แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515


    ครั้งที่ ๑๕๑๕


    สาระสำคัญ

    สภาพธรรมแต่ละขณะเป็นอนัตตาจริงๆ

    สันตีรณจิต และตทาลัมพนจิต,ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ (รู้อารมณ์ โดยไม่อาศัยทวาร)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๙


    การเรียนเรื่องจิต ดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและละเอียด แต่ความจริงถ้าคิดว่า มีจิตกี่ดวง ไม่มากเลย แค่ ๗ ดวง และสำหรับ ๕ ดวงนี้ก็ง่ายๆ ธรรมดาๆ เหลือจิตที่ไม่คุ้นหู คือ สัมปฏิจฉันนะ ก็ธรรมดาอีก แต่ที่พิเศษคือสันตีรณจิต ซึ่งควรจะรู้ เพราะถ้ารู้จะทำให้เข้าใจชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่ต่างกันไปเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ และแม้แต่วิถีทางปัญจทวารและทางมโนทวารก็ยังต่างกันด้วยตามการสะสม เพราะทุกคนห้ามไม่ได้ ใช่ไหม เห็นแล้วให้เป็นกุศล อยากจะเป็นอย่างนั้นเหลือเกิน บางคนบอกว่า ทำไมเห็นแล้วสติปัฏฐานไม่เกิด หรือทำไมเห็นแล้วกุศลจิตไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของทำไม แต่จะเข้าใจคำตอบว่าทำไมเมื่อได้ศึกษาโดยละเอียดว่า สภาพธรรมแต่ละขณะเป็นอนัตตาจริงๆ ไม่มีใครบังคับให้จิตดวงนี้เกิดก่อนดวงนั้น และการสะสมความไม่รู้ในอดีตอนันตชาตินั้นมากมายพร้อมทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่เมื่อถึงชาตินี้ก็บอกว่า ทำไมเห็นแล้วกุศลจิตไม่เกิด ซึ่งก็น่าจะมีคำตอบได้ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามการสะสม เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางใจ ให้ทราบว่า สันตีรณจิตเกิด แต่ไม่ได้ทำ สันตีรณกิจ ทำตทาลัมพนกิจ เพราะว่าบางวันจิตใจเต็มไปด้วยเรื่องที่หมกมุ่นครุ่นคิด ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว อย่างเสียงที่ได้ยิน ไม่มีใครสามารถเก็บห่อรวบรวมเอาไว้ดูได้ ไม่ว่าจะเป็นคำชม หรือคำนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็ตาม สภาพธรรมของนามธรรมและรูปธรรมเกิดและดับสูญสิ้นไปหมดไม่เหลือเลย แต่ทำไมยังคิดถึงคำที่ได้ยินและไม่ลืม ขณะนั้นก็แสดงว่า มีตทาลัมพนกิจ โดยสันตีรณจิตทำกิจตทาลัมพนะด้วย เพราะว่าธรรมดาของการรู้อารมณ์ทางใจ จะไม่มีจิตเกิดมากเหมือนทางปัญจทวาร เนื่องจากอารมณ์ไม่ได้กระทบปสาทจริงๆ แต่ใจสามารถคิดได้ เคยเห็น ดับไปแล้ว ยังคิดถึง สิ่งที่เห็นอีก เคยได้ยิน ดับไปแล้ว ก็ยังคิดถึงสิ่งที่ได้ยินอีก เคยได้กลิ่น ดับไปแล้ว ก็ยังคิดถึงกลิ่นที่เคยได้กลิ่นนั้นอีก

    แสดงให้เห็นว่า ทางใจไม่ต้องอาศัยรูปมากระทบ ทางใจมีมโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้นรำพึงถึงหรือนึกถึงอารมณ์นั้น และทันทีที่มโนทวาราวัชชนจิตดับ โลภมูลจิต ก็เกิด หรือโทสมูลจิตก็เกิด หรือกุศลจิตก็เกิด และถ้าเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนก็มี ตทาลัมพนจิตเกิดต่อจากกุศลและอกุศลนั้น ซึ่งสันตีรณจิตทำตทาลัมพนกิจได้ทั้ง ๖ ทวาร

    สำหรับขณะที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ สันตีรณจิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย เพราะจิตใดๆ ก็ตามที่ทำปฏิสนธิกิจ เกิดขึ้นไม่ต้องอาศัยทวาร ก็รู้อารมณ์ได้ เพราะว่าจิตทุกขณะทุกประเภทต้องมีอารมณ์ เนื่องจากจิตเป็นสภาพรู้ จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะอาศัยทวารหรือไม่อาศัยทวาร จิตก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ถ้าเป็นปฏิสนธิจิต รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ขณะที่เป็นภวังคจิตก็รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ขณะที่เป็นจุติจิตก็รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ซึ่งทุกท่านพิสูจน์ได้ ใช่ไหม

    ปฏิสนธิจิตดับไปนานแล้ว ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี แล้วแต่อายุของ แต่ละบุคคล และเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ จุติจิตก็ยังไม่เกิด แต่ที่จะรู้ว่าจิตที่ทำภวังคกิจไม่อาศัยทวาร ก็คือ ในขณะที่นอนหลับสนิท หรือขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะนั้นต้องมีจิต และต้องมีอารมณ์ แต่ไม่ต้องอาศัยทวารเลย และเมื่อไม่อาศัยทวาร จึงไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่ได้ยินเสียงของโลกนี้ ไม่ได้กลิ่นของโลกนี้ ไม่ได้ลิ้มรสของโลกนี้ ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหวของโลกนี้ และไม่ได้คิดนึกเรื่องราวของโลกนี้เลย

    ถ้าเป็นความคิดนึกทางใจ เรื่องของชาตินี้ทั้งนั้น ใช่ไหม เรื่องของโลกนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน โลกไหน ดาวดวงไหนก็ตามแต่ ก็ยังเป็นโลกนี้ที่กำลังมีชีวิตอยู่

    นี่คือการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด และทางใจก็คิดนึกเรื่องของโลกนี้ แต่เวลาที่หลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏ แต่จิตไม่ได้สูญหาย ขณะนั้นเป็นภวังค์ เกิดดับ รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร

    เพราะฉะนั้น เมื่อสันตีรณจิตสามารถทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจด้วย สันตีรณจิตจึงรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารด้วย ในขณะที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ

    ขณะนี้ที่ไม่ใช่ภวังค์ ทำสันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ แต่ระหว่างที่มีภวังค์คั่นแต่ละวาระที่เห็นได้ยินแต่ละทวาร ขณะนั้นเป็นภวังค์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่สันตีรณจิตที่ทำภวังคกิจ แต่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ ขณะนั้นที่เป็นภวังค์เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และสำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก ขณะที่เป็นภวังค์นั้น เป็นสันตีรณกุศลวิบาก

    ถ. ขณะที่สันตีรณจิตทำตทาลัมพนกิจ ขณะนั้นสันตีรณจิตพิจารณาอารมณ์หรือเปล่า

    สุ. ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ เพราะฉะนั้น ไม่ได้พิจารณาอารมณ์

    ถ. สันตีรณจิตที่ทำตทาลัมพนกิจ จะต่างกับสภาพรู้ อาการรู้ตามธรรมดาอย่างไร

    สุ. ต่างกันโดยกิจ เพราะว่าจิตทุกดวงต้องกระทำกิจ สำหรับสันตีรณจิต ทำกิจพิจารณาต่อจากสัมปฏิจฉันนะและดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ และกุศลอกุศล ก็เกิดต่อ แต่เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ เมื่อเป็นผู้ที่ติดข้องในอารมณ์ เพราะเป็น กามบุคคล เกิดในกามภูมิ และขณะนั้นกำลังมีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ วิบากจิตก็เกิดขึ้น กรรม ที่ติดที่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้ตทาลัมพนจิต คือ สันตีรณจิตเกิดขึ้น เพียงแต่รับรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนะเท่านั้นเอง

    คำว่า ตทาลัมพนะ มาจากคำว่า ตัง กับ อารัมมณะ ตัง คือ นั้น เพราะฉะนั้น ตทาลัมพนจิต คือ จิตที่มีอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นคืออารมณ์อะไร ก็คือ อารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะซึ่งเป็นวิบากประเภทเดียวกัน เมื่อรูปนั้นยังไม่ดับ ตทาลัมพนจิตก็เกิดขึ้นรับรู้รูปนั้นเพียง ๒ ขณะและก็ดับ

    ถ. ทำไมวิบากดวงอื่นไม่สามารถทำตทาลัมพนกิจได้

    สุ. วิบากอื่น แสดงอยู่แล้วว่า จักขุวิญญาณทำได้กิจเดียว สัมปฏิจฉันนะ ก็ทำได้กิจเดียว เฉพาะสันตีรณจิตที่ทำหลายกิจ

    ถ. สภาพของสันตีรณจิตพิเศษกว่าจิตดวงอื่นหรือ จึงสามารถทำกิจได้ถึง ๕ กิจ

    สุ. ตามความเป็นจริงแล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เท่ากับ สัมปฏิจฉันนะ ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ และวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก แต่ทำกิจต่างกัน โดยฐานที่เกิดต่างกัน เมื่อเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ก็ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะ และไม่ได้ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ เมื่อเกิดหลังจากสัมปฏิจฉันนะ ก็ทำกิจสันตีรณะ ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะ ทั้งๆ ที่เป็นวิบากจิตเหมือนกัน มีเจตสิกประกอบเท่ากัน แต่เมื่อเกิดต่างฐานเกิดต่างที่กัน สันตีรณจิตจึงไม่ได้ทำกิจ สัมปฏิจฉันนะ และจิตประเภทนั้นแหละทำตทาลัมพนกิจด้วย เมื่อชวนจิตเกิด และดับไป รูปนั้นยังไม่ดับ แต่ไม่ได้ทำสันตีรณกิจ เพราะว่าทำไปแล้ว จนกระทั่งถึง ชวนะดับไปแล้ว มีอารมณ์ที่ยังไม่ดับเหลือเพียง ๒ ขณะ จึงทำตทาลัมพนกิจ

    ถ. วิบากจิต เวลาที่เกิดทำสัมปฏิจฉันนะ ก็เป็นวิบากจิตเหมือนกัน เมื่อเกิดต่อมา ก็เป็นสันตีรณจิต ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่จิตประเภทนั้น เพราะทำกิจคนละอย่าง เป็นคนละดวง โดย พระสัพพัญญุตญาณแสดงว่า ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เพราะวิบากจิตที่เป็นอเหตุกะมีทั้งหมด ๑๕ ดวง

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ และไม่สามารถจะรู้ได้ แต่สภาพของจิตต้องเกิดดับสืบต่อกันอย่างนั้น เป็นจิตนิยาม ใครจะเปลี่ยนแปลงจิตนิยามไม่ได้ เป็นธรรมเนียมการเกิดดับสืบต่อเป็นลำดับของจิต

    สำหรับตทาลัมพนจิต น่าสนใจ เพราะต่อไปจะทราบว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะ สันตีรณจิต ๓ ดวงเท่านั้นที่ทำตทาลัมพนกิจ จิตอื่นอีก ๘ ดวง คือ มหาวิบาก ก็ทำ ตทาลัมพนกิจด้วย เพราะฉะนั้น จิตที่ทำตทาลัมพนกิจทั้งหมด มี ๑๑ ดวง

    ฟังดูเหมือนไม่น่าสนใจ แต่ที่ควรสนใจ คือ เมื่อเป็นกามบุคคลในกามภูมิ และกำลังมีกามเป็นอารมณ์ ต้องมีวิบากจิตเกิดขึ้นจนรูปนั้นดับไป ต่อเมื่อใดรูปนั้นดับไม่สามารถเป็นอารมณ์ได้ เมื่อนั้นจึงเป็นภวังคจิต มิฉะนั้นแล้ว วิถีจิตจะต้องเกิดขึ้น และรู้รูปนั้นโดยจิตต่างๆ

    นี่แสดงถึงความติดอย่างมากมายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และรู้จริงๆ ด้วยปัญญาว่า ไม่มีอะไรที่จะกั้นอกุศลที่สะสมมาเนิ่นนานไม่ให้เกิดได้ นอกจากจะอบรมเจริญ สมถภาวนา หรือสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ถึงขั้นความเป็น พระอนาคามีบุคคล จึงจะดับความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาโดยถูกต้องด้วย มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ มีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะ สภาพที่ต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิต และกุศลจิตสงบมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ประกอบด้วยความสงบขั้นต่างๆ จนถึงขั้นที่แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบถึง อัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ในวิถีนั้นจะไม่มีตทาลัมพนะ

    เพราะฉะนั้น ตทาลัมพนะจึงเกี่ยวข้องกับกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเท่านั้น โลกุตตรวิถีไม่มีตทาลัมพนะ และฌานวิถีก็ไม่มีตทาลัมพนะ ถ้าตราบใด ยังไม่เป็นความสงบถึงขั้นนั้น ให้ทราบว่า ถ้าอารมณ์ยังไม่ดับ ในขณะนี้ จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ชวนจิต ๗ ขณะดับไปแล้ว อารมณ์ยังไม่ดับ วิบากจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นโดยทำกิจตทาลัมพนะ และเมื่ออารมณ์ดับไปแล้ว จึงเป็นภวังคจิต แต่ถ้า อารมณ์ยังไม่ดับ ต้องมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น

    ถ. แม้สัตว์นรก ก็มีตทาลัมพนะหรือ

    สุ. ทั้งหมด

    ถ. พระพุทธเจ้ามีตทาลัมพนะไหม

    สุ. ต้องมี ถ้าเป็นกามวิถี

    ถ. แสดงว่า ไม่มีกามวิถีไหนเลยที่รูปยังไม่ดับ จะไม่มีตทาลัมพนะ ใช่ไหม

    สุ. ในเมื่อจักขุวิญญาณเป็นวิบากเกิดได้ สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากเกิดได้ สันตีรณะเป็นวิบากเกิดได้ และการเห็นแต่ละครั้ง การได้ยินแต่ละครั้ง เป็นผลของกรรมที่เป็นกามาวจรกุศล เพราะฉะนั้น ก็ให้ผล คือ เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ ตทาลัมพนจิตต้องเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อโดยชาติวิบาก

    การที่วิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้น เป็นไปตามอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อเป็นผลของกรรมประเภทใด กรรมประเภทนั้นก็ทำให้วิบากประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น ทำกิจนั้นๆ ถ้าเป็นรูปาวจรวิบากก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนกับกามาวจรวิบากซึ่งเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส พวกนี้ ถ้าเป็นการเห็น ไม่ว่าจะของใคร แม้แต่ผู้ที่ดับกิเลสแล้วก็ตาม การเห็นเป็นผลของกรรมอะไร กรรมนั้นที่ทำให้รูปนั้นปรากฏและยังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนจิต

    ถ. สัมปฏิจฉันนะ กับสันตีรณะ ต่างกันแค่กิจ ใช่ไหม เจตสิกเท่ากัน

    สุ. เจตสิกเกิดเท่ากัน ต่างกันที่กิจ เวลานี้ก็มีตทาลัมพนจิต รู้หรือไม่รู้ ไม่สำคัญเลย แต่ถ้ารู้ก็ยังดีกว่าที่ไม่รู้เลยว่า ความติดและผลของกรรมที่เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่ามีการเห็นการได้ยินจนถึงชวนะแล้ว แต่ถ้ารูปยัง ไม่ดับ วิบากจิตก็เกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ๒ ขณะ

    ถ. ตทาลัมพนะของผู้หมดกิเลส ให้ผลอย่างไร

    สุ. วิบากจิตทั้งหมด ไม่ให้ผล เพราะวิบากจิตทั้งหมดเป็นผล

    ถ. เป็นผลอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะยึดหน่วงอารมณ์อีก ก็ ...

    สุ. ไม่ต้องเรียกว่า ยึดหน่วงอารมณ์ เพียงแต่อารมณ์ยังเหลือ ก็ไม่ทิ้ง ตามประสาคนชอบ ถ้ามีของอะไรที่ชอบ เหลือแล้วจะทิ้งไหม อาหารที่ชอบเหลือแล้วยังเก็บ ถ้าชอบ

    ถ. แต่ผู้หมดกิเลสแล้ว ก็หายไปเอง

    สุ. มิได้ นี่เป็นเรื่องของวิบาก ไม่ใช่เรื่องของเหตุ วิบากไม่มีใครสามารถ กั้นได้ ถ้ายังไม่ปรินิพพานต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ถ. วิบากให้ผลแล้ว ไม่ให้ผลต่อ อย่างนั้นหรือ

    สุ. วิบากไม่เป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบากอีก เพราะว่าวิบากเป็นผลแล้ว โดยกัมมปัจจัยไม่ได้

    ถ. ทำไมเฉพาะสันตีรณจิตเท่านั้นที่ทำตทาลัมพนกิจได้ แต่สัมปฏิจฉันนจิต แม้จะเป็นวิบากจิตคล้ายๆ กัน แต่ทำตทาลัมพนกิจไม่ได้

    สุ. นี่เป็นปัญหาที่น่าคิด น่าสงสัย น่าถามมาก คือ อุเบกขาสัมปฏิจฉันนะเป็นอเหตุกวิบาก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง สันตีรณจิตก็เป็นอเหตุกะ เป็นวิบาก เป็นอุเบกขา และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เท่ากันหมดทุกอย่าง แต่ทำไม สัมปฏิจฉันนะทำสันตีรณกิจไม่ได้ ทำตทาลัมพนกิจไม่ได้ และทำกิจอื่นไม่ได้

    เพราะว่าเพียงการเกิดที่ต่างกันเท่านั้นเอง จึงจำแนกประเภทของจิตออกไป ว่า ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อ รับอารมณ์นั้นต่อ และข้อความในอรรถกถามีว่า โดยนิยาม คือ การเกิดดับสืบต่อกัน ไม่มีใครบอกว่า คนนี้ชื่อ ปัญจทวาราวัชชนะ หรือคนนั้นชื่อสัมปฏิจฉันนะ คนนี้ชื่อสันตีรณะ ไม่มีใครสั่ง ไม่มีใครบอกว่า ให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดและดับไป และให้สันตีรณจิตเกิดและดับไป แต่เป็นสภาพการเกิดดับสืบต่อกันของจิต ซึ่งเป็นอย่างนี้ ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อมีเจตสิกประกอบอย่างนี้ เป็นวิบากอย่างนี้ ทำกิจรับต่อเท่านั้น จบกิจของจิตนี้ จิตขณะต่อไป ไม่ได้ทำกิจอย่างสัมปฏิจฉันนะ แม้ว่าจะเป็นวิบากจิตที่มี เจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากัน แต่ทำอีกกิจหนึ่ง คือ สันตีรณะ

    และจิตที่ทำสันตีรณกิจ ก็ดูเสมือนว่ามีกำลังเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ทั้งๆ ที่ เจตสิกประกอบเท่ากันก็จริง แต่โดยกิจการงานหน้าที่ จักขุวิญญาณทำอะไรไม่ได้เลย เห็นอย่างเดียวเท่านั้น เพียงเห็นจริงๆ ปัญญาอะไรๆ ก็ไม่มีเกิดร่วมด้วยทั้งนั้น ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ความหมายของสิ่งที่เห็นก็ไม่รู้ทั้งสิ้น เพียงเห็นเท่านั้น นั่นเป็นหน้าที่ของจักขุวิญญาณ เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่รับไว้เท่านั้น หมดหน้าที่ของสัมปฏิจฉันนะ จบไปหนึ่งกิจ

    เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อ ไม่ได้ทำกิจนั้น เป็นกิจอีกประเภทหนึ่ง ซึ่ง ถ้าพิจารณาดูคล้ายกับว่ามีกิจมากกว่าสัมปฏิจฉันนะ คือ พิจารณา แม้ว่าเจตสิกที่ประกอบเท่ากัน

    บางทีคนที่มีฐานะเท่ากัน แต่ทำงานรับผิดชอบมากกว่ากันก็ได้ ใช่ไหม เงินเดือนเท่ากัน ความรู้เท่ากันทุกอย่าง แต่ความรับผิดชอบมากกว่ากันได้ เพราะฉะนั้น สันตีรณะพิจารณาอารมณ์ เมื่อสันตีรณะเป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะ และเป็นจิตที่สามารถกระทำกิจต่อจากสัมปฏิจฉันนะ คือ สามารถพิจารณาอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ จิตนี้ที่ทำกิจต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สามารถพิจารณาอารมณ์ จึงสามารถทำตทาลัมพนกิจได้ และทำปฏิสนธิ ภวังค์ จุติได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๒ ตอนที่ ๑๕๑๑ – ๑๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564