แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539


    ครั้งที่ ๑๕๓๙


    สาระสำคัญ

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ - อธิบาย สัทธินทรีย์ (เลื่อมใสในกุศล)

    อัญญสมานาเจตสิก มี ๒ ประเภท


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙


    กุศลจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม ไม่มีใครบันดาลให้นามธรรมคือกุศลจิตเกิดได้ เพราะถ้าบันดาลได้ก็มีแต่กุศล ย่อมไม่มีอกุศล และเวลาที่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้กุศลจิตเกิด ก็ไม่มีใครบันดาลที่จะไม่ให้จิตนั้นเป็นกุศลได้ ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า ในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่งนั้น มีเจตสิกที่เป็นปัจจัยที่จะเกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นอย่างน้อย ๓๑ ดวง เพราะจะต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ขอทบทวน

    อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งเมื่อเกิดกับจิตใด ก็เสมอกันกับจิตนั้น

    อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง มี ๒ ประเภท คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

    สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เจตสิก ๗ ดวง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑

    ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑ สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง เกิดกับจิตบางดวง ไม่เกิดกับจิตบางดวง ไม่เหมือนกับสัพพจิตตสาธารณเจตสิกซึ่งเกิดกับ จิตทุกดวง

    มหากุศลที่ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเวทนาเป็นอุเบกขา ปกิณณกเจตสิกก็จะเกิดเพียง ๕ ดวงเท่านั้น ไม่ครบ ๖ ดวง

    เพราะฉะนั้น สำหรับกุศลที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จะมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๒ ดวง คือ เว้นปีติเจตสิก แต่จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง นี่คือกุศลจิตขณะเดียว จะมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๑๒ ดวง คือ ขณะที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ถ้าขณะนั้นเป็น โสมนัสก็จะมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดครบทั้ง ๑๓ ดวง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดที่จะรู้ว่ามีปกิณณกเจตสิกครบไหม ก็คือขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นกุศลที่ทำไปโดยไม่เกิดความโสมนัส ขณะนั้นก็มีปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๕ ดวง และมี อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง เว้นปีติเจตสิก แต่เมื่อเป็นกุศล ที่จะเป็นกุศลได้ ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมด้วย

    ในขณะที่ให้ทานครั้งหนึ่ง แม้แต่เพียงนิดเดียว หรือการที่จะเว้นวจีทุจริต มีวาจาที่อ่อนโยนที่ทำให้คนอื่นสบายใจ ในขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตที่จะเป็นกุศลหรือจะเป็นโสภณได้ ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    โสภณสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ดีงาม ที่เกิดกับโสภณจิตทุกดวง

    โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง คือ

    ๑. ศรัทธาเจตสิก

    ๒. สติเจตสิก

    ๓. หิริเจตสิก

    ๔. โอตตัปปะเจตสิก

    ๕. อโลภเจตสิก

    ๖. อโทสเจตสิก

    ๗. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ๘. กายปัสสัทธิเจตสิก

    ๙. จิตตปัสสัทธิ

    ๑๐. กายลหุตาเจตสิก

    ๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก

    ๑๒. กายมุทุตาเจตสิก

    ๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก

    ๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก

    ๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก

    ๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก

    ๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก

    ๑๘. กายุชุกตาเจตสิก

    ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก

    รวมเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง กับอัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง เป็นทั้งหมด ๓๑ ดวง ถ้าขณะใดที่เวทนาเป็นโสมนัส ก็เป็น ๓๒ ดวง

    นี่เป็นโสภณสาธารณะ และยังมีพิเศษต่างหาก ซึ่งบางครั้งเจตสิกนั้นก็เกิดกับกุศลหรือโสภณจิต บางครั้งก็ไม่เกิด ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ และปัญญินทรีย์ หรือปัญญาเจตสิก ๑

    โสภณเจตสิกทั้งหมดมี ๒๕ ดวง เป็นโสภณสาธารณะ คือ ต้องเกิดกับ โสภณจิตทุกครั้ง ๑๙ ดวง ส่วนอีก ๖ ดวง บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ ซึ่งบางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด และเวลาเกิด เกิดทีละ ๑ ดวง คือ บางครั้งสัมมาวาจาเจตสิกเกิด บางครั้งสัมมากัมมันตเจตสิกเกิด บางครั้งสัมมาอาชีวเจตสิกเกิด

    นอกจากนั้น อนิยตเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่ต้องเกิดเป็นประจำ ได้แก่ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ คือ กรุณาเจตสิก ๑ มุทิตาเจตสิก ๑ และอีก ๑ ดวง คือ ปัญญาเจตสิก เกิดเฉพาะกับโสภณจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์

    แสดงให้เห็นว่า เป็นอนัตตาจริงๆ แม้ว่าใครจะไม่รู้เลยว่า เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และดับไป เพราะว่าจิตแต่ละขณะมีอายุที่ สั้นมาก เพียง ๓ ขณะย่อย คือ อุปาทขณะ ขณะเกิด ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ ขณะที่ดับ แต่จะต้องมีเจตสิกที่เป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยมากกว่าอกุศลจิต และอเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต

    แสดงให้เห็นว่า ทำไมกุศลจึงเกิดน้อยกว่าอกุศล เพราะว่าต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก ครบ จึงจะเกิดขึ้นได้

    สำหรับโสภณเจตสิก คงจะชินหูบางชื่อ โสภณสาธารณเจตสิกดวงที่ ๑ คือ ศรัทธาเจตสิก ได้ยินบ่อย ลักษณะของศรัทธาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส สะอาด เปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว น้ำขุ่นๆ ถ้าแกว่งสารส้มลงไปจะทำให้น้ำนั้นใส ฉันใด เวลาที่ศรัทธาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ ผ่องใส สะอาดเกิดขึ้น ก็ทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่สะอาด ผ่องใส

    เมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตม ก็ย่อมจมลง คือ เกิดไม่ได้ เพราะขณะนั้นศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เลื่อมใสใน กุศลธรรม

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายสัทธินทรีย์ มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่าศรัทธา เพราะเป็นเหตุให้เชื่อ หรือเชื่อเอง หรือเป็นเพียงความเชื่อ

    เชื่อในที่นี้ คือ เลื่อมใสในกุศล

    ก็ศรัทธานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะเป็นสภาพที่เป็นใหญ่

    เพราะว่าในขณะนั้นครอบงำอกุศล ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้

    และ ครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา

    ก็ศรัทธามีการเลื่อมใสเป็นลักษณะ มีความแล่นไปเป็นลักษณะ คือ ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลายเสียได้ ย่อมยังกิเลสทั้งหลายให้ระงับ ทำจิตให้ ผ่องใส

    ซึ่งเมื่อบุคคลใดมีจิตเลื่อมใสแล้ว ย่อมจะถวายทาน หรือสมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เจริญภาวนา ศรัทธาอย่างนี้แหละพึงทราบว่า มีความเลื่อมใส เป็นลักษณะ

    ได้ยินชื่อศรัทธาบ่อยๆ และเป็นผู้ที่มีศรัทธา ก็ต้องรู้ลักษณะของ ศรัทธาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๑๙ ดวงที่เกิดกับกุศลจิต กุศลทุกประเภทขาดศรัทธาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับจะขาดเจตสิกอื่นๆ ที่เป็น โสภณสาธารณะ ๑๙ ดวงไม่ได้เลย

    ถ้าไม่มีศรัทธาจะให้ทานไหม ไม่มีศรัทธาจะรักษาศีลไหม ไม่มีศรัทธาจะ ฟังธรรมไหม ไม่มีศรัทธาจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ศรัทธานั้นเป็นสภาพธรรมที่นำกุศลธรรมอื่นๆ

    ผู้ฟัง ผมขอเล่าศรัทธาที่เกี่ยวกับตัวผมเอง เมื่อผมเริ่มศึกษาธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะนั้นมีศรัทธา แต่ไม่รู้ว่าศรัทธาเป็นเจตสิก เพิ่งมารู้เมื่อศึกษาธรรมว่า ศรัทธาเป็นเจตสิกดวงหนึ่ง แต่ศรัทธาในขณะนั้น สภาพ คือ ชีวิตนี้ไม่แน่นอน สุขได้มา เดี๋ยวก็แปรผันไป ทุกข์ได้มาก็เศร้าหมอง เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ๓๐ กว่าปี คิดว่าธรรมของพระพุทธองค์คงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เกิดศรัทธา ตอนนั้นมีศรัทธาแรงถึงขนาดที่ว่า ไม่เป็นปกติเลย หลายๆ อย่างไม่เป็นปกติ เช่น เห็นใครไม่ดี เราจะต้องว่าเขา เป็นศรัทธาที่ไม่เป็นปกติ

    สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของอกุศลกับกุศลใกล้เคียงกันมาก อย่างลักษณะของโลภมูลจิตกับลักษณะของมหากุศลจิต โลภมูลจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา มหากุศลจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น โดยเวทนาจะแยกไม่ออกว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ขณะไหนเป็นกุศลจิต แต่ด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และความเป็นผู้ละเอียดจะรู้ว่า ลักษณะไหนเป็นลักษณะของโลภะ ลักษณะไหนเป็นลักษณะของศรัทธา มิฉะนั้นแล้ว จะปนกัน และคิดว่าโลภะนั่นแหละเป็นศรัทธา หรือมิฉะนั้นแม้เป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่เชื่อ ขณะนั้นก็เข้าใจว่าความเชื่อนั้นคือศรัทธา เพราะเป็นลักษณะของความเลื่อมใส แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่

    ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นความเห็นผิดในความเห็นในเรื่องโลก ในความเห็นในเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด เป็นอกุศลเจตสิกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นทิฏฐิเจตสิก แต่เพราะโลภะมีความพอใจ มีความชอบในความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เกิดความติด เมื่อเกิดความติดก็มีการสละ มีการกระทำทุกอย่าง เพื่อที่จะเผยแพร่ หรือประพฤติปฏิบัติตามความคิดเห็นอย่างนั้น แต่ขณะนั้น ไม่ทราบว่า ไม่ใช่ลักษณะของศรัทธาเจตสิกสักนิดเดียว เพราะว่าไม่ใช่สภาพที่ผ่องใสเป็นกุศล จะเห็นได้ว่า โลภเจตสิกเป็นสภาพที่พอใจ แต่ไม่ผ่องใส เพราะเป็นอกุศล มิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะฉะนั้น ความเชื่อในความ เห็นผิดนั้น ไม่ใช่ศรัทธาเจตสิก

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะใช้คำว่า ความเชื่อ สำหรับลักษณะของศรัทธา จะต้องรู้ว่า เป็นความเชื่อในกุศลธรรม ถ้าจะใช้ในความหมายที่ว่าเป็นความเลื่อมใส ก็ต้องเป็นความเลื่อมใสด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยอกุศลซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หนัก

    ถ. สรุปแล้วที่ผมคิดว่าเป็นศรัทธานั้น ไม่ใช่ เป็นความเชื่อ ไม่ได้ผ่องใส และไม่ได้เป็นกุศล เพราะตอนนั้นยังไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย

    สุ. ไม่เข้าใจอะไร และเชื่ออะไร

    ถ. เชื่อพระธรรม ก็คงจะมีอยู่บ้าง

    สุ. แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของศรัทธามีตั้งแต่น้อยนิดเดียวจนไม่ได้สังเกต จนกระทั่งเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ จนกระทั่งเป็นพละ เป็นสภาพที่มีกำลังไม่หวั่นไหว อกุศลทั้งหลาย เช่น อวิชชา หรือโลภะ หรือโทสะ ก็มีหลายระดับขั้น คือ มีตั้งแต่ขุ่นใจนิดๆ จนกระทั่งเป็นความผูกโกรธ เป็นความพยาบาท เป็นความอาฆาตฉันใด ทางฝ่ายโสภณธรรมก็ฉันนั้น คือ แม้แต่ลักษณะของศรัทธา ก็มีในขณะที่กุศลจิตเกิด จะปราศจากศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย แต่ว่าน้อยจนกระทั่ง ไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้

    ถ. ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ คงจะเป็นศรัทธาน้อยๆ จะว่าเป็นบุญเก่าหรือกรรมเก่า ก็นำมาถูกทางจนได้

    สุ. ขณะใดที่เป็นความเห็นถูกในพระธรรมเพิ่มขึ้น ขณะนั้นจะต้องรู้ว่า เป็นกุศล แต่เวลาที่เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เกือบจะไม่มีเครื่องเปรียบเทียบว่า เป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นศรัทธา เพราะว่าศรัทธาต้องเป็น ความเลื่อมใสในทางที่เป็นกุศล ในกุศลธรรม

    ถ. แต่ในขณะนั้นก็ได้รับทุกๆ อย่าง ทั้งมิจฉาทิฏฐิ ทั้งอะไรๆ และเชื่อว่านำมาถูกทางแล้ว

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องสังเกตอย่างละเอียดจริงๆ ถ้ามีความติดในพระเครื่อง ขณะนั้นเป็นอะไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่อย่างนั้นแยกไม่ได้แน่ๆ ว่า เป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิต

    ถ. ขณะที่ให้ทาน ต้องมีศรัทธาเสมอไปหรือเปล่า

    สุ. กุศลจิตเกิดขณะใด ต้องมีศรัทธาเจตสิกขณะนั้น

    ถ. ถ้าอย่างนั้น การให้ทานอาจจะมีอกุศลจิตก็ได้ บางครั้งให้ด้วยความ จำใจ ไม่ได้ให้ด้วยความรัก

    สุ. จิตเกิดดับเร็ว จะรู้ได้จริงๆ เมื่อสติระลึกในขณะนั้นว่า ให้เพราะอะไร ถ้าให้เพราะหวังการตอบแทน จะเหมือนลักษณะของการแลกเปลี่ยนหรือเปล่า ขณะนั้นจิตผ่องใสไหม หรือหวัง หรือต้องการ แม้ว่ากิริยาอาการภายนอกเป็นการให้ แต่จิตในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

    ถ. อย่างการเสียสละ บางคนเขาก็ว่าไม่ได้ศรัทธา หรือไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาอะไร แต่เขาให้เพราะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ดูแล้ว ไม่น่าจะมีความผ่องใส หรืออะไรเลย ที่จะเป็นลักษณะของศรัทธา

    สุ. กุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีเชื้อชาติ ไม่จำกัดผิวพรรณวรรณะ เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน เมื่อไร สัตว์ดิรัจฉานก็มีกุศลจิตได้เมื่อมีเหตุที่จะให้กุศลจิตเกิด มนุษย์ก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้ ผิวพรรณวรรณะใดก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ศาสนาอื่น ลัทธิอื่น เป็นความเห็น ความเชื่อ ขณะที่โลภมูลจิตเกิดพร้อมกับความคิดเห็นอย่างนั้น ที่ติดพอใจในความเห็นอย่างนั้น คนละขณะกับขณะที่คิดช่วยเหลือหรือเปล่า แม้ว่าความเชื่อนั้นมั่นคง จนกระมั่งเกิดแทรกเข้ามาอีกๆ ได้ แต่ขณะที่จิตซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้นจะไม่มีเลยหรือ เมื่อไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา

    จิตใจที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่จำเป็นต้องมีแต่ศาสนาหนึ่งศาสนาใด จิตใจที่เห็นว่า คนอื่นก็ต้องการมีความสุขเหมือนกับตนเอง และเป็นผู้ที่เมตตาคิดอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้คนอื่นมีความสุข ก็เป็นขณะจิตหนึ่งซึ่งเป็นอนัตตา ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดศาสนาเหมือนกัน ขณะนั้นจิตที่ต้องการช่วยเหลือบุคคลอื่นเป็นจิตที่ ผ่องใสไหม

    ไม่มีอกุศลเกิดในขณะนั้น ย่อมเป็นจิตที่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นจิตของใคร ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเป็นคนอื่น ศาสนาอื่น จะไม่มีศรัทธาเลย เพราะฉะนั้น กุศลจิตเกิดขณะใดที่จะเป็นกุศลได้ก็เพราะศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้น จิตนั้น จึงเป็นกุศลจิตได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๔ ตอนที่ ๑๕๓๑ – ๑๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564