แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552


    ครั้งที่ ๑๕๕๒


    สาระสำคัญ

    ขุ. จู. อชิตมาณวกปัญหานิทเทส - ขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ

    อวิชชาเป็นศีรษะ และธรรมอันทำให้ศีรษะตกไป

    โลกไม่ปรากฏ เพราะความตระหนี่ (ความตระหนี่ ๕ ประการ)

    ความประมาท - การปล่อยจิต

    ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙


    เทวดาที่สถิตอยู่ใกล้อาศรมของพาวรีพราหมณ์ เห็นพาวรีพราหมณ์หวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่ ใคร่ที่จะช่วยเหลือ ก็เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วกล่าวว่า พราหมณ์ผู้มีความต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก ย่อมไม่รู้จักศีรษะ ความรู้จักศีรษะหรือธรรมอันให้ศีรษะตกไป ย่อมไม่มีแก่พราหมณ์นั้น

    ผู้ที่เข้าใจธรรมสามารถยกตัวอย่างและชี้แจงให้เห็นได้จริงๆ ว่า พราหมณ์ที่บอกคนอื่นว่าศีรษะจะต้องแตก ๗ เสี่ยง เป็นผู้ที่ไม่รู้จักศีรษะว่าศีรษะคืออะไร แม้แต่ธรรมที่จะทำให้ศีรษะนั้นตกไปก็ไม่รู้ เพียงแต่สามารถขู่คนอื่นหรือบอกคนอื่นได้ว่า ถ้าไม่ทำอย่างที่ต้องการแล้ว ศีรษะจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง

    ขณะนี้ทุกท่านมีศีรษะหรือเปล่า แม้แต่เรื่องศีรษะก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้งได้ ไม่ใช่เพียงศีรษะที่ทุกคนรู้จักว่า มี แต่ยังมีศีรษะที่ทุกคนไม่รู้ว่ามีด้วย

    เมื่อพาวรีพราหมณ์ขอให้เทวดาบอกเรื่องศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป เทวดานั้นก็บอกให้พาวรีพราหมณ์ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนครสาวัตถี พาวรีพราหมณ์ปีติยินดีมากที่ได้ฟัง คำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    นี่คือการสะสมซึ่งสะสมมาที่จะรู้พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงได้ยินก็รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง

    ท่านพาวรีพราหมณ์เรียกพราหมณ์ที่เป็นศิษย์ของท่าน ๑๖ คน คือ อชิตพราหมณ์ ติสสเมตเตยยพราหมณ์ ปุณณกพราหมณ์ เมตตคูพราหมณ์ โธตกพราหมณ์ อุปสีวพราหมณ์ นันทพราหมณ์ เหมกพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ กัปปพราหมณ์ ชตุกัณณีพราหมณ์ ภัทราวุธพราหมณ์ อุทยพราหมณ์ โปสาลพราหมณ์ โมฆราชพราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปิงคิยพราหมณ์ แล้วให้พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนซึ่งต่างเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะมีลูกศิษย์มากมาย ไปเฝ้ากราบทูล ถามปัญหานั้นกับพระผู้มีพระภาค

    เมื่อพราหมณ์ ๑๖ ท่านเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว อชิตพราหมณ์ ได้กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหาของพาวรีพราหมณ์ที่ถามถึงศีรษะ และธรรมอันทำให้ศีรษะตกไป

    ซึ่งทุกคนมี

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาประกอบกับศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมเครื่องยังศีรษะให้ตกไป

    เพียงเท่านี้อชิตมาณพก็เกิดปีติโสมนัสยิ่งนัก นี่คือผู้ที่ได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ เพราะว่าท่านสะสมปัญญามาที่จะได้เฝ้าและได้ฟังพระธรรมจาก พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค

    ท่านกระทำหนังเสือเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วซบศีรษะแทบพระยุคลบาททูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยพวกศิษย์ มีจิตเบิกบานโสมนัส ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พาวรีพราหมณ์พร้อมด้วยพวกศิษย์ จงเป็นผู้มีสุข ดูกร มาณพ และแม้ท่าน ก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่ท่าน และแก่พราหมณ์ทั้งหมด ตลอดข้อสงสัยทั้งปวง ท่านทั้งหลายย่อมปรารถนาปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ ก็จงถามเถิด

    ประทานอนุญาตให้ถามปัญหาทุกอย่างที่ข้องใจ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอกาสแล้ว อชิตพราหมณ์นั่งประนมมือ แล้วทูลถามปฐมปัญหากะพระผู้มีพระภาคในบริษัทนั้น

    ซึ่งปัญหาของแต่ละข้อไม่เหมือนกัน แต่เป็นสภาพธรรมทั้งนั้น และไม่พ้นจากสติและโสภณธรรมทั้งหลายด้วย

    ท่านอชิตะทูลถามปัญหาว่า

    โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ อะไรเล่าเป็นเครื่อง ฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

    เป็นชีวิตในขณะนี้เอง ทุกๆ ขณะ ท่านที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็พอจะทราบคำตอบได้ใช่ไหมว่า อะไรห่อหุ้มโลกไว้ ทำให้โลกไม่ปรากฏ

    กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นโลก ใช่ไหม ปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่าว่า เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง นี่คือ ความจริงของโลก ถ้าโลกปรากฏ ต้องปรากฏอย่างนี้ แต่ โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ

    ท่านที่คิดว่าท่านอยู่ในโลกมานานและรู้จักโลก แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมจะเข้าใจอวิชชาซึ่งเป็นศีรษะ ในขณะที่กำลังเห็นนี้ เป็นการพิสูจน์อวิชชาว่า เป็นการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่เห็นเป็นโลก แต่ไม่รู้จักโลก เพราะว่าโลกจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ แม้ว่าท่านผู้ฟังจะคิดคำตอบอย่างไรก็ไม่ละเอียดเท่ากับได้ รับฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดแจ่มแจ้ง แม้แต่คำว่า โลก ซึ่งรวมทุกโลก ทั้งโลกนรก โลกติรัจฉาน โลกปิตติวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก ซึ่งสรุปแล้ว ก็คือ โลกทางตาในขณะนี้เอง

    ไม่ว่าจะเป็นโลกเดรัจฉาน เห็นไหม โลกปิตติวิสัยคือเปรต โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกทั้งเทวโลก ไม่ว่าโลกไหน ก็คือ โลกที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรปิดบัง ทุกโลก ไม่ใช่ปิดบังเฉพาะโลกเดียว ใช่ไหม

    ทางตาที่กำลังเห็นก็ปิดบัง ทางหูกำลังได้ยินก็ปิดบัง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปิดบังทุกโลก

    อะไรคือเครื่องฉาบทาโลก ที่โลกไม่ปรากฏก็เพราะมีสิ่งที่ฉาบทาปิดบังไว้ ทำให้โลกไม่ปรากฏ ซึ่งทุกคนมีเครื่องฉาบทาโลก สิ่งที่ฉาบทาโลกนั้นเป็น เครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก เป็นเครื่องเข้าไปเศร้าหมองทำให้โลกมัวหมอง ติดให้เปื้อนระคนไว้ ข้องไว้ คล้องไว้ พัวพันไว้

    และอะไรเป็นภัยใหญ่ของโลก เป็นเครื่องบีบ เป็นเครื่องเสียดสี เป็นอันตราย เป็นเครื่องขัดข้องของโลกนั้น

    แม้แต่ทุกข์ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องบีบ เป็นเครื่องเสียดสี ถ้าไม่มีการเสียดสีจะไม่มีความรู้สึกใดๆ เลยทั้งสิ้น ทางตาก็เสียดสีกับรูป ทางหูเสียดสีกับเสียง มีการกระทบกระทั่งทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเครื่องเสียดสีที่ทำให้ ความทุกข์เกิดขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร อชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เรากล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสสั้นๆ แต่ผู้มีสติต้องพิจารณาข้อความที่ได้ยินได้ฟัง อย่างละเอียดและลึกซึ้ง อย่างให้เข้าใจจริงๆ

    คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ มีความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๑ กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล (อุปัฏฐาก) (สำหรับพระภิกษุ) ๑ ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๑ วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ (คือ คำสรรเสริญ) ๑ ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ๑

    ไม่เคยคิดมาก่อนใช่ไหมว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ลึกลงไปของความตระหนี่คืออะไร ขณะใดที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลึกลงไปในขณะนั้นที่สติจะต้องติดตามหยั่งลงไปว่าเพราะอะไร ก็คือ ความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ตัวนี้ ยังเป็นที่ยึดถือ ผูกพัน ติดข้องอย่างมากเพียงใด ลักษณะอาการของความตระหนี่ก็ย่อมปรากฏ

    เพระฉะนั้น ขณะใดที่มีความตระหนี่อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ควรที่จะเป็นเครื่องระลึกได้ว่า ในขณะนั้นยังมีความติดข้อง ยังมีความเห็นแก่ตัว ยังความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอย่างมาก

    และสำหรับธรรมมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ธรรม ถ้าเกิดความตระหนี่ธรรมขึ้น ทุกอย่างย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่ได้แสดงธรรมนั้นให้บุคคลอื่น ได้รู้หรือเข้าใจด้วย

    ผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่ตระหนี่ธรรม เพราะรู้ว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และขณะใดที่ตระหนี่ ขณะนั้นแสดงถึงความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งยังไม่ได้ละคลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ท่านเรียกว่า เววิจฉะ ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่โดยความเป็นจิต เผ็ดร้อน

    นี่แสดงลักษณะของมัจฉริยเจตสิกว่า เกิดกับโทสมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิต จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตและโมหมูลจิตเลย

    ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่

    เวลาเกิดความตระหนี่ขึ้น จริงใจไหม จะต้องมีความรู้สึก มีอาการที่ปิดบัง หรือซ่อนเร้นที่ไม่จริงใจ เพราะฉะนั้น ความที่แห่งจิตอันใครเชื่อไม่ได้เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่

    อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ

    ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ที่ตระหนี่ ตระหนี่อะไร ขอให้คิดดู ถ้าไม่ใช่ตระหนี่ขันธ์ คือ รูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง

    ท่านมีความสุข เห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็อยากให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ในสุขเวทนา แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุข และคนอื่นมี ความทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความคิดเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็ เป็นความตระหนี่ขันธ์ คือ ตระหนี่สุขเวทนา

    ในเมื่อไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ขณะใดที่เกิดความตระหนี่ ก็คือตระหนี่ขันธ์ ตระหนี่ธาตุ ตระหนี่อายตนะนั่นเอง

    จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่อกุศลธรรมเกิด ขณะนั้นหลงลืมสติ เพราะสติไม่เกิด ด้วยเหตุนี้ สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความประมาท สมควรกล่าวว่า การปล่อยจิต ความเพิ่มการปล่อยจิต ในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือความเป็นผู้ทำโดยความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ทำไม่ติดต่อ ความเป็นผู้ทำๆ หยุดๆ ความเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ความเป็นผู้ปลงฉันทะ ความเป็นผู้ทอดธุระ ความเป็น ผู้ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความประมาท ความมัวเมา กิริยาที่มัวเมา ความเป็นผู้มัวเมาเห็นปานนี้ เรียกว่า ความประมาท

    พระผู้มีพระภาคไม่ทรงละเว้นพยัญชนะซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเกิดสติระลึกได้ เพราะทรงแสดงเรื่องของความประมาทว่า เป็นการปล่อยจิต เป็นการเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ถ้าสติไม่เกิดเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา ใช่ไหม เขาก็ทุจริตกันทั้งนั้น อาจจะคิดอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น กายทุจริต หรือวจีทุจริต แต่ผู้ที่มีสติ สติเกิด จะรู้ได้ว่า ไม่ควรคิดอย่างนั้นเลย เพราะว่าไม่ควรที่จะปล่อยจิต หรือเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต

    ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมไม่พ้นจากการมีกายทุจริตบ้าง วจีทุจริตบ้าง มโนทุจริตบ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองจะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นกายทุจริต ขณะไหนเป็นวจีทุจริต คำพูดที่ทำให้บุคคลอื่นไม่สบายใจ หรือเป็นการเสียประโยชน์ของบุคคลนั้น ซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขัดเกลากิเลสก็จะพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ว่า ไม่เพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ในเบญจกามคุณ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    หรือบางท่าน เป็นผู้ทำโดยความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ เป็นผู้ทำไม่ติดต่อ เป็นผู้ ทำๆ หยุดๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ความเป็นผู้ปลงฉันทะ ความเป็น ผู้ทอดธุระ ความเป็นผู้ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความประมาท เป็นการเตือนให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ประมาทหรือเปล่า หรือว่า เพิ่มความประมาทขึ้นหรือเปล่า

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท ความว่า โลกไม่ปรากฏ ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง เพราะความตระหนี่นี้ เพราะความประมาทนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เพราะความประมาท

    ท่านที่อยากจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมอาจจะใช้คำว่า เต็มทีเหลือเกิน คอยไม่ไหว อยากจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลัง ได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เป็นผู้ที่ประมาทหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และจะให้โลกกระจ่าง โลก แจ่มแจ้ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าผลย่อมเป็นไปตามเหตุ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องอาการต่างๆ ของโลภะ ซึ่งเป็น เครื่องฉาบทาโลก ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว เป็นข้อความที่ยาว เช่น ข้อความที่ว่า

    ตัณหา เรียกว่า ชัปปา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความพลอยยินดี เป็นต้น ... ความอยาก ความพัวพัน ความข้อง ความจม ความหวั่นไหว ความลวง ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์ ธรรมชาติอันเย็บไว้ ธรรมชาติเพียงดังข่าย ธรรมชาติอันไหลไป ธรรมชาติอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นผู้หลับ ความกว้างขวาง ธรรมชาติอันให้อายุเสื่อม ความเป็นเพื่อน ความตั้งใจไว้ ธรรมชาติอันเป็นเหตุนำไปสู่ภพ

    แต่ละลักษณะ แต่ละอาการ ก็เป็นสภาพของโลภะ ซึ่งอาจจะไม่รู้สึกตัวเลย เพราะว่าโลภะอยู่ด้วยเป็นประจำ ถ้าโลภะอยู่ด้วยเป็นประจำจะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เช่น ในขณะที่ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน มีเพื่อนอยู่แล้วทุกคน ยังอยากได้เพื่อน อีกไหม ไม่พอใช่ไหม โลภะเป็นเพื่อนสนิทยิ่งว่าใคร อยู่ด้วยกันทุกค่ำเช้า ตั้งแต่เกิด และทุกภพทุกชาติตลอดไป มีเพื่อนอยู่แล้ว แต่ยังปรารถนาเพื่อนอื่นอีก แสดงให้เห็นว่า ต้องการเพิ่มโลภะอีก ไม่เห็นว่า เพียงโลภะที่มีอยู่เป็นประจำก็น่าจะพอแล้ว ยังต้องการเพื่อนของโลภะ หรือว่าเพิ่มเพื่อนให้โลภะอีก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564