แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521


    ครั้งที่ ๑๕๒๑


    สาระสำคัญ

    อรรถกถา - ภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมกับรูปธรรมจะอาศัยกัน

    อถ ขุ.ปฏิ.อถ จริยานานักตญานนิทเทส - การประพฤติของวิถีจิต ๓ ประเภท (วิญญาณจริยา ๑ อัญญาณจริยา ๑ และญาณจริยา ๑)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๙


    สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ตั้งแต่เกิดเป็นต้นมา นามธรรมกับรูปธรรมจะปราศจากหรือไม่อาศัยกันไม่ได้เลย ซึ่งข้อความในอรรถกถาเปรียบด้วยเรื่องของ ชายตาบอดแต่กำเนิดกับชายเปลี้ย

    ชายตาบอดแต่กำเนิด ได้แก่ รูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ใดๆ ทั้งสิ้น และชายเปลี้ยซึ่งไม่มีแรง ไม่มีกำลัง ได้แก่ นามธรรม

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ชาย ๒ คน นั่งอยู่ที่ศาลาริมประตูเมือง ในบรรดาคนทั้ง ๒ นั้น ชายเปลี้ยพูดว่า พ่อบอดเอ๋ย เหตุไฉนเจ้าจึงผอมโซเที่ยวอยู่ในที่นี้เล่า ถิ่นโน้นมีภิกษาหารหาได้ง่าย มีข้าว มีน้ำมาก จะไปหากินโดยสะดวกในถิ่นนั้นไม่ควรหรือ

    ชายตาบอดตอบว่า เจ้าบอกเราก่อนว่า ก็เจ้าไปหากินโดยสะดวกในถิ่นนั้น ไม่ควรหรือ

    ชายเปลี้ยตอบว่า เท้าที่จะเดินไปของเราไม่มีนี่นา

    ชายตาบอดก็ตอบว่า แม้ตาที่จะมองเห็นของเราก็ไม่มีนี่

    ชายเปลี้ยพูดว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงเป็นเท้า เราจงเป็นตาซิ

    ทั้งสองคนต่างตกลงรับคำกัน ชายตาบอดแต่กำเนิดให้ชายเปลี้ยขึ้นบ่า ชายเปลี้ยนั่งบนบ่าของชายตาบอด เอามือซ้ายโอบศีรษะ เอามือขวากำหนดทาง บอกว่า รากไม้ขวางอยู่ที่นี้ หินอยู่ที่นี่ จงละทางซ้าย จงถือทางขวา จงละทางขวา จงถือทางซ้าย ดังนี้

    เท้าเป็นของชายตาบอดแต่กำเนิด นัยน์ตาเป็นของชายเปลี้ย ฉะนั้น ทั้ง ๒ คนได้ไปถึงที่ประสงค์ด้วยความพยายามร่วมกัน หากินโดยสะดวก ด้วยประการฉะนี้

    ทุกขณะของทุกท่าน มีนามธรรมและรูปธรรมซึ่งต้องอาศัยกัน กระทำกิจ การงานทุกอย่าง โดยที่ว่านามธรรมทำอะไรไม่ได้เลยถ้าปราศจากรูป และรูปก็กระทำกิจใดๆ ไม่ได้เลยถ้าปราศจากนาม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในข้อนั้น รูปกายเปรียบเหมือนชายตาบอดแต่กำเนิด นามธรรมเปรียบเหมือนชายเปลี้ย รูปเว้นจากนามธรรมก็ไม่สามารถจะให้ถึงการยึดถือ การจับ และการไหว เปรียบเหมือนการที่ชายตาบอดแต่กำเนิดเว้นจากชายเปลี้ย ก็ไม่เกิดการเดินทางไปยังถิ่นต่างๆ ได้

    อรูปเว้นรูปเสีย ก็เป็นไปไม่ได้ในปัญจโวการภพ รูปธรรมและอรูปธรรมมี ความเป็นไปในกิจทั้งปวงได้ก็ด้วยความพยายามร่วมกัน เปรียบเหมือนกาลที่ชาย ทั้งสองไปสู่ที่ที่ประสงค์ด้วยความพยายามร่วมกัน และหากินโดยสะดวกแล

    ขณะนี้กำลังหากินโดยสะดวก ทางตาเห็น กินรูป ชอบ ชวนะเสพ พอใจที่จะเห็น ขวนขวายหาอยู่ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่จะสมประสงค์ได้ก็เพราะทั้งนามธรรมและรูปธรรมอาศัยกันและกัน

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ปัญจทวารวิถีจิตมีรูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์อยู่แล้ว ทำไมต้องรู้อีกว่าเป็นรูปปรมัตถ์ เพราะว่าทางปัญจทวาร วิถีจิตทั้งหมดตั้งแต่ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ มีรูปที่เกิดแล้วยังไม่ดับเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปรมัตถอารมณ์ ไม่ใช่บัญญัติ

    ทางตาก็เป็นเพียงสีสัน หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้โดยยัง ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ทางหูก็ได้ยินเฉพาะเสียง ทางจมูกก็ได้กลิ่นที่ยังไม่ดับ ยังไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ทางลิ้นขณะที่ลิ้มรส ยังไม่รู้ว่าเป็นรสอะไร แต่ก็ต้องลิ้มรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสขื่น รสฝาดตามปกติ เพียงแต่ไม่ได้มีบัญญัติ หรือรู้อรรถความหมายของรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อปัญจทวารวิถีจิตมี รูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์อยู่แล้ว ท่านผู้นั้นก็สงสัยว่า ทำไมจะต้องรู้อีกว่าเป็นรูปปรมัตถ์

    ที่เป็นอย่างนี้ เพราะในขณะที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เช่น สี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ กระทบตา หู จมูก ลิ้น กายและยังไม่ดับ ทางปัญจทวารวิถี ในขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่รู้ด้วยปัญญาว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่กำลังรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพของนามธรรมซึ่ง ต่างกับรูปธรรม ทางจักขุวิญญาณก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางโสตวิญญาณก็ได้ยินเสียง เป็นปกติธรรมดา ทุกท่านเห็น ทุกท่านได้ยิน แต่รู้หรือเปล่าว่า ขณะที่กำลังเห็น สภาพเห็นเป็นนามธรรมไม่ใช่เรา และสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่กระทบจักขุปสาทจึงปรากฏ ถ้าไม่กระทบจักขุปสาทก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ก็เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ

    ข้อความใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา จริยานานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๖๕ มีว่า

    การรู้อารมณ์แต่ละทวาร เป็นการประพฤติของวิถีจิต ๓ ประเภท

    วาระหนึ่งๆ ซึ่งวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งๆ เป็นการประพฤติของ วิถีจิต ๓ ประเภท คือ

    วิญญาณจริยา ๑ อัญญาณจริยา ๑ และญาณจริยา ๑

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ชื่อว่าจริยา เพราะอรรถว่า ประพฤติในอารมณ์

    จริยา คือ วิญญาณ ชื่อว่าวิญญาณจริยา

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน เพียงแต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดถึงความต่างกันของขณะจิตในทวารหนึ่งๆ โดยประเภทของวิญญาณว่า จิตบางประเภทที่กำลังรู้อารมณ์ในขณะนั้นเป็นวิญญาณจริยา บางประเภทเป็นอัญญาณจริยา และบางประเภทเป็นญาณจริยา ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน แม้ในขณะนี้

    บทว่า วิชานนัฏโฐ นั้น เป็นแต่เพียงรู้แจ้ง ความว่า การรู้แจ้งอารมณ์

    ซึ่งทุกท่านก็ชินกับลักษณะของจิตที่ว่า วิชานนลักขณัง คือ เป็นสภาพที่เพียง รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์จะเป็นลักษณะใดประการใดก็ตาม ทางตาไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะที่ต่างกันละเอียดสักเพียงใด จักขุวิญญาณก็เห็นความต่างกัน คือ รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น ด้วยสามารถจิตเกิดดับเป็นลำดับ

    ถ้าศึกษาแล้วก็ทราบว่า กำลังกล่าวถึงปัญจทวารวิถีจิต ซึ่งการเห็นครั้งหนึ่ง วาระหนึ่ง จะมีวิถีจิตเกิดดับเริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตตลอดไปจนกระทั่งถึง ตทาลัมพนจิต

    ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะอรรถว่า ไม่ประพฤติประกอบด้วยกุศลธรรม

    หรือประพฤติไม่มีราคะ ประพฤติไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีมานะ ไม่มีอิสสา ไม่มีมัจฉริยะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต เพียงแต่เป็นอเหตุกจิต เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณจริยา เพราะไม่ประกอบด้วยอกุศลธรรมและโสภณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น

    นี่เป็นการทบทวนเรื่องของวิถีจิตแต่ละวาระอีกนัยหนึ่ง โดยแสดงถึงจิต ประเภทใดเป็นวิญญาณจริยา ประเภทใดเป็นอัญญาณจริยา และประเภทใด เป็นญาณจริยา

    ถ้าวิญญาณจริยา ได้แก่ อเหตุกจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิญญาณจริยา คือ เพียงรู้แจ้งอารมณ์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกจิต เป็นวิญญาณจริยา

    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง ข้อสำคัญที่ควรจะได้พิจารณา คือ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เป็นวิญญาณจริยา ซึ่งรวมทั้งหสิตุปปาทจิตของพระอรหันต์ด้วย

    ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดขึ้นไปอีก ถ้าเป็นอัญญาณจริยา หมายความถึงอกุศลธรรม คือ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ในขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา จึงเป็นอัญญาณจริยา ส่วนญาณจริยานั้น ต้องเป็นในขณะที่ปัญญาเกิด สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเป็นญาณจริยา

    สำหรับอเหตุกจิต เป็นวิญญาณจริยา เพราะไม่ใช่อกุศลธรรมและไม่ใช่ กุศลธรรม ไม่ใช่โลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือไม่ใช่กุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเลย

    อธิบายว่า ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะประพฤติในความรู้แจ้งอารมณ์ที่รู้แจ้ง ดุจผ้าสีเขียวเพราะประกอบด้วยสีเขียว

    เท่านั้นเอง คือ แล้วแต่อารมณ์ที่จะปรากฏมีลักษณะอย่างไร วิญญาณจริยา คืออเหตุกจิตซึ่งเป็นวิถีจิตก็รู้แจ้งในอารมณ์นั้นเท่านั้น ดุจผ้าสีเขียวประกอบด้วยสีเขียวเพราะฉะนั้น ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะอรรถว่าประพฤติเพียงรู้เท่านั้น

    ถ้าโดยนัยนี้ของวิถีจิต ทุกท่านก็ตอบได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็น วิญญาณจริยา หรืออัญญาณจริยา หรือญาณจริยา

    เป็นวิญญาณจริยา

    จักขุวิญญาณเป็นวิญญาณจริยา หรืออัญญาณจริยา หรือญาณจริยา

    เป็นวิญญาณจริยา

    สัมปฏิจฉันนจิตเพียงรู้แจ้งอารมณ์ เพียงรับอารมณ์ต่อ เพราะฉะนั้น เป็นวิญญาณจริยา ไม่ใช่อัญญาณจริยา และไม่ใช่ญาณจริยา

    สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ก็โดยนัยเดียวกัน แต่อกุศลจิตไม่ใช่ ใช่ไหม อกุศลจิตต้องเป็นอัญญาณจริยา ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    อัญญาณจริยา คือ ความประพฤติของจิตในอารมณ์ด้วยความไม่รู้ คือ ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ

    ในขณะนี้เป็นอย่างนั้นบ้างไหม จิตเกิดดับสลับเร็วมากแต่ละวาระ บางวาระที่กำลังฟัง พิจารณา และเข้าใจ ก็เป็นกุศล แต่บางวาระเสียงกระทบหูนิดหนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว เป็นวิญญาณจริยา โสตวิญญาณเกิดต่อก็เป็น วิญญาณจริยา เพราะว่ายังไม่ใช่กุศลหรือยังไม่ใช่อกุศล

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีทั้งวิญญาณจริยาบ้าง อัญญาณจริยาบ้าง และสำหรับบางท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญามามาก ก็เป็นญาณจริยาได้

    สำหรับอัญญาณจริยา ข้อความในอรรถกถามีว่า

    คือ ความประพฤติของจิตในอารมณ์ด้วยความไม่รู้ คือ ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ โลภะย่อมไม่เกิดในรูปที่น่าปรารถนาเท่านั้น และโทสะก็ย่อมไม่เกิดในรูปที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น

    เป็นชีวิตประจำวันซึ่งทุกท่านพิจารณาได้ คือ เท่าที่สังเกตมาก็รู้สึกว่า ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา โลภะจะยินดีพอใจในอารมณ์นั้น แต่ข้อความตอนนี้มีว่า โลภะย่อมไม่เกิดในรูปที่น่าปรารถนาเท่านั้น แสดงว่าแม้ในรูปที่ไม่น่าปรารถนา โลภะก็ยังเกิดได้ด้วย

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่แสดงให้เห็นว่า มากมายด้วยความไม่รู้ จึงทำให้ โลภมูลจิตเกิดบ้าง หรือโทสมูลจิตเกิดบ้าง หรือโมหมูลจิตเกิดบ้าง ในขณะที่ไม่รู้

    หลายท่านคงจะชอบสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น และบางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา แต่โลภะก็เกิด เป็นไปได้ไหม รสเผ็ดๆ รับประทานแล้วกระสับกระส่าย เดือดร้อน วุ่นวาย แต่แม้กระนั้น โลภะย่อมไม่เกิดในรูปที่น่าปรารถนาเท่านั้น คือ แม้ในรูปที่ไม่น่าปรารถนาโลภะก็เกิดได้

    และโทสะก็ย่อมไม่เกิดในรูปที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น คือ โทสะในรูปที่ น่าปรารถนาก็มี

    บางสิ่งน่าปรารถนา น่าชื่นชม แต่โทสะก็ไม่ชอบ สำหรับบางท่านเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านพิจารณาตนเองจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ และจะ เห็นได้จริงๆ ว่า ในวาระเดียวที่จิตเกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับ จิตยังต่างกันออกไปเป็นประเภทๆ คือ เป็นทั้งวิญญาณจริยาและอัญญาณจริยา ในขณะที่อกุศลจิตเกิด

    สำหรับญาณจริยา คือ

    ความประพฤติของจิตในอารมณ์ด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา มรรค ผล และทำหน้าที่รู้โดยพิเศษ เช่น ในปัจจเวกขณญาณ เพราะเหตุว่า ชื่อว่าญาณจริยา เพราะอรรถว่า จริยา คือ ญาณ หรือการประพฤติด้วยญาณ หรือประพฤติเพราะญาณ หรือประพฤติในอารมณ์ที่รู้แล้ว หรือประพฤติซึ่งความรู้

    ต้องเป็นเรื่องรู้จริงๆ ถ้ายังรู้ไม่จริงก็ไม่ใช่ญาณจริยา เพราะถ้าเป็นญาณจริยา เป็นวิวัฏฏนานุปัสสนา มีนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านสงเคราะห์เข้าในญาณจริยา

    ต้องเป็นเรื่องของการประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นเรื่องของการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะเป็นญาณจริยา

    ถ. ญาณจริยาต้องเกิดทางมโนทวารเท่านั้น ใช่ไหม ทางปัญจทวารไม่ได้

    สุ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ ๖ ทวาร และในขณะที่กำลังมี วิปัสสนาญาณ จะไม่มีปัญจทวารวิถีได้ไหม

    ถ. ไม่ได้

    สุ. เพราะว่าการจะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปแต่ละรูป รูปนั้นต้องกระทบกับปสาทแล้วจึงจะปรากฏ และมโนทวารวิถีก็รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งแยกได้ยากมากว่าขณะไหนเป็นปัญจทวารวิถี และขณะไหนเป็น มโนทวารวิถี และมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ยังเกิดได้ทั้ง ๖ ทวารด้วย

    ถ. มีผู้สงสัยว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารได้หรือไม่

    สุ. คำถามนี้เคยตอบแล้ว และคงจะไม่หมดไปง่ายๆ แต่ถ้าคิดถึงว่า การรู้ชัดทางมโนทวารที่เป็นวิปัสสนาญาณ ในขณะนั้นไม่ได้ปราศจากปัญจทวารวิถีเลย เพราะถ้าไม่มีปัญจทวารวิถี มโนทวารวิถีจะรู้รูปอะไร และจิตก็เกิดดับสลับกันเร็วมาก แม้เป็นทางมโนทวารวิถีที่เป็นวิปัสสนาญาณก็จริง แต่ไม่มีใครสามารถกีดกั้น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ไม่ให้เกิดสืบต่อสลับทางปัญจทวารด้วย และการที่ มโนทวารวิถีจิตจะรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ จะต้องมีปัญจทวารวิถีเพื่อที่จะได้รู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564