แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269


    ครั้งที่ ๑๒๖๙


    สาระสำคัญ

    เรื่องของเคล็ดลับไม่มีในพระพุทธศาสนา (มีแต่ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก)

    สาวก คือ ผู้ฟัง

    ปฏิบัติถูก หมายความว่าอย่างไร (ไม่ใช่นึกถึงชื่อ)

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖


    ถ. การเจริญสติปัฏฐานนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ สติปัฏฐานหนึ่ง คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งพระองค์ทรงแสดงว่า จิตมีราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากราคะ หรือจิตมีโทสะ มีโมหะ ก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ มีโมหะ แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ บางครั้งสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ไม่ทราบว่าอาจารย์มีเคล็ดลับอะไรที่จะให้รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ยังแยกไม่ออก

    สุ. เรื่องของเคล็ดลับไม่มีในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามีแต่ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ตั้งแต่ขั้นของการฟัง เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัท ตั้งแต่อัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร เป็นต้นไป เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องเคล็ดลับ แต่ เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้น ไม่มีประโยชน์

    บางท่านเล่าให้ฟังว่า มีผู้กล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาธรรม ไม่ต้องฟัง ปฏิบัติเลยทันที ถ้าท่านผู้นั้นมีชีวิตอยู่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน คงจะไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขออย่าทรงแสดงธรรมเลย เพราะไม่ต้องมีใครฟังพระธรรม ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    แต่ที่ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เป็นพระมหากรุณา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยเร็ว คือ ไม่ใช่ผู้ที่เป็นอุคฆฎิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่เป็นผู้ที่จะต้องฟังพระธรรม และพิจารณาไตร่ตรองเหตุผลโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ที่จะรู้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และธรรมใดเป็นธรรมที่บุคคลอื่นเข้าใจและคิดว่า เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ไม่ใช่เคล็ดลับ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจว่า จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพียงสั้นๆ อย่างนี้ สติ ก็ไม่ระลึก หรือระลึก ก็อาจจะระลึกไม่ถูก เพราะโดยมากชินกับการพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูปธรรม เช่น มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือเป็นเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู เป็นกลิ่นที่สามารถรู้ได้ทางจมูก เป็นรสต่างๆ ไม่ว่าจะวิจิตรอย่างไร ก็ยังสามารถที่จะลิ้มได้ทางลิ้น

    แต่นามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ตลอดพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหมด ลักษณะของจิต คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืม การที่จะเข้าใจในลักษณะของจิต ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า ขณะที่รู้อารมณ์ต่างๆ นั้น มีจริง และเป็นจิต

    เช่น ขณะที่นอนหลับสนิทเป็นภวังค์ ไม่มีการเห็นเลย จะรู้ได้ไหมว่า จิตขณะไหน เพราะขณะนั้นไม่เห็น ขณะที่เป็นภวังค์ก็ไม่ได้ยินอะไร จะรู้ลักษณะของจิตได้ไหมในขณะที่ไม่ได้ยินอะไรเลย หรือในขณะที่ไม่ได้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ในขณะที่เป็นภวังค์ นอนหลับสนิท จะรู้ได้ไหมว่า จิตเป็นสภาพที่คิดนึก

    แต่เมื่อใดที่จิตไม่เป็นภวังคจิต จิตเป็นวิถีจิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ เช่น เป็นรูปธรรมปรากฏทางตา เป็นนามธรรมที่กำลังรู้คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ จะฟังอย่างนี้ในฐานะที่เป็นสาวกไปอีกสักกี่กัปก็ตามแต่ จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคง ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น คือรู้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่มีรูปร่างลักษณะ เป็นแต่เพียงอาการหรือเป็นสภาพที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ

    ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ขณะนั้นก็จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งต่างกับรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ถ. ที่ผมถาม ผมหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติ ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว แต่สติปัฏฐานเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่า ขณะนี้จิตเป็นโลภะ หรือเป็นโมหะ หรือเป็นมหากุศล เพราะโดยเวทนา โลภะก็ดี โมหะก็ดี มหากุศลก็ดี เวทนาเป็นอุเบกขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติ เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นพิจารณาจิตของตัวเองในขณะนั้น ยังมีความเห็นผิด เข้าใจผิดได้ เช่น หลายท่านบอกว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพลักษณะจิตที่กำลังง่วง ท่านบอกว่าเป็นโมหมูลจิต แต่โดยการศึกษารู้ว่า ขณะที่ง่วงเป็นโมหมูลจิตไม่ได้ ต้องเป็นโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริกดวงหนึ่งใน ๔ ดวง หรือ เป็นโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริกจิต ๑ ดวง คือ ดวงใดดวงหนึ่งใน ๕ ดวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจแล้ว ปฏิบัติถูกแล้ว แต่ก็ยังเห็นผิดว่า โลภะ โทสะ เป็นโมหะได้

    สุ. อย่าลืม ปฏิบัติถูก หมายความว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นระลึกลักษณะสภาพปรมัตถธรรม ไม่ใช่นึกถึงชื่อ

    ขณะที่ปฏิบัติถูก ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ไม่ใช่ขณะที่กำลังพยายามนึกถึงชื่อว่า ขณะนี้จิตชื่อว่าอะไร

    ต้องเข้าใจว่า ความรู้ที่เกิดจากการฟัง เพื่อให้เข้าใจว่ามีจิตหลายประเภท เพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่อัตตา จิตแต่ละประเภทที่เกิดต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่เกิดระลึก ก็จะเพียงแต่เดาว่า วันนี้ทั้งวันเป็นโลภะ

    แต่วันนี้ทั้งวัน ขณะนี้เป็นอะไร ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ นั่นคือขณะที่ศึกษาชื่อต่างๆ และเรื่องของปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่ขณะที่สติปัฏฐานเกิด

    ถ้าเป็นขณะที่ปฏิบัติถูก เป็นสัมมามรรค เป็นสติปัฏฐาน สติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่นึกถึงชื่อ และในขณะที่กำลังระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมนั้นที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏ ถ้านามธรรมไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูปธรรมนั้น รูปธรรมนั้นปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขั้นต้น ยังไม่มีใครสามารถแยกขาดลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมโดยการประจักษ์ แต่สามารถจะเข้าใจลักษณะของรูปธรรมได้ด้วยการฟัง สามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมได้จากการฟัง แต่ว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟัง เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งขณะที่สติระลึก น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของรูปหรือนามซึ่งต่างกัน ทีละอย่าง และทีละขณะ แต่ไม่ใช่พยายามไปใส่ชื่อว่า ขณะนี้เป็นโมหมูลจิต หรือว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เพราะถ้าเรียกชื่อ ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะว่า จิตเป็นสภาพรู้ที่ไม่ใช่ตัวตน

    ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ กัน ในวันหนึ่งๆ และจะไม่ย้อนกลับมาอีก อย่าลืม สภาพธรรมทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย และดับไป และจะไม่ย้อนกลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะไหนได้ทั้งสิ้น เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อกี้หมดไปแล้ว หรืออะไรจะเกิดต่อ เป็นจิตชื่ออะไร ไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ แต่ให้ทราบว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น สภาพรู้เป็นอย่างไร สภาพรู้ อาการรู้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงชื่อเป็นอย่างไร นั่นคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าสามารถน้อมพิจารณารู้ลักษณะของสภาพรู้ และรู้ในอาการรู้ว่า เป็นสภาพรู้ แต่ละขณะ เช่น ขณะที่เห็น เป็นสภาพรู้ขณะหนึ่ง ขณะที่ได้ยิน เสียงปรากฏ เป็นสภาพรู้อีกขณะหนึ่ง ถ้ารู้ในลักษณะของสภาพรู้ ขณะนั้นไม่ใช่ชื่อ และจะละการยึดถือสภาพรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพรู้ และในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าจะใส่ชื่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ความเข้าใจขั้นการฟังอย่างหนึ่ง ความเข้าใจขั้นพิจารณาเหตุผลอย่างหนึ่ง ความเข้าใจในขณะที่สติเกิดและเริ่มศึกษาอีกอย่างหนึ่ง และความรู้ชัดประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึกนั้น ก็อีกอย่างหนึ่ง

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน วันหนึ่งๆ ขณะที่ระลึกรู้ในปรมัตถธรรมนั้น เมื่อระลึกรู้ในปรมัตถธรรม เราจะทำเป็นบันทึกได้ไหม

    สุ. เพื่ออะไร

    ถ. เพื่อเปรียบเทียบว่า พรุ่งนี้จะมากกว่าไหม หรือจะน้อยกว่า หรือจะไม่มี

    สุ. ต้องระลึกอยู่เสมอว่า เพื่ออะไร เพื่ออะไร

    ถ. เพื่อว่าวันต่อไปควรจะมากกว่า

    สุ. ถ้าน้อยกว่า

    ถ. น้อยกว่า ก็จะได้ใช้วิริยะต่อไป

    สุ. และระลึกรู้กี่ขณะ

    ถ. นั่นซิ กำลังจะถามอาจารย์ว่า ในขณะที่ระลึกรู้แล้ว ผมขีดไว้ ๑ ขณะ ต่อไปจะนับอีกหนึ่งขณะ

    สุ. ในขณะที่กำลังขีด ก็หลงลืมสติแล้ว แทนที่จะขีด ระลึกต่อไปจะดีกว่าไหม

    ถ. ระลึกต่อไป ก็ถือว่าได้อีกหนึ่งขณะหรือ

    สุ. ในขณะที่ถือว่าได้อีกหนึ่งขณะ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน แทนที่จะถือว่า ได้อีกหนึ่งขณะ ก็เป็นสติที่ระลึกต่อไปเรื่อยๆ

    ถ. แต่ละครั้งในวันหนึ่งๆ ที่เราระลึกรู้ในปรมัตถธรรมแล้ว ระลึกรู้แล้ว จะต่อไปอีกว่า วันนี้สติระลึกตอนนี้ และเราก็ระลึกต่อไป เราไม่ยอมหยุด

    สุ. เก่ง เราไม่ยอมหยุดนี่เก่งจริงๆ

    ถ. เห็นทางตา วันนี้ตั้งแต่เช้าไม่เห็นเลย เวลาเห็น ได้มอง ได้อะไร

    สุ. นั่นหรือสติปัฏฐาน

    ถ. ทีแรกนั้นใช่ ต่อไปคงจะไม่ใช่

    สุ. ใช่ ในขณะไหน และไม่ใช่ในขณะไหน

    ถ. ใช่ ในขณะแรก

    สุ. ขณะแรกคือขณะไหน

    ถ. ขณะที่ระลึกรู้

    สุ. ขณะที่สติเป็นอนัตตาเกิดขึ้น จึงเป็นสัมมาสติ

    ถ. คราวนี้ทำให้คิดต่อไป

    สุ. คิดต่อไป ก็เป็นตัวตน

    ถ. เวลาเจริญสติ ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ และไม่ต้องคำนึงถึงว่า จิตนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล และทำอย่างไรจึงจะละอกุศล เจริญกุศลได้

    สุ. ลักษณะสภาพของอกุศลเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะสภาพของกุศลเป็น อีกอย่างหนึ่ง แม้ไม่ใช้ชื่อ ไม่ต้องมีการบัญญัติเรียกอกุศล สภาพที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลโดยลักษณะของธาตุนั้นๆ เอง โดยไม่ใส่ชื่อ สภาพที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล

    แต่ที่จะรู้ว่า สภาพใดเป็นกุศล สภาพใดเป็นอกุศล ต้องเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวไว้ในตำรา แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า โสมนัสใน โลภะต่างกับโสมนัสที่เป็นกุศลเพียงไร

    เวลาที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แท้ที่จริงในขณะนั้นถ้าสังเกตจะรู้ว่า เป็นความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สงบ ในขณะที่กำลังพอใจ เมื่อเป็นความพอใจในรูป ขณะนั้นไม่สงบ ขณะที่กำลังพอใจ ในเสียงเพลง ยุคนี้สมัยนี้ก็มีวงดนตรีหลายวงเป็นที่ชอบใจของหลายวัย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังเสียงดนตรีเสียงหนึ่งเสียงใด และรู้สึกเพลิดเพลินพอใจมาก ถ้าขณะนั้นสติระลึกจะรู้ได้ว่า ความโสมนัสพอใจในขณะนั้น ประกอบด้วยความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่ว่าจะในรส ในกลิ่น หรือในโผฏฐัพพะ

    ตรงกันข้ามกับขณะที่ฟังพระธรรมและเข้าใจขึ้น มีเหตุปัจจัยที่จะให้โสมนัส ความรู้สึกโสมนัสนั้น สงบ ขณะนั้นไม่มีความกระสับกระส่าย กระวนกระวายเหมือนขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของอกุศลเป็นอกุศล โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ลักษณะของกุศลก็เป็นกุศล ถ้าสติระลึก จึงสามารถรู้ความต่างกันได้ แต่ถ้าสติไม่ระลึก ก็เป็นสิ่งที่กล่าวไว้ในตำราว่า โสมนัสเวทนาเกิดกับอกุศลจิต คือ โลภมูลจิต ก็ได้ หรือว่าโสมนัสเวทนาเกิดกับกามาวจรกุศลจิตหรือมหากุศลจิตก็ได้ เท่านั้นเอง

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่เกิดเมตตาช่วยให้คนอื่นเข้าใจถูก ละอกุศลได้ ขณะนั้นจิตผ่องใส โสมนัสที่สามารถช่วยให้คนอื่นพ้นจากความเห็นผิด ในขณะนั้นจะต่างกับขณะที่ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะที่พอใจ จะเห็นได้ชัดว่า แม้ว่าเวทนาจะเป็นโสมนัส แต่โสมนัสเวทนาที่เกิดกับอกุศล ต่างกับโสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศล

    ถ. ขอคำอธิบายที่ว่า ไม่ติดในอนุพยัญชนะ

    สุ. นิมิตด้วยหรือเปล่า

    ถ. ต้องมีนิมิตอนุพยัญชนะด้วย

    สุ. ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจอรรถของการไม่ยึดมั่น หรือไม่ยินดี ไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะเมื่อเห็น สติไม่เกิด ย่อมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ จะไม่ให้ยินดีในนิมิตและ อนุพยัญชนะได้อย่างไร ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน

    ถ้ามีใครมาบอกว่า อย่ายินดีในนิมิตอนุพยัญชนะ

    สภาพธรรมไม่ใช่อัตตา ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครที่จะทำตามคำสั่งได้ว่า อย่ายินดี อย่าติดข้องในนิมิต ในอนุพยัญชนะ แต่ในขณะใดที่สติระลึก กำลังศึกษา เริ่มเข้าใจว่า ในขณะที่เห็น แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปเป็นรูปใหญ่ เป็นรูปที่มีอยู่ทั่วไปในรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสอาหารที่ปรากฏทางลิ้นก็ตาม หรือสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จะปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้

    ถ้าสติระลึกทางกาย รู้ว่าธาตุนี้มีจริง แต่สีไม่ปรากฏในขณะที่กระทบแข็งเพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น และรู้ว่าถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สีต่างๆ ก็ ไม่ปรากฏ จะทำให้ละคลายการติดในนิมิตอนุพยัญชนะลงทีละเล็กทีละน้อย เพราะมีความรู้ขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยการตั้งอกตั้งใจหลับหูหลับตา หรือว่าไม่มอง หรือว่ามองแล้ว ก็ทำไม่เห็น เป็นเรื่องการเสแสร้ง ไม่ใช่เรื่องของปัญญาที่เจริญจนกระทั่งสามารถที่จะไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมสามารถเข้าใจอรรถนี้ หรือผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานก็เริ่มที่จะเข้าใจ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ละทางเพิ่มขึ้น

    ถ. สภาพธรรมที่เราจะระลึกรู้ จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เราต้องศึกษา มาก่อนหรือเปล่า

    สุ. สิ่งที่มี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดง บุคคลอื่นย่อมไม่สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย

    ทุกคนเกิดมามีขันธ์ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ หรือจะกล่าวว่า มีร่างกาย มีจิตใจ และก็ยึดถือรูปร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าและจิตใจ รวมทั้งความรู้สึกแต่ละขณะว่าเป็นเรา แต่สิ่งนั้นไม่ใช่เรา มี แต่ไม่ใช่เรา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564