แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543


    ครั้งที่ ๑๕๔๓


    สาระสำคัญ

    อถ.องฺ.ติก. อรรถกถาปฐมชนสูตร - บุญ

    อนุโมทนาในกุศลสัทธาของทุกๆ ท่าน (ในการเผยแพร่พระธรรม)

    องฺ.ติก.ฐานสูตร - แสดงลักษณะของผู้มีสัทธา ๓ สถาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๙


    อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรควรรณนาที่ ๑ อรรถกถาปฐมชนสูตร มีข้อความว่า

    บุญชื่อว่าตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก

    ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป ซึ่งวันหนึ่งก็จะถึงเวลาที่ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร เพราะว่าจากไปสู่โลกอื่น แต่จะจากไปสู่ที่ไหน ถ้าเป็นผลของกุศล บุญชื่อว่าตาณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก คือ จะต้านทานไม่ให้ไป สู่อบายภูมิทั้ง ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไหลไปโดยง่ายตามอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ชื่อว่าเลณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่ซ่อนเร้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย

    ชื่อว่าทีปะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พักอาศัย อำนวยความสะดวกความสุข ความสบายให้

    ชื่อว่าสรณะ เพราะหมายความว่า เป็นที่พึ่งอาศัย

    ยามทุกข์ ยามเดือดร้อน ก็มีพระธรรมเป็นสรณะ ทั้งๆ ที่มีความทุกข์ก็ยัง ไม่ทุกข์ได้ ควรจะมีความกังวลใจ ความกังวลใจนั้นก็หายไปได้ เมื่อระลึกถึงความจริงของธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ชื่อว่าปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติที่สูงได้

    คือ ทางไปสู่มรรคผลนิพพาน

    นี่ก็เป็นชื่อต่างๆ ของบุญ

    สำหรับศรัทธา ก็เช่นเดียวกับโสภณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งยากที่จะสังเกตรู้ได้ แต่ว่าศรัทธาย่อมมีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงโสภณธรรมในขณะนั้น ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่สังเกต จึงสามารถพิจารณาและค่อยๆ อบรมเจริญศรัทธาขึ้น จากการฟังพระธรรมและพิจารณาตนเอง

    ศรัทธาในกุศลมีมากมายหลายอย่าง เวลาที่เห็นจิตใจที่ดีงามของคนอื่น พร้อมกันนั้นก็พิจารณาตนเองได้ว่า ท่านมีจิตใจที่ดีงามอย่างนั้นหรือไม่ อย่าง ถ้าเห็นบางคนซึ่งเป็นผู้ที่เอาใจใส่ญาติผู้ใหญ่ และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลในสุขทุกข์ ของท่าน มีวาจาที่ทำให้ท่านสบายใจ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดย่อมพิจารณาตนเองว่า ท่านได้ทำอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือเพียงแต่ชื่นชมอนุโมทนาในกุศลจิตของคนอื่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจงามสามารถที่จะกระทำได้อย่างนั้น

    ถ้าเป็นผู้ที่ตรง นอกจากจะเห็นโสภณธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเป็นกุศลของบุคคลอื่นแล้ว ก็ควรที่จะน้อมมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองมีศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้นหรือยัง ถ้าขณะใดที่ยังไม่ได้กระทำกุศลสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเห็นและพิจารณาแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดี ก็เพราะว่าขณะนั้นศรัทธานั้นยังไม่เกิดกับท่าน เพียงแต่ท่านรู้ว่าดีและชื่นชมเวลาที่คนอื่นกระทำเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละอย่างที่จะเพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อท่านได้พิจารณาและมีความตั้งใจที่จะเจริญศรัทธาในสิ่งที่ท่านอาจจะยังไม่เคยเกิด หรือว่ายังไม่เคยกระทำเลย ให้เพิ่มขึ้น

    เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็พิจารณาตนเอง เพื่อให้ศรัทธาในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิด ได้เกิดเพิ่มขึ้น เช่น บางท่านอาจจะเป็นคนที่ให้อภัยคนอื่นยาก และมักจะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น ถ้าพิจารณาตนเองและดูเพียงสภาพธรรมที่เป็นศรัทธาว่า ท่านมีศรัทธาที่จะให้อภัยหรือยัง เท่านั้นเอง มิฉะนั้นศรัทธาก็ไม่มีวันจะเกิด ไม่มีวัน จะเพิ่มขึ้น ต่อเมื่อใดพิจารณาและเห็นว่ายังขาดศรัทธาในเรื่องนี้ ก็จะเป็นเหตุ ทำให้ศรัทธาในการให้อภัยคนอื่นเกิดขึ้นได้

    หรือบางครั้งอาจจะเป็นผู้ที่ตระหนี่ หรือริษยา ซึ่งขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อพิจารณาตนเอง ก็ดูว่าตนเองมีศรัทธาที่จะละความริษยา ละความตระหนี่ หรือยัง หรือในขณะที่ขุ่นเคืองใจและระลึกได้เมื่อได้ฟังเรื่องของศรัทธา ก็เริ่มพิจารณาว่า มีศรัทธาที่จะไม่เห็นประโยชน์ของความโกรธหรือยัง มิฉะนั้นแล้วก็ยังคิดว่า ยังดีอยู่นั่นเอง คือ คิดว่าโกรธนิดๆ หน่อยๆ จะทำให้คนอื่นประพฤติดีขึ้น แต่ว่าลักษณะของความขุ่นเคืองใจนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย แทนที่จะขุ่นเคืองใจ อาจจะทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กว่านั้นด้วยความไม่ขุ่นเคืองใจ ซึ่งขณะใดที่เป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่ามีศรัทธาที่จะไม่โกรธ และเห็นโทษของความโกรธและอกุศลอื่นๆ

    บางท่านมีศรัทธาที่จะเผยแพร่พระธรรมให้คนอื่นเข้าใจพระธรรมและขัดเกลากิเลส คิดถึงคนอื่นมาก แต่อย่าลืมพิจารณาตนเองว่า ในขณะที่มุ่งที่จะให้คนอื่นได้ ฟังพระธรรมและขัดเกลากิเลส ตัวท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่หวังดีต่อคนอื่นนั้น มีการพิจารณาและขัดเกลากิเลสของตนเองที่เห็นเพิ่มขึ้นหรือยัง เพื่อที่จะได้ขัดเกลาให้มากขึ้นอีก

    บางคนมีเมตตา กรุณา สงสารคนที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน แต่ว่าศรัทธานั้นมากพอที่จะช่วยเหลือด้วยหรือยัง หรือเพียงแต่คิดสงสาร เห็นใจ ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตใจที่ดี แต่ศรัทธานั้นก็ยังไม่มีกำลัง ถึงกับจะช่วยด้วย ซึ่งถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังเพิ่มขึ้นจะไม่คิดเมตตาหรือกรุณาแต่เพียง ในใจ แต่จะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการเกื้อกูลเป็นประโยชน์ต่อผู้นั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น การที่ศรัทธาและกุศลจิตจะเกิด ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงเหตุ และลักษณะของศรัทธาด้วยว่า

    ศรัทธามีความเชื่อในกุศลเป็นลักษณะ มีความเลื่อมใสเป็นรสะ มีความ ไม่ขุ่นมัวเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเป็นปทัฏฐาน หรือมี โสตาปัตติยังคะเป็นปทัฏฐาน

    มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา จะเห็นได้ชัดว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิดแสดงว่าขณะนั้นท่านมีศรัทธาในวัตถุ คือ ในกุศลประการนั้น เพราะว่าศรัทธาในการกุศล ของแต่ละคนก็ต่างกันไปตามการสะสม บางคนศรัทธาที่จะทำบุญถวายอาหาร แก่พระภิกษุสงฆ์ บางคนมีศรัทธาที่จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก สำหรับตัวท่านเอง ก็พิจารณาได้ว่า ศรัทธาของท่านมีอะไรเป็นวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของศรัทธา ท่าน ศรัทธาอย่างไร ท่านทำอย่างนั้น ท่านมีความเลื่อมใสที่ไหน ท่านก็มีการทะนุบำรุงเสียสละทำประโยชน์ในที่นั้น

    เป็นเรื่องที่จะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า กุศลจิตจะเกิดได้มากขึ้น ถ้าระลึกถึงศรัทธาในกุศล แม้แต่การต้อนรับมิตรสหาย ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศลจิตเหมือนกัน ใช่ไหม มีศรัทธาที่จะโอภาปราศรัย มีศรัทธาที่จะมีอามิสปฏิสันถาร หรือธัมมปฏิสันถาร ซึ่งทุกคนรู้จักจิตใจของตนเองดียิ่งกว่าคนอื่น เพราะว่าคนอื่นย่อม ไม่สามารถรู้จักจิตใจของท่านได้

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลให้บุคคลอื่นที่สนใจในธรรม โดยให้หนังสือธรรมบ้าง หรือว่าอธิบายธรรมบ้าง และบางท่านก็แปลหนังสือธรรม ซึ่งท่านผู้หนึ่งท่านถามว่า ในขณะที่ท่านกำลังช่วยเหลืออยากให้คนอื่นได้เข้าใจ พระธรรม ขณะนั้นท่านไม่เคยคิดเลยว่า เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นศรัทธาของท่านเป็นไปในประเภทใด

    นี่ก็แสดงลักษณะของศรัทธาที่ละเอียด จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ก็ควรพิจารณาว่า กุศลใดๆ ก็ตามที่กระทำโดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน นั่นแสดงยิ่งกว่าคำพูดที่ว่า ต้องการดับกิเลส เพราะถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว ทำไมจึงทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง โดยไม่ได้หวังสิ่งใด แม้แต่ที่จะคิดว่า เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่การไม่หวังนั่นแหละเป็นการแสดงว่า ต้องการดับกิเลส โดยไม่จำเป็นต้องคิด เป็นคำว่า การกระทำอย่างนี้เพื่อที่จะได้ดับกิเลส หรือบรรลุมรรคผลนิพพาน

    ถ้าพิจารณาถึงบางท่าน ซึ่งอาจจะมีศรัทธาและพูดว่า ต้องการที่จะดับกิเลส แต่ไม่ขวนขวาย ไม่กระทำสิ่งใดที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส ย่อมแสดงให้เห็นว่า ศรัทธายังไม่เท่ากับการทำประโยชน์ต่อผู้อื่นในการที่จะให้เขาเข้าใจในพระธรรม แม้ไม่เอ่ยว่าเพื่อดับกิเลสหรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ขอถือโอกาสอนุโมทนาทุกๆ ท่าน ที่ร่วมกันดำเนินงานเผยแพร่พระธรรม ทางวิทยุ ทั้งท่านที่ได้บริจาคปัจจัยเป็นค่าเช่าสถานี ท่านที่ได้พยายามหาสถานีวิทยุ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญาความเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ท่านที่บริจาคปัจจัยเพื่อ การพิมพ์หนังสือธรรม เป็นธรรมบรรณาการ ซึ่งงานทุกอย่างนี้จะเห็นศรัทธาได้ แต่ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังก็อาจจะไม่ทราบว่า ต้องมีศรัทธาทุกย่างก้าว หรือทุกการเคลื่อนไหว ในการที่จะติดต่อหาสถานี ในการที่จะจัดทำเทปออกอากาศเป็น จำนวนมาก เพราะว่าไม่ใช่เพียงสถานีเดียว ต้องมีศรัทธาในการติดต่อ ในการส่งเทป ในการรับเทป ในการตรวจสอบเทป เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ได้ฟัง ได้เห็น จะทำให้ท่านได้อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านที่ร่วมกันในการเผยแพร่พระธรรม และในการจัดตั้งกลุ่มสนทนาธรรม

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็เริ่มที่จะเห็นศรัทธาของท่านเองและบุคคลอื่น ซึ่งจะต้องอบรมเจริญไป จนกว่าจะถึงวันหนึ่งที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆ ด้วยการพิจารณาจิตใจ และให้กุศล เจริญเพิ่มขึ้น

    . ศรัทธากับฉันทะนี้ใกล้กันมาก

    สุ. ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ

    . เป็นกุศลล้วนหรือเปล่า

    สุ. ฉันทะเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดได้กับทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต

    . เป็นได้ทั้งสองอย่าง

    สุ. แต่ศรัทธาเป็นอกุศลไม่ได้

    . ที่ว่าทำโน่นทำนี่ด้วยความศรัทธา ผมพิจารณาดูแล้ว เฉียดๆ กับฉันทะอยู่เสมอ

    สุ. ในขณะที่กุศลจิตเกิด มีทั้งศรัทธาและฉันทะ ในขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็มีทั้งฉันทะและอกุศล แต่ศรัทธาไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

    . ศรัทธาบางทีแรงยังไม่พอ ต้องบวกกับฉันทะ ถ้าไม่มีฉันทะไม่ทำ ถ้ามีฉันทะด้วย รู้สึกว่าจะทำ

    สุ. พระผู้มีพระภาคได้ทรงจำแนกธรรมออกเป็นหลายหมวด และใน บางแห่งก็ทรงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิริยะด้วย แต่ลักษณะของศรัทธา เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดว่า ทำให้ใจผ่องใสจากอกุศล ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิต เพราะเวลาที่มีความเชื่อในอกุศล ในความ เห็นผิด ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นศรัทธา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะขณะนั้นไม่ใช่สภาพของจิตที่ใสสะอาดปราศจากอกุศล แต่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    สำหรับการมีศรัทธาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเริ่มจากศรัทธา ในชีวิตประจำวัน ในการฟังพระธรรม ในการละกิเลส หรือว่าบรรเทากิเลส เพิ่มศรัทธายิ่งๆ ขึ้น ซึ่งจะต้องสะสมไปจนกระทั่งถึงศรัทธา

    ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วปัญญาก็เจริญไม่ได้

    ขณะนี้เองที่กำลังเห็น รู้ได้ว่าศรัทธาเกิดไหม เมื่อไร เมื่อมีการระลึกศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาขณะใด ขณะนั้นก็มีศรัทธา จึงระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าโดยขั้นของการฟัง พระธรรมทุกคนเชื่อในขณะนี้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้กำลังเกิดดับ โดยเหตุผลที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมไว้โดยละเอียดจึงรู้ว่า ทางตาต้องดับในขณะที่กำลังได้ยิน กำลังได้ยินเป็นสภาพของจิตที่รู้เฉพาะเสียง ในขณะนั้นจะมีการเห็นด้วยไม่ได้

    นี่เป็นความเชื่อด้วยศรัทธา เมื่อมีความเชื่อมั่นอย่างนี้จริงๆ ก็มีหนทางที่จะทำให้ได้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม โดยระลึกลักษณะของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกขณะใด ก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาในขณะนั้น ซึ่งจะต้องมีศรัทธาต่อไปอีก อย่าให้ศรัทธานั้นหยุดเสีย เพราะถ้าจับ ด้ามมีดและหยุดจับ ด้ามมีดนั้นก็สึกไม่ได้ ฉันใด การที่จะมีศรัทธาพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า จะประจักษ์แจ้งในการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่สภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ซึ่งจะทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเห็นประโยชน์

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฐานสูตร แสดงลักษณะของผู้มีศรัทธา ๓ สถาน คือ

    เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังธรรม ๑ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน ๑

    ข้อความใน อรรถกถาฐานสูตร มีว่า

    เล่ากันมาว่า ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร มีพราหมณ์สองคน ได้ทราบเกียรติคุณของพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมณฑป (ที่เกาะลังกา ตัวท่านเอง อยู่ที่ประเทศอินเดีย ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร) ท่านคิดกันว่า เราสองคนควรจะไปหาภิกษุนั้น ดังนี้ ทั้งสองคนจึงออกจากพระนครเดินทางไป คนหนึ่งสิ้นชีวิต ในระหว่างทาง คนหนึ่งไปถึงฝั่งทะเล ลงเรือที่ท่ามหาดิตถ์มายังอนุราธปุระ ถามว่า กาฬวัลลิมณฑปอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า ที่โรหณชนบท เขาไปถึงที่อยู่ของ พระเถระ พักในเรือนประกอบธุรกิจใกล้จุลลนครคาม ได้ปรุงอาหารเพื่อถวายพระเถระ ถามถึงที่อยู่ของพระเถระเพื่อที่จะได้นมัสการท่านแต่เช้าๆ แล้วไปยืนอยู่ท้ายประชาชน เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลทีเดียว เขายืนอยู่ตรงนั้นแหละครู่หนึ่ง ไหว้ แล้วเดินเข้าไปหาอีก จับข้อเท้า (ของพระเถระ) ไว้แน่น แล้วกราบเรียนว่า พระคุณเจ้าสูงมากขอรับ

    ก็พระเถระนั้น ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป พอได้ขนาดเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น เขาจึงกราบเรียนท่านอีกว่า พระคุณเจ้าไม่ได้สูงเกินหรอก แต่คุณความดีของ พระคุณเจ้าแผ่ไปตามน้ำทะเลสีคราม ท่วมท้นถึงพื้นชมพูทวีปทั้งหมด แม้กระผมนั่งอยู่ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร ก็ได้ยินเกียรติคุณของพระคุณเจ้า เขาได้ถวาย ภิกษาหารแด่พระเถระ มอบไตรจีวรของตนบวชในสำนักของพระเถระ ดำรงอยู่ในโอวาทของท่านแล้ว ได้บรรลุอรหัตตผลโดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๕ ตอนที่ ๑๕๔๑ – ๑๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564