แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278


    ครั้งที่ ๑๒๗๘


    สาระสำคัญ

    ลำดับการให้ผลของกรรม (โดยประเภทของกรรม)

    อถ.นิทานสูตร - เรื่องของพหุลกรรม (พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖


    สำหรับลำดับการให้ผลของกรรม โดยประเภทของกรรม คือ

    ประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล มี ๔ คือ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ อาสันนกรรม หรือยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑

    และลำดับการให้ผลของกรรมโดยประเภทของกรรม ครุกกรรม เป็นกรรมหนักย่อมให้ผลก่อน

    พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง หรือกรรมที่เสพคุ้น เพราะบางกรรมทำไปแล้วก็ไม่ได้นึกถึงอีกเลยก็มี แต่บางกรรมทำแล้วไม่ลืม ทำแล้วยังระลึกถึงบ่อยๆ เพราะฉะนั้น กรรมที่มีกำลัง หรือเสพคุ้น คือ ทำไปแล้วก็ยังระลึกถึงอีกเนืองๆ นั้น เป็นพหุลกรรม

    อีกกรรมหนึ่ง คือ อาสันนกรรม บางแห่งใช้คำว่า ยทาสันนกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำใกล้จะจุติ

    และกฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมที่นอกจากครุกกรรม พหุลกรรม และ อาสันนกรรม ก็เป็นกฏัตตาวาปนกรรม เป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำ ที่ไม่ใช่ ครุกกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม และไม่ใช่อาสันนกรรม

    นี่คือประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล

    ถ. ต่อไปคืออาจิณณกรรม ใช่ไหม ต่อจากอาสันนกรรม

    สุ. ข้อความในมโนรถปูรณี ไม่มีอาจิณณกรรม

    ถ. หายไปไหนไม่ทราบ

    สุ. ไม่หาย จะเหมือนกับพหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลังหรือกรรมที่เสพคุ้น กรรมที่ระลึกถึงบ่อยๆ

    ถ. อาจิณณกรรมคงจะรวมเข้ากับพหุลกรรมได้ ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    ในเรื่องของครุกกรรม ทางฝ่ายกุศล ได้แก่ มหัคคตกรรม ฌานจิตที่ไม่เสื่อม เพราะฉะนั้น ถ้ารูปาวจรกุศลจิตเกิดก่อนจุติ ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ หรือถ้าผู้นั้นสามารถอบรมเจริญสมถภาวนาได้ถึงขั้นอรูปฌาน ก็แล้วแต่ว่าอรูปฌาน ขั้นใดจะเกิดก่อนจุติจิต ก็เป็นครุกกรรม เป็นมหัคคตกรรมฝ่ายกุศลที่ทำให้ปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิตามขั้นตามภูมิของอรูปาวจรกุศลนั้นๆ

    ทางฝ่ายอกุศลกรรมก็ได้แก่ อนันตริยกรรม ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว

    ท่านผู้ใดมีตัวอย่างของกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตของท่านบ้างไหม ซึ่งวิจิตรมาก และแต่ละขณะจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถจัดสรรผลของกรรมให้เป็นไปตามความต้องการได้เลย มีวิถีทางของกรรมนั้นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นไป ทำให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้นต่างๆ กันไปแต่ละขณะ แต่ละภพ แต่ละชาติ

    เรื่องของพหุลกรรม ตัวอย่างใน มโนรถปูรณี อรรถกถา นิทานสูตร มีข้อความว่า

    ส่วนในกรรมทั้งหลาย อันเป็นกุศลและอกุศล กรรมใดเป็นกรรมมีมาก กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม พหุลกรรมนั้น อันบัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถการเสพ บ่อยๆ อันตนได้แล้วตลอดกาลนาน

    ซึ่งบางท่านใช้คำว่า อาจิณณกรรม แต่ข้อความในอรรถกถาใช้ พหุลกรรม

    อีกอย่างหนึ่ง พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย เป็นการทำด้วยความเดือดร้อนใจในกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม

    ท่านที่เคยกระทำอกุศลกรรม และยังรู้สึกเดือดร้อนใจ แสดงให้เห็นว่า เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง เป็นพหุลกรรม จึงทำให้แม้ว่ากรรมนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังติดตามเดือดร้อนใจอยู่

    ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลก็ตรงกันข้าม คือ พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย กุศลกรรมนั้นก็เป็น พหุลกรรม คือ เป็นกรรมที่มีกำลัง

    ข้อความในมโนรถปูรณี ได้ยกตัวอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังได้ไปประเทศศรีลังกา จะเห็นพระมหาสถูปใหญ่ซึ่งชาวลังกาเรียกว่า พระมหาถูปะ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กล่าวได้ว่ามากที่สุด โดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยเป็นผู้สร้างพระมหาถูปะนั้น ซึ่งกุศลที่ท่านได้กระทำไว้ในพระศาสนานั้นมีมาก แต่กุศลที่จะเป็นพหุลกรรมได้แสดงไว้ว่า ในบรรดากุศลกรรมทั้งหลายที่พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ได้ทรงกระทำแล้วนั้น กุศลกรรมใดเป็นพหุลกรรม

    ขอเรียนให้ทราบเพิ่มเติมว่า อรรถกถาหลังพระมหินทเถระนั้นมี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสมัยท่านพระมหินทเถระซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชเท่านั้น เพราะพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศก

    พระเจ้าอโศกทรงส่งพระโอรสและพระธิดาไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ แต่พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เพราะฉะนั้น ตัวอย่างในอรรถกถาก็มีแม้หลัง พระมหินทเถระด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยของพระเจ้ามหินทเถระซึ่งเป็นโอรสของ พระเจ้าอโศกเท่านั้น

    ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา มีว่า

    ดังได้สดับมา พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยนั้น ทรงพ่ายแพ้ในการสู้รบที่ จุลลังคณิยยุทธ์ คือ สนามรบย่อย และได้เสด็จขึ้นม้าหนีไป มีอุปัฏฐากของพระองค์ชื่อติสสอำมาตย์ ติดตามไปเพียงผู้เดียว พระเจ้าทุฏฐคามณีได้เข้าไปสู่ดงแห่งหนึ่ง ได้ประทับนั่ง ขณะนั้นรู้สึกหิวมาก ก็ตรัสว่า พี่ติสสะ ความหิวเบียดเบียนพวกเราเหลือเกิน เราจักทำอย่างไรกัน

    ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงมาก แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะความหิว

    ติสสอำมาตย์จึงกล่าวว่า

    ข้าแต่สมมติเทพ ข้าวสุกแห้งดุจทองก้อนหนึ่ง อันข้าพระองค์นำมาวางไว้แล้วในระหว่างผ้าสาฎกมีอยู่

    คือ ติสสอำมาตย์ได้นำข้าวสุกแห้งห่อผ้าสาฎกไปด้วยก้อนหนึ่ง

    พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้นำข้าวสุกแห้งนั้นมา เมื่อทอดพระเนตรเห็นก็ได้ตรัสให้ติสสอำมาตย์แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ติสสอำมาตย์ก็ทูลถามว่า พวกเรามีเพียง ๓ เท่านั้น เพราะเหตุไรสมมติเทพจึงให้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

    คือ มีพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ๑ ติสสอำมาตย์ ๑ และม้าทรง ๑ แต่ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยให้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

    ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยก็ได้ตรัสว่า พี่ติสสะ จำเดิมแต่กาลใดมา เราระลึกถึงตน อาหารอันเราไม่ได้ถวายแล้วแก่พระผู้เป็นเจ้าเคยบริโภคแล้ว ไม่มีเลย

    แสดงถึงศรัทธาของพระองค์ ซึ่งไม่เคยมีสักมื้อเดียวที่จะเสวยพระกระยาหารโดยไม่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ พระองค์ต้องถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ก่อน และจึงบริโภคทุกครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งบังเอิญท่านเสวยแกงพริกโดยไม่ได้ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อทรงระลึกขึ้นได้ ก็ให้สร้างพระสถูปใหญ่เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงกรรมที่ได้เสวยอาหารก่อนที่จะได้ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ แสดงให้เห็นถึงกุศลของอดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนามากพระองค์หนึ่ง

    อำมาตย์นั้นก็ได้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ สำหรับถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนหนึ่ง สำหรับพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยส่วนหนึ่ง สำหรับติสสอำมาตย์ส่วนหนึ่ง สำหรับม้าส่วนหนึ่ง เมื่อแบ่งเสร็จแล้ว ติสสอำมาตย์ก็ได้ทูลถามว่า สมมติเทพ เราจักได้พระผู้เป็นเจ้าแต่ที่ไหนในป่าอันเขาทอดทิ้งแล้ว

    ในที่นั้นย่อมไม่มีพระภิกษุสงฆ์เลย แต่พระราชาตรัสว่า

    ข้อนี้มิใช่เป็นภาระของท่าน ถ้าศรัทธาของเรามีอยู่ เราจักได้พระผู้เป็นเจ้า ท่านอันเราอนุญาตแล้ว จงประกาศกาลเถิด

    หมายความว่า ด้วยศรัทธาของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงทราบว่า จะต้องมีพระภิกษุสงฆ์มารับอาหารของพระองค์แน่ๆ

    ซึ่งติสสอำมาตย์ได้ประกาศถึง ๓ ครั้งว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นกาลแห่งอาหาร ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นกาลแห่งอาหาร

    ครั้งนั้นพระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่โพธิยมาลก ได้ยินเสียงนั้นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงใคร่ครวญอยู่ว่า เสียงนั้นเป็นเสียง ณ ที่ไหน ดังนี้ ทราบแล้วว่า วันนี้ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยปราชัยในการรบ เสด็จเข้าไปสู่ดง ประทับนั่งแล้ว ให้แบ่งก้อนภัตรก้อนหนึ่งออกเป็น ๔ ส่วน ให้ประกาศกาลว่า เราจักบริโภคส่วนหนึ่ง ดังนี้ แล้วคิดว่า ในวันนี้เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา เมื่อพระมหาติสสเถระทราบดังนั้นแล้ว ก็ไปด้วยมโนคติ คือ ด้วยใจ แล้วได้ยืนอยู่ข้างหน้าพระราชา

    เมื่อพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยทอดพระเนตรเห็น ทรงมีจิตเลื่อมใสแล้วได้ตรัสว่า พี่ติสสะ ท่านจงดูเถิด

    แสดงให้เห็นว่า แม้ในป่าดงที่กันดารอย่างนั้น ก็ยังมีพระเถระที่มารับอาหาร

    ดังนี้แล้ว ทรงไหว้พระเถระแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้บาตรเถิด พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงใส่ส่วนของพระเถระกับด้วยส่วนของตนลงในบาตรแล้ว

    คือ อาหารนั้นมี ๔ ส่วนจริง สำหรับถวายพระเถระส่วนหนึ่ง สำหรับพระองค์เองส่วนหนึ่ง สำหรับติสสอำมาตย์ส่วนหนึ่ง สำหรับม้าส่วนหนึ่ง แต่ด้วยพระทัยที่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระราชาทรงใส่ส่วนของพระเถระกับด้วยส่วนของตนลงในบาตรแล้ว

    ทรงไหว้แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าการสิ้นไปแห่งอาหารจงอย่ามีในกาลไรๆ ดังนี้ ได้ประทับยืนอยู่แล้ว

    ทุกท่านคงจะทราบถึงความหิวว่า เวลาที่หิวมากๆ เป็นอย่างไร แต่แม้อย่างนั้นพระราชาก็ยังได้ถวายส่วนของตนกับทั้งส่วนของพระเถระด้วย โดยไม่ได้คิดถึงความหิวของพระองค์ซึ่งมีแต่ก่อนเลย

    แม้ติสสอำมาตย์ก็กล่าวว่า เมื่อเราเห็นพระลูกเจ้า เราไม่อาจเพื่อบริโภค ดังนี้แล้ว เกลี่ยส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ

    เมื่อพระราชาไม่บริโภค ติสสอำมาตย์ก็ไม่อาจที่จะบริโภคส่วนของตนได้ เพราะฉะนั้น ก็ได้ถวายส่วนของตน โดยเกลี่ยส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ

    พระราชาทรงแลดูม้าแล้วทรงทราบว่า ม้านี้หวังการใส่ส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ ดังนี้ ใส่ส่วนนั้นลงในบาตรนั้น แล้วไหว้พระเถระ ส่งไปแล้ว

    ไม่เหลือเลยสักส่วนเดียว

    เมื่อพระมหาติสสได้รับอาหารบิณฑบาตจากพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแล้ว ท่านได้นำไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์

    พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยยังทรงหิวอยู่ พระองค์ทรงดำริว่า เราเป็นผู้อันความหิวเบียดเบียนยิ่งแล้ว จะเป็นความดีหนอ ถ้าบุคคลพึงส่งก้อนข้าวที่เหลือมา

    ยังคิดว่า จะได้บริโภคอาหารที่ไหน อย่างไร ซึ่งคนที่กำลังหิวทุกคนต้องหวัง ที่จะได้อาหาร เพราะฉะนั้น พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยก็หวังที่จะได้อาหารส่วนที่เหลือจากพระเถระ

    พระเถระทราบจิตของพระราชาแล้ว กระทำภัตรอันมีประมาณยิ่งให้เพียงพอแก่อัตภาพของชนทั้ง ๓ เหล่านั้น โยนบาตรขึ้นไปในอากาศ บาตรมาวางในพระหัตถ์ของพระราชา แม้ภัตรก็เพียงพอแก่ชนทั้ง ๓

    พระราชาล้างบาตรแล้วดำริว่า เราจะไม่ส่งบาตรเปล่ากลับคืนไป จึงเปลื้อง ผ้าสาฎกเบื้องบนออก เช็ดน้ำแล้ว วางผ้าสาฎกไว้ในบาตร โยนบาตรขึ้นไปในอากาศ ด้วยอธิษฐานว่า ขอบาตรนี้จงไปตั้งอยู่ในหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า บาตรไปตั้งอยู่ในหัตถ์ของพระเถระแล้ว

    นี่คือเมื่อประมาณสี่ร้อยกว่าปี หลังจากที่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานแล้ว ลองคิดถึงกรุงเทพรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ กว่าปี ก็ไม่ห่างไกลจากสมัยนี้เท่าไร เพราะฉะนั้น ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานได้ประมาณ ๔๐๐ กว่าปี ย่อมมีพระอรหันต์ที่ยังทรงคุณวิเศษ ตามข้อความในมโนรถปูรณี

    ในกาลต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยได้สร้างพระมหาเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวว่า

    พระมหาถูปะ หรือพระมหาเจดีย์นั้น ประกอบด้วย ๑๒๐ ห้อง แต่ว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยสร้างพระมหาถูปะยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก็ใกล้เวลาที่จะสวรรคต พระราชศรัทธาทำให้พระองค์ตรัสให้จัดที่บรรทมใกล้พระมหาเจดีย์ เพื่อที่จะได้ทอดพระเนตรดูพระมหาเจดีย์ที่สร้างไว้ก่อนที่จะสวรรคต ขณะนั้นพระภิกษุก็ได้ทำการสาธยายพระสุตตันตปิฎกด้วยสามารถนิกายทั้ง ๕

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    รถ ๖ คันมาจากเทวโลกทั้ง ๖ ได้ตั้งอยู่ในอากาศเบื้องพระพักตร์ของพระราชา พระราชาให้สวดคัมภีร์จำเดิมแต่ต้นว่า ท่านทั้งหลายจงนำคัมภีร์แห่งบุญมา

    บางท่านอาจจะจดไว้ว่า ท่านได้บริจาค ได้ทำกุศลในชีวิตของท่านที่ไหนบ้าง แต่สำหรับพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ท่านมีบันทึกซึ่งเป็นคัมภีร์บุญของท่าน

    ครั้งนั้น กรรมไรๆ มิได้ยังพระราชาให้ชื่นชม พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จงกล่าวสวดต่อไปเถิด ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์กล่าวแล้วว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งออกเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    เพียงเท่านี้ พระราชาระลึกถึงกุศลที่ทำให้พระองค์เกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า จงหลีกไปเถิด ดังนี้ ตรัสถามภิกษุสงฆ์แล้วว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เทวโลกไหนแลเป็นที่น่ารื่นรมย์กว่า ดังนี้

    ภิกษุสงฆ์ตอบว่า มหาบพิตร ภพดุสิตเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง ดังนี้ พระราชาทรงกระทำกาละแล้ว ดำรงอยู่แล้วบนรถอันมาแล้วจากภพดุสิต ได้เสด็จไป สู่ภพชื่อว่าดุสิต

    นี้เป็นเรื่องในการให้ผลของกรรมมีกำลัง คือ พหุลกรรม

    ถ้าจะให้ทุกท่านนึกถึงกรรมที่มีกำลังที่เป็นกุศลในขณะนี้ นึกออกไหม

    ถ. ขณะนั้นไม่ใช่อาสันนกรรมหรือ

    สุ. ขณะที่พระราชาปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ ไม่ใช่อาสันนกรรม

    ถ. ขณะนั้นท่านกำลังมีพระเจดีย์เป็นอารมณ์ และพระภิกษุกำลังสวด ก็มีเสียงสวดเป็นอารมณ์ก็ได้

    สุ. แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดโสมนัสปีติ จนถึงตอนที่ ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์กล่าวแล้วว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งออกเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    ถ. สวรรค์ทั้งหมดมี ๖ ชั้น ดุสิตเป็นชั้นที่ ๔ สูงขึ้นไปอีก ๒ ชั้น คือ นิมมานรดีและปรนิมมิตวสวัสตี ถ้าเทวดาขับรถมารับ จะเลือกชั้นดุสิตทุกที ไม่ว่าจะเป็นธัมมิกอุบาสก หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ก็เหมือนกัน เลือกชั้นดุสิต เพราะเหตุใด

    สุ. ท่านผู้ฟังจะเลือกรถคันไหน แทนที่จะนึกถึงพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย นึกถึงท่านผู้ฟังเอง ถ้าเลือกได้จะเลือกคันไหน

    ถ. ดุสิต

    สุ. ก็เหมือนกัน ไม่น่าที่จะสงสัยถึงจิตของผู้ที่ฝักใฝ่ในพระธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    9 ต.ค. 2566