แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304


    ครั้งที่ ๑๓๐๔


    สาระสำคัญ

    ปฏิสนธิในรูปภูมิ และอรูปพรหมภูมิ

    ผลของการอบรมเจริญสมถะ (ทำให้ไม่พ้นจากสังสารวัฏฎ์)

    อารมณ์ของปฏิสนธิจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๗


    ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กามาวจรจิต เป็นกามปฏิสนธิ ๑๐ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดา ในสวรรค์ชั้นต้น คือ จาตุมหาราชิกา และมหาวิบากจิต ๘ ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และในสวรรค์ ๖ ชั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    สำหรับปฏิสนธิจิตอีก ๙ คือ มหัคคตจิต เป็นรูปาวจรวิบากจิต ๕ ทำกิจปฏิสนธิในรูปภูมิ และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ

    ในพรหมภูมิ เป็นการยากเหลือเกินที่จะเกิด เพราะกุศลขั้นทานไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมภูมิได้ กุศลขั้นศีลหรือขั้นเจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมภูมิได้ การอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเท่านั้น โดยที่ฌานไม่เสื่อม คือ ฌานจิตต้องเกิดก่อนจุติจิต จึงเป็นปัจจัยให้รูปาวจรวิบากจิตปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิตามควรแก่กำลังของฌานนั้นๆ ซึ่งโดยปัญจกนัย รูปฌานมี ๕ คือ ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑

    โดยจตุกกนัย ได้แก่ ผู้ที่สามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกัน หมายความว่า ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเป็นทุติยฌานก็เว้นทั้งวิตกและวิจาร เพราะฉะนั้น องค์ฌานก็ลดลงพร้อมกัน ๒ องค์ ซึ่งนี่คือความต่างกันของทุติยฌาน

    สำหรับรูปาวจรจิต ๕ กระทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ เว้น อสัญญสัตตาพรหม ๑ ภูมิ ซึ่งมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิเท่านั้น ไม่มีนามปฏิสนธิเลย

    สำหรับรูปพรหมภูมิแบ่งออกเป็นระดับขั้นต่างๆ ด้วย ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย คือ สำหรับปฐมฌานภูมิ รูปาวจรวิบากจิตที่เป็นปฐมฌาน จะเกิดใน รูปพรหมภูมิชั้นปาริสัชชา ๑ ถ้าเป็นผู้ที่มีความชำนาญเพียงเล็กน้อย ไม่มาก หรือเป็นผู้ที่สามารถสงบได้โดยเล็กน้อย ถ้าเป็นผู้ที่มีกำลังขึ้น ความตั้งมั่นคงของฌานมีกำลังรวดเร็วขึ้น ก็จะเกิดในรูปพรหมภูมิชั้นปุโรหิตา และสำหรับผู้ที่มีฌานที่มีกำลัง มีความประณีต ก็จะเกิดในพรหมภูมิชั้นมหาพรหม นี่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วย รูปาวจรปฐมฌานวิบากจิต เป็นระดับขั้นที่ต่างกันแม้ของปฐมฌานภูมิ ซึ่งทำให้อายุของพรหม ๓ ประเภทนี้ต่างกัน คือ พรหมปาริสัชชามีอายุ ๑ ใน ๓ กัป พรหม ปุโรหิตามีอายุครึ่งกัป และมหาพรหมามีอายุ ๑ กัป ซึ่งเป็นผลของการอบรม เจริญสมถะ แต่ไม่ใช่ทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพียงแต่จะทำให้ได้รับความสุขสบาย ไม่เดือดร้อนทางกายอย่างในมนุษยภูมิเป็นต้น แต่เป็นการมีชีวิตที่ยืนยาวมาก

    แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งเป็นผู้ที่อบรมความสงบของสมาธิถึงขั้นฌานจิต ถึงแม้ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ แต่ด้วยเหตุว่า เป็นผู้มีความเข้าใจถูกในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถจะเจริญสติปัฏฐาน ในรูปพรหมภูมิและรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับทุติยฌานและตติยฌาน ซึ่งละได้ทั้งวิตกและวิจาร จะเกิดในพรหมภูมิชั้นปริตรตาภา ๑ ชั้นอัปปมาณาภา ๑ ชั้นอาภัสรา ๑

    ก็เป็นเรื่องชื่อของภูมิชั้นต่างๆ ซึ่งต้องแล้วแต่เหตุนั่นเอง คือ แล้วแต่ว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในระดับเพียงเล็กน้อย หรือในระดับกลาง หรือในระดับที่ประณีต

    สำหรับจตุตถฌานภูมิ ก็เกิดในรูปพรหมชั้นปริตตสุภา ๑ ชั้นอัปปมาณสุภา ๑ ชั้นสุภกิณหา ๑ ความต่างกันก็ตามกำลัง ซึ่งรัศมีที่เปล่งออกมาจากสภาพของจิตที่สงบก็ประณีตขึ้นๆ

    สำหรับผู้ที่ได้ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย จะเกิดในพรหมภูมิชั้นเวหัปผลา สำหรับผู้ที่มีขันธ์ ๕

    แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของนามธรรม จะละความพอใจในนาม เพราะคิดว่า เมื่อยังมีนามธรรมเกิดอยู่จะทำให้มีความสุข ความทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนามธรรมเลย มีแต่เพียงรูปปฏิสนธิ ย่อมไม่มีความเดือดร้อน ถ้าเป็นผลของ ปัญจมฌาน ผู้นั้นก็จะเกิดในพรหมภูมิชั้นอสัญญสัตตา ซึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ และอายุของชั้นปัญจมฌานพรหมภูมิมีอายุถึง ๕๐๐ กัป ทั้งอสัญญสัตตาพรหมภูมิและเวหัปผลาภูมิ ซึ่งก็คงไม่มีใครสนใจที่จะไปเกิดในชั้นพรหมเหล่านั้น แต่ถึงแม้ว่าจะสนใจ เหตุที่จะให้เกิดได้ในพรหมภูมิเหล่านั้นก็ยากมาก

    นอกจากนั้น ยังมีพรหมภูมิพิเศษอีก ๕ ภูมิ สำหรับพระอนาคามีซึ่งถึง ปัญจมฌานเท่านั้น ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้เพียงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือจตุตถฌาน จะไม่เกิดในพรหมภูมิชั้นสุทธาวาส ๕ ภูมินี้ เพราะพรหมภูมิชั้นสุทธาวาส สำหรับพระอนาคามีที่ได้ถึงปัญจมฌานเท่านั้น ซึ่งได้แก่ อวิหาภูมิ ๑ อตัปปาภูมิ ๑ สุทัสสาภูมิ ๑ สุทัสสีภูมิ ๑ อกนิฏฐาภูมิ ๑

    เวลาที่ได้ยินคำว่า อกนิฏฐาภูมิ ให้ทราบว่าเป็นพรหมภูมิชั้นสูงที่สุด สำหรับพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี พระโสดาบันถึงแม้จะได้ถึงปัญจมฌานก็ไม่เกิดในนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อนๆ และกรรมที่ได้กระทำในชาตินี้ ซึ่งไม่ใช่การเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ย่อมไม่ทำให้เกิดในพรหมภูมิต่างๆ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดในกามสุคติภูมิได้ คือ นอกจากจะเกิดในภูมิมนุษย์แล้ว ยังเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ๖ ชั้นได้

    ถ. เข้าใจว่า พระอนาคามีทุกประเภทเมื่อท่านตายแล้ว ต้องไปเกิดในสุทธาวาส ๕

    สุ. ถ้าไม่ได้ถึงปัญจมฌาน จะเกิดในรูปพรหมภูมิ ไม่ใช่สุทธาวาสภูมิ

    ถ. หมายความว่า เกิดในรูปพรหมภูมิภูมิหนึ่งภูมิใดก็ได้

    สุ. แล้วแต่กำลังของสมาธิ ถ้าเป็นพระอนาคามีซึ่งไม่ได้ทุติยฌาน ก็ย่อมเกิดในพรหมภูมิของชั้นปฐมฌาน

    ถ. ที่จะเกิดในสุทธาวาส ๕ เฉพาะพระอนาคามีที่ได้ปัญจมฌานเท่านั้น

    สุ. เท่านั้น ตติยฌานก็ไม่ได้ ต้องเกิดในภูมิของตติยฌาน

    ถ. ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องของโลกธาตุอย่างเล็ก ผมสงสัยว่า ดาวฤกษ์ทุกดวงจะมีมนุษย์อาศัยอยู่ทั้งนั้น ใช่หรือไม่

    สุ. ไม่ใช่มีโลกนี้โลกเดียว และสวรรค์ก็ไม่ใช่มีแห่งเดียวด้วย จักรวาลก็ไม่ใช่จักรวาลนี้จักรวาลเดียว ไม่ว่าใครจะมีอายุยืนยาวท่องเที่ยวไปในโลกนี้ยาวนานสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงที่สิ้นสุดของจักรวาลได้ แม้แต่เพียงจะมองด้วยตาเปล่า ก็ยังเห็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ และมีดาวมากมายที่มองเห็น เพราะฉะนั้น ที่มองไม่เห็น ก็ต้องมีอีกมากมาย

    ก่อนที่จะเกิดในโลกนี้ เคยคิดไหมว่า จะเกิดในจักรวาลหนึ่งในจักรวาลทั้งหลายซึ่งมีมากมายสุดที่จะนับได้ แต่เมื่อมีจักรวาลอย่างนี้ จักรวาลอื่น โลกอื่นก็ย่อมจะมีได้ บางคนก็ยังสงสัยอีกว่า สวรรค์อื่นก็ชื่อดาวดึงส์อย่างนี้หรือ เหมือนอย่างที่ทรงแสดงไว้ว่า กามสุคติภูมิมี ๗ คือ มนุษย์ ๑ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ ยามา ๑ ดุสิตา ๑ นิมมานรดี ๑ ปรนิมมิตวสวัตตี ๑ และยังทรงแสดงถึงประวัติของท้าวสักกะหรือพระอินทร์ซึ่งเป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า ในอดีตเป็นใคร และกุศลกรรมใดทำให้เกิดเป็นพระอินทร์

    และจักรวาลอื่นล่ะ พระอินทร์ชื่ออะไร ทำกุศลกรรมอะไร จะเหมือนกันกับกรรมของมฆมาณพซึ่งในปัจจุบันนี้ก็เกิดเป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระอินทร์หรือเปล่า

    แต่ให้ทราบว่า เป็นเพียงชื่อ ซึ่งแสดงว่าสวรรค์มี ๖ ชั้น เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงว่า ชั้นแรกคือจาตุมหาราชิกา โดยชื่อของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ของสวรรค์ชั้นนั้นซึ่งมี ๔ ท่าน และสำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้น อย่าติดว่าจะต้องชื่ออื่นหรือชื่อนี้ เปลี่ยนไม่ได้ ชื่อนี่ไม่ยากที่จะเปลี่ยน จะเรียกพระอินทร์กี่ชื่อ ก็ได้ ท้าวสหัสสนัยก็คือพระอินทร์ และยังมีชื่ออื่นอีกสำหรับพระอินทร์ จะชื่อหนึ่ง ชื่อใดก็ได้ ก็หมายความถึงผู้ที่เป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในจักรวาลนี้

    แต่ถ้าเป็นจักรวาลอื่น เปลี่ยนชื่อได้ แต่ก็แสดงว่าสวรรค์มี ๖ ชั้น ใครไม่ชอบที่จะเรียกว่าดาวดึงส์ จะเรียกชื่ออื่นก็ได้ ตามกรรมหรือตามเหตุหรือตามปัจจัยที่จะทำให้ได้ชื่อนั้นๆ สำหรับภูมินั้นๆ แต่ให้ทราบว่า ลักษณะความเป็นไปของเทพในสวรรค์ ชั้นต่างๆ ก็เป็นไปตามกรรมของแต่ละท่านที่ทำให้การเกิดในภพภูมิต่างๆ ซึ่งประณีตขึ้นตามควรแก่กรรมนั้นๆ

    ถ. ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องโลกวิสัย เป็นอจินไตยที่ ๔ ใช่ไหม รู้ไม่ได้

    สุ. ถ้าคิดมาก ไม่มีทางที่จะแจ่มแจ้ง ถ้าเพียงแต่รู้ว่า ยังมีโลกอื่นอีกไม่ใช่มีแต่โลกนี้โลกเดียว ก็เป็นความจริง เพราะก่อนที่จะเกิดในโลกนี้ จักรวาลมีมากมาย ใครจะรู้ว่าจะเกิดในจักรวาลนี้ ในโลกนี้ แต่เมื่อเกิดแล้วจึงรู้ว่า จักรวาลนี้มี โลกอย่างนี้มี เมื่อเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็จะรู้ว่า สภาพที่เป็นสวรรค์อย่างนั้นมี ต่อเมื่อใดเกิดขึ้นเพราะกรรม เมื่อนั้นก็จะรู้ แต่ให้ทราบว่า จิตซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วนำไปสู่ภพนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นทุคติหรือสุคติ แต่ไม่ใช่จะไปถึงด้วยความปรารถนา แต่ต้องไปถึงด้วยมรรค คือ ทางที่ได้กระทำแล้ว ประกอบด้วยเจตนาซึ่งเป็นกรรม ที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว

    เรื่องกิจของจิต ๑๔ กิจ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิทั้งหมดมี ๑๙ ถ้าเกิดในกามภูมิ ปฏิสนธิจิตก็ต่างกันเป็น ๑๐ ประเภท ถ้าเกิดในรูปพรหมภูมิก็ต่างกันเป็น รูปาวจรฌานจิต ๕ ถ้าในอรูปพรหมภูมิก็ต่างกันเป็นอรูปาวจรวิบากจิต ๔ แต่ในขณะที่ทำกิจปฏิสนธิ ทั้ง ๑๙ ดวง เหมือนกันหมด ไม่มีความต่างกันเลย โดยชาติเป็นวิบาก โดยกิจ ทำกิจเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้น สำหรับปฏิสนธิจิตซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง ไม่ต่างกันโดยการงานหรือโดยกิจ แต่ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิด ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน

    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่ต้องมีมาก เพราะอกุศลกรรมนั้นเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากปฏิสนธิ แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายสุคติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจะประกอบกับปฏิสนธิจิตมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ตามลำดับขั้น เพราะพื้นฐานของจิตที่ทำกิจปฏิสนธิต่างกัน โดยจะประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้เมื่อมีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว กุศลจิตจะเกิดมาก หรือว่าอกุศลจิตจะเกิดมาก

    เพราะฉะนั้น ความต่าง ต่างที่พื้นฐานของจิต แต่โดยกิจแล้วไม่ต่าง นี่คือกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    ถ. อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับจุติจิต ปฏิสนธิจิตของภพนี้มีอารมณ์เดียวกับจุติจิตของภพที่แล้ว ถูกไหม

    สุ. ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิตของภพนี้ จิตดวงแรกของชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของภพก่อน

    ถ. ไม่ใช่จุติจิต

    สุ. ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิตของภพนี้ จิตดวงแรกของชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติ ไม่ใช่มีอารมณ์เดียวกับจุติจิตของภพก่อน แต่มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติหรือชวนจิตซึ่งเกิดก่อนจุติจิตในมรณาสันนวิถีของภพก่อน

    ถ. จุติจิตของภพนี้ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตของภพนี้หรือเปล่า

    สุ. แน่นอน ภวังคจิตของภพนี้ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตของภพนี้ปฏิสนธิจิตเป็นประเภทใด ภวังคจิตก็สืบต่อ รักษาความเป็นบุคคลนั้นในภพนั้นไว้ โดยตลอด ยังไม่เปลี่ยนสภาพ ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ คือ เป็นผลของมหากุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา ภวังคจิตของบุคคลนั้นก็มีสภาพเช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ แต่กระทำกิจเกิดดับสืบต่อความเป็นบุคคลนั้นไว้ตลอด ยังไม่เปลี่ยนสภาพ ยังเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์จนกว่าจะถึงจุติจิต กรรมหนึ่งกรรมใดจึงจะให้ผลทำให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นบุคคลที่เป็น ญาณวิปปยุตต์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑๓๐๑ – ๑๓๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564