แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267


    ครั้งที่ ๑๒๖๗


    สาระสำคัญ

    ชีวิตจริงๆ ในแต่ละขณะ ในแต่ละวัน

    โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากไม่ทำกิจปฏิสนธิ

    สติปัฏฐานยเกิดโดยความเป็นอนัตตา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖


    สุ. เป็นเรื่องของชีวิตจริงๆ ในแต่ละขณะในแต่ละวัน ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั่นเอง หลายท่านคงเคยเห็นพระไตรปิฎก สนใจที่จะหยิบอ่าน หรือว่าไม่สนใจเลย ต้องมีทั้งผู้ที่สนใจ และผู้ที่ไม่สนใจ ตามปฏิสนธิจิต

    ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ย่อมจะไม่เห็นประโยชน์ หรือไม่เห็นคุณค่าของการที่จะฟัง จะศึกษา เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยถ้าไม่ศึกษาจากพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้และได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น เห็น ก็มี จักขุวิญญาณ มีสัมปฏิจฉันนะ มีสันตีรณะ และแล้วแต่ว่าชวนะจะเป็นอะไร แต่ มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ไม่มี ที่จะเกิดต่อจากชวนะทำตทาลัมพนกิจ

    บางท่านเกิดความสนใจ อ่าน แต่ไม่ค่อยจะเข้าใจ หรือไม่ค่อยจะเห็นคุณประโยชน์ก็มี แต่บางท่านมีความซาบซึ้งในอรรถรส เห็นคุณค่าของพระธรรมว่าเป็นสิ่งที่ยากแก่การที่จะรู้แจ้งได้ แต่สามารถที่จะรู้แจ้งได้โดยการอบรม โดยการศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น หลังจากที่ชวนจิตของบุคคลนั้นดับไปแล้ว ตทาลัมพนจิตจะเป็นประเภทใด

    บางท่านก็มีมหาวิบากครบทั้ง ๘ คือ มีทั้งมหาวิบากที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวงและมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง แต่บางท่านไม่มีมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ถ้าเป็นผลของกรรมซึ่งประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อน คือ ในขณะนั้นเป็นมหากุศลที่เป็นติเหตุกะอย่างอ่อน

    คำว่า ติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหะคือปัญญาเจตสิก แต่เป็นอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของกรรมนั้น จะไม่ทำให้ได้รับมหาวิบากครบทั้ง ๘ ดวง หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อชวนจิตดับไป จิตที่ทำตทาลัมพนกิจ จึงไม่ใช่มหาวิบากญาณสัมปยุตต์

    บางท่านอาจจะได้ยินคำที่น่าฟัง โน้มไปในเรื่องของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม เช่น จิตรกรท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียง ท่านกล่าวว่า คนหรือสัตว์ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ก็เหมือนกับภาพเขียนที่เคลื่อนไหวได้

    เพราะว่าท่านเป็นจิตรกร ท่านก็เขียนภาพ มีคนในภาพนั้นได้จริง และคนนอกภาพ ก็คือภาพที่เคลื่อนไหวได้ ในความรู้สึกของจิตรกรที่เขียนภาพ ท่านก็มอง ทัศนะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นรูปว่า เป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้ พอที่จะน้อมไปในทางธรรม แต่ไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเพียงรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    จะเห็นได้ว่า กุศลแต่ละประเภทมีมาก ตั้งแต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างสูง หรือว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น การให้ผลของกุศลนั้นๆ ย่อมต่างกัน ทำให้ปฏิสนธิต่างกัน และตทาลัมพนะที่เกิดต่อจากชวนะต่างกัน

    ถ. อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ เป็นผู้ที่ใบ้บ้าบอดหนวกแต่กำเนิด ไม่สงสัย แต่ที่ทำกิจปฏิสนธิในชั้นเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา สงสัยว่า ทำไมถึงผิดกันมาก

    สุ. เป็นความวิจิตรของกรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แม้แต่ใน ภูมิมนุษย์ ผู้ที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก อาจจะเกิดในตระกูลที่มั่นคั่งก็ได้ มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์ หรือบางบุคคลอาจจะเกิดในตระกูลที่ขัดสน ลำบากก็ได้ แล้วแต่ความวิจิตรของจิต

    ถ. อยากทราบเหตุ

    สุ. เป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ

    ท่านผู้ฟังมีแต่กุศลอย่างสูงกันทั้งนั้นอย่างนั้นหรือในวันหนึ่งๆ ในชีวิตหนึ่ง ชาติหนึ่ง หรือว่ามีกุศลอย่างอ่อนบ้าง อย่างสูงบ้าง และขณะไหนที่เป็นกุศลกรรมอย่างสูง ก็สามารถจะรู้วาระจิตของตนเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมอย่างสูง

    อย่างท่านที่ศึกษาธรรม และเกิดความผ่องใสเบิกบาน เมื่อเข้าใจละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นกุศลกรรมที่เป็นติเหตุกะ ประกอบด้วยปัญญา ต่างกับขณะซึ่งยังไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรนัก แต่ก็เกิดความสนใจ ยังเป็นญาณสัมปยุตต์ คือ ยังเป็นทางฝ่ายปัญญา ไม่เหมือนกับขณะอื่น ซึ่งอาจจะให้ทานจริง รักษาศีลจริง แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น กุศลก็ย่อมมี อ่อนลงๆ จนถึงอ่อนมาก และก็มีสูงขึ้นๆ มีกำลังขึ้นๆ จนถึงมีกำลังมาก แม้ว่าเป็นเพียงมหากุศล ก็ยังสามารถที่จะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ก่อนที่จะถึงโลกุตตระ เพราะฉะนั้น กำลังของกุศลซึ่งประกอบด้วยปัญญาก็เพิ่มขึ้นๆ มาก สำหรับอย่างอ่อน ก็มีอย่างอ่อนๆ และอ่อนมากไปเรื่อยๆ

    สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากไม่ทำกิจปฏิสนธิ คือ จิตที่เป็นอุเบกสันตีรณกุศลวิบากปฏิสนธิเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เมื่อเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ต้องไม่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะในมหากุศล ๘ ดวง ๔ ดวงเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา อีก ๔ ดวงเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา และใน ๔ ดวงนั้น เกิดร่วมกับปัญญา อีก ๔ ดวงไม่เกิดร่วมกับปัญญา และเป็นอสังขาริก เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง ๔ ดวง อีก ๔ ดวงเป็นสสังขาริก คือ เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เกิดโดยอาศัยการชักจูง ซึ่งเป็นการแสดงว่า เมื่อเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ต้องไม่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น โสมนัสสันตีรณะจึงไม่ทำกิจปฏิสนธิ เมื่อโสมนัสสันตีรณะไม่ทำกิจปฏิสนธิ ก็ไม่ทำกิจภวังค์ ไม่ทำกิจจุติ แต่ทำสันตีรณกิจและตทาลัมพนกิจ

    ถ. ก็ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมจึงทำหน้าที่ปฏิสนธิไม่ได้

    สุ. เพราะว่าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน อุเบกขาสันตีรณะจึงทำกิจปฏิสนธิ ถ้าเป็นโสมนัสต้องมีกำลังกว่าอุเบกขา ใช่ไหม ระหว่างโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากกับอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากต้องเป็นผลที่ดีกว่า เพราะเป็นโสมนัส แต่การเกิดเป็นบุคคลพิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ต้องเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน กุศลอย่างอ่อน คือ กุศลซึ่งไม่ใช่โสมนัส ถ้ากุศลนั้นเป็นโสมนัส ต้องเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ต้องเป็นมหาวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ

    ถ. แต่ในอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง น่าแปลกที่โสมนัสสันตีรณวิบากทำไมด้อยกว่าอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก

    สุ. ไม่ได้ด้อยกว่า เพราะที่โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้น ต้องเป็นวิถีจิตที่ทำสันตีรณกิจ พิจารณาอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ อติอิฏฐารมณ์หมายถึงอารมณ์ที่ประณีตยิ่ง โสมนัสสันตีรณะจึงจะเกิดได้ ถ้าอารมณ์นั้นไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีตยิ่ง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจสันตีรณะ

    ถ. โสมนัสเวทนาในกุศลวิบากสันตีรณจิต กับโสมนัสเวทนาใน มหากุศลวิบาก ต่างกันอย่างไร

    สุ. โสมนัสไม่ต่างกัน โสมนัส คือ เวทนา โสมนัสเวทนาไม่ใช่ อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนาไม่ใช่โทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าโสมนัสเวทนาจะเกิดกับจิตชาติอะไร โดยสภาพแล้วไม่ต่าง

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากไม่ทำกิจปฏิสนธิ

    สุ. ไม่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะปฏิสนธินั้นเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เมื่อเป็นกุศลอย่างอ่อน ในขณะนั้นต้องเป็นอุเบกขาทำกิจปฏิสนธิ

    สำหรับการกระทำกุศลแต่ละครั้ง ที่จะรู้ว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง หรือไม่มีกำลัง ก็โดยเวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลในขณะนั้นๆ ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ขณะนั้นเวทนาเป็นโสมนัส เวลาทำกุศลใดและเกิดโสมนัส ปลาบปลื้มยินดี ขณะนั้นเป็นกุศลที่มีกำลัง แต่ขณะใดที่ทำกุศลและรู้สึกเฉยๆ ไม่ปลาบปลื้มโสมนัส ขณะนั้นก็ยังเป็นกุศล แต่ว่าเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ผลของมหากุศลที่เป็นโสมนัสกับมหากุศลที่เป็นอุเบกขาจึงต่างกัน

    สำหรับมหากุศลที่เป็นโสมนัส แม้ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังทำให้เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาลได้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    สำหรับมหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัส และประกอบด้วยปัญญา นอกจากจะทำให้เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล ยังเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาด้วย นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ที่ให้ผลอย่างสูง ทำให้เกิดเป็นกษัตริย์ชาติต่างๆ ประเทศต่างๆ ได้ แต่กษัตริย์ใดจะมีโอกาสได้ฟัง พระธรรม ต้องเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์

    ข้อที่น่าคิด คือ มหาวิบากที่เป็นโสมนัส ใครจะรู้ได้ มหากุศลที่เป็นโสมนัสรู้ได้ในขณะที่กุศลจิตเกิดและโสมนัส ผู้ที่กระทำกุศลและโสมนัส สามารถที่จะรู้สภาพของจิตที่เป็นโสมนัสในกุศลขณะนั้นได้ แต่ปฏิสนธิที่เป็นโสมนัส ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาชาติวิบากทั้งหมด ใช้คำว่าทั้งหมด รู้ไม่ได้ จะกี่ดวงก็ตาม โสมนัสเวทนาที่เป็นชาติวิบากทั้งหมดรู้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะทำกิจปฏิสนธิ ก็ไม่รู้ ทำกิจภวังค์ ก็ไม่รู้อีก จะเป็นโสมนัสหรือจะเป็นอุเบกขาก็คือภวังค์นั่นเอง ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็เกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ใช่วิถีจิต ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น นี่กล่าวถึงเฉพาะมหาวิบากกับสันตีรณวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ แต่ถ้าเป็นวิบากอื่นซึ่งเป็นวิถีจิต ก็ยังสามารถที่จะเห็นอารมณ์ที่ดี แต่แม้กระนั้นใครรู้ เวลาที่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ปัญหาที่ว่า กินเหล้าเจริญสติปัฏฐานได้ไหม คือ ทางการแพทย์ยอมรับว่า ถ้าดื่มสักก๊งสองก๊ง แก้วสองแก้ว ทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น แหลมคมขึ้น แต่หลังจากนั้นทำให้จิตวิปริตไปได้ แต่แก้วแรกสองแก้วแรกผมคิดว่า เจริญสติปัฏฐานได้ ถ้าทำถูกต้อง หรือรู้วิธีทำ

    อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจารย์เล่าว่า มีเจ้าชายองค์หนึ่งในสมัยพุทธองค์ ชอบเสวยน้ำจัณฑ์เป็นอาจิณ เมื่อสิ้นชีวิตได้รับศีล พระพุทธองค์พยากรณ์ว่า ได้เป็น พระโสดาบัน ผมก็จำไม่ค่อยได้ อาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    สุ. เรื่องของการดื่ม เป็นเรื่องของความยินดีในรส ซึ่งแต่ละท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กำลังเจริญปัญญา จึงไม่ใช่ พระอริยบุคคล ถ้าเป็นพระอริยบุคคล คือ เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เป็น พระโสดาบัน สมบูรณ์ในศีล ๕ จะไม่มีการล่วงศีล ๕ จะไม่มีการดื่มน้ำเมา สำหรับ ผู้ที่เป็นพระอริยะ แต่ก่อนที่จะเป็นพระอริยะ ใครจะกั้นหรือจะบังคับสิ่งที่เคยพอใจของแต่ละบุคคลที่เคยสะสมมาได้

    ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร หลายคนบอกว่าสติไม่ค่อยเกิด แต่บางท่านก็บอกว่า สติค่อยๆ เริ่มเกิดบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องบังคับว่าต้องการให้สติเกิดในขณะไหน เช่น อยากจะให้สติเกิดเวลารับประทานอาหาร แต่ต้องแล้วแต่สติ ถ้าคนที่กำลังดื่มสุรา ยังไม่ถึงขั้นที่จะเมามาย สติเกิดได้ไหม เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ตามความเป็นจริง กำลังหัวเราะสนุกสนาน ดูหนังดูละคร สติเกิดได้ไหม

    ชีวิตของคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของคฤหัสถ์ ซึ่งคฤหัสถ์ควรจะมีนิจศีล คือ ศีล ๕ เป็นเรื่องที่ทุกคนบอกว่าควร แต่ใครจะทำได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่มีศรัทธาย่อมสามารถที่จะกระทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นสมุจเฉทวิรัติ อาจจะเป็นเฉพาะ ในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด หรือว่าชาติหนึ่งชาติใด แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นจะถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเช่นพระโสดาบัน คือ สมบูรณ์ด้วยศีล ๕ โดยตลอด เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีการล่วงศีลตามกำลังของการสะสม หรือตามอัธยาศัย ตามความพอใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นในศีลข้อที่ ๑ ในศีลข้อที่ ๒ ในศีลข้อที่ ๓ ในศีลข้อที่ ๔ และในศีลข้อที่ ๕

    แต่การที่ผู้ใดจะมีศรัทธารักษาศีลข้อใดได้มาก มั่นคง ก็ต้องแล้วแต่การสะสม บางท่านไม่ฆ่าสัตว์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านผู้นั้นจะไม่พูดปด หรือว่าจะไม่กระทำทุจริตกรรมในศีลข้ออื่น

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการดื่มสุรา ถ้าขณะที่กำลังยกแก้วขึ้น สติจะเกิดได้ไหม กำลังเอาช้อนตักอาหาร สติจะเกิดได้ไหม ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่มีการจำกัดหรือยับยั้งว่า ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่ดื่มสุรา สติปัฏฐานจะไม่เกิดเลย แต่สติปัฏฐานย่อม ไม่เกิดแน่ในขณะที่เมา

    แต่ก่อนที่จะเมา ก็เหมือนกับการบริโภคอาหารอย่างหนึ่งอย่างใด สติย่อมจะเกิดได้ตามสมควร แล้วแต่แต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัตตังจริงๆ จะมีใครสักคนหนึ่งบอกได้ไหมว่า ขณะที่กำลังหยิบสุรา กำลังผสม สติจะไม่เกิดเลย จะไม่ให้สติเกิดเลย ได้ไหม ไม่ได้ สติเกิด และสติก็ดับ เหมือนกับผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานโดย ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคชนิดหนึ่งชนิดใด อาหารประเภทหนึ่งประเภทใด การกระทำทางกายทางวาจาอย่างหนึ่งอย่างใด

    แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วไม่ดื่มสุรา ถ้าก่อนที่จะเป็นพระอริยบุคคล ไม่มีใครสามารถห้ามได้ และไม่มีใครสามารถห้ามบุคคลนั้นไม่ให้เจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะว่าสติปัฏฐานย่อมเกิดโดยความเป็นอนัตตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564