แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280


    ครั้งที่ ๑๒๘๐


    สาระสำคัญ

    เรื่ององค์ของศีลข้อที่ ๓

    เรื่องของอาสันนกรรม

    อถ.องฺ.ติก.การให้ผลโดยกระทำกิจมี ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๗


    ถ. อกุศลกรรมบถ ๑๐ พระโสดาบันละเพียง ๕ เท่านั้น พระโสดาบันยังมีทางที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา หรือสัมผัปปลาปะ หรือ พยาปาท อภิชฌาต่างๆ พระโสดาบันก็ยังมีได้ แต่ทำไมไม่ส่งผลให้เกิดในอบาย

    สุ. เพราะการรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ดับกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่พระโสดาบันบุคคลยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น การกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศล ยังมี

    ไม่ใช่พระโสดาบันจะไม่พูด ไม่ใช่พระโสดาบันจะไม่ทำ ไม่ใช่พระโสดาบันจะ ไม่คิด และเมื่อยังมีอกุศลจิตอยู่ ก็ย่อมมีอกุศลทางกาย ทางวาจา แต่ไม่ถึงขั้นทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ พระโสดาบันไม่คิดฆ่าใคร แต่พระโสดาบันก็โกรธ

    ถ. ในเมื่อพระโสดาบันยังมีพยาปาท ซึ่งพยาปาทมีได้ก็ต่อเมื่อคิดว่า ต้องการให้คนนั้นตาย

    สุ. ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น พยาปาทไม่ได้หมายความว่า ให้ตาย เพียงแต่ท่านผู้ฟังไม่ชอบใคร และอยากจะให้เขาเดือดร้อนนิดหน่อย มีไหม

    ถ. คำว่า พินาศ หมายถึงตายหรือเปล่า

    สุ. ปาณาติบาต เป็นการฆ่าแน่ แต่พยาปาทไม่ใช่ฆ่า

    ถ. คิดปองร้าย ใช่ไหม

    สุ. คิดที่จะให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างเล็กๆ น้อยๆ ได้หรือไม่ได้

    ถ. ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ยังไม่มีความต้องการให้สัตว์อื่นพินาศ กรรมบถก็ยังไม่แตก

    สุ. ถ้าคนหิว อาจจะมีพระโสดาบันที่คิดว่า เขาหิวอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม เขาคนนั้นที่กำลังหิวควรจะได้อาหารแล้ว แต่ก็คิดว่า หิวอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม แต่ไม่ใช่ขั้นที่จะฆ่า ไม่ถึงกับต้องการให้เขาสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ระดับจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิด กาย วาจาต่างๆ กัน จะเปรียบเทียบได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทำให้จิตใจละคลาย และไม่สามารถที่จะล่วงทุจริตกรรมที่เป็นศีล ๕

    ถ้าเป็นเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องที่ถ้าบุคคลหนึ่งรู้ ก็อาจจะพอใจหรือไม่พอใจในอีกบุคคลหนึ่ง แต่จำเป็นต้องรู้เพื่อประโยชน์ที่จะไม่เกิดอกุศลจิต ที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นเป็นปิสุณาวาจาหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น สมมติว่าเป็นผม เพราะผมไม่ได้คิดว่า เขาจะได้มีความพอใจในตัวผมอย่างยิ่ง และเขาจะได้โกรธคนอื่น ไม่ได้คิดอย่างนั้น

    สุ. ขณะนั้นมีความไม่พอใจ มีความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหม

    ถ. สมมติว่า ไม่มี

    สุ. สมมติ แต่จิตใจไม่ใช่เราที่จะสมมติ แต่เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกให้ตรง ความเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และกุศลจิต อกุศลจิตก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมาก ถ้าในขณะที่คิดว่าเพื่อประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่มีความขุ่นเคืองใจในขณะนั้นด้วย ขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจนั้น เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล

    ถ. อกุศล

    สุ. เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่ง ทุกท่านต้องเป็นผู้ตรง ด้วยเหตุนี้บางคนจะสงสัยว่า ทำไมเป็นพระโสดาบันแล้วยังมี ปิสุณาวาจา หรือว่าสัมผัปปลาปวาจา

    แต่พระโสดาบันยังมีโลภะที่จะสนุกสนานรื่นเริง พูดเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของธรรม เรื่องใดซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เรื่องนั้นเป็นสัมผัปปลาปวาจา เมื่อพระโสดาบันบุคคลยังมีโลภะ เพราะฉะนั้น สัมผัปปลาปวาจาก็ยังต้องมี

    หรือว่าในชีวิตที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลาย ทุกคนมีการสะสมมาต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย พระโสดาบันท่านก็อยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกัน ท่านจะไม่พูดกับคนนั้น ท่านจะไม่คบหาสมาคมกับบุคคลนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีการรู้จักเกี่ยวข้องกัน

    ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นที่จะทำให้โลภมูลจิตเกิด แม้พระโสดาบัน โลภมูลจิตของท่าน ก็ต้องเกิด มีอะไรที่โทสมูลจิตจะเกิด แม้พระโสดาบัน โทสมูลจิตของท่านก็เกิด และเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งดูเสมือนเป็นปิสุณาวาจา

    ถ. ดูเสมือน ใช่ไหม

    สุ. ดูเสมือน และต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็น ขณะใดไม่เป็น ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้นอกจากตัวเอง

    ถ. ถ้าได้ยินว่าเขากล่าวผิด ไม่มีความโกรธเขา แต่เกรงว่าผู้ที่ได้ยินได้ฟังคนอื่นจะเข้าใจผิด ก็แอบบอกเขาโดยที่ไม่มีความขุ่นใจในคนอื่น ชื่อว่าปิสุณาวาจา หรือไม่ใช่

    สุ. สติสัมปชัญญะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะต้องไวพอที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับสลับอย่างเร็วมาก และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    ถ. สมมติรู้ว่า ไม่พอใจเขาแล้ว แอบบอกทีหลัง ชื่อว่าปิสุณาวาจา ใช่ไหม สุ. จะทำอะไรก็ตามแต่ เป็นผู้ตรง และรู้ว่าขณะนั้นเป็นเพราะกุศลจิต หรือเป็นเพราะอกุศลจิต

    ถ. ชื่ออะไรก็ได้ ชื่อปิสุณาวาจาหรือไม่ก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. การกระทำทุกอย่าง ชาวโลกคิดอย่างหนึ่ง แต่สภาพธรรมจริงๆ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเองจึงจะรู้ได้ อย่างทาน การให้ ทุกคนรู้ว่า ให้สิ่งซึ่งบุคคลอื่นพอใจที่จะรับ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้ เป็นกุศล โดยทั่วไป แต่เป็นทุกกรณีหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. แต่ชาวโลกถือว่าเป็นทาน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ตรง

    ถ. สัมผัปปลาปะ คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกชนิดเลย ใช่ไหม หมายความว่า ถ้าไม่พูดถึงเรื่องทาน ศีล การอบรมเจริญภาวนา คำพูดอื่นทั้งหมดเป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์

    สุ. ท่านผู้ฟังไปหาผู้หนึ่งผู้ใด และถามถึงทุกข์สุขของเขา เป็นสัมผัปปลาปะหรือเปล่า แม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร หรือแม้แต่พระผู้มีพระภาค ก็ยังตรัสปราศรัยกับผู้ที่ไปเฝ้าถึงทุกข์สุข เป็นสัมผัปปลาปวาจาหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าการไต่ถามถึงทุกข์สุขจะต้องเป็นสัมผัปปลาปวาจา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ คำพูดที่เป็นประโยชน์ ย่อมไม่ใช่สัมผัปปลาปวาจา

    ถ. ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก่อนหน้านั้นเป็นหญิงงามเมือง เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ยังประพฤติตัวอย่างนั้นหรือเปล่า

    สุ. นี่เป็นปัญหาสังคม เป็นเรื่องใหญ่ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลจนถึงใน สมัยปัจจุบันนี้ พิจารณาที่ศีล ๕ และผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลไม่ล่วงศีล ๕

    ถ. ผมคิดว่า น่าจะไม่ประพฤติแล้ว แต่มีคนที่มีความเห็นว่ายังประพฤติอยู่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

    สุ. ศีล ๕ คืออะไร ข้อกาเม

    ถ. ข้อกาเม หมายความว่าขณะที่ท่านเป็นหญิงนครโสเภณี ก็ไม่น่าจะล่วงศีล ๕

    สุ. ศีล ๕ มีองค์ไหม อะไรบ้าง

    ถ. ในข้อ ๓ ถ้าเป็นหญิงที่มีผู้ปกครอง มีสามี และไปล่วงเข้า ก็เป็นการล่วงศีลข้อ ๓

    สุ. ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับผู้หญิง หรือจะเกี่ยวข้องกับผู้ล่วงศีล ๕ ที่ เป็นชาย ศีล ๕ สำหรับผู้หญิง คือ หญิงที่มีสามีแล้วประพฤติผิด

    ถ. ในพระสูตรที่ท่านบรรลุแล้ว ท่านยังประพฤติต่อไปหรือเปล่า

    สุ. มีไหมตัวอย่าง

    . นางอัมพปาลี

    สุ. นางอัมพปาลีเป็นพระโสดาบันสมัยไหน

    ถ. คงหลังจากเป็นหญิงงามเมืองแล้ว

    สุ. ก็ไม่มีประวัติที่กล่าวไว้โดยละเอียด เพียงแต่ว่าแม้หญิงงามเมืองเมื่อได้อบรมเจริญปัญญาก็สามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรก็ตาม แต่ยังสามารถอบรมเจริญกุศลจนกระทั่งรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้

    ผู้ฟัง หญิงนครโสเภณีจัดเป็นภรรยาประเภทที่ ๑๐ ชื่อว่าภรรยาชั่วขณะ เพราะฉะนั้น หญิงที่เป็นภรรยา ไม่ว่าจะเป็นภรรยาประเภทไหนก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ร่วมกับสามีของตนแล้วย่อมไม่ผิดศีล เพราะฉะนั้น หญิง ๒๐ ประเภท ภรรยา ๑๐ ประเภท และสตรี ๒ ประเภท คือ สตรีที่รับหมั้นแล้ว และสตรีที่มีกฎหมายคุ้มครอง หญิง ๑๒ ประเภทนี้สามารถล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ถ้าหญิงนั้นมีสามีแล้วไปอยู่ร่วมกับชายอื่น หญิงนั้นชื่อว่า ล่วงข้อกาเมสุมิจฉาจาร

    ส่วนหญิงโสเภณีนั้น ถ้าได้รับเงินจากชายใดและได้อยู่กับชายนั้น ชื่อว่าศีลนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ผิดศีล ๕ เลย แต่หญิงใดได้รับเงินจากชายใดแล้ว ไปอยู่กับชายอื่น อย่างนี้ผิดศีล

    สุ. แล้วแต่กรณีตามองค์ของศีล ผู้ที่มีเจ้าของแล้ว และประพฤติผิด จึงจะเป็นการล่วงศีล ส่วนการที่จะเป็นผู้ที่มีเจ้าของ ก็แล้วแต่จะพิจารณาว่าโดยสถานใด เป็นหญิงที่มีเจ้าของโดยสถานใด

    ทำไมห่วงคนอื่น สติที่ระลึกรู้ลักษณะของเห็นในขณะนี้ ของได้ยินในขณะนี้ ตามความเป็นจริง น่าที่จะอบรมให้เจริญขึ้น

    ถ. ก็เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานของเราเหมือนกันว่า เป็นถึงพระโสดาบัน บริสุทธิ์ผุดผ่องเหลือเกิน ไกลกับเรามากเลยในฐานะที่เราเป็นปุถุชน แต่ถ้ายังขืนไปบำเพ็ญตนอย่างนั้นอีก อย่างไรไม่รู้ เราว่าเราหนาด้วยกิเลสแล้ว เรายังไม่พึงประพฤติเช่นนั้น

    สุ. เคยพบหรือเปล่า

    ถ. ไม่เคยพบ แต่เกิดมีปัญหาถกเถียงกันในพระสูตร ก็อยากจะได้ความเห็นจากอาจารย์

    สุ. ต้องพิจารณาเป็นรายๆ เป็นแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ คือ ต้องพิจารณาเรื่ององค์ของศีลข้อที่ ๓

    สำหรับเรื่องของอาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะสิ้นชีวิต ถ้ากรรมอื่นที่เป็นครุกกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมนั้นก็ให้ผล

    ถ้าไม่มีเลยทั้งครุกกรรม พหุลกรรม อาสันนกรรม ก็ยังไม่พ้นจากกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะให้ผล คือ กรรมที่พ้นแล้วจากกรรม ๓ อย่างเหล่านั้น กรรมที่ไม่ใช่ครุกกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม และไม่ใช่อาสันนกรรม เมื่อได้กระทำไปแล้วครบองค์ ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิ

    เคยคิดถึงกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำบ้างไหม มด ยุง ไม่ทราบท่านผู้ฟังคิดว่าเล็กน้อยหรือเปล่า เพราะเป็นตัวเล็กๆ และคงจะไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วไม่เคยฆ่ายุง ฆ่ามด ฆ่านะ อย่าลืม วธกเจตนา มีเจตนาฆ่า การกระทำได้สำเร็จลงไปแล้ว และรู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจึงฆ่า

    เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมหนัก ครุกกรรมไม่มี กรรมที่มีกำลัง พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ใกล้จะสิ้นชีวิต อาสันนกรรมไม่มี ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ กรรมหนึ่งกรรมใดทำให้จิตที่เศร้าหมองเกิดขึ้น หรือจิตที่ผ่องใสเกิดขึ้น ถ้าเป็น กุศลกรรมอย่างอ่อนๆ ที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตก่อนที่จะจุติผ่องใส แต่ถ้าเป็นอกุศลกรรมอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลเกิดก่อนจุติ

    และถ้าอกุศลจิตที่เศร้าหมองเกิดก่อนจุติ ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดในนรก หรือเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย แต่ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดในมนุษย์ภูมิ หรือว่าในสวรรค์ ๖ ชั้น ที่เป็นกามภูมิ

    ต่อไปเป็นประเภทของกรรมที่กระทำกิจโดยกิจต่างกัน ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ แสดงไว้ คือ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑

    กรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วแต่ว่าจะกระทำกิจใดใน ๔ กิจ

    ชนกกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    อุปัตถัมภกกรรม คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว กรรมที่เป็น อุปัตถัมภกกรรมย่อมตามสนับสนุนความสุขและความทุกข์ คือ ทำให้การได้รับวิบากที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้นยืดยาวต่อไป คือ อุปถัมภ์ให้ความสุขดำรงต่อไปอีก หรือว่าอุปถัมภ์ให้ความทุกข์ดำรงต่อไปอีก เพราะทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมเป็นอุปัตถัมภกกรรม คือ ทำกิจอุปถัมภ์ได้

    สำหรับ อุปปีฬกกรรม คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว อุปปีฬกกรรมย่อมบีบคั้นเบียดเบียนความสุขความทุกข์ คือ ไม่ให้ความสุขก็ดี หรือความทุกข์ก็ดี ในขณะนั้นยืดยาวต่อไป นั่นเป็นกิจของอุปปีฬกกรรม

    ส่วน อุปฆาตกกรรม ซึ่งเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างนั้น เป็นกรรมที่กำจัดกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่นเสีย ขัดขวางวิบากของกรรมนั้น และย่อมกระทำโอกาสแก่วิบากของตน

    เพราะฉะนั้น ถ้าจำแนกกรรมโดยกิจ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้โดยประจักษ์แจ้งว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อน และในอดีตอนันตชาติมาแล้ว กรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดขึ้น ซึ่งกรรมนั้นเป็นชนกกรรม

    ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดแล้ว เพราะกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรม คือ เป็นกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากเกิด ฉันใด กรรมที่ได้ทำแล้วในชาตินี้และในชาติก่อนๆ ทั้งหมด กรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรม คือ จะทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าเกิดขึ้น ต่อจากจุติจิตของชาตินี้ ซึ่งย่อมเป็นได้ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม

    สำหรับกรรมที่เป็นชนกกรรม เมื่อทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้ภวังคจิตเกิดต่อ นอกจากภวังคจิตเกิดแล้ว ยังทำให้จักขุวิญญาณ จิตเห็น โสตวิญญาณ จิตได้ยิน ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ จิตลิ้มรส กายวิญญาณ จิตที่รู้โผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้นด้วย

    เช่น เกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมมั่งคั่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็ย่อมจะกระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่น่าพอใจทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กรรมที่เป็นชนกกรรมทำกิจอุปถัมภ์ให้ได้รับผลของกรรมนั้นด้วยตามควร ก่อนที่กรรมอื่นจะให้ผล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีแต่เฉพาะกรรมนั้นกรรมเดียว เพราะทุกคนเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเกิดในสกุลใดก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งหรือขัดสน ก็ย่อมมีโอกาสที่กรรมอื่นจะทำให้วิบากจิตเกิด ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับความไม่สะดวกสบายต่างๆ ทำให้ป่วยไข้ได้เจ็บต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นผลของอกุศลกรรมที่ให้ผล

    แม้ผู้นั้นจะเกิดในภูมิมนุษย์เพียบพร้อมด้วยความสุขสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผล หรือผู้ที่เกิดในสกุลที่ขัดสน ก็ยังมีกุศลกรรมในอดีต ที่ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีก แล้วแต่ว่ากรรมใดมีโอกาสพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ผล กรรมนั้นก็เกิดขึ้นทำกิจของกรรมนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564