แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557


    ครั้งที่ ๑๕๕๗


    สาระสำคัญ

    มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง - สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ขุ.ชา. มิตตามิตตชาดก - สติเกิดระลึกเป็นไปในเรื่องของมิตร (ผู้ที่เป็นมิตรและไม่ใช่มิตร)

    เจริญเมตตาในชีวิตประจำวัน (จิตขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นเพื่อน)

    องฺ. อวิชชาสูตร - สุจริต ๓ เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๙


    หลายท่านได้อ่านพระไตรปิฎก ซาบซึ้งในคำสุภาษิต ในพระพุทธพจน์ แต่ ต้องไม่ลืมว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญตามต่อไปอีกจนกว่าจะถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้เป็นเครื่องเกื้อกูล เป็นเครื่องส่องทางให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่สามารถจะดับกิเลสได้นอกจากปัญญา และปัญญาก็มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังเรื่องของผู้ที่สติเกิดและสามารถเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเป็นบรรพชิตผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ตาม ก็จะต้องเริ่มจากการฟังและซาบซึ้งในเหตุในผลของพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาตามไปจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสได้

    ผู้ที่เป็นปุถุชนมีโลภะทุกคน ซึ่งบางท่านก็เจริญสติ บางท่านก็ไม่เจริญสติ ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอะไรกับโลภะเลย เพียงแต่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพราะขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่า จะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ตาม ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทาง สายกลาง เพราะว่าไม่มีการหันไปสู่อารมณ์อื่น หรือต้องการอารมณ์อื่นที่ยังมาไม่ถึง ไม่มีอภิชฌาที่ต้องการอารมณ์อื่น และไม่มีโทมนัสในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สติจะเกิดพิจารณาความถูกต้องและความจริงของสภาพธรรมแม้ในทางโลกอย่างไรบ้าง เพราะว่าทุกคนยังอยู่ในโลก ยังพ้นโลกไปไม่ได้เลย ยังมีเพื่อนสนิทมิตรสหาย ยังมีการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ แต่ว่าจิตที่ระลึกเป็นไปแต่ละขณะในขณะที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลอื่น หรือว่าพิจารณาความถูกต้องความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นอย่างไร

    แม้แต่ในเรื่องของเพื่อน พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงข้อความที่ทำให้ทุกท่านได้พิจารณาว่า สติเกิดระลึกเป็นไปในเรื่องของมิตรสหายในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ซึ่งใน ขุททกนิกาย ทวาทสนิบาตชาดก มิตตามิตตชาดก ข้อ ๑๗๑๓ – ๑๗๒๔ มีข้อความว่า

    บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็น และได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร

    เรื่องของมิตรเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าการคบสมาคมกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดอาจจะนำความเจริญอย่างมากมาให้ หรืออาจจะนำความเสื่อมอย่างมากมาให้ ซึ่งความเสื่อมอย่างมาก คือ ความเสื่อมโดยเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติในธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลผู้มิใช่มิตร เห็นเพื่อนๆ แล้วไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่แลดูเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน

    เพียงแค่นี้ก็เตือนสติได้แล้ว ใช่ไหม ถ้าขณะใดที่นึกย้อน หรือพูดย้อนเพียง นิดเดียว ขณะนั้นไม่ใช่เพื่อน เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเป็นเพื่อนของใคร หรือใครจะเป็นเพื่อนกับใคร ก็สามารถพิจารณาสภาพของจิตในขณะนั้นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของผู้ที่เป็นมิตร และผู้ที่ไม่ใช่มิตรนั้น ต่างกันอย่างไร

    บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีท่านพระเทวทัต และยังมีพระภิกษุซึ่งมีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิดอีกหลายท่าน

    บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน

    เป็นเรื่องสติหรือเปล่า เป็นชีวิตจริงๆ ที่จะรู้ว่าสติเกิดในขณะใด และสติไม่เกิดในขณะใด บางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลยที่จะกล่าวถึง เพราะว่าทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดอกุศลจิต ก็ไม่พูดจะดีกว่า หรือในเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็พูด หมายความว่าต้องพิจารณาก่อน ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติ เพราะฉะนั้น แม้ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล

    บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง

    บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน

    เพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของใคร ในขณะนั้น สติควรจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตได้แล้ว แต่ถ้าสติไม่เกิด ขอให้พิจารณาจิต ในขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่า สติเกิดหรือไม่เกิดในขณะใด เพราะไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของบุคคลใด ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และถ้า ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ก็เป็น อกุศลจิต รวมทั้ง ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง

    บัณฑิตได้เห็น และได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร

    วิธีที่จะทราบว่า ท่านเป็นมิตรของใคร และไม่ใช่มิตรของใคร ก็คงพอที่จะรู้ได้จากจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

    บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังบุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร

    บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อน ผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ

    คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน

    ถ้าท่านผู้ฟังอยากจะเจริญแต่เมตตา อยากจะมีเมตตามากๆ แต่เวลาที่ พูดถึงเพื่อน เกี่ยวข้องกับเรื่องเมตตาหรือเปล่า เพราะว่าเมตตาคือความเป็นมิตร อย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านคิดว่าท่านจะเจริญเมตตาโดยขาดการพิจารณาบุคคลที่เป็นเพื่อนของท่านในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การเป็นเพื่อนของท่านต่อบุคคลอื่นจริงๆ

    ถ้าท่านเป็นเพื่อนแท้ของบุคคลใด ก็แสดงว่า ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อบุคคลนั้น และก็รู้ได้ว่าถ้าหวังร้ายต่อใคร หรือว่ายินดีในความพินาศของใครในขณะใด ขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญเมตตา ไม่ต้องไปแผ่ไปให้ไกลมาก เพียงแต่ผู้ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย และ ท่านเกิดความไม่พอใจในความเจริญของบุคคลนั้น หรือว่ายินดีในความพินาศของบุคคลนั้น ก็ชื่อว่าท่านไม่ได้เจริญเมตตาในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะส่องไปถึงสภาพของธรรม แม้แต่ส่วนที่ท่านคิดว่าท่านต้องการเจริญ เช่น เมตตา แต่ถ้าท่านไม่อยากจะฟังเรื่องของเพื่อน ท่านจะรู้จักตัวของท่านได้อย่างไรว่า มีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่มิตร ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญ การงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน

    คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยมาย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง

    บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าเป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร

    จบ มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐

    ไม่เคยคิดที่จะนับ ๑๖ ประการเพื่อที่จะทดสอบความเป็นเพื่อน ใช่ไหม ก็ไม่จำเป็น แต่เวลามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือระลึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็พิจารณาจิตว่า ในขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นมิตร ด้วยความเมตตาหรือไม่ หรือว่าต่อไปนี้จะต้องรีบไปบอกความลับให้เพื่อนทราบหมดทุกอย่าง นั่นก็ ไม่ถูกอีก คือ เรื่องของสติ ต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในทางที่สมควร เพราะข้อความในชาดกตอนหนึ่งมีว่า

    ไม่ควรให้มิตรโง่รู้ความลับ

    อะไรก็ตามที่จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตเจริญมากมาย จากบุคคลหนึ่งสู่อีก บุคคลหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งต่อๆ ไปอีกบุคคลหนึ่ง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่จำเป็น ส่วนในเรื่องของความลับที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเพื่อนหรือไม่ คือ เมื่อสามารถ ที่จะเกื้อกูลได้ ช่วยเหลือได้ ก็ควรที่จะบอก แต่ไม่ใช่บอกให้บุคคลอื่นเกิดความ เป็นห่วง ความทุกข์ร้อน หรือว่าความกังวลใจ

    เป็นเรื่องของสติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านจะพูด หรือจะทำอะไร แม้แต่ในเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นความลับ ก็ต้องมีสติที่จะรู้ว่าบอกเพื่ออะไร และไม่บอกเพื่ออะไร

    สำหรับท่านที่เห็นประโยชน์ของสติ และรู้ว่าสติที่เจริญสมบูรณ์ถึงขั้น สติปัฏฐานสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่ใช่ว่า สติปัฏฐานจะเกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้เข้าใจว่า อะไรเป็นอาหารของสติ เพราะว่าทุกอย่างที่จะเจริญขึ้น จะต้องมีอาหาร ซึ่งข้อความบางตอนใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ตัณหาสูตร มีว่า

    ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

    เพื่อที่จะไม่ให้ขาดสติและประพฤติทุจริต เพราะถ้ากิเลสยังมีกำลังแรง เป็นผู้ที่กระทำทุจริตอยู่เสมอ และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะ สติปัฏฐานเป็นสติขั้นที่สูงกว่าสติทั่วๆ ไป

    ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย (คือ การพิจารณาโดย แยบคาย) ก็อะไรเป็นอาหารของการพิจารณาโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของ การฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยัง การฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ย่อมยังการพิจารณาโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การพิจารณาโดยแยบคายที่บริบูรณ์ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ ที่บริบูรณ์ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ

    ต้องค่อยๆ เจริญไป อบรมไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆ สังเกต รู้ลักษณะของสติในขณะที่กุศลจิตเกิด

    วันนี้ทุกคนคงจะแปลกใจที่จะได้พบคุณอัลลัน ไดร์เวอร์ (Allan Driver) เพราะดิฉันทราบว่า แต่ละคนที่มีความรู้ความเข้าใจในธรรมด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติของตนเอง ย่อมจะพูดจากความรู้ความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งคำพูดของแต่ละท่าน มีประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณศุกล คุณธนิต หรือใครก็ตามแต่ที่ได้ศึกษาแล้ว ได้เข้าใจแล้ว คำที่พูดและการช่วยอธิบายให้คนอื่นฟัง ก็จะเหมาะแก่จริตอัธยาศัยของ อีกหลายๆ ท่าน ซึ่งแต่ละคนก็แต่ละแบบ แต่ว่าธรรมทั้งหมดมีประโยชน์ ไม่ว่าจะ จากใครหรือแบบไหน

    ควรจะเป็นโอกาสดีที่สุด ที่จะได้ฟังความคิด ความเห็น ความเข้าใจของ ท่านผู้อื่น ซึ่งก็คือธรรมที่แต่ละท่านมีวิธีที่จะอธิบายและช่วยให้คนอื่นเข้าใจ เท่าที่ดิฉันได้รับฟังมา ดิฉันชื่นชมและอนุโมทนาในความคิดความเข้าใจของทุกท่านที่ได้ช่วยเหลือบุคคลอื่น อย่างเช่น คุณธนิต คุณศุกล เป็นต้น รวมทั้งคุณอัลลันด้วย

    ขอเชิญคุณอัลลันช่วยตอบด้วย

    อ. รู้สึกว่า คนที่มาวันนี้ หลายคนหวังที่จะได้ยินอาจารย์พูด ถ้าผู้ใดต้องการถามอาจารย์ อาจารย์ก็ตอบ ถ้าถามผม ผมก็ตอบ จะดีกว่า

    . เวลาเรารับประทานอาหารไปคำแรกแล้ว กลืนอาหารลงไปแล้ว ไม่มีสติระลึกได้ เมื่อกลืนลงไปแล้วจึงระลึกได้ว่า เมื่อกี้ลืมระลึกรสอาหาร ก็มาตั้งต้นว่า อาหารคำที่สองนี้ เราจะระลึกที่รส อย่างนี้เป็นสติไหม

    อ. ผมไม่ค่อยเข้าใจ คือ ตอนที่กินอาหาร ตอนนั้นก็คงยังเห็นอยู่ ใช่ไหม สียังปรากฏอยู่ตอนที่กินข้าว ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าสีหายไปหมด กำลังเห็นอยู่ตอนที่กินข้าว และบางทีอาจจะมีเสียงปรากฏทางหูบ้าง อาจจะมีความคิดต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าทำไมจึงจำเป็นต้องรู้รสในขณะนั้น คิดว่ารู้อะไรที่กำลังปรากฏก็ดีแล้ว บางทีอาจจะรู้ทางตาก็ได้ตอนที่กำลังกินข้าว ผมไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ตรงที่รส

    อะไรก็ได้ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีอย่างอื่นที่เกิดขึ้นและดับไปตอนนั้นที่สามารถจะรู้ได้ ถ้าคิดว่าควรจะรู้รูปนี้หรือ นามนั้นในขณะนี้หรือขณะนั้น รู้สึกว่าจะไขว้เขวไปแล้ว เพราะแทนที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ไปตั้งใจที่จะระลึกตรงนี้ ตรงนั้น คิดว่าการตั้งใจที่จะระลึก จะทำให้ไขว้เขวได้ง่าย

    คิดว่าก็ต้องรู้ทางลิ้นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว โดยที่ไม่ต้องตั้งใจว่าจะรู้ในขณะนี้ ขณะนั้น คิดว่าจะค่อยๆ รู้ได้เอง ถ้าระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทางไหน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สำคัญ ไม่ทราบว่าคุณคิดอย่างไร

    . เข้าใจว่า สติที่จะให้เกิดนี้ คงไม่ต้องตั้งใจให้เกิด

    อ. ถึงจะตั้งใจสักเท่าไรก็ไม่ช่วย เพราะเหตุปัจจัยที่จะทำให้สติเกิด ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะให้เกิด คือ ต้องอาศัยความเข้าใจมากกว่าว่าสติคืออะไร ไม่มีสติเป็นอย่างไร มีสติเป็นอย่างไร นามและรูปมีลักษณะอย่างไร การเจริญสติมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ด่วนสักแค่ไหน นี่เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่การตั้งใจที่จะให้สติเกิดขึ้น รู้ประโยชน์ดีกว่า รู้ประโยชน์ของสติจะเป็นสิ่งที่ทำให้สติเกิดขึ้นได้ รู้ประโยชน์กับตั้งใจ ไม่เหมือนกัน

    . ขณะที่เราเห็นบุคคลอื่นซึ่งได้รับความทุกข์ อย่างเช่น เขาอาจจะเจ็บทางกาย เช่น เป็นแผลที่น่ากลัว รู้สึกสงสารหรือเวทนาเขา เรามีความรู้สึกเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งก็สงสารเขา สติที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการคิดนึกถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า เวทนา ขอให้ช่วยอธิบายคำว่า เวทนาด้วย ในเรื่องของการเจริญสติ คือ หมายถึงว่าขณะที่เราเห็นบุคคลอื่นได้รับความทุกข์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ และเราคิดนึกขึ้นมาในขณะนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564