื่อว่าเป็นสติ ต้องนึกถึงว่า กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นหรือเปล่า

    สุ. วันหนึ่งๆ จำได้ว่า เอาอะไรไว้ที่ไหน ใช่ไหม หยิบถูก ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    . ถ้าเป็นกุศลก็เป็นสติ

    สุ. ถ้าเป็นไปในกุศล คือ ในทาน ในศีล ในภาวนา จึงจะเป็นสติ

    ถ. ถ้าระลึกเฉยๆ

    สุ. ระลึกว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหนอย่างนั้นหรือ ขณะนั้นเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะว่าสติเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    . แต่ถ้ามีสติรู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น ก็ชื่อว่าเป็นสติ ใช่ไหม

    สุ. ต้องเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล ถ้าระลึกที่จะให้ทาน และรู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นอยู่ที่ไหน และเวลาที่ระลึกถึงจิตก็เป็นกุศลที่จะให้ ขณะนั้นก็เป็นสติ บางท่านอาจมีเงินที่จะบริจาคใส่ซองไว้เรียบร้อย แต่วางไว้ที่ไหนไม่ทราบ ค้นหาแล้วระลึกได้ว่า อยู่ที่ไหนด้วยกุศลจิตที่จะให้ ขณะนั้นก็เป็นสติ

    . อย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าอดีตให้ท่านพระอานนท์ฟัง ที่ทรงระลึกได้ว่า พระองค์เคยเป็นกษัตริย์และทำอะไรอยู่ในวัง ระลึกเหล่านี้เป็นสติไหม

    สุ. เป็นสติที่เป็นไปในการระลึกชาติ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสติชั้นยอดเยี่ยมกว่าสติธรรมดา เพราะว่าขณะที่เป็นไปในทานระลึกชาติไม่ได้ ใช่ไหม อกุศลจิตก็ ระลึกชาติไม่ได้ แต่สติชั้นยอดเยี่ยม จึงระลึกชาติได้

    . สติยอดเยี่ยมต้องเป็นสติในมรรคจิตหรือเปล่า

    สุ. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    . แค่นั้นเอง แต่ตอนที่พระองค์มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ตอนนั้นพระองค์ก็ยังไม่สำเร็จอรหัตตมรรค

    สุ. ญาณนี้มีทั้งโลกียะและโลกุตตระ ปัญญามีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตตระ

    . ขณะที่เกิดโลภมูลจิต พอใจก็ดี หรือเกิดโทสะ ต่อมาเกิดธรรมสังเวช ขณะนั้นมีสติเกิดไหม

    สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีสติเกิด

    . บางครั้งที่เกิดธรรมสังเวช ก็สลดใจ ไม่ทราบว่าลักษณะของธรรมสังเวชเป็นกุศลหรือเป็นโทสมูลจิต

    สุ. สลดใจ หมายความว่า ไม่เห็นความน่ายินดีในอารมณ์ แทนที่จะมีจิตใจฟูฟ่องด้วยความเพลิดเพลินที่เป็นอกุศล ก็เห็นว่า สิ่งนั้นไม่ควรเป็นที่น่ายินดี คำว่า สลดใจ ในที่นี้หมายความว่า ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นที่ควรยินดี ต้องเป็นการระลึกเป็นไปในธรรม

    อัฏฐสาลินี ได้แสดงลักษณะอาการของสติขั้นต่างๆ ซึ่งทำให้มีชื่อต่างๆ คือ

    ธรรมชาติที่ชื่อว่าสติ โดยที่เป็นความระลึกได้ บทนี้เป็นบทแสดงสภาวะของสติ

    ภาวลักษณะของสติ คือ การระลึกได้

    ที่ชื่อว่าอนุสสติ โดยที่ระลึกเนื่องๆ เพราะระลึกบ่อยๆ

    เพราะฉะนั้น ก็มีสติที่ระลึกได้อย่างหนึ่ง และอนุสสติที่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ

    ชื่อว่าปฏิสสติ โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า

    คือ ไม่หันเหไปทางอื่นเลย นั่นคือลักษณะของสติ คือ ถึงเฉพาะเหมือน ไปตรงหน้า อย่างขณะที่กำลังฟังพระธรรม จิตใจหันเหไขว้เขวไปทางไหนหรือเปล่า กำลังฟังอยู่ หลงคิดเรื่องอื่นไปนิดหนึ่ง ขณะนั้นขาดสติ ใช่ไหม แต่ขณะที่ไม่หลงไปทางอื่นเลย โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า นั่นคือลักษณะที่เป็น ปฏิสสติ เป็นลักษณะของสติ

    อาการที่ระลึก ชื่อว่าสรณตา

    สติชื่อว่าธารณตา เพราะทรงจำสิ่งที่ได้ฟังและเล่าเรียนมาไว้ได้

    เป็นอย่างนี้ไหม เทียบกันได้ ท่านผู้ฟังมีสติชื่อไหนบ้าง เพราะชื่อของสติ แสดงอาการต่างๆ ของสติที่เกิดขึ้น ถ้าศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจก็ ทรงจำสิ่งที่ได้ฟังและเล่าเรียนมาไว้ได้ สตินั้นชื่อว่า ธารณตา

    ภาวะที่ไม่เลื่อนลอย ชื่อว่าอปิลาปนตา โดยหมายความว่า หนักแน่น คือ ดิ่งเข้าไปในอารมณ์

    สติชื่อว่าอสัมมุสนตา เพราะไม่หลงลืมสิ่งที่ทำคำที่พูดแม้ที่ล่วงเลยมานาน

    ที่ชื่อว่าสตินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะของสติที่ปรากฏ

    ที่ชื่อว่าสติพละ เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะความประมาท

    ที่ชื่อว่าสัมมาสติ เพราะเป็นสติที่ถูกต้อง นำออกไปจากสังสารวัฏฏ์ เป็นกุศล

    สติชื่อว่าอสัมมุสนตา เพราะไม่หลงลืมสิ่งที่ทำคำที่พูดแม้ที่ล่วงเลยมานาน

    คนที่จำเก่งๆ ชื่อว่ามีสติหรือเปล่า ระลึกได้สมัยตอนเป็นเด็กป่วยไข้ได้เจ็บอย่างไร เคยซุกซนอย่างไร เคยรับประทานอะไรอร่อยที่ไหน อย่างนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    บางคนจำเรื่องเบ็ดเตล็ดเก่งมาก แต่หลงลืมสิ่งที่ควรกระทำ อย่างนั้นไม่ชื่อว่า อสัมมุสนตา แต่ต้องเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำต่อผู้หนึ่งผู้ใด และกระทำโดยไม่หลงลืม ในทางที่เป็นกุศล

    บางคนอาจจะเป็นหนี้เป็นสินและหลงลืม ไม่จำเลย นั่นก็ชื่อว่าจำเรื่องอื่น ได้หมด เรื่องตอนเป็นเด็กสนุกสนานอย่างไร เคยรับประทานอะไรที่ไหน เคยเล่นสนุกอย่างไร จำได้ แต่เรื่องนี้ ลืม เรื่องที่ควรจะกระทำหน้าที่ของตนเองกับบุคคลอื่นกลับลืม แต่จำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้

    เพราะฉะนั้น สติต้องเกิดกับโสภณจิต ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น แต่การระลึกถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นจิตไม่ใช่กุศล และ ลักษณะนั้นไม่ใช่สติเจตสิก แต่เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    อกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ

    คือ ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    อกุศลทุกประเภทเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ โลภมูลจิต โทสมูลจิต อิสสา มัจฉริยะ ความเกียจคร้าน ความเคลือบแคลงสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทั้งหมด เป็นธรรมเว้นจากสติ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    โมหวิจเฉทนี เรื่องกุศลจิตดวงแรก มีข้อความว่า

    ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกศรัทธาว่า โอกัปปนา ความปลงใจเชื่อ และเรียกสติว่า อปิลาปนา ความไม่เลือนลอย เรียกเอกัคคตาว่า อโลฐิติ ความมั่นคงแห่งจิต เพราะว่าเกิดกับกุศลจิต เรียกปัญญาว่า ปริโยคาหนา ความรอบคอบ

    ส่วนในฝ่ายอกุศล ธรรม ๓ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ย่อมหยั่งลงสู่อารมณ์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกธรรมทั้ง ๓ นั้นแลว่า โอฆะ

    หยั่งลงสู่อารมณ์เหมือนกันแต่ต่างกันที่ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็ด้วยตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ซึ่งหยั่งลงสู่อารมณ์โดยเป็นโอฆะ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งทุกคนถูกพัดไหลไปอยู่ตลอดเวลาตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลไม่เรียกว่า โอคาหนา ความหยั่งลง

    เพราะว่ายังเป็นธรรมประกอบด้วยอุทธัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเอกัคคตาเจตสิกจะชื่อว่าสมาธิ แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ และ ไม่เป็นสภาพธรรมที่จะเจริญถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตรกุศลได้ เพราะว่า ในขณะนั้นเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก และลักษณะของสติตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าอวิชชาเป็นสภาพที่เลื่อนลอย แต่ว่าสติเป็นสภาพที่ไม่หลงลืม ไม่เลื่อนลอย

    ศรัทธาตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะว่าโลภะยอมสละให้ทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยความรัก แต่ว่าศรัทธา บริจาคจริง แต่เป็นการสละออก ไม่ใช่เพื่อการติดหรือ การยึด ส่วนปัญญาก็ตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ

    ข้อความที่ท่านผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องของสติ มักจะควบคู่กันไปกับลักษณะของปัญญาซึ่งเป็นสัมปชัญญะ แต่ต้องแยกออกจากกันด้วย และจะเห็นได้ว่า ขณะใดที่สติเกิดอาจจะมีลักษณะของปัญญาในขั้นต้นๆ อยู่ด้วย เช่น ในขณะที่รู้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว นั่นก็เป็นสติที่ระลึกที่จะให้เกิดการไตร่ตรองพิจารณาให้ตรงว่า ลักษณะของอกุศลธรรมนั้นเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นอกุศล และลักษณะของกุศลธรรมเป็นธรรมฝ่ายขาว เป็นกุศล ซึ่งขณะใดที่ปัญญาเกิดร่วมด้วย กุศลจิตนั้นชื่อว่า ญาณสัมปยุตต์ แต่ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็น ญาณวิปปยุตต์

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า สโต จะ สัมปชาโน คือ สติและสัมปชัญญะ มีข้อความว่า

    เพราะบทว่า สโต จะ สัมปชาโน มีสติรู้ทั่วโดยชอบ ใน ๒ อย่างนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ สัมปชัญญะมีความไม่ฟั่นเฟือนเป็นลักษณะ

    สติมีความไม่หลงลืมเป็นรส สัมปชัญญะมีการไตร่ตรองเป็นรส คือ เป็นกิจ

    สติมีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะมีการเลือกเฟ้นเป็น อาการปรากฏ

    ในการอบรมเจริญภาวนานั้น เมื่อมีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา

    แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกุศลจิตขั้นที่สูงกว่าขั้นทานและขั้นศีลว่า ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าขณะนั้นไม่รู้หนทางที่จะทำให้กุศลจิตเจริญขึ้น สงบขึ้น แต่เข้าใจว่าเป็นการเจริญสมถภาวนา ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า เมื่อมีสติฟั่นเฟือน คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงฌานจิตได้จริงๆ ความสงบที่เป็นกุศลต้องละเอียดขึ้น และถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะถึงแม้ขั้นอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้น อย่าคิดที่จะทำฌาน หรืออย่าคิดแม้แต่จะทำสมาธิ เพราะถ้า ยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาธิที่กำลังทำอยู่นั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งเป็นอกุศลจิต และยังจะทำไหม หรือยังอยากจะทำอยู่ แม้ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๕ ตอนที่ ๑๕๔๑ – ๑๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564