แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511


    ครั้งที่ ๑๕๑๑


    สาระสำคัญ

    สมบัติ คือ จักร ๔

    ถึงพระธรรมเป็นสรณะ (การปฏิบัติตามพระธรรม)

    ความสงบ คือ กุศลจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๙


    การอบรมเจริญปัญญาให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยสมบัติ คือ จักร ๔

    ชื่อว่าจักร คือ สมบัติ มี ๔ คือ

    ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร คือ ประเทศที่มีพุทธบริษัท

    สัปปุริสูปนิสสโย อาศัยสัตบุรุษ ได้แก่ พึงเสพคบสัปบุรุษ มีพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

    อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งต้นไว้ชอบ คือ ถ้าแต่ก่อนเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ก็ละความไม่มีศรัทธาเป็นต้นนั้น แล้วตั้งอยู่ในศรัทธาเป็นต้น

    นี่คือ การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเคยเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีสติ ไม่มีวิริยะ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ณ บัดนี้ เมื่อตั้งต้นไว้ชอบ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีสติ มีวิริยะ มีสติ มีปัญญา

    นอกจากนั้น ประการที่ ๔ คือ

    ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญทำไว้ในกาลก่อน ได้แก่ การเป็นผู้สะสมกุศลไว้ในกาลก่อน

    จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นผู้ได้เคยสะสมกุศลไว้ในกาลก่อน และเป็นกุศลประเภทไหน ก็ต้องเป็นกุศลกรรมที่ทำด้วยกุศลจิตญาณสัมปยุตต์ จึงทำให้อยู่ในประเทศที่สมควร คบสัตบุรุษ และตั้งตนไว้ชอบ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เรื่องของความเห็น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถ บังคับบัญชาได้ แต่ละท่านย่อมมีความเห็นตามที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นพระธรรมที่สมบูรณ์ครบถ้วนด้วยเหตุด้วยผล แต่บางท่านอาจจะไม่พิจารณาโดย แยบคาย ทำให้การประพฤติปฏิบัติไม่ตรงตามพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    การที่จะรู้ว่าเป็นผู้ที่ทำบุญไว้ในกาลก่อนคือกุศลกรรมทำด้วยกุศลจิต ญาณสัมปยุตต์หรือไม่ ก็โดยความแยบคายในการฟังพระธรรม ถ้าฟังและพิจารณาด้วยความแยบคายตรงตามเหตุผลจริงๆ ทำให้สามารถตั้งตนไว้ชอบ ก็รู้ได้ว่า เป็นผู้ที่มีบุญที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ที่แล้วแต่ว่าใครสะสมบุญกุศลมาพอหรือไม่ในการพิจารณาธรรม เพราะในเรื่องของการพิจารณานั้น ถ้าพิจารณาโดยไม่แยบคาย แม้กุศลจิตก็ไม่เกิด ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องของวิปัสสนา

    และถ้าไม่ฟังพระธรรม จะไม่มีการประพฤติปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก ซึ่งไม่ใช่การชวนกันไปนั่งและปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของปัญญา ไม่เข้าใจเรื่องของกุศลธรรม

    ดิฉันขอเรียนให้ทราบเรื่องส่วนตัว ดิฉันมีน้องสาวคนหนึ่งที่กำลังฟังพระธรรม ทั้งเช้าทั้งค่ำ แต่ดิฉันไม่ได้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมในขั้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าปกติน้องสาวเป็นผู้ที่มีจิตใจดี สะสมมาในเรื่องของความเมตตากรุณา มีความกรุณาต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างมาก เพราะฉะนั้น สำหรับน้องผู้นี้เมื่อเริ่ม ฟังพระธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ไม่ได้ฟังมาก่อน เป็นการเริ่มอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ยังไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมอะไร ยังไม่ต้องชักชวน ให้ปฏิบัติ เพียงแต่ฟังให้เข้าใจก่อน จนกว่าจะเริ่มเข้าใจสภาพธรรม และเริ่มเห็นโทษของกิเลสละเอียดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม และสังเกต พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้นไปเรื่อยๆ นั่นคือ การปฏิบัติธรรม

    ไม่ใช่รีบร้อนชักชวนใครให้ปฏิบัติธรรม โดยที่ศรัทธาขั้นนั้นยังไม่เกิด หรือความเข้าใจขั้นที่จะเห็นโทษของกิเลสอย่างละเอียดยังไม่เกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟัง และ เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นโทษของกิเลสอย่างละเอียด และเมื่อมีปัจจัยสติปัฏฐานก็เกิด เพราะมีความเข้าใจขั้นสติปัฏฐานแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติธรรมอบรมเจริญปัญญา อีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การชวนกันปฏิบัติธรรมโดยไม่เข้าใจอะไรเลย

    ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และใคร่ที่จะเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามที่สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่ต้องไป นั่งชั่วขณะและลืมว่าชีวิตประจำวันเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าชีวิตประจำวันของทุกท่าน มีความรักตัวเป็นที่สุด แต่ในการรักตัวเองได้มีการกระทำความดีหรือกระทำประโยชน์ให้คนอื่นบ้างหรือเปล่า แม้ไม่ใช่ขั้นสละวัตถุสมบัติ เพียงแต่กุศลจิตเกิด ตั้งตนไว้ชอบ คิดที่จะให้อภัยคนอื่น เป็นเพียงอภัยทานเท่านั้น มีได้ไหม นี่คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่รีบร้อนชวนกันไปปฏิบัติธรรม นั่งเฉยๆ

    ชีวิตประจำวัน ทุกขณะปฏิบัติธรรมได้ ตั้งแต่ขั้นของทาน แม้ว่าไม่ใช่โดย การสละวัตถุ เพียงแต่มีความขุ่นใจเคืองใจในบุคคลอื่น และตั้งตนไว้ชอบ เห็นว่า เป็นอกุศล เป็นโทษ เพราะฉะนั้น เกิดอภัยทานขณะใด ขณะนั้นเป็นการถึงพระธรรมเป็นสรณะ เป็นการปฏิบัติตามพระธรรม

    ถ้าทุกท่านพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ จิตสงบบ้างไหม คนที่ชวนกันไปปฏิบัติ หรือชวนกันไปนั่งปฏิบัติก็จะตอบว่า ไม่สงบ เพราะไม่ได้นั่งจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย คือ ต้องพิจารณาว่า ที่คิดอย่างนั้นถูกหรือผิด ถ้ายังไม่พิจารณาแม้ในขั้นนี้จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะว่า ความสงบไม่ได้อยู่ที่นั่ง แต่ความสงบ คือ กุศลจิตเกิดขณะใดขณะนั้นเป็นจิตใจที่ ดีงาม สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดที่แม้ไม่นั่ง แต่เวลาที่เห็นใครแล้วมี จิตใจเมตตา มีความกรุณา พร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้นแม้ในกิจที่เล็กน้อยที่สุด ขณะนั้นจึงเป็นจิตที่สงบจากอกุศล

    ถ้าชีวิตประจำวันไม่เป็นอย่างนี้ แต่จะไปนั่งปฏิบัติธรรม ก็เป็นความไม่เข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม

    ความสงบ คือ กุศลจิต ย่อมเกิดได้มีได้ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด และต้องเป็นผู้ที่สังเกตกายวาจาของตนเองด้วยว่า ขณะใดที่มีการอ่อนน้อม หรือช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบ ขณะใดที่วาจาไม่ได้กล่าวคำถากถาง ดูหมิ่น เยาะเย้ย หรือกระทบกระเทียบแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ถ้าละเว้นคำที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ หรือแม้แต่เพียงได้ยินก็จะรู้สึก ไม่สบายหู หรือบางคนอาจจะใช้คำว่า รำคาญหูก็ได้ เพราะว่าบางคนอาจสะสมมาจนชินที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้เห็น แม้แต่เสื้อผ้า ผม การแต่งตัว หรือการขับรถยนต์ของคนอื่น ขณะนั้นสงบหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น สังเกตได้จากกาย จากวาจา และใจของตนเอง คนที่คิดถึง คนอื่น และติเตียนแม้เพียงในใจที่ไม่ชอบ ขณะนั้นก็ไม่สงบ แต่ถ้าคิดด้วยความเมตตา และเห็นใจในความผิดในความบกพร่องของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นความสงบ เป็นกุศลจิต

    ถ้ากาย วาจา ใจในชีวิตประจำวันไม่ประพฤติปฏิบัติในทางธรรมอย่างนี้ จะ ไปนั่งทำไม นี่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้ถูกต้อง และก่อนอื่นจะต้องพิจารณาว่า คิดที่จะละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด และการปฏิบัติผิดในชีวิตประจำวันหรือยัง ถ้ายัง ไม่คิด ก็อย่าไปนั่ง แต่ถ้าคิด กุศลจิตย่อมเกิดได้โดยไม่ต้องนั่ง เพราะไม่ว่าขณะใด ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน กุศลจิตเกิดได้

    ถ. เมื่อสองวันนี้ผมมีความสงบเกิดขึ้น คือ ผมไปเสียภาษีป้ายตอนใกล้ๆ เที่ยง เมื่อเสียภาษีแล้วต้องทำธุระอย่างอื่นด้วย ก็คิดว้าวุ่น คิดโน่นคิดนี่ ทำไม ใจเป็นอย่างนี้ คิดถึงธรรม และจอดรถ ใจก็ยังว้าวุ่นคิดว่าจะทันไหม ต้องทำโน่นทำนี่ และก็เหลือบไปเห็นป้ายที่ร้านขายหนังสือธรรมร้านหนึ่งมีข้อความว่า ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น สงบทันทีเลย ที่กังวลว่าจะต้องทำหลายอย่างหยุดทันที รู้สึกว่าสงบ อย่างนี้เป็นความสงบ ใช่ไหม

    สุ. คนอื่นตอบให้ไม่ได้ แต่ขณะนั้นจะทราบว่า ท่านผู้ฟังเองเป็นผู้รู้ความต่างกันว่า จิตที่ไม่สงบเป็นไปอย่างไร และเวลาที่สามารถละความไม่สงบนั้นได้ จิตต่างกันอย่างไร ซึ่งคนอื่นไม่สามารถรู้ได้ แต่ผู้ที่ขณะนั้นละความไม่สงบได้ย่อมรู้ว่าขณะที่เป็นกุศลที่สงบ ต่างกับขณะที่ไม่สงบ

    ถ. การเห็นข้อความอย่างนี้ เท่ากับเราไปนึกถึงความตาย เป็นมรณานุสสติด้วยไหม

    สุ. ไม่ต้องใช้ชื่อ ดีไหม คือ ความสงบเกิดขึ้นโดยอาศัยระลึกอย่างไร นั่นเป็นอนุสสติ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ

    ถ้ามีคนถามว่า วันนี้สงบไหม ตอบได้แล้ว ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งและ ตอบว่านั่งแล้วสงบ แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ เพราะความสงบ คือ กุศลจิต นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้สติเกิดระลึกได้ในสภาพจิตของตนเอง เพราะไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการกระทำบุญกุศล เช่น ทานกุศล ก็สามารถรู้ได้ว่า กุศลจิตเกิดมากน้อยอย่างไร มีความหวั่นไหว หรือความขุ่นเคืองมากน้อยเท่าไร ถึงแม้จะมีวัตถุทาน ที่เลิศแต่จิตในขณะนั้นไม่ผ่องใส หรือมีอกุศลเกิดแทรกคั่นมาก ก็จะรู้ได้ว่า แม้ วัตถุทานเลิศ แต่กุศลจิตก็น้อย หรือบางครั้งวัตถุทานไม่เลิศ แต่กุศลจิตผ่องใส เต็มเปี่ยมเอิบอิ่มในกุศลนั้น ก็รู้ได้ว่า แม้วัตถุทานไม่เลิศ กุศลจิตก็มากหรือประณีตได้

    เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเรื่องของวัตถุ ไม่เป็นเรื่องอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น นอกจาก เป็นเรื่องสภาพของจิตที่เป็นกุศล จึงสงบ ซึ่งการที่จะเห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย นอกจากเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะค่อยๆ รู้สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถเห็นภัยและเห็นโทษของภพของขันธ์ ท่านจะต้องมีความเห็นว่า ภพทั้ง ๓ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดในที่ไหนทั้งสิ้น ปรากฏ ดุจหลุมถ่านเพลิงที่เต็มด้วยถ่านเพลิงไม่มีเปลว นี่คือปัญญาที่ได้อบรมแล้ว แต่ ถ้ายังไม่อบรม ไม่เดือดร้อนเลยกับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึกซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องอบรมเจริญ จนประจักษ์การเกิดดับ และเห็นว่าการเกิดในที่ไหนๆ ทั้งสิ้น ดุจหลุมถ่านเพลิงที่ เต็มด้วยถ่านเพลิงไม่มีเปลว

    มหาภูตรูป ๔ ปรากฏดุจอสรพิษที่มีพิษร้าย เพราะให้โทษอย่างเดียว จะต้องมีการบริหารบำรุงรักษาทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย

    ขันธ์ ๕ ปรากฏดุจเพชฌฆาตที่กำลังเงื้อดาบ คือ ไม่ให้พ้นภัยของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้เลย

    อัชฌัตติกายตนะ ๖ คือ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปรากฏดุจเรือนว่างเปล่า

    พาหิรายตนะ ๖ คือ อารมณ์ภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ปรากฏดุจโจรปล้นชาวบ้าน

    ในขณะนี้ ไม่รู้สึกตัวเลย ใช่ไหม แต่เมื่อใดปัญญาเจริญขึ้น จะเห็นภัยของอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบทีไรอกุศลจิตเกิดทุกที แต่เมื่อไม่รู้ จะเห็นได้อย่างไรว่าเป็นโทษ จะเห็นได้อย่างไรว่าเป็นภัย แต่เมื่อรู้ว่า เห็นแล้วอกุศลจิตเกิด ได้ยินอกุศลจิตเกิด ได้กลิ่นอกุศลจิตเกิด ลิ้มรสอกุศลจิตเกิด กระทบสัมผัส อกุศลจิตเกิด คิดนึกอกุศลจิตเกิด ทั้งวัน และทุกวัน เหมือนกับโจรปล้นชาวบ้านให้เดือดร้อน เพราะขณะที่เป็นภวังคจิตยังไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏ เมื่ออารมณ์ปรากฏแล้ว เดือดร้อนทันทีด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง

    เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายเป็นเหมือนโภชนะที่เจือด้วยยาพิษ ที่กำลังบริโภคอยู่ทุกวันก็ไม่ทราบว่าเป็นพิษเพียงใด ทุกคนกลัวพิษจากอาหารเป็นพิษ แต่ที่จริงแล้วสังขารทั้งหลายเป็นเหมือนโภชนะที่เจือด้วยยาพิษ เป็นเหมือนหนทางที่เต็มไปด้วยโจร เป็นเหมือนเรือนที่ไฟติดทั่วแล้ว เป็นเหมือนสนามรบที่เหล่าทหารต่อยุทธ์กัน คือ ทำสงครามกันระหว่างความดีและความชั่ว กุศลจิตและอกุศลจิต ฝ่ายไหนชนะ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะรู้ เพราะฉะนั้น ทางที่จะชนะได้เด็ดขาดมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ปัญญาต้องเจริญที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางคนก็กล่าวว่า คิดถึงอวิชชาของตัวเอง เมื่อหลายร้อยชาติมาแล้วจะมากมายสักแค่ไหน แต่ความจริงแล้ว แสนโกฏิกัปป์นับไม่ถ้วน

    เพราะฉะนั้น การดับอวิชชา ควรทราบว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องเร็ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่เคยมีความไม่รู้เต็มไปด้วยอวิชชามาก่อน

    สำหรับคนที่อบรมเจริญปัญญา ใคร่ที่จะพ้นจากขันธ์ทั้งหลาย เพราะได้ประจักษ์ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัย เกิดขึ้นและดับไป เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว

    ผู้ที่ใคร่จะพ้นจากขันธ์ เพราะเห็นว่า การติดข้องอยู่ในขันธ์ทั้งหลายนั้น เหมือนปลาที่ติดอยู่ในข่าย ยังไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ แต่ผู้ที่ใคร่จะพ้นจริงๆ ต้องเห็นจริงๆ ว่า ถ้ายังเกี่ยวข้องกับขันธ์ทั้งหลายอยู่ ก็เหมือนกับปลาที่ติดอยู่ในข่าย กบที่อยู่ใน ปากงู ไก่ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรง มฤคที่ติดบ่วงแน่น งูที่อยู่ในกำมือของหมองู ช้างที่ แล่นไปตกหล่มใหญ่ บุรุษที่ถูกศัตรูล้อมไว้

    ขณะนี้ยังไม่ถูกใครล้อมไว้ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีการถูกล้อมไว้จริงๆ ก็จะรู้ว่าทุกข์นั้นมากมายสักแค่ไหน แต่ขณะนี้ก็ถูกล้อมไว้แล้วทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ ยากที่จะพ้นได้จริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๒ ตอนที่ ๑๕๑๑ – ๑๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564