แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266


    ครั้งที่ ๑๒๖๖


    สาระสำคัญ

    ประโยชน์ที่จะรู้เรื่องของปฏิสนธิจิต

    การศึกษาเพื่อเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖


    ในภพนี้ชาตินี้ ในภูมิของมนุษย์ ก็ทราบถึงปฏิสนธิจิตได้ว่า ต้องเป็นผลของกามาวจรกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของทาน หรือผลของศีล ซึ่งจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง จะเป็นมหาวิบากซึ่งเป็นญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็รู้ได้ในชาตินี้ และในชาติต่อไป จะเหมือนในชาตินี้อีก คือ แล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดที่ได้กระทำแล้ว จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตที่เกิดเป็นมหาวิบาก หรือเป็นเพียงอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก หรืออาจจะเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากปฏิสนธิในอบายภูมิก็ได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่ พระอริยบุคคลก็มีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิได้ หรือทำให้เป็นบุคคลที่พิการได้ หรือทำให้เกิดเป็นบุคคลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ ปฏิสนธิจิตไม่ใช่มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ก็ได้

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบเรื่องของปฏิสนธิจิต แม้ว่าปฏิสนธิจิตในชาตินี้จะดับไปแล้ว และภวังคจิตก็เกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้โดยไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ขณะที่ภวังคจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ก็เป็นขณะที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่แม้กระนั้นก็ควรที่จะได้รู้ว่า การที่สุข ทุกข์ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ จะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ปฏิสนธิจิต

    การเกิดในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิมีดวงเดียว คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ไม่ว่าจะเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน และสำหรับอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากปฏิสนธิ จะมีจิตที่เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจเพียง ๓ ดวง ซึ่งจิตที่ทำตทาลัมพนกิจได้ ทั้งหมดมี ๑๑ ดวง

    สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับคำว่า ตทาลัมพนกิจ ควรที่จะทราบว่า ในการเห็น ครั้งหนึ่งๆ มีจิตเกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณเท่านั้น

    ขณะที่เป็นภวังค์ ไม่เห็น ไม่ใช่วิถีจิต เมื่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบกับทวารหนึ่งทวารใด ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิดขึ้นรู้ว่า มีอารมณ์กระทบที่ทวารนั้น ๑ ขณะ เช่น ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก่อนจักขุวิญญาณจะเกิด ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต ไม่ใช่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิต ซึ่งกิริยาจิตส่วนมากเป็นจิตของ พระอรหันต์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง

    ปัญจทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิต ซึ่งเกิดเป็นวิถีแรกหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะ หรือกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายดับแล้ว เป็นจิตที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใดในปัญจทวาร คือ รู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด เป็นกิริยาจิต ๑ ขณะ และดับไป แต่อารมณ์ที่ปรากฏยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นทางตาในขณะนี้ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนดับไปแล้วไม่มีใครรู้ได้ แต่โดยการศึกษาเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละขณะที่ต้องเกิดดับสืบต่อเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันรู้ว่า ต้องมีจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ และจึงมีจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ แต่รูปก็ยังไม่ดับ

    รูปมีอายุยืนนานกว่าจิต คือ มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่ง ๑๗ ขณะนี้เร็วเหลือเกิน เพราะจิต ๑๗ ขณะดับไปทางตา ก่อนที่จิตอีก ๑๗ ขณะจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางหู แต่เมื่อปรากฏเสมือนว่าทั้งได้ยินด้วยและเห็นด้วย ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า จิต ๑๗ ขณะนั้นดับอย่างรวดเร็วเพียงใด ซึ่งแสดงว่ารูปก็ดับเร็วอย่างนั้น

    ในขณะที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ในที่นี้ รูปของแต่ละบุคคลกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว และจิตก็กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น แต่รูปยังไม่ดับ จิตขณะต่อไป คือ สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์นั้น ต่อจากจักขุวิญญาณ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมก็ไม่รู้ว่าในขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิต มีจักขุวิญญาณ มีสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดขึ้น พิจารณาอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพียงชั่วขณะเดียวและดับไป ต่อจากนั้นโวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น มนสิการ กระทำทางให้วิถีจิตต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น เพราะเวลาเห็น ทุกท่านจะรู้ว่าท่านพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่เห็น ชอบหรือไม่ชอบในเสียงที่ได้ยิน แต่ก่อนที่จะเกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต เช่น โลภมูลจิต ความติดความต้องการในอารมณ์ที่เห็น ถ้าสติปัฏฐานเกิดย่อมรู้ว่า เห็นเป็นขณะหนึ่ง ส่วนความยินดี ความพอใจ ความติด ความต้องการในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เป็นอีกขณะหนึ่ง หรือว่าเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ และที่ลักษณะของความต้องการ ความยินดี ความติดข้อง ความพอใจ ปรากฏมาก ก็เพราะชวนวิถีหลังจากโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้วจะเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ หรือ ๗ ครั้ง มากพอที่จะให้รู้ว่าขณะนี้กำลังชอบ กำลังสนุก หรือว่าอาจจะกำลังเบื่อ กำลังขุ่นใจ กำลังไม่พอใจ แต่ลักษณะของจิตซึ่งไม่เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ยากที่จะรู้ได้

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า แม้ทางจักขุทวารที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็ตรง ชวนวิถี หรือทางโสตทวารที่กำลังได้ยินเสียง ก็โดยนัยเดียวกัน โสตวิญญาณเกิดขึ้น ได้ยินเสียงเพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง ๑ ขณะเท่านั้นลองคิดดูว่าจะเร็วสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น การที่สามารถจะรู้เสียงได้ ก็ในขณะที่เป็นชวนวิถี ซึ่งจิตเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ แต่รูปยังไม่ดับไป

    เมื่อเป็นกามบุคคล เกิดในกามภูมิ กำลังมีกามอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด คือ รูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร และรูปนั้นยังไม่ดับ กรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนจิต ๗ ขณะที่ดับไป ซึ่งวิบากจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนะนั้น ทำตทาลัมพนกิจ

    โดยศัพท์ ตทาลัมพนะ คือ รู้อารมณ์นั้น มาจากคำว่า ตํ กับ อารัมมณะ ตํ คือ นั้น อารัมมณะ คือ อารมณ์ เพราะฉะนั้น ตทาลัมพนจิตทำกิจรู้อารมณ์นั้น อารมณ์นั้น คือ อารมณ์ที่ชวนจิตรู้และดับไป เพราะฉะนั้น ตทาลัมพนจิตจะเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจได้ หลังจากที่ชวนจิตดับไปแล้วเท่านั้น

    การเกิดดับของจิต จะต้องเกิดดับสืบต่อกันเป็นลำดับ ไม่มีการข้ามขั้นกันได้ เช่น จักขุวิญญาณยังไม่เกิด จะให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดก่อน หรือว่าโสตวิญญาณดับไปแล้ว จะให้โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อทันทีไม่ได้ จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นตามปัจจัย ซึ่งจะต้องกระทำกิจต่อๆ กันไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า ตทาลัมพนะ ก็คือจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจะไม่รู้ว่า วิบากจิตทั้งหลาย โดยสภาพแล้วไม่ต่างกัน เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นได้กระทำแล้วและสามารถมีปัจจัยพร้อมที่จะให้วิบากขึ้นขณะใด ก็ทำให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้นและดับไป แต่ตัววิบากเองไม่ใช่กรรมที่จะทำให้วิบากข้างหน้าเกิด เพราะฉะนั้น วิบาก โดยสภาพเป็นแต่เพียงวิบากเหมือนกันทั้งนั้น

    จักขุวิญญาณของมนุษย์ และจักขุวิญญาณของสัตว์ดิรัจฉาน เห็นสิ่งเดียวกันได้ โดยสภาพก็เป็นแต่เพียงจักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น จะมีความต่าง หรือความสำคัญอย่างไรสำหรับวิบากจิตต่างๆ

    ถ. วิบากจิตสิ้นสุดลงที่สันตีรณจิต ใช่ไหม

    สุ. เวลาที่กรรมให้ผล ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ที่ถามว่า วิบากจะสิ้นสุดลงที่สันตีรณะใช่ไหม ถ้าอารมณ์นั้นดับพร้อมกับชวนจิตขณะที่ ๗ ตทาลัมพนจิตไม่เกิด วิบากก็สิ้นสุดลงที่สันตีรณะ แต่ถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับหลังจากที่ชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ดับไปแล้ว อารมณ์ยังมีเหลืออยู่ ยังไม่ดับ วิบากจิตจะเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจอีก ๒ ขณะสำหรับวิถีนั้น เพราะฉะนั้น วิบากไม่ได้สิ้นสุดที่สันตีรณะ แต่สิ้นสุดที่ตทาลัมพนะ

    ถ. ก็ชวนะเป็นเหตุไม่ใช่หรือ

    สุ. ชวนะเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า นั่นเป็นตอนหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกัน เหตุกับผลต้องแยกกัน ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เป็นวิบาก จะให้เป็นเหตุก็ไม่ได้ เพราะเป็นผล เวลาที่สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อก็เป็นวิบาก จะให้เป็นเหตุก็ไม่ได้ เพราะเป็นผล สันตีรณะเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ จะให้เป็นเหตุก็ไม่ได้ เพราะเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิตเกิด และดับไป ชวนจิตต้องเป็นเหตุ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล คนละตอนกัน หลังจากนั้น เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ กรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำ ตทาลัมพนกิจ คือ รู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนะ

    ถ. ยังไม่เข้าใจชัดเท่าไร

    สุ. แสดงให้เห็นว่า เรื่องของวิบาก เป็นเรื่องที่ยับยั้งไม่ได้ สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเป็นวิบากยับยั้งไม่ได้ฉันใด เมื่อชวนะ ๗ ขณะดับไปแล้ว จะยับยั้งไม่ให้ ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดต่อไม่ได้ เพราะว่าเป็นกามบุคคลที่กำลังมีกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างใดอย่างหนึ่งกำลังปรากฏ ซึ่งโดยวิสัยของการสะสมของกรรมที่เนื่องกับกาม กรรมทั้งหลาย เช่น ทานก็ดี ศีลก็ดี ทั้งหมด เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งนั้น ไม่ว่าใครจะทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็เป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมนั้นให้ผล นอกจากจะให้จิตเห็นเกิด ให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ให้สันตีรณจิตเกิด ก็ยังให้ตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนะด้วย

    ถ. ชวนะเขาเป็นเหตุ คงจะไม่เกี่ยวกับวิบากที่เป็นผล ใช่ไหม

    สุ. ไม่เกี่ยวเลย

    ถ. วิบากจิตบางครั้งก็สิ้นสุดที่ตทาลัมพนะ ใช่ไหม แต่ก็ไม่เสมอไป

    สุ. ไม่เสมอไป บางครั้งก็สิ้นสุดที่ชวนะสำหรับวิถีจิตซึ่งจะได้กล่าวถึงหลังจากปฏิสนธิ เพราะไม่ใช่มีเพียงปฏิสนธิเท่านั้น หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว จะต้องมีวิถีจิตต่างๆ

    สำหรับจิตที่ทำตทาลัมพนะกิจ คือ รู้อารมณ์ต่อจากชวนะ ทั้งหมดมี ๑๑ ดวง จิตทั้งหมดมี ๘๙ เพราะฉะนั้น ตทาลัมพนจิตก็ไม่พ้นจากจิต ๘๙ ดวงนั่นเอง ซึ่งจะต้องทราบว่า จิตใดกระทำตทาลัมพนกิจ

    สำหรับจิต ๑๑ ดวงที่ทำตทาลัมพนกิจ ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง และ มหาวิบากจิต ๘ ดวง

    จะเห็นได้ว่า จิตที่ทำตทาลัมพนกิจเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ใครจะยับยั้งไม่ให้วิบากเกิดเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิไป จนกระทั่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น ซึ่งเป็นวิบาก จนกระทั่งเมื่อกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นชวนจิตดับไปแล้ว วิบากจิตก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้วิบากเกิดต่อจากชวนจิต

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของแต่ละบุคคล นอกจากปฏิสนธิจิตจะต่างกันแล้ว ยังต่างกันที่จำนวนของจิตซึ่งกระทำตทาลัมพนกิจ มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย สัตว์ดิรัจฉานเห็นสิ่งเดียวกับที่มนุษย์เห็น สัตว์ดิรัจฉานที่นี่สามารถเห็นสิ่งที่เรากำลังเห็น คือ พระพุทธรูป แต่ตทาลัมพนะของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ต่างกับตทาลัมพนะของมนุษย์ซึ่งปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก และมหาวิบากก็ยังต่างกันด้วย

    บางท่านอาจจะเห็นสถานที่แสดงธรรม และได้ยินเสียงธรรม แต่ก็ผ่านไป ไม่สนใจที่จะฟังให้เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกี่ยวกับสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงเสียง แต่ตทาลัมพนะที่จะเกิดต่อ จากชวนะ ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว และจักขุวิญญาณของทุกคนก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือเป็นมนุษย์ แต่ต่างกันตรงตทาลัมพนจิต ที่เกิดต่อจากชวนจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564