แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556


    ครั้งที่ ๑๕๕๖


    สาระสำคัญ

    สัญญา คือ ความจำเกิดกับจิตทุกดวง (ทั้งกุศลและอกุศล)

    ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต

    ความต่างกันของฝันกับไม่ฝัน

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ขุ.ชา.อินทรียชาดก - ลักษณะของผู้ที่มีสติในชีวิตประจำวัน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๙


    สุ. ทุกท่านที่ตื่นแต่เช้าฟังพระธรรม ถ้าสติไม่เกิดที่จะฟังพระธรรม กุศลจิตก็ไม่มี และไม่ฟังแน่ เพราะบางท่านตื่นมาก็ไม่ฟัง ใช่ไหม ขอให้เปรียบเทียบดูระหว่างท่านที่ตื่นแล้วฟัง กับท่านที่ตื่นแล้วไม่ฟัง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ขณะนั้นคือสตินั่นเองที่ระลึกได้ที่จะฟังพระธรรม

    . พี่หงวนบอกว่า อาจจะเป็นสัญญาก็ได้ ความทรงจำ

    สุ. สัญญา คือ ความจำ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะจำอะไรก็เป็นสัญญาทั้งนั้น ทั้งกุศลและอกุศล แต่สัญญาที่จำที่จะฟังพระธรรม สัญญานั้นต้องเป็นกุศล

    ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวัน แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะไม่ทราบเลยว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสติ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แม้จะได้รู้ว่า ขณะที่ตื่นเพื่อจะฟังพระธรรม กระวีกระวาด ขณะนั้นก็เป็นสติที่จะฟังพระธรรม แต่ก็ยังไม่พอ เพราะขณะนั้นรู้จากการฟังว่าเป็นสติ แต่ลักษณะของสติจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งหรืออีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติจะต้องเจริญขึ้นๆ จากการค่อยๆ อบรมไป ในการเจริญกุศลทุกประการ รวมทั้งการฟังพระธรรมด้วย และเมื่อรู้ว่าในขณะนั้นเป็น สติขั้นฟัง ก็ทำให้เกิดการฟังด้วยสติต่อไป

    เพราะว่าแม้ในขณะที่กำลังฟังนี้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นพิจารณาความละเอียด ก็เพียงแต่ฟังแล้วผ่านไป อย่างบางท่านได้ยินคำว่า นามธรรมและรูปธรรมอยู่เสมอ ขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า เข้าใจอรรถของคำว่านามธรรมและรูปธรรมแค่ไหน และเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกไหม และการเข้าใจในลักษณะที่ว่าเป็นขั้นคิดไตร่ตรองลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ก็ต้องในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลัง ได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะนี้เอง ในขณะที่กำลังคิดนึก ก็อาจจะมีการไตร่ตรองถึงลักษณะของนามธรรม โดยสติคิดถึงเรื่องลักษณะอาการที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกได้ตรงอาการรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏทางตา

    การฟังพระธรรมต้องละเอียดขึ้นๆ บางท่านกล่าวว่า ท่านฟังแล้ว และ ท่านก็คิดว่าท่านเข้าใจแล้ว แต่เมื่อฟังอีก ฟังอีก ก็เพิ่มความเข้าใจอีก และทราบว่า ที่คิดว่าเข้าใจแล้วนั้น ความจริงยังไม่พอ ยังต้องมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ได้ยินได้ฟังโดยสติระลึกศึกษาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของ สภาพธรรมนั้น เพราะว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ประจักษ์แจ้งโดยความขาดจากกันหรือยังว่า รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม

    . เวลานอนหลับสนิท สติเกิดได้ไหม

    สุ. สำหรับคนที่เกิดเป็นมนุษย์และไม่พิการแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตจะเป็น มหาวิบากญาณวิปปยุตต์ หรือญาณสัมปยุตต์ ซึ่งแม้ว่าเป็นวิบากญาณวิปปยุตต์ ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่โดยชาติเป็นวิบาก สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วย มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งโดยชาติก็เป็นวิบากเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และ ในขณะนั้นไม่ได้ฝัน แต่ขณะที่ฝัน ก็แล้วแต่ว่าจะฝันด้วยกุศลจิต หรือฝันด้วยอกุศลจิต

    ความฝันก็มีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ใช่ไหม ถ้าฝันแล้วตกใจกลัว ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่ฝัน แต่ถ้าฝันแล้วจิตใจผ่องใสเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ความต่างกันของสิ่งที่เราเรียกว่าฝัน หรือไม่ฝัน คือ ธรรมดาของภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่สำหรับวิถีจิต คือ ขณะที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ก็มีภวังคจิตคั่นแต่ละวาระ ที่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด เช่น ในขณะนี้ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น ก่อนที่จะมีวิถีจิตทางหูที่ได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของฝันกับไม่ฝัน คือ ในขณะนี้ที่ภวังคจิตเกิด แต่ ก็มีอารมณ์จริงๆ กระทบทางตา กระทบทางหู กระทบใจที่ทำให้ทางมโนทวารเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะที่ฝัน ซึ่งเป็นเพราะการสะสมของสิ่งที่เคยเห็นบ้าง เคยได้ยินบ้าง เป็นสุข เป็นทุกข์กับสิ่งที่เคยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทำให้อารมณ์นั้นกระทบกับมโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ และมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นนึกถึง เรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นความฝัน แต่เป็นช่วงระยะที่ต้องสั้นมาก

    และในขณะที่ฝัน จะมีภวังคจิตเกิดคั่นกับวิถีจิต โดยที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบ แต่ในขณะที่ไม่ฝัน จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบ เพราะฉะนั้น เวลาตื่นขึ้นก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความฝัน เพราะว่าไม่ใช่มี รูปกระทบตาจริงๆ ไม่ใช่มีเสียงกระทบหูจริงๆ ไม่ใช่มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ กระทบจริงๆ

    . เป็นกุศลหรืออกุศล

    สุ. ถ้าเป็นกุศลจิต ต้องมีสติเจเกิดร่วมด้วย

    . ที่ว่าเป็นบุญ เป็นบาป

    สุ. ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะคำว่าอกุศลกรรมบถก็ดี กุศลกรรมบถก็ดี คำว่า ปถ แปลว่า ทาง เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลนั้นถึงความเป็นทางที่จะไปสู่ คติหนึ่งคติใด หรือทำให้วิบากจิตเกิด จึงจะครบองค์ แต่ในขณะที่ฝันนั้นไม่ครบองค์ จึงเป็นแค่อกุศลจิต หรือกุศลจิต

    . ตอนนอนหลับสนิท สติเกิดได้ไหม

    สุ. ตอนหลับสนิทไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ ถ้าขณะนั้นเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ก็ดี หรือ มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ก็ดี ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นชาติวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลซึ่งไม่พิการแต่กำเนิด หรือทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดในขณะที่กำลังเป็นวิบาก เป็นพื้นฐานของจิตที่จะทำให้ปัญญาสามารถเจริญเติบโตขึ้น เมื่อได้มีโอกาส อบรมเจริญต่อๆ ไป

    สติเกิดกับโสภณจิต แม้วิบากจิตซึ่งเป็นโสภณ เป็นมหาวิบากจิต ก็ เป็นกามาวจรโสภณจิต แต่โดยชาติ สติเป็นชาติวิบาก สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึก เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นแม้โดยสภาพที่เป็นวิบาก ก็ระลึกในอารมณ์ของมหาวิบากนั่นเอง

    . ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ก็บรรทมหลับ แต่หลับด้วยสติ ก็โดยนัยนี้ ใช่ไหม

    สุ. หมายความถึงพร้อมที่จะลุกขึ้นด้วยสัมปชัญญะ ไม่เหมือนกับคนที่หลงลืมสติตื่น หลงลืมสติหลับ เพราะฉะนั้น อายตนะมีโทษมาก เมื่อไม่รู้ แต่ มีประโยชน์มาก เมื่อสติเกิด

    ต่อไปนี้ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็คงจะสังเกตลักษณะสภาพของสติที่ระลึกเป็นไปในกุศลในขณะนั้นๆ ได้ ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมทำอย่างนี้ เช่น เดินไป หยิบหนังสือพระไตรปิฎกมาอ่าน แต่ที่แท้ไม่ใช่ใครเลย เป็นสติทั้งนั้นที่เกิดขึ้นระลึก จึงทำให้การกระทำทางกายเป็นไปในทางกุศล

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในการช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำกิจในพระธรรมโดยการศึกษา โดยการอ่าน โดยการสนทนา โดยการเกื้อกูลบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นสติทั้งนั้น เพราะถ้าสติไม่เกิด การกระทำ อย่างนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้

    การศึกษาพระธรรม ถ้าพิจารณาแต่ละพยัญชนะโดยละเอียดจริงๆ ไม่ข้าม จะทำให้การอบรมเจริญปัญญาเป็นไปโดยถูกต้อง ไม่ผิดเลย

    มีท่านที่ถามว่า สติเกิดเมื่อไร สติมีลักษณะอย่างไร และสติระลึกรู้อะไร เวลากระทบแข็งซึ่งเคยผ่านไปๆ โดยไม่ได้สังเกต แต่ขณะใดก็ตามที่แข็ง และสังเกต พิจารณา ศึกษาลักษณะของแข็งในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง ในขณะนั้น คือ สติที่ระลึกได้ ที่จะไม่ให้แข็งผ่านไปๆ ทั้งวันๆ ซึ่งจับนั่นกระทบนี่อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าตื่นมาหยิบอะไรบ้าง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แข็งแล้ว ใช่ไหม แต่สติไม่ได้เกิด แต่เวลาที่สติเกิด คือ ในขณะที่กระทบสัมผัส และระลึกศึกษาลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏทางกายบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง นั่นคือขณะที่สติเกิดตามปกติ

    การศึกษาธรรมต้องพิจารณาให้ละเอียด และสอดคล้องตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว รูปใดที่เกิดปรากฏ และสติไม่ระลึก รูปนั้นก็ดับไปแล้ว

    . สติปัฏฐาน คำว่า ปัฏฐาน หมายความว่าอะไร

    สุ. ที่ตั้ง สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติที่สติระลึก สติกำลังระลึกที่ ลักษณะใด ลักษณะนั้นก็เป็นปัฏฐาน คือ ที่ตั้งที่สติระลึกในขณะนั้น เพราะว่า สติเป็นสภาพที่ระลึก

    ในวันหนึ่งๆ สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะหวังอยากจะมีสติมากๆ หรือมีสตินานๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดถึงเหตุผลตามความเป็นจริงว่า เคยสะสมอวิชชา ความไม่รู้และความหลงลืมสติมามาก เพียงแต่ให้ทราบว่า เมื่อมีปัจจัยให้สติเกิด ขณะใด สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้นเอง เพราะว่าสิ่งที่สติระลึกก็ดับ และสติก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกใหม่ จะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใด และก็ดับไปทั้งรูปธรรมและนามธรรมในขณะนั้น

    นี่ก็จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และรู้ตามความเป็นจริงว่า สติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะมีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดหรือไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ แต่แม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่เกิด สติในการฟังพระธรรมก็เกิด เมื่อมีสติในการฟังพระธรรม ในการพิจารณาพระธรรม ก็เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดในขณะใด ก็เป็นสติปัฏฐานในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็มีสติหลายขั้นในชีวิตประจำวัน

    ขุททกนิกาย อัฏฐกนิบาตชาดก อินทริยชาดก ข้อ ๑๑๗๕ กล่าวถึงลักษณะของผู้ที่มีสติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำว่า เป็นผู้มีสติ แต่ ไม่ว่าชีวิตของใครในวันไหนจะเป็นอย่างไร ผู้ที่เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว สติปัฏฐานย่อมเกิดบ้างในวันหนึ่งๆ

    ข้อความใน อินทริยชาดก ข้อ ๑๑๗๕ มีว่า

    ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือน ดีชั้นหนึ่ง การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้นสอง เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่

    เป็นเรื่องของสติทั้งหมด ในชีวิตประจำวันจริงๆ

    บางคนอาจจะเป็นคฤหบดีผู้ครองเรือนผู้ขยัน แต่ไม่ได้เจริญสติก็มี และผู้ขยัน ผู้เป็นคฤหบดีผู้ครองเรือนและเจริญสติปัฏฐานด้วยก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า สติปัฏฐานจะแยกจากชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่า เรื่องของการอบรมเจริญกุศลนั้น จะเจริญขึ้นในทุกๆ ด้าน แม้แต่ในเรื่องของความขยัน ในทางโลกยังไม่ขยัน แต่ในทางธรรมจะขยันบ้างไหม หรือบางท่านอาจจะเป็นผู้ที่ขยันมากในทางธรรม แต่ไม่ขยันเท่าไรในทางโลกก็เป็นไปได้ ซึ่งต้องแล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ แต่จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงให้ผู้ที่เป็นพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นผู้ที่ไม่กระทำกิจการงานใดๆ เพราะว่าแม้ชีวิตของบรรพชิตจะละอาคารบ้านเรือน จะสละหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คับแคบ ทำให้ไม่สะดวกในการเจริญกุศล เช่น บรรพชิตไม่ต้องบริโภคอาหารในเวลาวิกาล นี่ก็เป็นความสะดวกสบายอย่างมากแล้ว ใช่ไหม แต่บรรพชิตก็ยังต้องเป็นผู้ที่ขยันในการดูแลสถานที่อยู่ ในเรื่องของจีวร หรือในเรื่องของการต้อนรับอาคันตุกะ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ การเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยความขยันในทางที่ถูกต้อง และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดีชั้นหนึ่ง

    การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภค ด้วยตนเอง ดีชั้นสอง

    นี่ก็ต้องเป็นสติที่ระลึกได้ ใช่ไหม ที่จะมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ละคลายความ เห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตนลงได้ โดยการที่ แบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง

    เรื่องของพระศาสนาก็เป็นเรื่องที่เช่นเดียวกับสมณพราหมณ์ เพราะว่า สมณพราหมณ์ก็กระทำกิจของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้ที่แบ่งปันโภคทรัพย์ ในการทะนุบำรุงพระศาสนาแล้วบริโภคด้วยตนเอง นี่ก็เป็นดีชั้นสอง สติต้องเกิด ใช่ไหม มิฉะนั้นกุศลก็เกิดไม่ได้

    เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม

    ต้องเจริญขึ้นอีก เวลาที่ได้ลาภ ได้ทรัพย์สมบัติ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ หรือเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม จนกระทั่งสามารถเข้าใจความไม่แน่นอน ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทุกอย่าง แม้แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ละขณะก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพียงวันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรก็ย่อมเป็นได้ตามเหตุตามปัจจัย เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา แสดงว่า ต้องเป็นลักษณะของสติ

    เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่

    ก็เป็นตัวของท่านเองที่จะพิจารณา เพราะว่าชีวิตในแต่ละวัน ทั้งชีวิตของ ท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ย่อมมีทั้งในขณะที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง และบางครั้งอาจจะทุกข์จนกระทั่งยากต่อการพิจารณาได้ว่าจะทำอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่มีสติ เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ เพราะทุกอย่าง ทุกขณะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นไปตามกรรมซึ่งแต่ละคนสะสมมา ไม่ว่าจะเป็นขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่ กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564