แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309


    ครั้งที่ ๑๓๐๙


    สาระสำคัญ

    ปัญจทวารกับมโนทวาร

    เหตุใดจึงได้เกิดในอสัญญสัตตาพรหม

    อารมณ์ของปฏิสนธิ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ เมษายน ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๗


    ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์หรือเป็นปุถุชนก็ตาม ต้องมีอเหตุกกิริยาจิต ๒ ดวง ที่ทำอาวัชชนกิจ ทางปัญจทวาร ๑ ดวง และทางมโนทวาร ๑ ดวง และสำหรับ พระอรหันต์นอกจากจะมีปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตแล้ว ยังมี หสิตุปปาทจิตอีก ๑ ดวง ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ จึงเป็นอเหตุกกิริยา

    สำหรับพระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ วิบากจิตและกิริยาจิต ไม่ใช่มีแต่วิบากอย่างเดียว ไม่ใช่มีแต่เห็น และแทนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อดับกิเลสหมด กุศลหรืออกุศลก็เกิดไม่ได้ ซึ่งเมื่อเห็นแล้ววิถีจิตต้องเกิด จึงต้องมีชวนวิถีที่เป็น กิริยาจิต และกิริยาจิตที่เป็นชวนวิถี นอกจากหสิตุปปาทแล้ว ต้องเป็นสเหตุกะ

    เรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ และจะต้องจำให้ได้จริงๆ ก่อนที่จะศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถ้าแบ่งออกเป็นหมวดๆ ก็ไม่ยากต่อการจำและเข้าใจ

    ถ. ทางมโนทวารก็เหมือนกัน

    สุ. มโนทวาราวัชชนจิตก็เหมือนกัน อย่างที่ว่า เวลาคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ไม่อาศัยจมูก ไม่อาศัยลิ้น ไม่อาศัยกาย จะอาศัยอะไร ก็ต้องอาศัยจิตจึงจะรู้อารมณ์ได้ โดยภวังคุปัจเฉทะ ที่เป็นมโนทวารดับไป มโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังคิด แต่ก่อนที่กุศลชวนะหรืออกุศลชวนะจะเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้กิจของมโนทวาราวัชชนะได้ เพราะตามปกติในขณะที่เห็นนี้ ที่จะรู้อารมณ์ ก็ตรงชวนวิถี ขณะที่ได้ยิน ก็รู้อารมณ์ตรงชวนวิถีอีก มีใครรู้โสตวิญญาณ ๑ ขณะ เพียงขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และดับไป สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อก็ขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และก็ดับ สันตีรณะก็เพียงขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และก็ดับ โวฏฐัพพนะก็เพียงขณะเดียว แต่ว่า ชวนจิตเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เป็นมโนทวารวิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และลองคิดดูว่า ขณะที่นึก บางครั้งเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์ บางครั้งนึกถึงเรื่องสนุกๆ บางครั้งนึกถึงเรื่องไม่สนุกเลย ชวนะในขณะนั้นก็จะเป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือคิดไปในเรื่องกุศล ก็เป็นมหากุศลจิตบ้าง แต่ก่อนที่กุศลจิตจะเกิดได้ มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน รู้อารมณ์ที่กระทบ ชั่วขณะเดียว และกุศลหรืออกุศลก็เกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดนึกอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิตซึ่งมีมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก

    การที่กล่าวถึงลำดับของวิถีจิต ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า วิถีจิตไหนเกิดก่อน

    กุศลจิตก็เป็นวิถีจิต อกุศลจิตก็เป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิต สันตีรณะก็เป็นวิถีจิต มโนทวาราวัชชนะก็เป็นวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนะก็เป็นวิถีจิต แต่วิถีจิตต้องเกิดดับสืบต่อกันตามลำดับ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับทาง ปัญจทวารวิถี วิถีจิตใดเป็นวิถีจิตที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ และทาง มโนทวารวิถี วิถีจิตใดเป็นวิถีจิตที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เพราะปัญจทวารวิถีมีวิถีจิตถึง ๗ ได้ ส่วนทางมโนทวารวิถี มีวิถีจิตเพียง ๓ วิถีจิตเท่านั้น

    ถ. หมายความว่า มโนทวารกับปัญจทวารกระทำกิจเฉยๆ เกิดขึ้นมากระทำกิจ เป็นหน้าที่เฉยๆ

    สุ. ใช้คำว่า ปัญจทวารกับมโนทวารไม่ได้ เพราะถ้าเป็นปัญจทวาร หมายความถึงรูป มโนทวารหมายความถึงภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้น ต้องใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต เป็นอเหตุกกิริยาจิต ยังไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจิตที่เพียงกระทำกิจอาวัชชนะ รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร และเวลาจะคิดนึกเรื่องใด มโนทวาราวัชชนจิตก็รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวาร ต่อจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องกุศล หรือจะคิดเรื่องอกุศล แต่ให้ทราบว่า กุศลหรืออกุศลจะเกิดเป็นชวนวิถีแรกไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตอื่นเกิดก่อน ถ้าเป็นทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตต้องเป็นวิถีจิตที่ ๑

    ถ. ประพฤติปฏิบัติอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงได้ไปเกิดในชั้น อสัญญสัตตาพรหม

    สุ. ต้องอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้รูปปัญจมฌาน ไม่ใช่เพียงแต่ปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน แต่ต้องได้ถึงรูปปัญจมฌาน และต้องเห็นโทษของการมีนามธรรมว่า ทุกวันนี้ที่เดือดร้อนกันก็เพราะมีนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เห็นสิ่งต่างๆ และเกิดความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรม ต่างๆ และยังมีวิบาก คือ การได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนามธรรมเลย ก็น่าจะสบายมาก เพราะทุกท่านสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ สุขทุกข์ไม่มีเลย ไม่เดือดร้อนเลย ก็ย่อมจะดีกว่าที่จะมีนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ถึงปัญจมฌาน และไม่ปรารถนาที่จะให้มีนามธรรม ก็ละความพอใจในนามธรรมด้วยกำลังของปัญจมฌานนั่นเอง ทำให้เมื่อจุติจิตดับไปจึงมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิในชั้นอสัญญสัตตาพรหม ไม่มีนามปฏิสนธิเลย

    ถ. เมื่อได้เกิดในภพภูมินี้แล้ว มีอะไรเป็นข้อสังเกตหรือกำหนดได้ว่า ได้มาเกิดในภูมินี้แล้ว

    สุ. ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้สึกตัว

    ถ. หมายความว่า ในอสัญญสัตตาพรหมนี้ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งนาม

    สุ. ในอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ คือ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิกเกิด โดยขันธ์ ๕ มีแต่รูปขันธ์เกิด ไม่มีนามขันธ์ ๔ คือ ไม่มีทั้งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

    ถ. เมื่อมีแต่รูป จะมีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ที่ถือว่าเป็นการเจริญกุศลได้

    สุ. ไม่มีเลยในระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลไม่มีในอสัญญสัตตาพรหม

    ถ. แสดงว่า ผู้ที่เกิดในภพนี้ภูมินี้คล้ายๆ กับว่า ไม่มีประโยชน์ ใช่ไหม

    สุ. ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่สามารถเจริญกุศลได้ แต่ก็ไม่มีอกุศลด้วย เป็นการเกิดโดยมีแต่รูปปฏิสนธิเท่านั้น ตามกำลังของฌาน คือ จะมีอายุยั่งยืนถึง ๕๐๐ กัป และกรรมหนึ่งจึงจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดหลังจากรูปจุติ เมื่อรูปปฏิสนธิก็เฉพาะรูปเท่านั้นที่จุติ ต่อจากนั้นก็เป็นปฏิสนธิจิตเกิด ด้วยกำลังของกรรมหนึ่งกรรมใดซึ่งเป็นชนกกรรม

    ถ. อารมณ์ของปฏิสนธิ คือ ในมรณาสันนวิถี หรือชวนวิถีในมรณาสันนวิถี ๕ ขณะ ถ้าหากจุติจิตเกิดต่อจากชวนะ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มีบางครั้งที่ก่อนจะถึงจุติจิต เป็นชวนะแล้ว ตทาลัมพนะต่อก็มี ภวังค์ต่อก็มี จึงจะจุติ ฉะนั้น อารมณ์ที่รับ จากชวนะดวงสุดท้ายนั้น จะไม่ขาดตอนหรืออย่างไร

    สุ. ขอให้นึกถึงในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิต คือ ในขณะนี้ วิถีจิตทางจักขุทวารดับหมดแล้ว รวมทั้งตทาลัมพนะซึ่งก็มีอารมณ์คือรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับด้วย เพราะ ตทาลัมพนะก็เป็นจักขุทวารวิถี และที่กล่าวว่าเป็นจักขุทวารวิถี ก็เพราะอาศัยจักขุ คือ ตา เป็นทางที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจคำว่า ทวาร อีกครั้งหนึ่ง

    ทวาร หมายความถึงทางที่จิตอาศัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตามที่เป็นวิถีจิต คือ ไม่ใช่ภวังคจิต จะต้องอาศัยทวาร คือ ทางที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าตราบใดที่ยังเป็นภวังคจิตอยู่ ยังไม่ได้อาศัยจักขุปสาทเป็นทางรู้อารมณ์ จักขุปสาทก็ยังคงเกิดดับ แต่ไม่ใช่จักขุทวาร เพราะจิตไม่ได้อาศัยรูปนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต่อเมื่อใดจิตอาศัยรูปใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ รูปนั้นจึงเป็นทวาร และจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งนั้น ไม่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต วิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกันมาทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จึงทำให้สามารถรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยกระทำกิจต่างๆ กัน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกิจอาวัชชนะ รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร ยังไม่เห็น เพียงแต่เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น เพราะรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับกระทบกับ จักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ ทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ทำกิจอาวัชชนะ คือ เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตที่อาศัยจักขุทวาร เป็นจักขุทวารวิถีจิต

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะ เหตุใด ก็เพราะเหตุว่าอาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ยังไม่ดับ แต่จักขุวิญญาณไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ คือ เป็นสภาพที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวาร

    เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับรูปารมณ์ รู้สีที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุวิญญาณ แต่ไม่ได้ทำทัสสนกิจ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะไม่เห็น แต่ทำกิจรับ คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะก็เป็น จักขุทวารวิถีจิต เพราะขณะนั้นอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร จึงเป็น จักขุทวารวิถีจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ สันตีรณจิตก็เป็น จักขุทวารวิถีจิต โวฏฐัพพนจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณจิต ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต

    ชวนะ ๗ ขณะที่เกิดต่อ ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ตทาลัมพนะที่เกิดต่อจากชวนะ ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ เนื่องจากจักขุปสาทรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ

    เมื่อตทาลัมพนะดับ และจักขุปสาทรูปก็ดับ รูปารมณ์ก็ดับ ภวังคจิตเกิดต่อ ไม่ได้มีอารมณ์เดียวกับจักขุทวารวิถีจิต แต่มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อจนกว่ามโนทวาราวัชชนจิตจะเกิด เพื่อรู้อารมณ์ต่อจากจักขุทวารวิถีจิต

    แสดงให้เห็นว่า เวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากปัญจทวารนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมด ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากทางจักขุทวารวิถี

    ถ้าเป็นโสตทวารวิถี คือ เสียงกระทบกับโสตปสาท จิตซึ่งอาศัยโสตปสาทรูปทั้งหมดที่เป็นวิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะเกิดขึ้นรับรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถี เป็นเช่นนี้ทุกทวารไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นๆ ดับไปหมด ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อ

    ทำไมมโนทวารวิถีจึงมีอารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารวิถีได้ ถ้ามโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อจากทางปัญจทวารวิถีมีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีได้ ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตก่อนจุติจิตได้ เหมือนกันไหม ในเมื่ออารมณ์ทางปัญจทวารดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น มีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับไปได้ฉันใด จุติจิตก็เกิด และปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อจากจุติ โดยมีอารมณ์เดียวกับ ชวนะสุดท้ายก่อนที่จุติจิตจะเกิดนั่นเอง ไม่ต่างกัน

    อุปมาเหมือนเสียงสะท้อน หรือเหมือนตราที่ประทับ ถ้ายังไม่จุติ มโนทวารวิถีก็รับต่อ แต่เมื่อจุติจิตเกิด ปฏิสนธิก็มีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายแทนที่จะเป็น มโนทวารวิถี เพราะเหตุว่าสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น มโนทวารวิถีก็ไม่ต้องรับต่อ

    โสตวิญญาณอาศัยทวารไหน

    โสตวิญญาณ ก็ต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวาร

    โสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยินในขณะนี้ จะอาศัยรูปอื่นเป็นทวารไม่ได้เลย โสตวิญญาณต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวารได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยทวารไหน

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยได้ทั้ง ๕ ทวาร เพราะไม่ว่าจะเป็นทางจักขุทวารวิถี คือ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณเกิด สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โดยอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร

    และถ้าเป็นทางหู ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป โสตวิญญาณเกิด ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โดยอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวาร

    เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตต้องเกิดต่อจากจักขุวิญญาณทางจักขุทวาร เกิดต่อจากโสตวิญญาณทางโสตทวาร เกิดต่อจากฆานวิญญาณทางฆานทวาร เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณทางชิวหาทวาร เกิดต่อจากกายวิญญาณทางกายทวาร สัมปฏิจฉันนจิตจึงอาศัยทวารทั้ง ๕ เกิด

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยมโนทวารได้ไหม ไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่ต้องแยกกันระหว่างปัญจทวารกับมโนทวาร

    และมโนทวารคืออะไร ชื่อจำง่าย มโนทวาร แต่ลักษณะของมโนทวารแท้ๆ มโนทวารจริงๆ นั้น คืออะไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑๓๐๑ – ๑๓๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564