แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263


    ครั้งที่ ๑๒๖๓


    สาระสำคัญ

    ญาณปัญญาดุจเพชร

    ผลของกุศลกรรมที่ประณีตตามกุศลกรรมที่เลิศ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖


    ถ. มีญาณปัญญาดุจเพชร มีลักษณะอย่างไร

    สุ. มีปัญญาคมกล้า สามารถที่จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมได้

    ถ. อย่างเราๆ ก็ไม่มี

    สุ. ข้อความในอรรถกถา ยกตัวอย่างพระเถระ ซึ่งทุกท่านไม่รู้จักเพราะว่าเป็นอดีต เพราะฉะนั้น แต่ละท่านพอที่จะพิจารณาได้ว่า กุศลกรรมที่ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตของท่านเองเป็นอย่างไร และของบุคคลอื่นเป็นอย่างไร ในขณะนั้นที่ทำกุศลแต่ละครั้งจะมีโลภะ โทสะ โมหะ ประเภทใดแรง ประเภทใดอ่อน และมีอโลภะ อโทสะ อโมหะ ประเภทใดแรง

    ถ้าเป็นอโลภะแรง ผู้นั้นมักจะให้ได้ง่ายๆ ให้ได้บ่อยๆ เป็นผู้ที่มีจิตเมตตา สละวัตถุเพื่อเกื้อกูลบุคคลอื่นได้โดยไม่ยาก ถ้าเป็นผู้ที่มีอโทสะแรง ก็เป็นผู้ที่ไม่โกรธ ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นหรือมีสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจสักเพียงใด บุคคลนั้นก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องหวั่นไหวไปด้วยความโกรธ ตรงกันข้ามกับคนที่มีโทสะแรง ซึ่งโกรธได้บ่อยๆ โกรธได้ง่ายๆ และโกรธเสมอ

    สำหรับอโมหะ เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าผู้ใดสามารถเข้าใจธรรมได้โดยรวดเร็ว โดยกว้างขวาง โดยลึกซึ้ง ก็หมายความว่า ขณะที่ประกอบกุศลนั้น เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างดี

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากดวงที่ ๑ ซึ่งเป็นผลของมหากุศลดวงที่ ๑ เป็นวิบากชั้นเลิศ สูงที่สุด ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นญาณสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับปัญญา และเป็นอสังขาริก นอกจากนั้นยังจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี ที่ประณีตในทางโลก เช่น ในเรื่องของวงศ์สกุล ในเรื่องของลาภ ในเรื่องของยศ ในเรื่องของสรรเสริญ เป็นผู้ที่มีวิบากจิต ๑๖ ดวง ซึ่งเป็นผลของ กุศลกรรมนั้น ถ้าเป็นกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน วิบากที่จะได้รับก็ลดลงตามส่วน

    น่าคิดที่ว่า เมื่อกามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง วิบากจิต ๑๖ นั้นมาจากไหน และอยู่ ที่ไหน ก็อยู่ที่ได้กล่าวถึงแล้วนั่นเอง แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า ได้แก่จิตอะไรบ้าง

    ทุกคนมีปฏิสนธิจิตเพียงขณะเดียว ประเภทเดียว แล้วแต่ว่าจะเป็นวิบากอะไร

    สำหรับผู้ที่เกิดในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ไม่ต้องประกอบด้วยเหตุอะไรเลยในการที่จะเกิด ในอบายภูมิ

    อย่าลืม อกุศลจิตมี ๑๒ อกุศลกรรมมีทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง แต่ว่าผลของอกุศลกรรมมีเพียง ๗ เท่านั้น คือ อกุศลวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑ สัมปฏิจฉันนะ ๑ สันตีรณะ ๑ นี่เป็นผลของอกุศลกรรม

    สำหรับผู้ที่เกิดในภูมิมนุษย์ จะเห็นพวกสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งปฏิสนธิจิตของ สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ไม่ว่าจะเป็นผล ของอกุศลกรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้เกิดในอเวจีนรก หรือจะทำให้เกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉานที่มีรูปร่างน่าเกลียดสักเท่าไรก็ตาม ก็ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบากเท่านั้น เพราะมีจิตเพียงดวงเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิที่เป็นผลของอกุศลกรรม

    แต่สำหรับผลของกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตมีมากกว่า ๑ ดวง

    สำหรับกามาวจรภูมิ คือ การเกิดในภูมิมนุษย์ และการเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น ต้องเป็นผลของกุศลกรรมซึ่งให้ผลต่างกัน คือ ถ้าเป็นกุศลจิตที่มีกำลังอ่อนมาก เช่น อุเบกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง คือ เป็นกุศลที่เกิดพร้อมกับ อุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา และอาศัยการชักจูงจึงเกิด เป็นกุศลจิตที่อ่อนที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลนี้ให้ผล สามารถทำให้เกิดเป็นคนที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่เกิดได้ แต่ไม่ทำให้เกิดในอบายภูมิ

    นี่เป็นความต่างกัน ถ้าเป็นการเกิดในอบายภูมิ ทั้งหมดเป็นผลของอกุศลกรรม มีจิตประเภทเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิ คือ อุเบกขาสันตีรณะ แต่สำหรับทางฝ่ายกุศล ทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิได้ ๑ ใน ๙ ดวง คือ

    ถ้าเป็นกุศลอย่างประณีต ทำให้ปฏิสนธิเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก และมีกุศลวิบากเกิดได้อีก ๑๖ ดวงในภายหลัง คือ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว

    ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อน หรือกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างสูงหรืออย่างประณีต หลังจากปฏิสนธิแล้ว สามารถทำให้มีวิบากเกิดได้ ๑๒ ดวง

    และถ้าเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อนที่สุด ทำให้เกิดในภูมิมนุษย์ได้จริง แต่ว่าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด คือ เป็นบ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด

    นี่คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งจำแนกให้ปฏิสนธิต่างกันไป และหลังจากที่ปฏิสนธิดับไปแล้ว ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นมากน้อยต่างกันด้วย

    ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เพราะต้องแล้วแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งได้กระทำแล้ว เป็นเหตุทำให้ชีวิตนั้นจะมีวิบากจิตได้กี่ประเภทเกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว

    ถ. วิบากจิต ๑๖ ดวง จะเกิดตอนไหน

    สุ. หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว ก่อนอื่นควรกล่าวถึงวิบากจิต ๑๖ ดวง ว่าได้แก่อะไรบ้าง เพื่อท่านผู้ฟังท่านอื่นจะได้ทราบด้วย

    ถ. ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง กับมหาวิบาก ๘ ดวง

    สุ. ถูกต้อง ที่ได้กล่าวถึงแล้วนั่นเอง

    กามาวจรจิต ๕๔ แบ่งโดยประเภท ๓ คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ และเป็นกามโสภณจิต ๒๔

    ถ้าแบ่งกามาวจรจิตอีกนัยหนึ่งก็แบ่งได้ คือ แบ่งโดยสภาพที่เป็นเหตุและสภาพที่เป็นผล และโดยสภาพที่ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ซึ่งจำนวนต้องตายตัวอีก

    อกุศลจิต ๑๒ กับมหากุศลจิต ๘ ต้องเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากมี ๒๐ และจิตที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ได้แก่ วิบากจิต และกิริยาจิต

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ และสำหรับวิบาก ๑๕ เป็นอกุศลวิบากเพียง ๗ เป็นกุศลวิบาก ๘

    เพราะฉะนั้น เวลาคิดถึงเหตุและผลว่า ผลของกุศลอย่างเลิศ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดพร้อมกับปัญญา และเป็นอสังขาริก ดับไปแล้ว ผลอะไรจะติดตามมาจากมหาวิบากดวงที่เลิศดวงนั้น ก็คือ ทำให้กุศลวิบากจิตเกิดได้ถึง ๑๖ ดวง ซึ่งได้แก่ กุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะ ๘ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ดี ๑ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ดี ๑ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ได้กลิ่นที่ดี ๑ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ลิ้มรสที่ดี ๑ กายวิญญาณกุศลวิบาก สัมผัสสิ่งที่กระทบทางกายที่ดี ๑ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากทาง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ สันตีรณกุศลวิบากจิต ๒ คือ ดวงหนึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อีกดวงหนึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    นี่คือสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ตั้งแต่เกิดมาแสวงหารูปที่ดีทางตา เสียงที่ดีทางหู กลิ่นที่ดีทางจมูก รสที่ดีทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีทางกาย โดยไม่ทราบเลยว่า ท่านไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเสาะแสวงหาวิบากจิตเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้เลย กรรมเท่านั้นเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเหล่านี้เกิดขึ้น ทุกคนมีโลภะ มีความติด มีความต้องการวิบากเหล่านี้ทั้งนั้น คือ ต้องการแต่วิบากที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะกระทบสัมผัสสิ่งที่ดี การขวนขวายของแต่ละท่านก็พยายามขวนขวายไป แต่ วิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยการแสวงหาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นเพราะกรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากนั้นๆ เกิดขึ้น

    ถ้าจะแบ่งชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่งออกเป็นอย่างใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุ คือ เป็นกรรมที่จะให้เกิดผลข้างหน้า แต่ควรที่จะทราบชัดว่า ส่วนที่เป็นผลของกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว ปฏิสนธิที่เป็นมหาวิบากชั้นหนึ่งชั้นใดที่จะเป็นชั้นเลิศ หรือชั้นปานกลาง หรือชั้นอ่อน ก็ตาม จะเป็นปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้น รู้อารมณ์ต่างๆ รวม ๘ ดวง

    สำหรับอีก ๘ ดวง ได้แก่ มหาวิบาก ๘ ผู้ที่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกุศล อย่างเลิศ จะมีมหาวิบาก ๘ ดวงเกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิ ซึ่งน่ารู้จริงๆ ว่าเมื่อไร และ มีประโยชน์อะไรสำหรับมหาวิบากจิต ๘ ดวง ที่จะเกิดภายหลังจากที่ปฏิสนธิ

    ทุกท่านเพียงต้องการเห็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องการจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการได้ยินเสียงที่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องการโสตวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการกลิ่นหอมๆ สำหรับฆานวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการรสอร่อยสำหรับ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการโผฏฐัพพะที่สบายสำหรับกายวิญญาณกุศลวิบาก น่าจะพอแล้วใช่ไหม

    ถ้าท่านบอกว่า พอแล้ว หมายความว่าท่านพอใจเพียงกุศลกรรมที่ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะกุศลสามารถจะกระทำได้โดยไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างเลิศ เช่น ทาน อาจจะเป็นทานที่ประณีต และประกอบด้วยเจตนาที่ผ่องใส เป็นกุศลทั้งก่อนที่จะกระทำ ในขณะที่กระทำ และหลังจากที่กระทำแล้วก็ยัง เสพคุ้นอีก คือ ระลึกถึงกุศลนั้นบ่อยๆ ด้วยความปีติโสมนัส แต่ในขณะนั้นไม่ใช่กุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านบอกว่า พอแล้ว เกิดมาและมีการเห็น สิ่งที่ดีๆ มีการได้ยินเสียงที่เพราะๆ มีการได้กลิ่นที่หอมๆ มีการได้ลิ้มรสที่ดี มีการกระทบสัมผัสที่ดี ถ้าพอแล้วก็ไม่มีโอกาสได้มหาวิบากที่เป็นญาณสัมปยุตต์เกิดหลังจากที่ปฏิสนธิ เพราะท่านพอใจเพียงอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า มหาวิบาก ๘ ดวง จะเกิดขึ้นในขณะไหน

    ปฏิสนธิของทุกท่าน จะเป็นมหาวิบากทั้ง ๘ ดวงไม่ได้ แต่ละบุคคลจะมี ปฏิสนธิจิตเพียงขณะเดียว และต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง สำหรับ ผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้กิจของจิตแต่ละประเภท

    มหาวิบาก ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำ กิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำ สันตีรณกิจ

    กิจแรกของมหาวิบาก คือ ปฏิสนธิกิจ ทุกท่านมีปฏิสนธิจิตซึ่งเป็น มหาวิบาก ดับไปแล้ว แต่ยังมีมหาวิบากเกิดอีกหลังจากปฏิสนธิ เมื่อรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้กระทบสัมผัส แต่เมื่อเกิดใน กามภูมิ เป็นกามบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่ข้องอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ดังนั้น เมื่อมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวงเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ และดับไป มหาวิบากประเภทเดียวกันนั้นจะเกิดสืบต่อ ทำภวังคกิจ

    ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากดวงที่ ๑ ดับไปแล้ว มหาวิบากดวงที่ ๑ นั่นเอง เกิดขึ้นต่อทำภวังคกิจ โดยเกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจไปเรื่อยๆ รักษาความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึก และถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ยังมีอารมณ์เหลืออยู่ ๒ ขณะ จะมีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนะ ชื่อว่าตทาลัมพนจิต ได้แก่ มหาวิบาก ๘ ดวง และ สันตีรณจิต ๓ ดวง รวมจิตที่จะทำตทาลัมพนกิจได้ ๑๑ ดวง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทั้ง ๑๑ ดวง แล้วแต่ปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นจิตชั้นเลิศ ก็มีมหาวิบากครบทั้ง ๘ และมีอเหตุกกุศลวิบากครบทั้ง ๘ รวมเป็น ๑๖ ดวง ซึ่งบางดวงก็ทำทัสสนกิจ บางดวงก็ทำสวนกิจ แล้วแต่ว่าจะเป็นกิจเห็นหรือกิจได้ยิน แต่สำหรับมหาวิบากจิต ไม่มีกิจอื่นนอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และตทาลัมพนกิจ

    เพราะฉะนั้น ดูเหมือนไม่น่าจะต้องการมหาวิบาก ๘ ดวงนี้เลย ใช่ไหม ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กรรม  กรรมนิมิตอารมณ์  กรรมบถ  กรรมสูตร  กรรมอารมณ์  กระเสือกกระสน  กัมมชรูป  กัมมปัจจัย  กามบุคคล  กามาวจรกุศล  กามาวจรจิต ๕๔  กามาวจรภูมิ  กายกรรม  กายกรรม ๓  กายทวาร  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  กิจปฏิสนธิ  กุศลกรรม  กุศลวิบาก  คตินิมิตอารมณ์  ครุกรรม  ความตั้งใจ  คำส่อเสียด  คำหยาบ  คำเพ้อเจ้อ  จตุตกนัย  จตุตถนัย  จุติ  จุติกิจ  จุติจิต  ชนกกรรม  ชวนจิต  ฌานจิต  ฌานปัจจัย  ฌานสมาบัติ  ญาณปัญญาดุจเพชร  ญาณสัมปยุตต์  ตทาลัมพนกิจ  ตทาลัมพนจิต  ตระหนี่  ติเหตุ  ติเหตุกบุคคล  ทวาร  ทวิปัญจวิญญาณ  ทวิเหตุ  ทวิเหตุกบุคคล  ทัสสนกิจ  ทิฏฐธรรมเวทนียะ  ทุคติ  ทุจริตกรรม  ธรรมปริยายสูตร  ธรรมเทศนา  นรก  นิวรณธรรม ๕  นิโรธสมาบัติ  บุรพาจารย์  ปฏิสนธิ  ปฏิสนธิจิต  ประจักษ์แจ้ง  ปรุงแต่งจิต  ปัญจกนัย  ปัญจทวาร  ปัญจวิญญาณ  ปัญญาคมกล้า  ปัญญาเจตสิก  ปาณาติบาต  ปายาสิราชันสูตร  ปีติเจตสิก  พยาปาทะ  พระอนาคามีบุคคล  พระโสดาบัน  พันเอกธงชัย แสงรัตน์  พูดคำหยาบ  พูดส่อเสียด  พูดเท็จ  พูดเพ้อเจ้อ  ภวังคกิจ  มงคลกิริยา  มรณสติ  มรณาสันนวิถี  มรรคปัจจัย  มหากุศล  มหาวิบาก ๘  มหาสติปัฏฐาน  มัคคทายก  มิจฉาทิฏฐิ  มโนกรรม  มโนกรรม ๓  มโนทวาร  รูปาวจรกุศล  วจีกรรม  วจีกรรม ๔  วจีกรรมมี ๔  วจีทวาร  วจีทุจริต  วสี  วัดต้นแหน  วัดอุโมงค์  วิจารเจตสิก  วิจิตร  วิญญาณัญจายตนฌาน  วิตักกเจตสิก  วินิบาต  วิบัติ  วิบาก  สติปัฏฐาน  สมบัติ  สวนกิจ  สวนนันทวัน  สะสมสั่งสม  สังขารขันธ์  สัญญาเวทยิตนิโรธ  สันตีรณกิจ  สันตีรณกุศลวิบาก  สัพพจิตตสาธารณเจตสิก  สัมมาทิฏฐิ  สั่งสม  สำคัญตน  สำรวมอินทรีย์  สิ่งที่ปรากฏทางตา  สุคติปฏิสนธิ  สุพรหมสูตร  หลงลืมสติ  หิริโอตตัปปะ  อกุศลกรรม  อกุศลกรรมบถ  อกุศลเจตนา  องค์ของกายกรรม  อนันตริยกรรม  อนุโมทนา  อบาย  อปราปริยเวทนียะ  อภิชฌา  อรรถกถา  อริยสัจจธรรม  อรูปพรหมภูมิ  อรูปาวจรกุศล  อสังขาริก  อัญญสมานาเจตสิก  อัตภาพ  อากาสานัญจายตนฌาน  อากิญจัญญายตนฌาน  อามิส  อาหุเนยยบุคคล  อิฏฐารมณ์  อินทริยปัจจัย  อุปฆาตกกรรม  อุปปัชชเวทนียะ  อุปัจเฉทกกรรม  อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก  อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก  อุเบกขาสันตีรณะปฏิสนธิ  อุเบกขาเวทนา  อเนญชาภิสังขาร  อเหตุกปฏิสนธิ  อโทสะ  อโทสะเหตุ  อโมหะ  อโมหเจตสิก  อโลภะ  อโลภะเหตุ  เจตนา  เจตนาเจตสิก  เซ่นสรวง  เทพบุตร  เทพอัปสร  เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน  เมตตา  เหตุปัจจัย  เห็นผิด  เอกัคคตาเจตสิก  แยบคาย  โทมนัสเวทนา  โลกุตตรกุศล  โสดาปัตติผล  โสภณเหตุ ๓  โสมนัสเวทนา  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564