แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277


    ครั้งที่ ๑๒๗๗


    สาระสำคัญ

    อถ.ปฏิ.ท่านพระสารีบุตรจำแนกกรรม ๑๒ ประการ

    มรณาสันนวิถี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖


    ถ. เรื่องครุกกรรม ท่านพระเทวทัตทำกรรมหนักมาก คือ สังฆเภท และ โลหิตุปบาท ท่านปฏิสนธิในอเวจีมหานรก ตอนนี้ก็ยังอยู่ ต่อไปหลังจากที่ท่านจุติจากอเวจีมหานรกแล้ว ถ้าการที่ท่านไปปฏิสนธิในอเวจีเป็นผลของการทำโลหิตุปบาท

    สุ. ไม่ใช่ผลของโลหิตุปบาท แต่เป็นผลของสังฆเภท เพราะสังฆเภทเป็นกรรมที่หนักกว่าโลหิตุปาท เพราะฉะนั้น กรรมใดที่น้อยกว่า กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม จักไม่ให้ผล

    ถ. อโหสิกรรมที่ไม่ให้ผลในชาตินี้ ในชาติต่อไปจะให้ผลไหม

    สุ. ในที่นี้แสดงเรื่องของอโหสิกรรม ๖ ประการ หมายความถึงกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว ที่ต่างกันเป็น ๖ คือ กรรมในอดีตให้ผลแล้วในอดีต ก็เป็นอโหสิกรรม ประเภทที่ให้ผลแล้ว และกรรมในอดีตไม่ได้ให้ผลในอดีต ก็เป็นอโหสิกรรมอีก ประเภทหนึ่ง ในที่นี้ อโหสิกรรม หมายความถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเท่านั้น

    ถ. ไม่ใช่ว่า ชวนะดวงที่ ๑ ถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้ ก็เป็นอโหสิกรรมไป

    สุ. ที่ใช้คำว่าเป็นอโหสิกรรมไป นั่นโดยความหมายหนึ่ง แต่ในที่นี้ กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งหมด ชื่อว่าอโหสิกรรม ซึ่งจำแนกออกเป็น ๖ คือ

    กรรมในอดีต ให้ผลในอดีตก็มี

    กรรมในอดีต ไม่ได้ให้ผลในอดีตก็มี

    กรรมในอดีต ให้ผลในปัจจุบันก็มี

    กรรมในอดีต ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันก็มี

    กรรมในอดีต จักให้ผลในอนาคตก็มี

    กรรมในอดีต จักไม่ให้ผลในอนาคตก็มี

    เพราะฉะนั้น มี ๒ นัย แต่นัย ๖ นี้ ความหมายถึงกรรมที่ได้ทำแล้วเท่านั้น

    ข้อความต่อไป

    ๑๑. ภวิสฺสติ กมฺมํ ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก กรรมจักมี ผลของกรรมจักมี

    ได้แก่ ทุกท่านหรือเปล่า หรือว่าหมดกรรมแล้ว ไม่มีกรรมอีกต่อไปแล้ว

    แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น แน่นอนที่สุด กรรมจักมี และผลของกรรมจักมี ได้แก่ กรรมที่จะทำในอนาคต ทำให้เกิดวิบากในอนาคต ยังไม่หมดสิ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นกรรมอดีต กรรมปัจจุบัน หรือกรรมที่จะทำในอนาคต หรือกรรมที่จักมีในอนาคต ก็ทำให้เกิดวิบากในอนาคตด้วย

    ๑๒. ภวิสฺสติ กมฺมํ น ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก กรรมจักมี ผลของกรรมจักไม่มี

    คือ กรรมในอนาคตไม่ทำให้เกิดวิบากในอนาคต

    เห็นความต่างกันของกรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท แต่ละชีวิตในสังสารวัฏฏ์ไหมว่า กรรมในอนาคตไม่ทำให้เกิดวิบากในอนาคต สำหรับผู้ที่เจริญกุศลรู้แจ้ง อริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ทำให้เกิดวิบากในอนาคตหลังปรินิพพานแล้ว เพราะฉะนั้น กรรมจักมี ผลของกรรมจักไม่มี

    ไม่มีการสิ้นสุดกรรมและผลของกรรม ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ขอให้ยกตัวอย่าง กรรมในอดีตให้ผลในอดีต

    สุ. ชาติก่อน ใครเกิดเป็นอะไรทราบไหม ชาติก่อนสุขทุกข์อย่างไร ทราบไหม ไม่ทราบ แต่เกิดแล้ว และมีวิบากในชาตินั้นๆ แล้ว ตามกรรมนั้นๆ ในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ และชาตินี้กำลังจะเป็นอดีตชาติของชาติหน้า โดยนัยเดียวกัน ทุกๆ ชาติผ่านไป กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ทำให้เกิดวิบากในอดีตโดยที่ไม่สามารถจะรู้ได้ รู้ได้แต่เฉพาะวิบากในชาตินี้ แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่าวิบากในชาตินี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติไหน แต่ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ถ. ที่ว่าฌานไม่เสื่อม ฌานจิตเกิดในขณะที่ใกล้จะตาย หมายความว่า ฌานจิตเกิดในมรณาสันนวิถีใช่ไหม

    สุ. มรณาสันนวิถี เป็นคำใหม่สำหรับบางท่าน แต่อาจจะชินหูสำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว

    ถ้าแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ได้แก่ วิถีมุตตจิต คือ จิตที่ไม่ใช่วิถี ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประเภทหนึ่ง และวิถีจิต คือ จิตที่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิถีจิต อีกประเภทหนึ่ง

    วิถีมุตตจิต คือ ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ เป็นภวังคจิต ๑ ขณะ เป็น จุติจิต ๑ ขณะ เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร เป็นวิถีจิตทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น มรณาสันนวิถี หมายความถึงวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทวารก่อนจุติ ชื่อว่ามรณาสันนวิถี เป็นวิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด

    ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ปกติจะมีชวนวิถีจิตเกิดซ้ำ ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ขณะที่กำลังสลบ ชวนวิถีจะเกิดซ้ำกันแค่ ๖ ขณะ เป็นสภาพของจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยสัมปชัญญะอย่างที่ทั่วๆ ไปใช้คำว่า ไม่ใช่ขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ เพราะมีกำลังอ่อนลง ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ ความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าชวนวิถีสุดท้าย จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    แม้ในขณะนี้เอง ทางจักขุทวาร วิถีจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว มีภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ หรือทางหูที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ และจุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือหลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือจะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือบางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึก เรื่องหนึ่งเรื่องใด มโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

    แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้

    เพราะฉะนั้น ชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด เป็นมรณาสันนวิถี ซึ่งเลือกไม่ได้ เหมือนในขณะนี้เอง ถ้าเป็นทางตาที่เห็น จักขุทวารวิถีดับหมดแล้ว จุติจิตเกิด ขณะนั้นมีกรรมนิมิตอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และมีท่านผู้หนึ่งจุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ คือ สิ้นชีวิตลง หลังจากที่จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นกรรมนิมิตอารมณ์สำหรับปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ถ้าในขณะที่โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงดับไปหมดแล้ว ชวนะสุดท้ายที่กำลัง ได้ยินในขณะนี้ จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ในขณะนั้นมีเสียงเป็นกรรมนิมิตอารมณ์

    . ทำไมชื่อว่ากรรมนิมิตอารมณ์

    สุ. เพราะเป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย ที่จะให้กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น เพราะจิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ โดยเฉพาะปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปจะต้องมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า จุติจิตของใครจะเกิดขึ้นในขณะไหน หลังเห็น หลังได้ยิน หรือหลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    ถ้าขณะนี้ท่านผู้ใดกำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใดทางมโนทวารวิถี และจุติจิตเกิดต่อทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นชีวิตลง บุคคลนั้นมีกรรมเป็นอารมณ์ เพราะคิดถึงระลึกถึงกรรมหนึ่งกรรมใด

    เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า กรรมอารมณ์ หรือกรรมนิมิตอารมณ์ หรือ คตินิมิตอารมณ์ ก็เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เป็นอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป และก็เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ต่างกันเลย

    กรรมนิมิต คือ ในขณะที่เห็น ได้ยินในขณะนี้เอง และจุติจิตเกิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็เป็นกรรมนิมิตของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า

    ถ. ถ้าคิดถึงกรรมที่ทำมาแล้ว เป็นกรรมอารมณ์ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าคิดถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นกรรมอารมณ์ ถ้าเห็นสถานที่ ที่จะเกิด ขณะนั้นก็เป็นคตินิมิตอารมณ์ บางคนอาจจะเห็นเป็นไฟนรก บางคนอาจจะเห็นเป็นสวนนันทวันที่รื่นรมย์ แล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิในภพใดภูมิใด อุปมาเหมือนกับเห็นในฝัน ซึ่งดูเหมือนจริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นคตินิมิตสำหรับผู้ที่จะปฏิสนธิหลังจากที่จุติจิตของบุคคลนั้นดับลง แต่ให้ทราบว่า ก็คืออารมณ์ตามปกติธรรมดาอย่างนี้เอง

    ที่ใช้คำว่า คตินิมิตบ้าง กรรมนิมิตบ้าง หรือกรรมอารมณ์บ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า เพราะว่าเป็นอารมณ์ของชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้

    ขณะนี้เห็น จุติจิตยังไม่เกิด ก็เป็นรูปารมณ์ แต่ถ้าเห็นแล้วจุติจิตเกิด ก็เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป

    ถ. คตินิมิตทางทวารทั้ง ๖ ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องเป็น …

    สุ. ทางมโนทวารอย่างเดียว จึงกล่าวว่า เหมือนเห็นในความฝัน

    ถ. ๓ คำนี้ คือ กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต ผมยังสับสนอยู่ กรรมหมายความว่า เวลาจะจุติ นึกถึงการกระทำที่ได้เคยกระทำมาแล้ว ส่วนกรรมนิมิต นึกถึงเรื่องราวที่กระทำอย่างนั้นหรือครับ

    สุ. กรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะนี้ เสียงเป็นกรรมนิมิตได้ กลิ่นเป็นกรรมนิมิตได้ ถ้าในขณะที่ได้กลิ่นและจุติจิตเกิด ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้น กลิ่นนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้ หรือจะเป็นการนึกถึงเครื่องหมาย สิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงกรรมก็ได้ เป็นนิมิตของกรรมได้ ทางมโนทวาร เช่น นึกถึงปืน ถ้าเคยเป็นฆาตกร หรืออาวุธต่างๆ ที่ใช้ อาจจะคิดถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ไม่ได้คิดถึงเป็นเรื่อง แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏที่เป็นการกระทำ หรืออาจจะนึกถึงสบงจีวรที่เคยทอดกฐิน อย่างนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้ เพราะฉะนั้น กรรมนิมิตเป็นได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ส่วนคตินิมิตเป็นได้เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียว คตินิมิตไม่ใช่การนึก แต่เป็นการเห็นทางมโนทวารเหมือนฝันเห็น เหมือนเห็นในความฝัน

    ถ. เช่น เห็นปราสาทราชวัง หรือเห็นเปลวไฟอะไรอย่างนั้น แต่คล้ายๆ เห็นในฝัน อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. เหมือนฝันเห็น เหมือนเห็นในฝัน เพราะเป็นทางมโนทวาร

    ถ. กรรมกับกรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเป็นกรรมอารมณ์ ระลึกถึงกรรม ต้องเฉพาะมโนทวาร แต่ที่ใช้คำว่ากรรมนิมิต ต้องทั้ง ๖ ทวาร

    ถ. แต่คตินิมิตเกิดได้ทาง ...

    สุ. มโนทวารทวารเดียว

    ถ. ที่ว่า มรณาสันนวิถี ฝันเห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ ตอนนั้นจิตเป็นโลภะหรือราคะ เป็นอกุศล จะไปดีได้หรือ

    สุ. ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ยากที่จะเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นได้

    ถ. อย่างนั้นก็ยากที่จะรู้ว่าจะไปไหน แม้ว่าจะทำบุญทำกรรมอะไรก็แล้วแต่

    สุ. ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความเข้าใจธรรมในขณะที่กำลังฟังพระธรรมนี้ และจุติจิตเกิด ชวนะสุดท้ายก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ได้ แต่ข้อสำคัญ คือ ท่านจะไม่มีจุติจิตเกิดในขณะที่กำลังฟังพระธรรม แต่อาจจะเป็นขณะอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าฟังบ่อยๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะในยามป่วยไข้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้แน่ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร แต่ก็ยังสามารถมีปัจจัยที่จะให้มหากุศลจิตเกิด

    ถ. ขณะที่ใกล้จะตาย เห็นจีวร และจุติจิตเกิดต่อจากวิถีนั้น ขณะนั้นปฏิสนธิจิตจะเป็นผลของกุศลที่เห็นนิมิตนั้น คือ สบงจีวร หรือจะเป็นผลของกรรมที่ถวายผ้าไตร

    สุ. ก่อนจะจุติ จะมีอะไรเป็นอารมณ์ และจิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่กระทำกรรมนั้นทันทีในขณะก่อนจะจุติ เพราะเป็นชั่วขณะที่รวดเร็วเหลือเกิน ถ้าคิดถึงทางตาที่กำลังเห็น มีภวังคจิตเกิด มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ มีจักขุวิญญาณเกิด มีสัมปฏิจฉันนะเกิด มีสันตีรณะเกิด มีโวฏฐัพพนะเกิด ชวนะ ๗ ขณะเกิด ตทาลัมพนะเกิด ภวังค์คั่น ก่อนที่จะถึงมโนทวารคั่น และก่อนถึงการได้ยิน แต่ ดูเสมือนว่ารวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ยากแสนยากที่ใครสามารถจะให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติ เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร

    เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาการให้ผลของกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดว่า ต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำสำเร็จแล้วกรรมหนึ่งกรรมใดเป็นชนกกรรม หมายความถึงกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ไม่ใช่ว่าจะขวนขวายทำตอนที่จุติจิตจะเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นไปได้ ทุกคนก็ต้องทำให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล ซึ่งต่อไปจะทราบว่า ในประเภทของกรรมต่างๆ นั้น กรรมใดที่จะทำชนกกิจหรือเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่จะมารีบด่วนกระทำก่อนจุติจิตจะเกิด เพราะไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์ กรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้น จะทำให้กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ หรือกรรมอารมณ์ เกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ เลือกไม่ได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกรรมซึ่งกระทำในขณะนั้นทันที แต่จะเป็นกรรมที่กระทำใกล้กว่านั้นอีกก็ได้ คือ ก่อนที่จะถึงมรณาสันนวิถี คือ ก่อนที่จะเป็นชวนะสุดท้ายได้ อาจจะเป็นชั่วโมงหนึ่ง วันหนึ่ง สองวัน หรืออะไรก็ได้ หรืออาจจะเป็นหลายเดือนหลายปีมาแล้ว หรืออาจจะเป็นหลายชาติมาแล้ว หรืออาจจะเป็นหลายกัปมาแล้วก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564