แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300


    ครั้งที่ ๑๓๐๐


    สาระสำคัญ

    อุเบกขาสันตีรณะมี ๕ กิจ

    มหาวิบากทำได้ ๔ กิจ

    พิจารณาจิตในจิต

    เห็นว่ากายเป็นกาย ไม่ใช่เรา

    โลภมูลจิตสามารถพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง (เว้นนิพพานและ โลกุตตรธรรม)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๗


    สุ. แต่ทางฝ่ายอกุศล ขอให้คิดดูว่า ตาก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี หูก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี จมูกก็ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้นก็ลิ้มรสที่ไม่ดี กายก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่ดี บ่อยๆ เนืองๆ มากๆ ตลอดทุกวันๆ จะเป็นอย่างไร ในเมื่อการเกิดในสุคติภูมิ เช่น ในมนุษยภูมิ เป็นผลของกุศล แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็ยังมีปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ไม่ดีบ้าง บ้างเท่านั้นนะ ได้ยินเสียงที่ไม่ดีบ้าง ได้กลิ่นที่ไม่ดีบ้าง ขณะนี้ไม่ใช่กลิ่นที่ไม่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น กลิ่นที่ไม่ดีบ้างจะเล็กน้อยสักเท่าไรเมื่อเทียบกับอกุศลวิบาก ซึ่งจะ ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องกระทบโผฏฐัพพะสิ่งที่ไม่ดี ตลอดเวลามากๆ นานๆ แม้ว่ามีจำนวนน้อย คือ ทางตาที่ทำกิจเห็น ๑ ดวง ทางหูทำกิจได้ยิน ๑ ดวง ทางจมูกทำกิจได้กลิ่น ๑ ดวง ทางลิ้นทำกิจลิ้มรส ๑ ดวง ทางกายทำกิจรู้โผฏฐัพพะ ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๕ ดวง และมีสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ อีก ๑ ดวง และมีสันตีรณจิตอกุศลวิบากเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต อีก ๑ ดวง ทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายรู้และดับไปก่อน เท่านั้นเอง เพียง ๗ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย ก็ทำให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงนี้เกิดขึ้น

    ซึ่งความจริงแล้ว ขอให้พิจารณาดูถึงความต้องการวิบากจิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าทุกคนเกิดมาไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส พอใจหรือไม่พอใจที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    หรือว่าเกิดมาแล้ว ต้องการเห็น แต่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีๆ ต้องการได้ยิน แต่ต้องการได้ยินสิ่งที่ดีๆ ต้องการได้กลิ่นที่ดีๆ ต้องการลิ้มรสที่ดีๆ ต้องการรู้โผฏฐัพพะที่ดีๆ ก็ยังต้องการอยู่

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็คือ เมื่อเกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้โผฏฐัพพะ ซึ่งสำหรับทางฝ่ายกุศล ต้องอาศัยปัจจัยอีก คือ เจตสิก อื่นๆ ที่จะทำให้เป็นพื้นฐานของจิตว่า เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้โผฏฐัพพะแล้ว พื้นฐานของจิตที่เมื่อได้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นแล้ว จะเกิดเป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ทางฝ่ายกุศลมีวิบากมากกว่าทางฝ่ายอกุศล

    กล่าวคือ ถ้าเทียบโดยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับกุศลวิบากและ อกุศลวิบากแล้ว ทางฝ่ายกุศลวิบากมีจำนวนมากกว่าทางฝ่ายอกุศลวิบากเพียง ดวงเดียว เพราะว่าสำหรับทางตา มีจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางหูมีโสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางจมูกมี ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางลิ้นมีชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางกายมีกายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน รวมตา หู จมูก ลิ้น กาย อกุศลวิบาก ๕ กุศลวิบาก ๕ เท่ากัน

    สำหรับสัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบาก ทางฝ่ายอกุศลวิบาก มีสัมปฏิจฉันนะ ๑ ทางฝ่ายกุศลวิบาก ก็มีสัมปฏิจฉันนะ ๑ เท่ากันอีก

    แต่สำหรับสันตีรณจิตเท่านั้น ที่ทางฝ่ายกุศลมี ๒ และทางฝ่ายอกุศลมี ๑ คือ ทางฝ่ายอกุศลมีอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ทางฝ่ายกุศลมีอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ขณะที่พิจารณาอารมณ์ที่ดีปานกลาง และมีโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก อีก ๑ ขณะที่พิจารณาอารมณ์ที่ดีเลิศหรือประณีต เพราะอารมณ์ทางฝ่ายกุศลจะประณีตจากชั้นมนุษย์ถึงชั้นสวรรค์ที่สูงขึ้น จนถึงสวรรค์ชั้นที่ ๖

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของวิบาก ไม่ต้องอาศัยเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดขึ้น เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยพอที่จะให้อเหตุกวิบากที่เป็นทั้งอกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ เกิดขึ้นได้

    แต่ความต่างกัน ไม่ใช่ต่างกันที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ต่างกันที่พื้นฐานของจิตซึ่งปฏิสนธิว่า พื้นฐานของจิตที่ปฏิสนธินั้น มีเหตุที่เป็นโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะว่าโสภณเหตุมี ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุคือปัญญา ถ้าจิตใดที่เป็นปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเหตุ อโทสเหตุ ก็จัดเป็นบุคคลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งผลของกรรมที่ประณีตก็จะทำให้มีความสุขสมบูรณ์ตามระดับขั้นของกรรมนั้นๆ แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ความต่างอยู่ที่ว่า เห็นสิ่งที่ดีด้วยกัน ได้ยินเสียงที่ดีด้วยกัน เป็นต้น แต่ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดหลังจากที่เห็นสิ่งที่ดี และได้ยินเสียงที่ดี หรืออาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ตาม แต่ผู้ที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมด้วยปัญญา ก็จะเป็นพื้นฐานทำให้มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาเกิดต่อจากการเห็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดีได้

    เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายกุศล นอกจากจะให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังทำให้ปฏิสนธิต่างกัน เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานของจิตที่ต่างกันว่า เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว กุศลจิตประเภทใดจะเกิด

    สำหรับผลทางฝ่ายกุศลที่เพิ่มขึ้นนั้น คือ เพิ่มมหาวิบาก ๘ ดวง ซึ่งทำ กิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจตทาลัมพนะ และทำกิจจุติ แต่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่าๆ กันกับทางฝ่ายอกุศลวิบาก ไม่ต่างกันเลย

    ผู้ที่เป็นมนุษย์เกิดพร้อมด้วยปัญญา เวลาลิ้มรสอาหารที่อร่อย และให้สัตว์เลี้ยงในบ้านได้ลิ้มรสอาหารนั้นด้วย กุศลวิบากของสัตว์กับกุศลวิบากของผู้ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญาก็เหมือนกัน เป็นผลของกรรมที่ทำให้ได้ลิ้มรสที่อร่อย แต่เมื่อ ลิ้มรสที่อร่อยแล้ว ผู้ที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาอาจจะมีกุศลขั้นต่างๆ เกิดขึ้น ถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ลิ้มรสอาหารที่อร่อยได้ แต่ไม่มีพื้นฐานของจิตที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผลของกุศลที่มากกว่าอกุศล คือ เพิ่มโสมนัสสันตีรณะ เพราะอารมณ์ของกุศลนั้นมีถึงขั้นประณีต และเพิ่มมหาวิบากอีก ๘ ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะ

    ถ. อกุศลวิบาก ๗ ดวง ดวงสุดท้าย คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิได้ดวงเดียว ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง อกุศลวิบากมี ๗ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากดวงเดียวทำ กิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณะมีถึง ๕ กิจ คือ เมื่อทำปฏิสนธิกิจแล้ว ก็ทำภวังคกิจด้วย ทำจุติกิจด้วย ทำสันตีรณกิจด้วย ทำตทาลัมพนกิจด้วย นี่ทาง ฝ่ายอกุศลวิบาก ทางฝ่ายกุศลวิบาก อุเบกขาสันตีรณะก็สามารถทำกิจปฏิสนธิได้

    ถ. ได้ครบทั้ง ๕ กิจไหม

    สุ. เหมือนกัน ส่วนโสมนัสสันตีรณะทำได้เพียง ๒ กิจ เพราะว่า โสมนัสสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ทำกิจภวังค์ไม่ได้ ทำกิจจุติไม่ได้ สำหรับ มหาวิบากทำได้ ๔ กิจ ไม่ถึง ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจได้ ภวังคกิจได้ จุติกิจได้ และ ตทาลัมพนกิจได้

    ถ. ส่วนรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศลในมหาวิบากก็ทำกิจได้ ๔ กิจ เช่นเดียวกัน ใช่ไหม

    สุ. รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก ทำได้ ๓ กิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะรูปพรหมภูมิไม่มีตทาลัมพนกิจ หรือเวลาที่เป็นมหัคคตชวนะก็ไม่มีตทาลัมพนกิจ ต้องสำหรับกามชวนะเท่านั้น ที่จะมีตทาลัมพนกิจ

    ถ. คำว่า พิจารณาจิตในจิต จิตภายใน จิตภายนอก มีความหมายต่างกันอย่างไร และเกี่ยวกับจิต ๑๒๑ อย่างไร

    สุ. เป็นชีวิตประจำวัน เคยคิดถึงจิตของคนอื่นบ้างไหมว่า เวลานี้เขากำลังโกรธ เขากำลังเสียใจ เขากำลังน้อยใจ ขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็กำลังมีจิตของ คนอื่นเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่ควรจะหลงลืม

    ถ. เรียกว่าจิตภายนอก ใช่ไหม

    สุ. ใช่ เมื่อเป็นจิตของคนอื่น

    ถ. ถ้าจิตของตนเอง เป็นจิตภายใน ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. การพิจารณาจิตในจิตเป็นอย่างไร

    สุ. คือ รู้ว่าจิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา เห็นว่าจิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา

    ถ. การพิจารณากายในกาย

    สุ. เห็นว่ากายเป็นกาย ไม่ใช่เรา

    ถ. เห็นธรรมในธรรม

    สุ. เหมือนกัน ธรรมอื่นนอกจากส่วนที่จำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ก็เป็นเห็นธรรมในธรรม

    ถ.กายในกาย หมายความว่า เห็นกายไม่ใช่ตัวตน

    สุ. เห็นกายว่าเป็นกาย และการเห็นกาย ก็คือ ระลึกที่ส่วนหนึ่งส่วนใด ที่กาย ที่ปรากฏ

    ถ. ทำไมในพระไตรปิฎกต้องมีคำว่า กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ทำให้เกิดความสงสัย

    สุ. กายะ หมายความถึงสภาพที่ประชุมรวมกัน เพราะฉะนั้น ที่กายนี้ก็มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกัน เวลาระลึกที่กาย ตรงส่วนที่ปรากฏ หมายความถึงส่วนของกายที่ปรากฏ ไม่สามารถจะระลึกทั่วทั้งตัวพร้อมกันทีเดียว

    ถ. เวทนาในเวทนา

    สุ. เวทนาก็มี ที่กำลังปรากฏก็ระลึกได้ ที่ไม่ปรากฏก็ระลึกไม่ได้

    ถ. ธรรมในธรรม

    สุ. ก็เหมือนกัน ข้อสำคัญ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจด้วย

    เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เรื่องของใครในหนังสือพิมพ์ มีอะไรเป็นอารมณ์ มีเรื่องของคนอื่น ใช่ไหม เป็นสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าระลึกลักษณะสภาพของจิตที่กำลังมีเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นจิตที่กำลังนึกหรือคิด มิฉะนั้นแล้วเรื่องนั้นไม่มี

    เพราะฉะนั้น เรื่องจริงๆ นี่ เป็นแต่เพียงเรื่อง ไม่ใช่ลักษณะสภาพของ ปรมัตถ์ธรรมอย่างแข็ง อย่างอ่อน อย่างเสียง อย่างกลิ่น ดังนั้น อารมณ์จึงมี ๖ ทาง

    ทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏและยังไม่ดับ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพราะยัง ไม่ดับ แต่ก็ดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และก็เกิดปรากฏอีกสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจน ไม่ปรากฏว่าเกิดและดับไป ปรากฏเสมือนว่าไม่ได้ดับไปเลย นี่คือ การรู้อารมณ์ ทางตา ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ทางหู ถ้าใช้คำว่าทางหู หมายความถึงเสียงกระทบกับโสตทวาร คือ โสตปสาท เสียงจริงๆ เกิดขึ้นและยังไม่ดับ กระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ ทำให้มีการได้ยินเสียงจริงๆ นี่คือการรู้อารมณ์ทางหู คือ รู้รูปที่ยังไม่ดับที่กระทบทางหู

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะต้องรู้รูปที่ยังไม่ดับ

    แต่ทางใจ สามารถรู้อารมณ์ได้มากมาย กว้างขวาง หลายเรื่อง เป็นเรื่อง เป็นราวต่างๆ ก็ได้ ในวันหนึ่งๆ คิดถึงเรื่องของตัวเองบ้าง คิดถึงเรื่องของคนอื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังมีเห็นคนกำลังทำสิ่งต่างๆ และก็นึกถึงคนนั้นต่างๆ ด้วย

    แสดงให้เห็นว่า ทางใจเกิดสืบต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงควรที่จะระลึกรู้ด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้น สภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม คือ จิต ที่เกิดขึ้นนึกถึงเรื่องต่างๆ หลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่อที่จะไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีทั้งผู้ที่กำลังคิด และบุคคลซึ่งกำลังคิดถึง

    ทุกท่านดูโทรทัศน์ มีข่าว มีละคร มีเรื่องอะไรมากมาย ขณะนั้นสติระลึกจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพที่กำลังนึก แล้วแต่ว่าจะนึกถึงอะไร นึกถึงบุคคลไหน ตามเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ หรือว่าในโทรทัศน์

    ถ. จิตที่กำลังพิจารณา กำลังเรียนรู้ เพื่อศึกษาให้รู้เรื่องจิต ๑๒๑ ดวง จิตที่กำลังเรียนรู้อย่างนี้ เป็นจิตดวงไหน

    สุ. มหากุศลจิต เพราะถ้าเป็นอกุศลจิตจะไม่ศึกษาธรรม จะไม่ศึกษาเรื่องจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ต้องระวัง เพราะโลภมูลจิตสามารถที่จะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ เว้นนิพพาน และ โลกุตตรธรรมเท่านั้น

    ถ้ากุศลจิตเกิด ติดและพอใจในกุศลนั้นว่า เราได้ทำกุศลอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ศึกษาธรรม ต้องพิจารณาถึงความละเอียดด้วยว่า มีความสำคัญตนว่าได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า ถ้ามีการเปรียบเทียบ หรือมีการนึกถึงบุคคลอื่นในทางแข่งดี ในทางลบหลู่ ในทางตีเสมอก็ตาม ขณะนั้นเป็นอกุศล

    สภาพของจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วและละเอียดมาก ต้องอาศัยสติที่ระลึกจริงๆ จึงสามารถที่จะแยกอกุศลออกจากกุศลได้ และจึงจะละอกุศล เพราะถ้ายังไม่รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ละอกุศลไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และปัจจัย คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แต่ละขณะๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเครื่องประกอบที่จะทำให้ปัญญาสามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อสติเกิดและระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แต่ต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า เพื่อเป็นเครื่องประกอบ เป็นสังขารขันธ์ที่จะให้ปัญญาสามารถคลายการติด การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๙๑ – ๑๓๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564