แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529


    ครั้งที่ ๑๕๒๙


    สาระสำคัญ

    เหตุที่จะให้ได้รับผล (ผลอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ)

    สีลสัมปทา คือ การประพฤติปฏิบัติตาม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๙


    เรื่องของการดับกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อละอวิชชา คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะความไม่รู้ทำให้ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน และเมื่อมีเรา มีตัวตน ก็ทำให้มีความยึดมั่น มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่ให้ได้รับผลเหล่านี้ด้วย เพราะเพียงแต่หวัง ย่อมไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑

    ดูกร คฤหบดี ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้ทรงจำแนกธรรม ดูกร คฤหบดี นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา

    ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม มุ่งแต่จะไปนั่งปฏิบัติทำสมาธิ จะไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงจำแนกธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น สัทธาสัมปทาย่อมเกิดไม่ได้โดยการไม่ศึกษาพระธรรม แต่ถ้าศึกษา พระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ละเอียดกว่า ที่บุคคลอื่นแสดง โดยที่บุคคลอื่นไม่สามารถแสดงได้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เรื่องสัทธาสัมปทา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมจึงจะรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ก็สีลสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา

    พระธรรมที่ทรงแสดง เมื่อฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ต้องน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย และเพียงศีล ๕ กุศลจิตสามารถที่จะเกิดและรักษาได้ครบไหม ถ้าครบ ก็เป็นการแสดงสัทธาสัมปทาและสีลสัมปทา เพราะไม่ใช่เพียงแต่สัทธาเท่านั้น ยังต้องมี สีลสัมปทา คือ การประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ข้อความต่อไป

    ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่ การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

    เพียงข้อเดียว คือ จาคสัมปทา ท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มี จาคสัมปทา หรือท่านต้องการผลของกุศลที่ท่านทำ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเตือนตัวเองได้จริงๆ

    ข้อความต่อไป

    ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอคืออภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ ... อันถีนมิทธะครอบงำ ... อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ ... อันวิจิกิจฉาครอบงำ ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้

    นี่ก็หมายถึงทุกท่าน ซึ่งเวลาที่ข้อความนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ก็เหมือนกับ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกะ โดยไม่ได้คิดว่า แม้ตัวท่านเองก็เป็นอย่างที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกะที่ว่า บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คืออภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ

    เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ขณะใดที่กำลังเพลิดเพลินในการละเล่นต่างๆ ขณะนั้น ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ และไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ระหว่างการฟังธรรมกับ การดูหนังดูละคร ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ขณะใดอกุศลครอบงำ ก็ย่อมเป็นไปตามอกุศล

    เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตจริงๆ ที่ให้รู้จักตัวของท่านเองว่า ขณะใดทำกิจที่ควรทำ และขณะใดทำกิจที่ไม่ควรทำ แต่สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวกนั้นรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้ และถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้แม้ในขณะนั้นว่า กุศลจิต คือ ขณะที่สงบจากอกุศล

    ชีวิตประจำวันกับการเป็นผู้อบรมเจริญกุศล จะต้องเห็นอกุศลตามความเป็นจริงด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แล ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม

    กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้ เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ

    ข้อนี้เกือบจะไม่ต้องกล่าวถึงเลย ทุกคนรักตัวเอง เพราะฉะนั้น เมื่อมีสมบัติ คนที่คิดถึงประการแรก คือ ตัวเอง แต่แม้กระนั้นก็ยังมีบางคนซึ่งสะสมอกุศลมามากจนกระทั่งมีกำลัง แม้ว่ามีทรัพย์มากสักเท่าไรก็ยังไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นโทษของอกุศลที่สะสมมาต่างๆ กันว่า อกุศลทั้งหมดเป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะถึงแม้เป็นผู้มีสมบัติ ก็ยังไม่ใช้สมบัติเพื่อเลี้ยงตนเองให้ เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ

    ท่านที่สะสมความตระหนี่มามาก อาจจะทนทุกข์ทรมาน ไม่รักษาตัว หรืออาจจะไม่ใช้เงินทองให้เป็นประโยชน์ในเรื่องของการบริโภคพอสมควร ซึ่งนั่นก็เป็นการ ใช้ทรัพย์ที่ไม่สมควร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุข โดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ

    นี่คือชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่จะเจริญกุศล ไม่ใช่ให้เบียดเบียนตนเอง ให้เดือดร้อนและทำให้จิตใจเศร้าหมอง พร้อมกันนั้นปัญญาก็ไม่สามารถเจริญขึ้น จนกระทั่งรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นบุคคลที่สะสมอกุศลมามากน้อยเพียงใด

    นี่เป็นข้อที่ ๑ ในการบริโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยยาก

    ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตน หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กระทำตนให้สวัสดี นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากจะบริโภคโภคสมบัตินั้น เลี้ยงดูมารดาบิดา บุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน มิตรสหายแล้ว ยังต้องป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก

    แต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ก็จะต้องดำเนินไปอย่างนี้

    ประการที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    กว่าจะถึงพระนิพพาน กว่าจะเจริญสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ก็จะต้องมีชีวิตที่ดำเนินไปในวันหนึ่งๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอกุศลย่อมมากกว่า เพราะฉะนั้น ทางที่จะเป็นการประพฤติในทางที่ควร แม้ว่าขณะนั้นจะเป็นโลภะตามปกติก็ตาม เพราะว่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เช่น วงศาคณาญาติ ก็จะต้องมีทั้งอกุศลเป็นส่วนใหญ่ แต่ ก็ต้องมีกุศลด้วย

    สำหรับการที่จะดำเนินชีวิตเป็นปกติในวันหนึ่งๆ นอกจากจะเป็นผู้มีปกติ เจริญสติปัฏฐานแล้ว ยังจะต้องมีกุศลที่ได้กระทำด้วย เช่น อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี สละวัตถุสมบัติเพื่อสงเคราะห์ญาติ นี่เป็นกุศลประการหนึ่ง อติถิพลี สละวัตถุเพื่อต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ญาติผู้ตาย ราชพลี สิ่งที่ควรทำแก่พระราชา ได้แก่ การบำรุงราชการ หรือการช่วยประเทศชาติ และ เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

    แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะได้กระทำมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นชีวิตประจำวัน ที่ควรกระทำ

    ประการที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

    ดูกร คฤหบดี โภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ ส่วนโภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่า สิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยงเราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือนพึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์

    จบ สูตรที่ ๑

    นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพื่อที่จะเตือนพุทธบริษัทให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูก และท่านผู้ฟังจะเห็นได้ตั้งแต่การใช้ทรัพย์ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ คือ การบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและ โสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น นี่เป็นข้อสุดท้าย คือข้อที่ ๔

    และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ควรจะลืมคิดถึงความตาย ซึ่งจะเป็นทางทำให้ใช้ทรัพย์ในทางที่ถูก และในทางที่เป็นประโยชน์ เพราะว่า นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้วย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์

    การที่จะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความทุกข์และการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร ย่อมจะไม่เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ปัญญา หรือการมีโยนิโสมนสิการ พิจารณาการดำเนินชีวิตโดยถูกต้อง โดยแยบคาย ย่อมจะเกื้อกูลให้รู้ว่า การที่จะดับกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ยาก ในชีวิตประจำวันจึงต้องเป็นผู้ที่ตรง และประพฤติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุเคราะห์แสดงไว้ด้วย

    ตัวอย่าง คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งเป็นพระโสดาบัน ทุกข้อที่แสดงมานี้ จะเห็นได้ว่า เป็นความประพฤติของท่านเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่เลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา เลี้ยงมิตรอำมาตย์ และเป็นผู้ที่ป้องกันอันตรายทั้งหลาย ทำพลีต่างๆ และย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน คือ ตั้งไว้ในเฉพาะสมณพราหมณ์ ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ฝึกฝนตนผู้เดียว ผู้ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลส

    ถ. พลีกรรมอันดับที่ ๒ คืออะไร

    สุ. อติถิพลี การสละวัตถุเพื่อต้อนรับแขก ถ้ามีผู้ไปเยี่ยมเยียนถึงบ้าน จะใจจืดใจดำ หรือจะเป็นผู้ที่มีเมตตา มีปฏิสันถาร

    ถ. ราชพลี ทำอย่างไร

    สุ. ส่วนที่ควรทำแก่พระราชา หรือแก่ประเทศชาติ หรือแก่ราชการ บำรุงราชการ หรือมีทางที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในทางหนึ่งทางใด

    ถ. อันดับสุดท้าย เทวตาพลี

    สุ. การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เทวดา

    ถ. จะมนสิการอย่างไร

    สุ. ทุกครั้งที่ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลได้

    ถ. ไม่เคยรู้จักเทวดา

    สุ. มีหรือเปล่า

    ถ. เชื่อว่ามี

    สุ. ถ้าทำกุศล ท่านย่อมอนุโมทนา ก็อุทิศส่วนกุศลที่กระทำนี้ให้ท่านอนุโมทนา อย่างสาณุสามเณร ทุกครั้งที่ท่านแสดงธรรมจบลง ท่านจะอุทิศส่วนกุศลให้แม้มารดาของท่านในอดีตชาติ ซึ่งมารดาในอดีตชาติของท่านก็อยู่ในเทพชั้นยักษ์

    ถ. ตั้งแต่เรียนธรรมมา ฟังธรรมก็ดี หรือว่าสนทนาธรรม หรือจะมีทาน มีศีลก็ดี ยังไม่เคยเทวตาพลีสักครั้งเดียว เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

    สุ. การทำกุศลทุกอย่างอุทิศได้ อย่างสาณุสามเณร แม้การแสดงธรรมที่ท่านแสดงจบลง ท่านก็อุทิศส่วนกุศลให้เทพก็ได้

    พลี คือ การสละ จะสละเป็นวัตถุหรือไม่เป็นวัตถุก็ได้ แม้แต่สละเวลา ที่จะอุทิศส่วนกุศลเมื่อได้ทำกุศลแล้ว สิ่งที่เป็นกุศล และคนอื่นสามารถล่วงรู้ ย่อมจะอนุโมทนา เกิดกุศลจิตได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564