แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555


    ครั้งที่ ๑๕๕๕


    สาระสำคัญ

    ม.มู.จูฬสัจจกสูตร - ผู้ที่หลงลืมสติถึงขั้นของความขาดสติ

    สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๙


    ถ้าใครคิดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้สะสมไป ไม่เห็นว่า รูป เวทนาไม่ใช่ตน ก็อาจจะมีความเห็นอย่างสัจจกนิครนถ์ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็น ตนของเรา ดังนี้ มิใช่หรือ

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    พระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น

    ยังยืนยันในความคิดเห็น แทนที่จะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากจักทำอะไรแก่ท่าน ดูกร อัคคิเวสสนะ เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด

    คือ ไม่จำเป็นต้องอ้างคนอื่นว่า ใครๆ ก็เห็นอย่างนี้ ทุกคนก็เห็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้กล่าวถึงความคิดเห็นของคนอื่น แต่ให้สัจจกนิครนถ์มีความแน่ใจว่า เฉพาะสัจจกนิครนถ์เองคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า จึงได้ตรัสถามอีกครั้งหนึ่ง

    สัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลว่า

    พระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้อย่างนั้น ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือ พระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์มิใช่หรือ

    ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ทูลรับว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสียถึงสองครั้ง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ท่านจงแก้ ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกร อัคคิเวสสนะ ผู้ใดอันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้งมิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนี้

    ขณะนั้นเทวดาท่านหนึ่งถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในท้องฟ้า ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์ไม่แก้ปัญหานี้ จักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้นี่แหละ

    สำหรับเทวดาท่านนั้น เฉพาะพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็น ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ตกใจกลัวจนขนชัน แสวงหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ต้านทานป้องกันเป็นที่พึ่ง ได้ทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามซ้ำ และสัจจกนิครนถ์ได้ตอบว่า

    ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจงทำในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ (ทำในใจ หมายความถึงพิจารณาไตร่ตรอง) เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    สิ่งนั้นเป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสัจจกนิครนถ์ ก็คือ ในขณะนี้เอง ได้ยินไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไปแล้วจะยังเป็นของใคร ขณะที่กำลัง ได้ยิน รู้สึกเหมือนกะว่าเราได้ยิน แต่ได้ยินก็ดับ ดับแล้วก็ดับเลย ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดับไปแล้วนั้นจะเป็นของใคร ถ้าสัจจกนิครนถ์พิสูจน์และ พิจารณาธรรมในขณะนั้น ย่อมจะเห็นธรรมตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ทูลว่า ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

    รูปของทุกท่าน ในขณะที่นั่งลงแล้วเริ่มฟัง กับในขณะนี้ ก็ต่างกันมากแล้ว รูปเกิดแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ เวทนา ความรู้สึก ก็ต่างกันมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แม้แต่สัญญา หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปๆ ถ้าพิจารณาถึงความดับ ความสิ้นไปของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ จะรู้ได้ว่า ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา แม้รูปชั่วขณะเดียวที่ดับ แม้นามขณะเดียวที่ดับ ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก หรือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามที่ดับไปแล้ว ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา ฉันใด รูปที่กำลังปรากฏ หรือนามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะว่ายังไม่ทันไรก็ดับไปเสียแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ประชุมชนในเมืองเวสาลีว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะ กะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้

    ดูกร อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาดหยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ ไม่มีเลย

    ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกาย มีพระฉวีดังทองในบริษัทนั้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

    ในลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีนามทุมมุขะ ทราบว่าสัจจกนิครนถ์นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อุปมาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ทุมมุขะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด

    คือ ท่านขอโอกาสที่จะอุปมา

    เจ้าลิจฉวีนั้นทูลถามว่า

    เปรียบเหมือนในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง ในสระนั้น มีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นอันมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้นไปถึง สระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็ลงจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นจะส่ายก้ามไปข้างไหน เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อยก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้นก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ ฉันใด ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม เข้าใจผิด กวัดแกว่ง บางอย่างๆ ของสัจจกนิครนถ์ พระองค์หักเสียแล้ว แต่นี้ไป สัจจกนิครนถ์ไม่อาจเข้ามาใกล้พระองค์ด้วยความประสงค์จะโต้ตอบอีก ก็ฉันนั้นแหละ

    เมื่อเจ้าลิจฉวีทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็พูดว่า

    เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิดๆ ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน ข้าพเจ้าพูดกับพระโคดมต่างหาก

    ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็ทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดม ข้อที่พูดนั้นเป็นของข้าพเจ้า และของพวกสมณพราหมณ์ เหล่าอื่น ยกเสียเถิด เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป

    ตอนนี้มีสติระลึกได้ นี่คือผลของการฟังด้วยการพิจารณาด้วยสติจริงๆ แม้แต่สัจจกนิครนถ์ก็ยังสามารถระลึกได้ว่า คำที่พูดแล้ว เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป

    . สมัยพุทธกาล ใครมาโต้เถียงกับพระผู้มีพระภาค จะมีเทวดาคอยถือกระบอง ผมอ่านพบในหลายสูตร ถ้าสมัยนี้มีก็ดี สมัยนี้ไม่มีจึงเถียงเอาสีข้าง เข้าถูบ้าง ไม่เอาเหตุผลเข้าว่ากัน ทำไมเทวดาไม่ถือกระบองมาหวดเสียบ้าง

    สุ. ไม่ใช่กาลสมัย และไม่มีใครเห็น ขณะนั้นมีแต่พระผู้มีพระภาคกับ สัจจกนิครนถ์เท่านั้นที่เห็น เพราะฉะนั้น เทวดามีจริง ใครไม่เห็นก็ไม่เห็น ไม่จำเป็นต้องคิดว่า เทวดาถือกระบองอยู่หรือเปล่าเดี๋ยวนี้ เมื่อไม่เห็นก็ไม่เห็น แต่อาศัยพระธรรมที่มีเหตุผลที่ทรงแสดง และพิจารณาด้วยสติ

    เมื่อได้ทราบเรื่องอาการของสติ ๑๗ ประการแล้ว คงพอที่จะรู้ลักษณะของสติ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอีกได้ ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะไม่ได้สังเกต เพราะเวลาที่ มีศรัทธา คือ มีสภาพของจิตที่ผ่องแผ้ว ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็ค่อยๆ รู้ว่า นั่นเป็นสภาพลักษณะของโสภณธรรม เป็นศรัทธาเจตสิก ซึ่งทำให้ธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นสภาพที่ผ่องแผ้วผ่องใส แต่ว่าศรัทธาก็ไม่ได้ปรากฏอาการของศรัทธาโดยตลอด ในการกุศลแต่ละครั้ง บางครั้งอย่างในเวลาที่ท่านผู้ฟังอาจจะอ่านจดหมาย หรือได้รับจดหมายจากท่านที่ได้รับประโยชน์จากธรรม ขณะนั้นก็เกิดความปีติ ผ่องแผ้ว เป็นลักษณะของศรัทธา แต่เวลาอื่นนอกจากนั้น ลักษณะของศรัทธา ไม่ปรากฏ แต่การกระทำกิจการใดๆ ก็ตามที่เป็นไปในการกุศล ในขณะนั้นแม้ ศรัทธาจะไม่ปรากฏ ลักษณะของสติก็ยังปรากฏได้ ถ้ารู้เรื่องของสติ เช่น อาการ ๑๗ ประการของสติ

    อย่างท่านผู้หนึ่ง ท่านบอกว่า แต่ก่อนนี้เวลาที่เห็นใครที่มีรูปร่างลักษณะ เหมือนบิดามารดาของท่าน ทำให้ท่านคิดถึงเมื่อครั้งที่ท่านได้อยู่กับมารดาบิดา และ มีความสัมพันธ์ มีความผูกพันกับมารดาบิดาอย่างไรบ้าง แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของสติแล้ว ก็รู้ว่า ในขณะที่กำลังคิดถึงด้วยความผูกพันนั้น เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดเป็นอกุศลจิต ก็กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ผู้ล่วงลับไปแล้ว และถ้ามีกิจใดๆ ก็ตามที่เป็นกุศลที่จะกระทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ บุพพการีได้ ก็กระทำ ซึ่งในขณะนั้นเป็นลักษณะอาการของสติ แม้ว่าลักษณะ ของศรัทธาไม่ปรากฏ แต่ลักษณะของสติที่ระลึกได้ ย่อมปรากฏได้

    หรือบางท่านไม่เคยคิดเพิ่มความเมตตาขึ้น คือ ไม่เคยสังเกตการกระทำ ทางกาย หรือคำพูดทางวาจา แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของสติแล้ว ก็เกิดระลึกได้ แทนที่จะพูดคำที่ทำให้คนฟังไม่พอใจ เช่น เวลาพูดย้อนไป ก็อาจจะระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะพูดอย่างนั้น เพียงเท่านี้ แม้แต่คำพูดซึ่งอาจจะเคยเป็นผู้พูดย้อนคนอื่น ก็ทำให้เกิดสติระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะทำอย่างนั้นอีก

    นี่เป็นลักษณะอาการของสติ ซึ่งแม้ในขณะนั้นลักษณะของศรัทธาไม่ปรากฏ แต่ลักษณะของสติก็ปรากฏ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการกระทำทางกาย และคำพูด ทางวาจา แสดงให้เห็นว่า สติระลึกได้ในขณะนั้น จึงเปลี่ยนจากที่เคยคิดด้วยความ ไม่ถูกต้อง ไม่แยบคายที่เป็นอกุศล ให้เป็นกุศลได้

    หรือสติอาจจะเกิดเวลาที่ระลึกได้ เมื่อมีภาระผูกพัน และอาจจะหลงลืม ซึ่งขณะนั้นไม่เป็นกุศล เช่น บางท่านอาจจะมีภาระผูกพันที่จะอุปถัมภ์หรืออุปการะญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ควรอุปการะแม้ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ถ้าสติไม่เกิด แม้ว่าตั้งใจไว้ ก็หลงลืมไป แต่เมื่อคิดถึงภาระขึ้นมาได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ภาระทางโลก แต่เป็นภาระความผูกพันทางกุศลซึ่งได้ตั้งใจไว้ ก็ทำให้ขณะนั้นระลึกเป็นไปในกุศลได้ เพราะว่า ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในยามทุกข์ยากย่อมมี และท่านก็อาจจะช่วยบ้าง แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ยังเป็นประโยชน์กับคนอื่น บางคนตั้งใจจะช่วย แต่วันเดือนปีก็ผ่านไป อาจจะหลายวัน หลายเดือน เมื่อถึงหลายเดือนเกิดระลึกได้ ก็ยังดี เพราะว่าในขณะที่ระลึกที่จะอุปการะช่วยเหลือผู้ที่กำลังทุกข์ยาก ในขณะนั้น เป็นสติที่ระลึกได้ แม้ลักษณะของศรัทธาในขณะนั้นคงจะไม่ปรากฏว่า เป็นสภาพที่ผ่องใส แต่ลักษณะอาการของสติปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม และการได้เข้าใจลักษณะของธรรม ไม่ใช่ว่า ไปสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นเพื่อจะรู้ แต่ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ บางครั้งบางขณะก็เป็นกุศล บางครั้งบางขณะก็เป็นอกุศล ก็ล้วนอยู่ที่ตัวของแต่ละท่านซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว ตามปกติ

    พระธรรม ทำให้ท่านสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไป อย่างเช่น เรื่องของกุศล บางท่านอาจจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่ตัวท่านเลย สติเกิดระลึกได้ จึงเป็นไปในกุศลประเภทนั้น อย่างนั้น ในวันนั้น แต่เมื่อได้ฟัง พระธรรม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ก็จะรู้ได้ว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นสตินั่นเองที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคลได้ถูกต้องว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตามความเป็นจริง

    จะเห็นได้ว่า ทุกคนมีอกุศลมาก ซึ่งทุกคนก็บอกไม่ถูกว่ามากสักแค่ไหน ถ้า สติเกิดระลึกได้จริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า อกุศลมีมาก แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ไม่มีทางที่จะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร และสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ควรที่จะต้องละเว้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้จริงๆ ว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ถ้าสติไม่เกิด ใครก็เจริญกุศลไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีใครสามารถเจริญกุศลได้โดยสติไม่เกิด

    . ผมจะขอเรียนถามเกี่ยวกับสติในเวลานอนหลับ ผมเคยฟังเทปอาจารย์ว่า สติสามารถเกิดได้ในเวลานอนหลับ รู้สึกตัวเองมีความอยาก ความต้องการให้ สติเกิดในเวลานอนหลับ ก็พยายามฟังทบทวนศึกษาหลายๆ ครั้ง ก็ไม่เกิด จนกระทั่งผมหลงลืมไปนานแล้ว แต่ประมาณ ๒ อาทิตย์ที่แล้วมานี่เอง ผมนอนผิดที่ ปกติแล้วผมตั้งนาฬิกาปลุก ๐๕.๔๐ น. เพื่อล้างหน้า แปรงฟัน หกโมงเช้าจะได้เปิดวิทยุ ฟังอาจารย์ แต่เมื่อนอนผิดที่หลับไป ตื่นขึ้นมาประมาณตีสองตีสาม นอนไม่หลับ ก็คิดอะไรต่ออะไรเรื่อยไป หลับอีกทีประมาณตีห้า และหลับเพลินไปเลยจนกระทั่งใกล้เวลาก็มีลักษณะคล้ายกับฝันไปว่า กำลังทำอะไรวุ่นวายอยู่ และในขณะนั้นก็รู้สึกว่า ได้เวลาจะฟังอาจารย์แล้ว คือ ๐๖.๐๕ น. ผมก็ลุกขึ้นกระวีกระวาดเปิดวิทยุฟัง ทันเวลาพอดี ซึ่งขณะนั้นเข้าใจว่า สติเกิดในเวลานอนหลับ คงจะเป็นลักษณะอย่างนี้นี่เอง เรียนถามอาจารย์ว่า ลักษณะอย่างนี้เป็นสติหรือเปล่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564