แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519


    ครั้งที่ ๑๕๑๙


    สาระสำคัญ

    จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์และทำกิจหน้าที่

    จิตที่เป็นวิถีจิตและไม่ใช่วิถีจิต

    วิสยปวัตต - ความเป็นไปการเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    อถ อรรสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ (อุปมาวิถีจิตด้วยมะม่วง)

    อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - นิยาม ๕ อย่าง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙


    ขอให้พิจารณาการรู้อารมณ์ หรือการเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ต่างๆ ของจิตใน วันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นวิถีจิต ซึ่งจิตทั้งหมดแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ไม่ใช่วิถีจิต ประเภทหนึ่ง และเป็นวิถีจิตอีกประเภทหนึ่ง

    สำหรับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด

    คำว่า วิถีจิต หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือ ทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ย่อมไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    และในวันหนึ่งๆ ก็มีทั้งจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และจิตที่เป็นวิถีจิต

    ในขณะที่หลับสนิท ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อรอเวลาที่จะรับผลของกรรมอื่น นอกจากกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิด ซึ่งทุกคนรู้ไม่ได้เลยว่าจะเป็นผล ของกรรมอะไรที่ได้กระทำแล้ว และจะได้รับผลของกรรมนั้นทางไหน

    (เสียงออด)

    อย่างเสียงเมื่อกี้ มีใครรู้ก่อนไหมว่าจะเกิดขึ้นในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่รู้เลย แต่ ก็มีปัจจัยทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นโดยที่ไม่รู้ด้วยว่าเป็นผลของกรรมอะไรในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เพียงแต่รู้ว่าเป็นวิบากจิต จึงพอที่จะรู้ว่าต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว มิฉะนั้นแล้ววิถีจิตนี้จะเกิดไม่ได้เลย ซึ่งตราบใดที่เหตุยังมีต่อไปอีก วิบากจิตข้างหน้าก็ยังต้องมีต่อไปอีก

    สำหรับการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นวิถีจิตในวันหนึ่งๆ แยกออกเป็นทางปัญจทวารและทางมโนทวาร

    การรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายต้องมีรูปปรมัตถ์จริงๆ เกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป จึงทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

    เมื่อจักขุทวารวิถีดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นสืบต่อ รู้อารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับไป

    เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจะเกิดต่อจากทางปัญจทวารวิถีทุกครั้งที่ทาง ปัญจทวารวิถีเกิดขึ้นรู้อารมณ์วาระหนึ่งๆ นอกจากจุติจิตจะเกิด ซึ่งถ้าจุติจิตจะเกิด หลังจากที่ปัญจทวารวิถีดับแล้ว จุติจิตก็ย่อมเกิดต่อได้ โดยที่มโนทวารวิถีจิตจะ ไม่เกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารวิถี เพราะว่าจุติจิตเกิดแล้ว แต่ถ้าจุติจิตไม่เกิด เวลาที่ปัญจทวารวิถีวาระหนึ่งวาระใดดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดต่อและรู้อารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับที่ทางปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับไปรู้

    เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวารนั้น เหมือนกับยามชั้นใน ซึ่งรับอารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถี และอารมณ์ใดก็ตามที่ผ่านมาสู่จิตแล้ว สัญญาเจตสิกจำอารมณ์นั้น แม้ว่าอารมณ์นั้นจะดับไปในชาตินี้ หลายปี หลายวัน หลายเดือน มโนทวาราวัชชนจิตก็ยังเป็นยามชั้นในที่จะให้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตได้

    แสดงให้เห็นว่า มโนทวารวิถีจิต ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกระทบ จริงๆ เพราะถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เกิดและยังไม่ดับ และกระทบ จะต้องเป็นปัญจทวารวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับ แต่เมื่อรูปดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดต่อโดยมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดเป็นขณะแรก และหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ

    นอกจากนั้น ถึงแม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะไม่ได้กระทบทาง ปัญจทวารเลย มโนทวาราวัชชนจิตก็ยังนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดได้และดับไป จากนั้นชวนจิตซึ่งเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดหรือกุศลจิตก็เกิดต่อได้ หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับไป

    สำหรับมโนทวารวิถีจิต การรู้อารมณ์ทางมโนทวาร จะมีวิถีจิตเกิดอย่างมากที่สุด ๓ วิถี

    วิถีแรก ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะ

    วิถีที่สอง ได้แก่ ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ

    วิถีที่สาม คือ ตทาลัมพนจิต ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนทางใจ

    ขณะนี้ ใครจะคิดถึงอะไร ให้ทราบว่าเป็นทางทวารไหน ถ้าเป็นการคิดถึง ต้องเป็นทางมโนทวารวิถี แต่ถ้าเป็นการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ต้องเป็นทางปัญจทวารวิถี แต่หลังจากภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีก็ยังรับรู้อารมณ์นั้นต่อ

    เพราะฉะนั้น การรับรู้อารมณ์ต่อของมโนทวารวิถี เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จนไม่มีใครสามารถแยกได้ในขณะนี้ว่า กำลังเห็นเป็นจักขุทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี หรือทางหูที่กำลังได้ยิน ก็ไม่มีใครสามารถแยกได้ว่า ขณะนี้เป็นโสตทวารวิถี หรือ มโนทวารวิถี แต่ถ้าเกิดนึกคิดขึ้นมา ทุกคนตอบได้ว่า เป็นมโนทวารวิถี

    หลายท่านกล่าวว่า เวลาที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมที่เป็นสภาพคิดนึก ก็ง่ายพอที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพที่คิด แต่ทางตา เมื่อมีรูปปรากฏด้วย และมีจิตที่กำลังรู้รูปนั้นด้วย ยากจริงๆ ที่จะแยกว่า รูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกับนามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้อย่างไร

    โดยการฟังทราบว่า ขณะที่เห็นเป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ลักษณะของธาตุรู้ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร เมื่อไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือ ไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ ธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ต้องอาศัยสติที่เกิด และพิจารณาน้อมไปรู้ลักษณะอาการรู้จึงสามารถเข้าใจได้ว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ เท่านั้นเอง จนกว่าจะชิน

    สำหรับความเป็นไปของจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ เรียกว่า วิสยัปปวัตติ คือ ความเป็นไปในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    สำหรับทางปัญจทวารมี ๔ วาระ และทางมโนทวารมี ๒ วาระ ซึ่งเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน

    สำหรับทางปัญจทวาร ๔ วาระ คือ อติมหันตารมณ์ ๑ มหันตารมณ์ ๑ ปริตตารมณ์ ๑ อติปริตตารมณ์ ๑

    อติมหันตารมณ์ คือ ในขณะที่อารมณ์ปรากฏชัดเจน เพราะว่าวิถีจิตเกิดครบทั้ง ๗ วิถี สำหรับทางปัญจทวาร

    เช่น ถ้าเป็นจักขุทวารวิถี เมื่อรูปเกิดและกระทบกับอตีตภวังค์ อตีตภวังค์ ๑ ขณะดับไป ภวังคจลนะเป็นขณะที่ ๒ ดับไป ภวังคุปัจเฉทะเป็นขณะที่ ๓ ดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจเป็นวิถีที่ ๑ และจักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำ ทัสสนกิจเป็นวิถีที่ ๒ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นทำสัมปฏิจฉันนกิจเป็นวิถีที่ ๓ สันตีรณจิตเกิดขึ้นทำสันตีรณกิจเป็นวิถีที่ ๔ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจเป็นวิถีที่ ๕ ชวนจิต คือ กุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ ทำชวนกิจเป็นวิถีที่ ๖ และเมื่อยังเหลืออารมณ์อีก ๒ ขณะจิต วิบากจิตจึงเกิดขึ้น เป็นวิถีจิตที่ทำตทาลัมพนกิจเป็นวิถีที่ ๗

    สำหรับอติมหันตารมณ์ ขณะที่รูปเกิด กระทบกับทวาร และวิถีจิตเกิดครบ ทั้ง ๗ วิถี เมื่อมีตทาลัมพนวิถีเกิดด้วย จึงเป็นตทาลัมพนวาระ

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน เรียกว่า อติมหันตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชัดเจน

    สำหรับวาระที่ ๒ คือ มหันตารมณ์ วิถีจิตเกิดเพียง ๖ วิถี รูปดับก่อนที่ ตทาลัมพนจิตจะเกิด เมื่อรูปดับแล้ว ตทาลัมพนจิตย่อมเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น วาระนี้ชื่อว่าชวนวาระ เพราะมีวิถีเพียง ๖ วิถีเท่านั้น เป็นอารมณ์ที่ชัดเจนน้อยกว่า อติมหันตารมณ์

    แต่บางเวลา หรือบางครั้งก็ไม่ได้ปรากฏว่า อารมณ์นั้นชัดเจน ดูเสมือนว่า เห็น บางทีก็พูดว่า คล้ายๆ จะเห็น ขณะนั้นแสดงว่า ไม่ใช่อติมหันตารมณ์ ไม่ใช่ตทาลัมพนวาระ และไม่ใช่มหันตารมณ์ คือ ไม่ใช่ชวนวาระ แต่เป็นปริตตารมณ์ คือ ไม่มีชวนะ เพราะฉะนั้น วิถีจิตจึงมีเพียง ๕ วิถีเท่านั้น ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ และโวฏฐัพพนะ เมื่อวาระนี้ไม่มีชวนะ มีเพียงโวฏฐัพพนจิต จึงชื่อว่าโวฏฐัพพนวาระ

    ชวนจิตไม่เกิด กุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตไม่เกิด ไม่ทันจะเกิด รูปก็ดับก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็น เห็น แต่ชวนจิตยังไม่ทันเกิด หรือบางขณะก็คล้ายกับ ได้ยิน แต่ไม่ทราบว่าอะไร เสียงพูดว่าอะไรก็ไม่ทราบ ขณะนั้นก็เป็นโวฏฐัพพนวาระ เพราะว่าชวนจิตไม่เกิด ไม่มีโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิตเกิด

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นวิถีจิตที่ไม่มีชวนะ เป็นโวฏฐัพพนวาระ วิถีจิตนั้นชื่อว่าปริตตารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์เพียงเล็กน้อยที่ปรากฏ

    ส่วนวิสยัปปวัตติอีกวาระหนึ่ง คือ อติปริตตารมณ์ ไม่มีวิถีจิตเกิดเลย เพียง แต่อารมณ์กระทบกับทวาร กระทบกับภวังคจิตหลายขณะและดับไป โดยที่วิถีจิต ไม่เกิดเลย

    นี่ก็เป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร คือ วิสยัปปวัตติ ๔ วาระ

    สำหรับทางมโนทวาร มีเพียง ๒ วาระเท่านั้น คือ วิภูตารมณ์กับอวิภูตารมณ์ วิภูตารมณ์ คือ มโนทวารวิถีจิตที่มีวิถีจิต ๓ วิถี คือ มีมโนทวาราวัชชนจิต ๑ วิถี ชวนจิต ๑ วิถี และตทาลัมพนจิต ๑ วิถี จึงเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนทางใจ เป็นวิภูตารมณ์

    สำหรับทางมโนทวารที่ไม่มีตทาลัมพนะ ก็มีเพียง ๒ วิถีเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิต และชวนจิต ชื่อว่าอวิภูตารมณ์

    วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า วิภูตารมณ์บ้าง อวิภูตารมณ์บ้าง หรือ อติมหันตารมณ์บ้าง มหันตารมณ์บ้าง ปริตตารมณ์บ้าง

    อรรถกถา อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ คาถาขยายความเรื่องวิบากในอพยากตบท ได้อุปมาวิถีจิตในขณะที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารไว้ด้วยอุปมาหลายอย่าง เช่น อุปมาวิถีจิตด้วยมะม่วง ซึ่งบางท่านที่ได้ศึกษาแล้วคงจะได้ฟังบ่อยๆ

    ข้ออุปมามีว่า

    ชายคนหนึ่งนอนคลุมโปงอยู่ที่โคนต้นมะม่วงที่มีผลแล้วหลับไป

    ไม่รู้ว่ามะม่วงผลไหนจะสุกและจะหล่น เหมือนกับขณะที่เป็นภวังคจิตก็ไม่รู้ว่า กรรมไหนสุกงอมที่จะทำให้วิบากจิตใดเกิดขึ้นทางทวารไหน

    เผอิญมะม่วงสุกผลหนึ่งหลุดจากขั้วหล่นบนพื้นดังตุ๊บ เหมือนดังกวาด สะเก็ดในหูของเขา

    คือ เหมือนสะกิดหูนั่นเอง

    เขาจึงตื่นด้วยเสียงมะม่วงนั้น แล้วลืมตาดู ต่อจากนั้นจึงเหยียดมือออกไป หยิบผลมะม่วง บีบ สูดดม และบริโภค

    นี่คือการพยายามให้เห็นกิจของจิตแต่ละกิจในวาระหนึ่งๆ ซึ่งมีการรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ คือ

    ในขณะที่เป็นกระแสภวังค์ เปรียบเหมือนกาลที่ชายคนนั้นหลับอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ในกาลที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป เปรียบเหมือนกาลที่ผลมะม่วงสุก หลุดจากขั้วตกที่พื้นเสียงดัง เหมือนดังกวาดสะเก็ดในหู ทำให้เกิดภวังคจลนะและ ภวังคุปัจเฉทะ

    มิฉะนั้นแล้วก็เป็นอติปริตตารมณ์ คือ แม้ว่าอารมณ์จะกระทบ ก็กระทบๆ ๆ แต่ว่าวิถีจิตไม่เกิดเลย แต่เวลาที่วิถีจิตจะเกิด ก็เหมือนกับกวาดสะเก็ดในหู คือ สะกิดหู ทำให้ภวังคจลนะเกิดและดับไป และภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เป็นภวังค์ดวงสุดท้าย

    กาลที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น หลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว เปรียบเหมือนกาลที่ชายคนนั้นตื่นด้วยเสียงหล่น กาลที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ เปรียบเหมือนกาลที่ลืมตาดู กาลที่สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ เปรียบเหมือนกาลที่เหยียดมือไปจับ กาลที่สันตีรณจิตเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เปรียบเหมือนกาลที่หยิบมะม่วงมาบีบ คือ พิจารณาว่าสุกหรือเปล่า กาลที่โวฏฐัพพนจิตตัดสิน คือ กำหนดอารมณ์ หรือกระทำทางให้ ชวนจิตเกิด เปรียบเหมือนกาลที่สูดดมมะม่วง กาลที่ชวนจิตเกิดขึ้นแล่นไปในอารมณ์ เปรียบเหมือนกาลที่บริโภคมะม่วง กาลที่ตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจาก ชวนะ เปรียบเหมือนกับกาลที่กลืนเศษมะม่วงที่ยังเหลือค้างเล็กๆ น้อยๆ ตามไป

    นี่เป็นอุปมาที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละจิตเกิดขึ้นทำกิจต่างๆ กัน

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีต่อไปว่า

    อุปมาข้อนี้แสดงข้อความอะไร

    คือ ในการรู้อารมณ์ของจิตแต่ละอุปมา จะบอกไว้ด้วยว่า สำหรับอุปมานี้ แสดงความหมาย หรือมุ่งแสดงข้อความอะไร

    แสดงข้อความว่า อารมณ์มีหน้าที่กระทบปสาท

    คือ เสียงมะม่วงที่หล่นกระทบหู กิจของอารมณ์ คือ กระทบปสาท

    เมื่ออารมณ์นั้นกระทบปสาทแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดเป็นวิถีแรก จักขุวิญญาณมีหน้าที่เพียงแต่เห็น สัมปฏิจฉันนจิตมีหน้าที่เพียงแต่รับอารมณ์ สันตีรณจิตมีหน้าที่เพียงแต่พิจารณาอารมณ์ มโนทวาราวัชชนจิตมีหน้าที่เพียงแต่ตัดสินหรือกำหนดอารมณ์โดยทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ส่วนรสแห่งอารมณ์ ชวนะเท่านั้นย่อมเสวยโดยส่วนเดียว

    เพราะว่าจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นชั่วขณะเดียว แต่โลภมูลจิตพอใจในอารมณ์นั้น เท่ากับว่าชิมหรือเสวยรสของอารมณ์นั้นเต็มที่ด้วยความพอใจ หรือด้วยความ ไม่พอใจถ้าเป็นโทสมูลจิต หรือเป็นกุศลจิต ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็ในข้อนี้ ใครๆ ที่เป็นผู้กระทำ หรือผู้สั่งให้กระทำว่า ท่านนะจงชื่อว่าภวังค์ ท่านนะจงชื่อว่าอาวัชชนะ ท่านนะจงชื่อว่าทัสสนะ ท่านนะจงชื่อว่าสัมปฏิจฉันนะ ท่านนะจงชื่อว่าสันตีรณะ ท่านนะจงชื่อว่าโวฏฐัพพนะ ท่านนะจงชื่อว่าชวนะ ท่านนะจงชื่อว่าตทาลัมพนะ ดังนี้ มิได้มี

    คือ สภาพธรรมทั้งหลายเกิดดับสืบต่อทำกิจแต่ละกิจเป็นจิตนิยาม คือ ลำดับความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต โดยที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย

    สำหรับนิยามหรือธรรมเนียมที่เป็นธรรมชาติของสภาพธรรมนั้นๆ มี ๕ อย่าง ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงว่ามี พีชนิยาม ๑ อุตุนิยาม ๑ กรรมนิยาม ๑ ธรรมนิยาม ๑ จิตนิยาม ๑ ซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย

    พีชนิยาม ได้แก่ ธรรมเนียมของพืชแต่ละชนิด เช่น ดอกทานตะวันก็หันหน้าไปทางพระอาทิตย์

    ไม่มีใครจะไปฝืน หรือไปเปลี่ยนแปลงพีชนิยามของพืชชนิดนั้นๆ ได้

    อุตุนิยาม ได้แก่ การกำหนดแน่นอนของฤดูกาลที่ใบ หรือดอก หรือผลของพืชแต่ละอย่างจะออกพร้อมๆ กันในสมัยนั้นๆ

    กรรมนิยาม

    ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงการให้ผลของกรรมได้

    ถ้าเป็นกุศลกรรมแต่เป็นทวิเหตุกะ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวงที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว และยังให้ผลเป็นมหาวิบากด้วย

    ซึ่งไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงกรรมนิยามได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๒ ตอนที่ ๑๕๑๑ – ๑๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564