แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272


    ครั้งที่ ๑๒๗๒


    สาระสำคัญ

    เจริญสติปัฏฐานระลึกที่กาย (ทำไมถึงรู้อาโปไม่ได้)

    การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ชัด แล้วละ

    หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง

    ประโยชน์ที่แท้จริงของผู้ศึกษาธรรม

    กรรม คือ การกระทำ (เจตนาเจตสิก)

    อถ.ติก.นิทานสูตร - แสดงเรื่องของกรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖


    ถ. จากที่ได้ฟังเทป มีผู้ถามเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทางกายว่า การเจริญสติปัฏฐานทางอาโป คือ น้ำ จะเจริญทางกายได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า ต้องรู้รูปหยาบก่อน เพราะอาโปเป็นสุขุมรูป ผมสงสัยว่า รู้รูปหยาบถึงแค่ไหน เพียงไร จึงจะเจริญอาโปได้

    สุ. ทำไมอยากจะรู้อาโป คือ การกระทำทั้งหมดต้องเป็นเหตุเป็นผลจึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะข้อปฏิบัติสามารถคลาดเคลื่อนไปได้โดยง่าย ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รอบคอบ เช่น ถ้าไม่คิดว่าทำไมอยากจะรู้อาโป อยากหรือเปล่า

    ทางตากำลังเห็น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นนามธรรม ที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างจากรูปธรรมจริงๆ แล้วหรือยัง ทำไมอยากจะรู้อาโป

    ทางหูกำลังได้ยินเสียงตามปกติในขณะนี้ เกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว สติระลึกรู้ลักษณะของเสียงว่า ที่เสียงปรากฏ เป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางหู ต่างกับสภาพรู้ซึ่งกำลังรู้หรือได้ยินเสียงแล้วหรือยัง ทำไมอยากจะรู้อาโป

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ทางใจก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง คิดนึกบ้าง หรือมีรูปที่เห็นแล้วทางตา มีเสียงที่ได้ยินแล้วทางหูนั่นเองเป็นอารมณ์ แต่ทำไมอยากจะรู้อาโป

    เป็นเหตุเป็นผลอะไรไหมที่ต้องการจะรู้อาโป หรือเพียงอยาก และก็คิดว่ารู้รูปหยาบนานเท่าไรจึงจะรู้อาโปได้ ไม่มีการอนุญาตเลย แล้วแต่สติปัญญาของบุคคลใดที่จะสามารถรู้ลักษณะของรูปใด และไม่ใช่เพราะอยาก แต่เพราะปัญญาเจริญขึ้น สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ จนทั่ว โดยไม่เลือก

    ลมหายใจดูเป็นสิ่งซึ่งทุกท่านต้องการจะกำหนด ใช้คำว่า กำหนด อยากให้สมาธิตั้งมั่นอยู่ที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก มีใครอยากจะรู้ฆานปสาทซึ่งอยู่กลางช่องจมูกบ้างไหม เดี๋ยวจะมีการอยากรู้ว่า เมื่อไรจะรู้ฆานปสาทที่อยู่กลางช่องจมูกอีก ก็เป็นเรื่องอยากจะรู้ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังโดยไม่ได้คิดว่า ทำไมจึงอยาก ทำไมจึงต้องการรู้สิ่งนั้น ทำไมจึงต้องการรู้สิ่งนี้ ในเมื่อสภาพธรรมกำลังปรากฏ รู้ชัดตามความเป็นจริงทั่วทั้ง ๖ ทวารแล้วหรือยังเท่าที่อารมณ์จะปรากฏแก่สติของแต่ละบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องไปอยากรู้

    ผู้ที่เคยอบรมเจริญอานาปานสติในอดีตชาติ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ในสังสารวัฏฏ์ ที่ท่านผู้ฟังมีความสนใจในการเจริญสติปัฏฐานในชาตินี้ จะเคยมีการสะสมการอบรมเจริญสมถภาวนามาแล้วในอดีตชาติก่อนๆ มากน้อยสักเท่าไร แต่อาศัยเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้เป็น ผู้ที่สนใจในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และรู้ว่าสติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถ ที่จะเลือกอารมณ์ให้สติได้

    สำหรับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้วพอที่จะระลึกรู้การเกิดดับของ ลมหายใจ ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของรูป ลมหายใจได้ด้วยการละว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ด้วยการขวนขวายอยากจะรู้ อยากจะให้สติตั้งมั่นกำหนดที่ลมหายใจ ไม่ให้ไปที่อื่นเลย นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แต่เป็นลักษณะของความต้องการ ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะมีปัญหาว่า เมื่อไรจะรู้อาโป หรือว่ารู้นามหรือรูปมากน้อยเท่าไรจึงจะสามารถรู้อาโปได้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ชัด และละไปเรื่อยๆ

    ท่านผู้หนึ่ง ท่านมีความกังวลในเรื่องของอกุศลธรรม ท่านบอกว่า ท่านไม่อยากจะปล่อยให้ใจของท่านเป็นไปกับอกุศลมากๆ ฟังดูเหมือนเป็นความคิดที่ดี แต่ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดแล้ว ไม่ใช่ว่าท่านปล่อยใจของท่านให้เป็นอกุศลมากๆ เพราะไม่มีใครสามารถปล่อยใจได้ ไม่มีตัวตนที่จะปล่อยใจ หรือไม่ปล่อยใจ

    ทางตาที่กำลังเห็น สภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ได้ปรากฏทางหู ไม่สามารถจะปรากฏทางหูเพราะไม่ใช่เสียง กำลังปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะปล่อยใจหรือไม่ปล่อยใจเมื่อเห็นว่าเป็นเก้าอี้ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน มีใครบ้างที่เห็นแล้วไม่รู้ว่าเห็นอะไร เมื่อเห็นว่าเป็นเก้าอี้ เป็นชีวิตปกติประจำวัน ปล่อยใจหรือเปล่า ปล่อยใจหรือยัง หรือว่าไม่มีใครสามารถจะปล่อยได้เลย เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ให้รู้ว่าเมื่อเห็นแล้ว ปกติในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดย่อมรู้ว่า โลภมูลจิตคล้อยตามสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วทันที

    จะไม่ปล่อยได้ไหม ที่ว่าไม่อยากจะให้จิตใจเป็นไปกับอกุศลธรรม ไม่อยากจะปล่อยใจให้เป็นอกุศลมากๆ ไม่อยากจะปล่อยใจให้เป็นโลภะมากๆ คิดว่าจะยับยั้งได้ เพราะไม่รู้ความจริงว่า ทันทีที่ตาเห็น โลภะคล้อยตามอารมณ์ที่เห็นทันที ทันทีที่ได้ยินเสียงตามปกติ โลภะก็คล้อยตามเสียงทันที ใครจะมีอำนาจยับยั้ง ไม่ปล่อยใจให้เป็นอกุศลหรือให้เป็นโลภะได้

    เพราะฉะนั้น หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดเรื่องวิถีจิตเพื่อให้รู้ว่า ถ้า วิถีจิตไม่เกิดขึ้น เป็นภวังคจิตอยู่ตลอด สติปัฏฐานย่อมเกิดไม่ได้ เมื่อมีทางที่จะรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติปัฏฐานจึงสามารถระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ แต่ถ้า วิถีจิตไม่เกิด สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    ที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แม้แต่เรื่องของ วิถีจิต ผู้ฟังหรือผู้ศึกษาจะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ทรงแสดงวิถีจิตเพื่ออะไร เพื่ออนุเคราะห์ผู้ฟังโดยสถานใด ก็คือโดยไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติเมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก เพราะถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงจะไม่ทราบเลยว่า โลภะคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ ขณะใดที่หลงลืมสติ

    เพราะฉะนั้น การแสดงธรรม ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ฟังเท่านั้นเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานในขณะที่กำลังฟัง แม้แต่ผู้กล่าวธรรม ผู้สนทนาธรรม ผู้แสดงธรรม ก็ต้องให้ธรรมที่กำลังกล่าวนั้นเป็นสติปัฏฐาน คือ ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังกล่าวถึงสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของผู้ที่ศึกษาธรรม

    และไม่ว่าจะเป็นพระธรรมที่สั้นหรือเล็กน้อยประการใด ก็ต้องสมบูรณ์และสอดคล้องกับธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดงไว้ และตามความเป็นจริงด้วย แม้แต่เพียงพยัญชนะที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติก็ต้องเป็นอนัตตา เมื่อสติเป็นอนัตตา จึงไม่สามารถที่จะเลือกอารมณ์ให้สติได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีการที่จะคิดว่า เมื่อไรจะรู้อาโป ตัดปัญหานี้ไปได้ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก่อน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    อย่าลืม ธรรมทั้งหมด ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้มีเครื่องปรุงสำหรับปัญญาที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน

    ขอกล่าวถึงเรื่องกิจของจิต ไม่ว่าจิตจะมีประเภทมากถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงโดยพิเศษ แต่กิจทั้งหมดของจิตมีเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น แสดงให้เห็นได้ว่า จิตหลายประเภททำกิจเดียวกันได้

    ได้กล่าวถึงกิจที่ ๑ แล้ว คือ ปฏิสันธิกิจ ที่ทำกิจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งแต่ละชีวิตจะมีการเกิดต่างกัน ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิเท่านั้น แม้แต่ภูมิอื่นๆ เช่น ดิรัจฉานภูมิ ก็จะเห็นความวิจิตรของสัตว์ดิรัจฉานได้ ช้างก็ อยู่อย่างช้าง มีอาหารของช้าง งูก็อยู่อย่างงู มีอาหารของงู นกก็อยู่อย่างนก ที่อยู่ก็ต่างกัน แม้แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมแสดงให้เห็นความวิจิตรของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างกันตั้งแต่เกิด เรื่อยไปจนกระทั่งถึงจุติ และตลอดไปจนถึงชาติต่อๆ ไป

    ซึ่งในแต่ละขณะไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลแม้เมื่อวานนี้ หรือ เมื่อวันก่อน หรือแม้ในชาติก่อน แสดงให้เห็นว่าทุกขณะเกิดขึ้นเพื่อที่จะไปเท่านั้น ไป สู่อารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าพิจารณามาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิต

    กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักประเภทเดียวที่ขาดเจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากเป็นผลของกุศล ก็เป็นเจตนาที่เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นเหตุ เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิต ก็ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งวิบาก แต่เป็นเพียงกิริยา

    ข้อความในอรรถกถา มีคำว่า กัมมสมาทาน แปลโดยศัพท์ หมายถึง การถือเอาซึ่งกรรม ทุกท่านเวลาที่จะทำกุศล มีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอา หรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ

    อย่างเช่น ท่านที่ตั้งใจจะถวายทาน มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือกรรมนั้น ต้องการจะเอาซึ่งกรรมนั้น ต้องการจะกระทำกรรมนั้นนั่นเอง หรือขณะที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด

    กัมมสมาทาน การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ตั้งใจจะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เพราะฉะนั้น กรรมของ แต่ละท่านก็ต้องต่างกันไปตามกัมมสมาทาน การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ

    บางท่านสนใจที่จะถอดเทป ท่านก็มีกัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้น ตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้น กรรมนั้นบุคคลนั้นย่อมถือเอาแล้ว เพราะว่าสมาทาน คือ ถือเอาซึ่งกรรมนั้น

    นี่เป็นสำนวนที่แปลโดยศัพท์ แต่ตามความเป็นจริง คือ ความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะกระทำสิ่งใด บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาแล้วซึ่งกรรมนั้น หมายความว่าย่อมกระทำกรรมนั้นนั่นเอง นี่คือกรรมที่ต่างๆ กันไปของแต่ละบุคคล

    และโดยมากเวลาที่พูดถึงเรื่องของกรรม ทุกคนจะนึกถึงกรรมใหญ่ๆ เช่น กุศลกรรม ได้แก่ การถวายทาน หรือการทอดกฐิน แต่ชีวิตประจำวันของท่าน อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลใด กรรมที่ท่านกระทำต่อบุคคลนั้น เคยพิจารณาบ้างไหมว่า เป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ไม่ต้องคิดถึงกรรมใหญ่ๆ แต่กรรมที่กระทำกับบุคคลใกล้ชิดเป็นประจำวัน ถ้าได้พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ย่อมทำให้ละอกุศลกรรมและเจริญกุศลกรรมมากขึ้น เพราะท่านคงจะไม่กระทำกรรมกับคนที่ท่านไม่รู้จัก เดินผ่านกันไปสวนกันมาตามถนนหนทาง จะมีการกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกับบุคคลเหล่านั้นไหม แต่กับผู้ที่ใกล้ชิด ในบ้าน ในครอบครัว ระหว่างมิตรสหาย วงศาคณาญาติ เคยพิจารณากรรมของท่าน ต่อบุคคลเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า

    บางท่านอาจจะไม่ชอบคนใกล้ชิด หรือคนที่พบกันบ่อยๆ บางทีความรู้สึก ไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วในจิต ยังไม่ถึงกับแสดงออกทางกายหรือวาจา แต่ปรากฏบ้าง ได้ไหม ลองคิดดู และถ้ามีกำลังมากขึ้น ทางกาย กระทำสิ่งใดบ้างแล้วซึ่ง เป็นกายกรรม ทางวาจา กระทำคำพูดสิ่งใดบ้างแล้วซึ่งเป็นวจีกรรม ทำไมไม่คิดถึงผู้ที่อยู่ใกล้ หรือว่ามิตรสหายซึ่งเป็นผู้ที่ท่านมักจะทำกรรมเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอมากกว่าบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาจริงๆ

    ข้อความในอรรถกถา เช่น มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ ได้แสดงเรื่องของกรรมไว้ครบถ้วน ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะอ่านเองก็จะมีข้อความที่สมบูรณ์น่าพิจารณา

    ข้อความมีว่า

    จริงอยู่ โดยปริยายแห่งพระสุตตันตปิฎก กรรมทั้งหลาย ๑๑ อย่าง อันท่านจำแนกไว้แล้ว

    ถามว่า ท่านจำแนกไว้อย่างไร

    แก้ว่า ท่านจำแนกไว้ว่า

    ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ

    อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป

    อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์

    ครุกกรรม คือ กรรมหนัก

    พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง

    อาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะจุติ คือ ใกล้จะสิ้นชีวิต

    กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ใช่ครุกกรรม พหุลกรรม และอาสันนกรรม

    ชนกกรรม คือ กรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่อุปถัมภ์หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    อุปปีฬกกรรม คือ กรรมที่เบียดเบียนกรรมอื่นซึ่งกำลังให้ผลอยู่

    อุปฆาตกกรรม คือ กรรมที่ตัดรอนกรรมอื่นซึ่งกำลังให้ผลอยู่

    สำหรับทั่วๆ ไป ท่านผู้ฟังมักจะได้ยินคำว่า กรรม ๑๒ แต่สำหรับใน มโนรถปูรณี อรรถกถา นิทานสูตร แสดงถึงกรรม ๑๑

    โดยปริยายแห่งพระอภิธรรม จำแนกกรรมไว้ ๑๖ ประการ

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564