แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290


    ครั้งที่ ๑๒๙๐


    สาระสำคัญ

    ครุกรรมต่างกับอนันตริยกรรม

    ไม่มีใครเลือกเกิดได้ (กุศลกรรมและอกุศลกรรมนำเกิด)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


    ถ. เราจะทำอย่างไร ที่บิดามารดาร่วมกัน และจิตเราก็ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาพอดี กรรมอันใดที่จะพาไป

    สุ. เป็นเรื่องของกรรม ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเลย เพราะว่าโลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล และไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลกมนุษย์ในชมพูทวีป ในทวีปอื่นก็มีด้วย ในจักรวาลอื่นก็มีด้วย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะต้องวิตกห่วงใยเลย

    สำหรับเรื่องของการเกิด ถ้าเกิดในสวรรค์ก็ไม่ต้องอาศัยมารดาบิดา แล้วแต่กรรม ถ้าเกิดในอบายภูมิ ก็อาจจะเกิดในไข่ เป็นอัณฑชะ หรือเกิดในครรภ์ เป็น ชลาพุชะ โดยที่ไม่ต้องอาศัยไข่ หรือเป็นสังเสทชะกำเนิด คือ อาศัยเถ้าไคลสิ่งสกปรกทั้งหลาย หรือถ้าเกิดในนรก ก็เป็นโอปปาติกะกำเนิด

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ได้มีแล้ว ได้เกิดมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย จะไม่มีการเกิด และแล้วแต่ว่ากรรมใดเป็นปัจจัย เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ทุกคนรู้ว่าต้องตายแน่ แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำไว้มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ยังไม่ทราบแน่ถ้าไม่ใช่ครุกรรมว่าจะเกิดที่ไหน

    ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌาน และฌานไม่เสื่อม ฌานจิตคล่องแคล่วมาก สามารถที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้โดยรวดเร็ว เป็นวสี เป็นความชำนาญ จนกระทั่งก่อนจุติจิตจะเกิด ฌานจิตเกิดก่อนจุติ ผู้นั้นก็ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใดในรูปพรหม ๑๖ ภูมิ ตามระดับขั้นของฌานว่า เป็นผลของปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน

    แต่ใครทำบ้าง ความสงบของจิตจนกระทั่งถึงขั้นฌาน เพราะการที่จิตจะบรรลุถึงความสงบขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ยากแสนยาก ไม่แน่เลยว่าในชาตินี้จะสามารถให้ฌานจิตเกิดได้ แม้เกิดแล้ว ถ้าไม่ชำนาญฌานจิตก็เสื่อม เพราะฉะนั้น ฌานจิตทั้งหลาย ไม่ชื่อว่าอนันตริยกรรม แต่ชื่อว่าครุกรรม เพราะเป็นกรรมที่มีกำลัง ที่จะทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไป ถ้าฌานไม่เสื่อม

    แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล อนันตริยกรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้ภายหลังบุคคลนั้นจะอบรมเจริญกุศลทุกขั้น แต่แม้อย่างนั้น อกุศลที่เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมที่ให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นขัดขวาง คือ หลังจากจุติจิตดับแล้ว อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ในอบายภูมิสืบต่อทันที โดยที่กุศลอื่นไม่สามารถจะให้ผลคั่นได้

    นี่คือความต่างกันของครุกรรมฝ่ายกุศล ได้แก่ มหัคคตกุศล คือ ฌานจิต ไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่ทางฝ่ายอกุศล ครุกรรมเป็นอนันตริยกรรม เมื่อจุติจิตดับแล้ว ทำให้ปฏิสนธิที่เป็นอกุศลวิบากเกิดสืบต่อทันทีในอบายภูมิ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ทำฌานจิต ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เมื่อจุติจิตเกิดและ ดับไป จะปฏิสนธิที่ไหน

    สำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์ในชาตินี้ อาจจะเป็นคนที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวกตั้งแต่เกิด เป็นสุคติปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ แต่เมื่อจุติจิตดับแล้ว อาจจะเกิดในสวรรค์ก็ได้ ในมนุษย์ก็ได้ พ้นสภาพของการเป็นสุคติปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก และอาจจะปฏิสนธิด้วย ติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกก็ได้

    เพราะฉะนั้น เพียงภพหนึ่งชาติหนึ่งที่ปฏิสนธิจะกำหนดว่าเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ กรรมหนึ่งย่อมให้ผลทำให้ปฏิสนธิได้แม้ ในสุคติภูมิ หรือในอบายภูมิ ซึ่งเป็นกามาวจรภูมิ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญฌาน

    ถ้าบุคคลในชาตินี้เป็นติเหตุกปฏิสนธิ คือ เกิดพร้อมด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ทำอกุศลกรรมหรืออนันตริยกรรม เวลาที่จุติจิตเกิดและดับไป ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ก็พ้นสภาพจากความเป็นบุคคลที่ประกอบด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกในขณะที่เป็นภวังค์ และก็เกิดด้วยอกุศลวิบากในอบายภูมิ

    ถ. ผู้ที่ได้ฌาน เมื่อจุติจิตเกิดขึ้น ฌานจิตจะเกิดก่อนจุติจิต แต่ท่าน พระเทวทัตก็เคยได้ฌาน เวลานี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ท่านพระเทวทัตอยู่ในอเวจีมหานรก หมายความว่าฌานจิตไม่ได้เกิดก่อนจุติจิตเพราะเสื่อมไป ใช่ไหม สำหรับผู้ที่ทำอนันตริยกรรม เช่น ทำปิตุฆาต มาตุฆาต เป็นต้น อนันตริยกรรมนั้นเสื่อมได้ไหม

    สุ. ไม่มีทางที่อนันตริยกรรมจะเสื่อม จึงชื่อว่าอนันตริยกรรม หมายความว่า ให้ผลในชาติต่อไปโดยไม่มีกรรมอื่นคั่น และทำให้ปฏิสนธิเกิดด้วย เพราะสำหรับอกุศลกรรมบางกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นชนกกรรม แต่บางกรรมให้ผลอุปถัมภ์ ไม่ทำให้เกิด คือ เมื่อกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว กรรมนั้นก็อุปถัมภ์ให้ผลของกรรมอื่นนั้นยืดยาวต่อไปอีก แต่สำหรับอนันตริยกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจาก จุติจิต โดยไม่มีกรรมอื่นมาคั่นได้

    ถ. สำหรับบุคคลที่ไม่มีครุกรรมและอนันตริยกรรม ก่อนจุติจิตจะเกิดต้องมีมรณาสันนวิถี เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้มรณาสันนวิถีเป็นกุศล

    สุ. มรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไร จึงคิดว่าจะทำได้ รู้ได้อย่างไรว่า มรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไร ไม่มีใครรู้เลย เมื่อไม่มีใครรู้ จะทำเมื่อไร ข้อสำคัญ คือ เมื่อไม่รู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้น จะทำเมื่อไร

    และถ้ารู้ ซึ่งไม่มีทางจะรู้ จะทำได้ไหม ก็ยังทำไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะเหตุใด เพราะถ้ารู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดเดี๋ยวนี้เอง ทำซิ จะทำอย่างไร ทำได้ไหม

    ถ. ก็สติเกิด

    สุ. ถ้าอย่างนั้นสติเกิดเลย เพราะมรณาสันนวิถีจะเกิดขณะไหนได้ทั้งสิ้น เมื่อรู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดขณะไหนได้ทั้งสิ้น และสติจะเกิด สติก็ควรจะเกิดไป เรื่อยๆ เพราะมรณาสันนวิถีอาจจะเกิดขณะหนึ่งขณะใดก็ได้

    ถ. จะมีเวลา มีวิธีที่จะเตรียมตัวไหม

    สุ. เดี๋ยวนี้

    ถ. ทำอย่างไร

    สุ. สติเกิดเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เกิด ก็ต้องฟังพระธรรมเป็นปัจจัย เป็นเครื่อง ปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ เพราะสติอยู่ดีๆ จะเกิดตามใจชอบไม่ได้เลย

    ถ. ถ้าเจริญมรณสติ จะช่วยได้ไหม

    สุ. มรณสติคืออย่างไร

    ถ. คือ พิจารณาถึงความตายบ่อยๆ

    สุ. หรือขณะที่สติเกิดเดี๋ยวนี้ แสดงแล้วว่าเป็นมรณสติ เพราะไม่ประมาทในความตาย สติปัฏฐานจึงระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นี่คือการแสดงว่าเป็นมรณสติอย่างยิ่ง โดยที่ไม่ต้องอ้อมค้อมไปนึกถึงความตายก่อน นึกตั้งยาวนาน สติปัฏฐานก็ไม่เกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และก็รู้โดยที่ไม่ต้องคร่ำครวญว่า มรณสติเป็นสิ่งที่จะเกิดเมื่อไร วันไหน ที่ไหน โดยอาการอย่างไร ก็ไม่รู้ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนี้ กับการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นั่นย่อมต้องเป็นมรณสติอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่ประมาทในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ. วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร

    สุ. สำหรับรูปฌาน โดยนัยของฌาน ๔ มีปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔

    ถ้าโดยนัยของฌาน ๕ มีปัญจมฌาน คือ จตุตถฌานโดยนัยของจตุกกนัยนั่นเอง นั่นเป็นรูปฌาน

    แต่ผู้ที่ได้บรรลุรูปฌานที่ ๕ แล้ว ก็ยังพิจารณาเห็นว่า ใกล้เคียงกับการที่จะมีรูปเป็นอารมณ์ เพราะยังมีรูปด้วย เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงเพิกรูป หมายความว่าละสัญญาความจำในรูปทั้งหมด โดยระลึกถึงอากาศที่กว้างใหญ่และไม่มีรูป ไม่มีสัณฐาน เป็นอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน แต่ไม่ใช่จะถึงได้โดยง่าย เรื่องของฌานแต่ละฌานเหมือนกับง่ายโดยชื่อ แต่โดยการบรรลุแล้ว เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า อรูปฌาน ต้องเป็นผู้ที่เจริญถึงปัญจมฌานและเห็นโทษของรูป เพราะว่ายังใกล้ต่อการที่จะมีรูปเป็นอารมณ์ จึงเจริญอรูปฌาน ซึ่งมี ๔ ขั้น

    อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน มีอากาศซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์

    อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน คือ ฌานที่มีวิญญาณที่มีอากาศเป็นอารมณ์

    อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน นึกถึงสภาพที่ไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์

    อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ ฌานที่มีสัญญาอย่างละเอียดของอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์

    และผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ที่บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเท่านั้นที่จะเข้านิโรธสมาบัติ คือ ดับจิตเจตสิกได้ชั่วระยะหนึ่ง ไม่เกิน ๗ วัน

    ถ. ก่อนที่จุติจิตจะเกิด เราระลึกเรื่องราวเมื่อวาน ปีก่อน หรือหลายสิบปีก่อนได้ หรือตอนเป็นเด็กก็จำได้ แต่เวลาที่จุติจิตเกิดและดับ ทุกสิ่งทุกอย่างลืมหมด จุติจิตมีอำนาจอะไรที่ทำให้เราลืมหมด

    สุ. หมดสภาพของความเป็นบุคคลนี้แล้ว เมื่อหมดสภาพจะจำได้อย่างไร เป็นบุคคลอื่นแล้ว เป็นบุคคลใหม่แล้ว จำชาติก่อนได้ไหม พิสูจน์ได้ทันที ที่เกิดมา ในชาตินี้จำชาติก่อนได้ไหม ไม่ได้ เพราะพ้นจากสภาพของความเป็นบุคคลในชาติก่อน ไม่มีเหลือ

    ปฏิสนธิในชาตินี้ เกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งกรรมที่ต่างจากกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิ ในชาติก่อน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิในชาตินี้ เป็นผลของกรรมใหม่อีกกรรมหนึ่ง ไม่ใช่เป็นผลของกรรมเดียวกันกับกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในชาติก่อน เปลี่ยนสภาพหมด อยากเปลี่ยนสภาพหรือยัง เบื่อความเป็นบุคคลนี้หรือยัง ไม่ค่อยจะดีนัก เปลี่ยนเสียก็ดี หรือว่าอย่างไร

    ถ. ที่พระองค์ทรงแสดงว่า ผู้ที่ตายจากมนุษย์มาเกิดเป็นมนุษย์นั้น อุปมาเหมือนขี้เล็บ ส่วนที่ตายจากมนุษย์และไปเกิดในภพภูมิอื่น อุปมาปริมาณเท่าปฐพีนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ยากถึงขนาดนั้น แต่โลกปัจจุบันนี้ ทำไมมนุษย์เพิ่มปริมาณขึ้นทุกทีๆ เพราะเหตุใด

    สุ. ต้องไปเทียบกับจำนวนของสัตว์ดิรัจฉานว่า มากยิ่งกว่ามนุษย์อีก ในบ้านหนึ่งๆ นับดูว่ามีมนุษย์กี่คน และสัตว์ดิรัจฉานมีเท่าไร ยุงกี่ตัว มดกี่ตัว ใต้พื้นดินมีอะไรอีก

    ถ. ถ้าเทียบส่วนแล้ว ผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ไม่น่าจะมากถึงขนาดนั้น

    สุ. นี่ในบ้านเดียว ในแต่ละบ้าน และในน้ำ ในทะเลที่กว้างใหญ่ ในอากาศ บนต้นไม้ ต้นไม้ต้นหนึ่งมีสัตว์กี่ตัว หนอนกี่ตัว มดกี่ตัว แมลงกี่ตัว แต่ข้อสำคัญ ด้วยเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น

    เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนมีอกุศลจิตเกิดมาก หรือว่ามีกุศลจิตเกิดมาก ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน อาจจะคิดว่าท่านมีสมบัติมาก แก้วแหวนเพชรนิลจินดาต่างๆ แต่สมบัติเหล่านั้นก็ยังไม่ใช่ของของตนจริงๆ เพราะถ้าท่านจากโลกนี้ไปแล้ว แก้วแหวนเงินทองทรัพย์สมบัติ บ้านเรือนนั้น เป็นของใคร แต่กรรมที่แต่ละคนทำ เป็นของของตน ซึ่งคนอื่นจะเอาไปไม่ได้เลย โจรจะลักไปไม่ได้ คนอื่นจะยื้อแย่งด้วยประการใดๆ ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่เหมือนวัตถุสิ่งของที่ท่านถือว่า ท่านมีสมบัติ มีของของท่านมาก แต่ความจริงสมบัติทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งท่านเห็นเป็นวัตถุสิ่งของของท่าน แท้จริงแล้วไม่ใช่ของของท่าน แต่สิ่งที่เป็นของของตน คือ ของของท่านจริงๆ นั้น คือ กรรม

    และในวันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดมาก หรืออกุศลจิตเกิดมาก มิฉะนั้นแล้วจะไม่ ทรงแสดงว่า การเกิดในอบายภูมิมีมากกว่าการเกิดในสุคติภูมิ ตามเหตุ

    ถ. การที่เรามีเมตตาหรือกรุณา คงจะไม่ได้ผลต่อคนที่เราเมตตาหรือกรุณา เพราะคนที่เราเมตตากรุณาจะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็แล้วแต่กรรมของเขา ฉะนั้น ที่เราเมตตาหรือกรุณา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เขาเลย

    สุ. ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาจะไม่ได้รับผล ถ้ามีเมตตา และให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุข เขาก็ได้แล้ว ทำไมว่าไม่ได้ประโยชน์

    ถ. ก็แล้วแต่กรรมของเขา

    สุ. แล้วแต่วิบากของเขา มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านเห็นสุนัขอดอาหาร ท่านก็ตั้งใจมากที่จะนำอาหารไปให้สุนัขตัวนั้น เมื่อถึงวันที่ท่านเตรียมอาหารเพื่อที่จะให้สุนัขตัวนั้น สุนัขตัวนั้นก็ไม่อยู่ แสดงให้เห็นว่า เป็นวิบากของสุนัขตัวนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ท่านให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดด้วยเมตตาจิต และวิบากของบุคคลนั้นมี เขาก็ได้รับ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564