แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551


    ครั้งที่ ๑๕๕๑


    สาระสำคัญ

    มิลินทปัญหา สัตมวรรค ปัญหาที่ ๑ - อาการต่างๆ ของสติ (ต่อจากครั้งที่ ๑๕๕๐)

    สรณโตสติ - เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้ว

    ภาวนาโตสติ -สติในการเจริญภาวนา

    ขุ. จู .อชิตมาณวกปัญหานิทเทส - ขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙


    มิลินทปัญหา สัตตมวรรค สติอาการปัญหาที่ ๑ อาการของสติต่อไป คือ

    ๗. วิสภาคนิมิตตโตสติ ระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส ที่มีลักษณะต่างๆ กัน ของพืชผักผลไม้ต่างๆ

    จะเป็นกุศลได้ไหม ทุกคนต้องบริโภคอยู่ตลอดเวลา และก่อนที่จะบริโภคก็มีการปรุงอาหาร มีพืชผักผลไม้ต่างๆ นานาชนิด ระลึกอย่างไรจึงจะเป็นกุศล แม้ว่าเป็นผักชนิดเดียวกัน รสอาจจะต่างกัน ความใหม่ ความเก่า ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแม้ของพืชผักผลไม้ ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่มีผลไม้ หรือผัก หรือพืชพรรณที่สด

    รูปร่างสีสันวัณณะที่เปลี่ยนไป ทำให้สติเกิดระลึกได้ถึงเหตุปัจจัยนั้นๆ ที่ทำให้สภาพของพืชผักผลไม้นั้นต่างกัน แม้ว่าจะเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน รสหวานก็ไม่เท่ากัน เพราะว่าปัจจัยต่างกัน

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สติเกิดได้ ถ้าได้รู้อาการของสติว่า แม้แต่การเห็น สิ่งต่างๆ เช่น พืชผักผลไม้ อาหาร ก็เป็นธรรมทั้งหมด สามารถที่จะเข้าใจถึงปัจจัย ที่ทำให้สภาพของพืชผักผลไม้ต่างๆ นั้น มีรส มีกลิ่น มีสีต่างๆ กันได้

    เวลาถวายทาน พิจารณาอย่างนี้หรือเปล่า ของเสียๆ ไม่ดี ไม่งาม ก็คัดออกทิ้งไป แสดงว่า แม้ในขณะนั้นสติก็ยังเกิดพิจารณาได้ตลอดในเรื่องของธรรม แต่ถ้า ไม่พิจารณา ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงกุศลชั่วขณะที่คัดสิ่งที่เป็นไทยธรรมที่ไม่ดีออก

    ๘. กถาภิญญาณโตสติ ได้แก่ สติที่เกิดเมื่อคนอื่นกล่าวเตือนจึงระลึกได้

    เช่น ในขณะที่ฟังพระธรรม วันหนึ่งๆ ก็หลงลืมสติไป แต่ขณะใดที่ได้ฟัง พระธรรมในเรื่องของสติ ในเรื่องของโสภณธรรม ขณะนั้นก็มีการระลึกได้ ก็เป็น กถาภิญญาณโตสติ คือ สติ เมื่อคนอื่นกล่าวเตือนจึงระลึกได้

    ท่านที่เป็นกัลยาณมิตร ถ้ามิตรสหายของท่านกำลังเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นโอกาสดีที่จะกล่าวธรรม เพราะถ้าท่านเตือนเองย่อมไม่ได้ผลเท่ากับการแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับกาลเทศะและเหตุการณ์ในขณะนั้น แต่ให้ทราบว่าคำพูดของบางท่านสะกิดใจจริงๆ บางทีฟังแล้วระลึกได้ทันที ซึ่งถ้าท่านไม่กล่าววาจาอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ยังคงมีอกุศลต่อไปอีกนาน โดยเฉพาะในเรื่องของความโกรธ หรือในเรื่องของความตระหนี่ ความริษยา เรื่องของอกุศลทั้งหลาย ถ้ามีธรรมที่ระลึกได้ในขณะนั้นและกล่าวขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมีอกุศลจิต

    ๙. ลักขณโตสติ ได้แก่ สติที่ระลึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมายที่ได้ทำไว้

    แสดงว่าความจำไม่มั่นคง ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างยอดยิ่งเช่น ปัญญาของท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้จึงต้องจำและก็จด และอาจจะมีเครื่องหมายต่างๆ ที่ให้เห็นถึงความสำคัญ มีเครื่องหมาย ๒ อัน ๓ อัน อะไรอย่างนั้นซึ่งเป็นการเตือนให้ระลึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมายต่างๆ

    แม้แต่รูปถ่าย มีการเขียนไว้ข้างหลังว่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งทำให้ ระลึกได้ถึงกุศลที่บุคคลนั้นได้กระทำในวันนั้น และอาจจะมีการระลึกต่อไปถึงเรื่องของบุคคลนั้นในทางธรรมได้ ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอพยพ พลัดบ้านเมือง ก็อาจจะคิดถึงความ ไม่เที่ยง การต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งแต่ละชีวิตก็ไม่แน่นอน มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ ที่แต่ละบุคคลก็เลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่รูปถ่ายซึ่งมีคำเขียนไว้ก็ยังเป็นเครื่องหมายที่ทำให้เกิดระลึกได้ถึงธรรม

    เวลาที่ทำบุญให้ทาน มีอาหารหลายอย่าง บางท่านก็ยังต้องใส่ถุงสีต่างๆ กันเพื่อกันลืม ใช่ไหม พวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นสติที่ระลึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมายที่ได้ทำไว้

    ๑๐. สรณโตสติ เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้ว

    ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านคงพอที่จะระลึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว และเกิดความปลาบปลื้ม แต่ถ้าระลึกถึงอกุศล จะต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำอีก ถ้าเป็นคนที่โกรธง่ายๆ โกรธมากๆ รุนแรง และเคยมีกายวาจาที่ไม่งาม ถ้าระลึกขึ้นมาได้ เห็นความน่ารังเกียจและคิดว่า จะไม่เป็นอย่างนั้นอีก ขณะนั้นก็เป็น สรณโตสติ คือ สติที่เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้ว

    ๑๑. มุทธโตสติ ระลึกได้เมื่อเห็นสิ่งที่จดไว้

    นอกจากเครื่องหมาย ก็เป็นข้อความต่างๆ เวลาที่ทุกท่านอ่านพระไตรปิฎก ก็คงจะมีสมุดกันคนละเล่มที่เก็บข้อความที่ต้องการเพื่อจะระลึกถึงบ่อยๆ และให้ ทราบว่า ข้อความนั้นอยู่ที่ไหนในพระไตรปิฎก

    ๑๒. คณนาโตสติ สติที่ระลึกได้เมื่อนับ

    ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์ธรรมตั้งแต่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ มิฉะนั้นก็หลงลืม ใช่ไหม ขาดข้อหนึ่งข้อใดไป เช่น เหตุให้เกิดกุศลมีเท่าไร เหตุให้เกิดทิฏฐิมีเท่าไร เหล่านี้ เป็นต้น ก็เป็นคณนาโตสติ ระลึกได้เมื่อนับ มัจฉริยะมีเท่าไร ถ้าไม่นับก็คงยาก แต่ถ้านับก็รู้ว่ามัจฉริยะมี ๕ เป็นความตระหนี่ ๕ ประการ

    ๑๓. ธารณโตสติ ได้แก่ สติที่ทรงจำไว้มากระลึกได้มาก

    ข้อนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละท่าน บางท่านมีความจำดี มีสติดีมั่นคง เป็นเหตุทำให้ระลึกได้มาก

    ๑๔. ภาวนาโตสติ สติในการเจริญภาวนา ในการอบรมสภาพธรรมที่เป็นกุศล

    ๑๕. โปตถกนิพันธนโตสติ สติที่ระลึกถึงภาระผูกพันที่จะต้องกระทำ

    เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่เป็นไปในเรื่องของกุศล ก็ต้องเป็นไปในเรื่องของโลภะ ในชีวิตประจำวัน มีอะไรที่จะต้องทำในวันนี้บ้าง ในขณะนั้นก็เป็นวิตกเจตสิก แต่ถ้าระลึกถึงภาระผูกพันที่จะต้องกระทำในเรื่องของกุศล เช่น การไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีข้อผูกพันสิ่งใดที่จะต้องทำต่อบุคคลนั้นก็ระลึกได้ และกระทำ ขณะนั้นก็เป็นกุศล

    มีข้อผูกพันว่าจะทำอะไรบ้างที่เป็นกุศล นึกออกไหม บางท่านอาจจะ ปวารณาไว้ นั่นคือ ข้อผูกพันในเรื่องของกุศล แต่ลืม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกได้

    ๑๖. อุปนิกเขปนโตสติ เห็นทรัพย์ก็ระลึกได้

    ทุกคนเห็นทรัพย์ แต่ระลึกเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องแล้วแต่สติในขณะนั้น ถ้าระลึกเป็นไปในกุศลในขณะที่เห็นทรัพย์ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ได้แก่ ทาน การให้ การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น บางคนตั้งใจ จะบริจาคเงินในการกุศล แต่ลืม เมื่อเห็นจึงระลึกได้ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งซึ่งเป็น อาการหนึ่งของสติ

    ๑๗. อนุภูตโตสติ ระลึกถึงรูปที่เคยเห็น ถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะที่เคยกระทบสัมผัส ระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ และระลึกถึง สภาพธรรมที่เคยปรากฏตามความเป็นจริง

    เช่น ถ้าวิปัสสนาญาณได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ขณะนั้นก็ระลึกถึงลักษณะของสภาพนามธรรมนั้น รูปธรรมนั้น ในขณะนั้นก็เป็น อนุภูตโตสติ

    . ต้องท่องไว้ไหม ๑๗ ประการนี้

    สุ. ถ้าอยากจะจำ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางท่านอาจจะมีฉันทะ ในการท่อง ท่านก็ท่อง บางท่านท่องเก่งมาก ท่านท่องมหาสติปัฏฐานสูตรได้ ซึ่งมากกว่า ๑๗ อีก

    ผู้ฟัง แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ท่อง ก็เป็นสิ่งที่เคยผ่านในชีวิตประจำวันหลายอย่าง อย่างที่ผมเคยทำกับตัวเอง ถ้าหลงลืมสติบ่อยๆ หลายๆ วัน ผมก็เขียนไว้ในกระดาษว่า ระลึกรู้นามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และแปะไว้ที่ข้างๆ พวงมาลัยรถ เวลาผมมานั่งที่รถทีไร ก็เตือนสติได้เหมือนกัน หรือไม่ก็แปะไว้ที่โต๊ะทำงาน แต่ นานๆ ก็ชิน จดหรือไม่จดก็ไม่เป็นประโยชน์

    สุ. ก็เป็นการดีที่ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ประโยชน์ของ พระธรรมวินัย คือ ทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตรงตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมต่างๆ ลักษณะของจิตต่างๆ ลักษณะของเจตสิกต่างๆ ลักษณะของรูปต่างๆ ที่เกิดประชุมรวมกันและยึดถือว่า เป็นตัวตน เมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นจึงจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    เรื่องของสติ เป็นเรื่องที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวงจริงๆ แม้ในขณะที่ฟังพระธรรมนี้เอง ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาธรรมของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา อย่าง ท่านพระปิงคิยเถระ ใน โสฬสมาณวกปัญหานิคมนิทเทส ท่านได้เล่าให้ พราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุงของท่านฟังว่า เพียงได้ฟังพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่าน พระวักกลิละศรัทธา ท่านก็เกิดปีติโสมนัส เพียงเท่านี้เอง พระผู้มีพระภาคตรัสกับ ปิงคิยพราหมณ์ว่า พระองค์ตรัสให้ท่านพระวักกลิละศรัทธา

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังได้ฟังอย่างนี้ ใช่ไหม แต่ท่านพระปิงคิยพราหมณ์ในขณะนั้นเกิดปีติโสมนัส เพราะรู้ว่าถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ถ้าปัญญาไม่เกิด ละศรัทธาไม่ได้

    ละศรัทธาในที่นี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า ละศรัทธาที่เป็นตัวตน ที่เป็นเรา ที่ยึดถือศรัทธานั้นว่าเป็นเรา คือ การฟังพระธรรมต้องฟังให้ละเอียดจริงๆ ว่า บุคคลไหน ตรัสกับใคร และผู้ฟังเป็นใคร แม้ว่าจะไม่กล่าวพยัญชนะโดยครบถ้วน แต่ความหมายก็ครบถ้วนในข้อความที่ตรัส เพราะว่าศรัทธาเป็นโสภณธรรม สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ก็ยึดถือศรัทธานั้นว่าเป็นเรา เวลาที่ศรัทธาเกิดก็ผ่องใส เลื่อมใส แต่ในขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของศรัทธาว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นศรัทธาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

    และศรัทธาที่ว่าผ่องใสเสื่อมใสนี้ ก็ยังเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับศรัทธาของพระอริยบุคคล และก็เปรียบเทียบได้เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงศรัทธาของผู้ที่เป็น พระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นเป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล และเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครให้ละศรัทธา ต้องเข้าใจว่า ให้ละศรัทธาที่ยึดถือว่าเป็นเรา ซึ่งจะละได้ก็ด้วยสติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของศรัทธาที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ในขณะนี้ ถ้าศรัทธาเกิด ปัญญาจะต้องเกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของศรัทธา จึงจะรู้ว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วไม่มีหนทางเลย พระผู้มีพระภาคตรัสกับ ท่านพระวักกลิ และปิงคิยพราหมณ์ได้ฟังเกิดปีติโสมนัส แต่สำหรับตัวท่านเอง ท่านต้องเป็นผู้ตรงว่า ในขณะนี้ศรัทธาเกิดหรือเปล่า ถ้าศรัทธาเกิด จะละอย่างไร ต้องรู้วิธีด้วย เพราะถ้าไม่รู้วิธี แม้พระผู้มีพระภาคตรัสให้ละศรัทธา ก็ละไม่ได้

    แสดงให้เห็นว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง โดยเฉพาะในเรื่องของการฟังธรรม ซึ่งเรื่องของธรรมเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ในครั้งอดีตตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และตลอดไปจนกระทั่งถึงอนาคต

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค อชิตมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความที่เป็นชีวิตประจำวันซึ่งแสดงให้เห็นถึงขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ ของบุคคล แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ครั้งนั้น เมื่อพราหมณ์พาวรีเรียนจบมนต์ชองพราหมณ์แล้ว ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล จึงได้ออกจากพระนครโกศลอันรื่นรมย์ไปสู่ทักขิณาปถชนบท และอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างแว่นแคว้นอัสสกะและแว่นแคว้นมุฬกะ ท่านเลี้ยงชีวิตด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้

    เมื่อพราหมณ์ได้ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ตำบลนั้นก็เจริญขึ้น ทำให้พราหมณ์นั้น ได้ของบูชาเป็นอันมาก

    วันหนึ่งพราหมณ์พิการคนหนึ่งเดินงกงัน ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เข้าไปหาพาวรีพราหมณ์แล้วขอทรัพย์ห้าร้อย

    พาวรีพราหมณ์บอกว่า ได้บริจาคทรัพย์ไปหมดแล้ว พราหมณ์นั้นบอกว่า เมื่อเราขอ ท่านจักไม่ให้ ในวันที่เจ็ด ศีรษะของท่านจงแตกเจ็ดเสี่ยง

    สติเกิดไหม ถ้าได้ยินอย่างนี้ นี่เป็นชีวิตประจำวัน แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน น่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ถ้าสติเกิดจะกลัวไหม ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่ได้พิจารณาเหตุและผล ย่อมตกใจกลัว เพราะว่าในสมัยโน้นเป็นสมัยที่ใช้อิทธิฤทธิ์ซึ่งต่างกาลต่างสมัย ในสมัยนี้ก็เป็นอิทธิฤทธิ์คนละอย่าง ใช่ไหม อาจจะใช้อาวุธยิงไกลไปทำลายล้างไกลๆ ได้ คนละเหตุการณ์ แต่ผู้ที่ขาดสติก็มีความ หวั่นเกรงภัย แทนที่จะคิดว่า ถ้าคนนั้นมีฤทธิ์สามารถทำให้ศีรษะคนอื่นแตก ๗ เสี่ยงได้ ก็ไม่น่าจะต้องมาขอเงินคนอื่น ใช่ไหม

    แต่เรื่องของความไม่รู้เหตุผล และเรื่องของความรักชีวิต รักตัว ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมทำให้ขณะนั้นเกิดความขาดสติ และมีความหวั่นเกรง จนกระทั่งพาวรีพราหมณ์ซูบผอม ไม่บริโภคอาหาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564