แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264


    ครั้งที่ ๑๒๖๔


    สาระสำคัญ

    อิฏฐารมณ์โดยสภาวะ และโดยปริตตะ

    ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ

    กรรมเท่านั้นที่จะทำให้วิบากจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖


    ถ. อารมณ์ที่ดี เรียกว่า อิฏฐารมณ์ แต่จะถือเอาอารมณ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้ หมายถึงเราชอบในอารมณ์นี้ แต่คนอื่นอาจจะไม่ชอบ จะมี ๒ ลักษณะ เป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะ และโดยปริกัปปะ ใช่ไหม

    สุ. อย่าลืมว่า ความชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นหลังจากที่วิบากจิตนั้น ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะรู้สภาวลักษณะของอารมณ์นั้น จะรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี โดยถือความพอใจของแต่ละบุคคลไม่ได้

    ถ. ขอให้อธิบายอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะ และโดยปริกัปปะ

    สุ. ทุกท่านต้องพิจารณาธรรมด้วยตนเอง เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้อย่างกว้าง กลิ่นหอม บางท่านบอกว่าเหม็น ก็เป็นเรื่องของบางท่านซึ่งอาจจะสะสมความไม่พอใจในกลิ่นหอมอย่างนั้น หรือกลิ่นไม่ดีเลย แต่บางท่านอาจจะชอบกลิ่นอย่างนั้นก็ได้ นานาจิตตังจริงๆ

    นอกจากมนุษย์ในโลก ก็ยังมีสัตว์มากมาย ดิรัจฉานหลายชนิดหลายประเภทซึ่งสะสมความพอใจในกลิ่นต่างๆ ในรสต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏต่างๆ เพราะฉะนั้น เพียงแต่ให้ทราบว่า อารมณ์ที่ดีซึ่งวิญญาณที่เป็นวิบากกำลังรู้ ขณะนั้นวิบากจิตต้องเป็นกุศลวิบาก และอารมณ์ที่ดีเกิดจากกุศล เป็นผลของกุศลจึงทำให้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี แต่ที่จะให้ชี้ว่า อารมณ์นี้ อารมณ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถที่จะกระทำได้ แต่ส่วนใหญ่สิ่งใดก็ดีซึ่งเป็นที่น่าพอใจ น่ายินดี อารมณ์นั้นๆ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ สำหรับคนส่วนมาก

    ถ้าได้ยินชื่อจิต อาจจะได้ยินโดยกิจ เช่น ปฏิสนธิจิต หมายความถึงจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ แต่ต้องทราบว่า จิตไหน ชาติไหน ที่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่ว่าจิตมีเกิน ๘๙ แต่จิต ๘๙ นั้นเอง จิตใดเกิดขึ้นทำกิจใด ก็เรียกจิตนั้นตามชื่อของกิจที่จิตนั้นทำได้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความต่างกันของชาติของจิต เพราะจิตที่เป็นเหตุจะไม่ทำกิจของจิตที่เป็นวิบาก เช่น กุศลและอกุศลเป็นเหตุ กุศลและอกุศลจึงไม่ใช่จิตที่เป็นผล กุศลและอกุศลไม่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ทำภวังคกิจ ไม่ทำจุติกิจ ไม่ทำทัสสนกิจ คือ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจเห็น ไม่ทำสวนกิจ คือ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจได้ยิน

    เมื่อรู้ชาติของจิตแล้ว ก็รู้ว่าขณะใดเป็นจิตที่เป็นเหตุ และขณะใดเป็นจิตที่เป็นวิบาก คือ จิตที่เป็นผล ซึ่งจิตที่เป็นผลทำกิจต่างกับจิตที่เป็นเหตุ

    ถ. จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ มีได้กี่ดวง

    สุ. สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจได้ ๑๐ ดวง จำแนกออกไปตามภูมิที่ปฏิสนธิจิตนั้นๆ เกิดขึ้น คือ

    สันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ

    อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

    มหาวิบากจิต ๘ ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ๖ ชั้น สำหรับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด

    สำหรับในรูปพรหมภูมิ การเกิดในพรหมภูมิจะต้องเป็นผลของการอบรม เจริญสมถภาวนา เพราะฉะนั้น สำหรับจิตที่ไม่ใช่กามาวจรจิต เป็นจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งพ้นจากความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยการอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งมั่นคงขึ้นถึงความเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งจำแนกเป็นปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑ รวมเป็นกุศล ๕ ฌาน และเป็นผลของกุศล คือ เป็นรูปาวจรวิบาก อีก ๕ ฌาน และเป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์อีก ๕ ฌาน รวมรูปาวจรจิต คือ จิตที่เป็นไปในอารมณ์ที่ทำให้สงบมั่นคงถึงฌานจิต มี ๑๕ แบ่งเป็น ๓ ชาติ คือ เป็นกุศล ๕ เป็นวิบาก ๕ เป็นกิริยา ๕

    เพราะฉะนั้น ผลของการอบรมเจริญความสงบไม่หายไปไหน ถ้าความสงบนั้นไม่เสื่อม คือ ในขณะที่ใกล้จะจุติ ฌานจิตหนึ่งฌานจิตใดสามารถจะเกิดได้ ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ฌานวิบากขั้นหนึ่งขั้นใดเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌานวิบาก หรือ ทุติยฌานวิบาก หรือตติยฌานวิบาก หรือจตุตถฌานวิบาก หรือปัญจมฌานวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ

    จากกามาวจรปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง เพิ่มรูปาวจรปฎิสนธิจิตอีก ๕ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญฌานถึงขั้นที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นโทษของการมีรูปเป็นอารมณ์ จิตมั่นคงขึ้น อารมณ์ละเอียดขึ้น จากฌานที่ ๑ ที่เป็นอรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนฌาน ถึงอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตยฌาน เป็น อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน และอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และถ้าฌานไม่เสื่อมจะเป็นปัจจัยให้อรูปฌานวิบากจิต ฌานหนึ่งฌานใดใน ๔ ฌานนี้เกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ

    เพราะฉะนั้น จิต ๘๙ ดวง ทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง เป็นกามาวจรปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง เป็นรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๕ ดวง และเป็นอรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๔ ดวง

    ถ. จิต ๘๙ ทำชวนกิจได้กี่ดวง

    สุ. ตอนนี้กำลังถึงปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ และยังมีกิจเล็กๆ อีกกิจหนึ่ง คือ ตทาลัมพนกิจ ซึ่งน่าสนใจ เพราะตทาลัมพนจิตทุกคนมีไม่เท่ากัน

    มีจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดเหมือนกัน คือ ถ้าสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู ก็เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ที่ประณีต ไม่ว่าจะเป็นใครอีกเหมือนกัน จักขุวิญญาณกุศลวิบากก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนมีจักขุวิญญาณเหมือนกัน และเท่ากันด้วย คือ มีจักขุวิญญาณที่เป็น อกุศลวิบาก ๑ ดวง ที่เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง มีโสตวิญญาณเท่ากัน ๒ ดวง คือ เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีฆานวิญญาณเท่ากัน มีชิวหาวิญญาณเท่ากัน มีกายวิญญาณเท่ากัน แต่ตทาลัมพนะไม่เท่ากัน

    จึงได้เรียนถามว่า อยากจะได้ไหม ตทาลัมพนะมากๆ ทำไมเกิดเป็นคนเหมือนกัน จักขุวิญญาณเท่ากัน โสตวิญญาณเท่ากัน ฆานวิญญาณเท่ากัน ชิวหาวิญญาณเท่ากัน กายวิญญาณเท่ากัน แต่ตทาลัมพนะไม่เท่ากัน

    ถ. มีประโยชน์อย่างไร

    สุ. น่าคิดจริงๆ ว่า มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เวลาที่เห็น จักขุวิญญาณเสมอกัน สัมปฏิจฉันนะก็เท่ากัน เหมือนกัน เช่น ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดี ขณะนี้ทุกคนจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นกุศลวิบาก ดับไป ถ้าอารมณ์นั้นไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีตมาก อุเบกขาสันตีรณะเกิดต่อและดับไป ชวนจิตของใครเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ใจที่สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ในอดีต ทำให้อกุศลจิตเกิดหรือกุศลจิตเกิด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    ในทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณเหมือนกัน ประเภทเดียวกันดับไป สัมปฏิจฉันนะประเภทเดียวกันดับไป สันตีรณะประเภทเดียวกันดับไป แต่จิตที่ทำกิจชวนะซึ่งเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิต ไม่เหมือนกันแล้ว บางคนเป็นอกุศลที่เป็นโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง บางคนเป็นโทสมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๒ ดวง บางคนเป็นโมหมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๒ ดวง บางคนเป็นมหากุศลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง และเมื่อชวนจิต ดับไป อารมณ์ยังไม่ดับ สำหรับผู้ที่เกิดในกามภูมิเป็นกามบุคคล กำลังรู้กามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ตทาลัมพนะดวงหนึ่ง ดวงใดจะเกิดขึ้นทำกิจตทาลัมพนะ แล้วแต่ว่าชวนจิตในขณะนั้นจะเป็นประเภทใด

    ถ. ถ้าชวนะในขณะนั้นเป็นมหากุศลดวงแรก

    สุ. สำหรับมหาวิบากทั้ง ๘ ทำตทาลัมพนกิจได้ทั้ง ๘ เพราะกิจของ มหาวิบากมี ๔ กิจ กิจประจำที่แน่นอน คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ จุติกิจ ๑

    ทุกคนเกิดมาแล้ว เพราะฉะนั้น มหาวิบากเกิดขึ้นกระทำกิจปฏิสนธิแล้ว และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตก็ทำกิจภวังค์ต่อไปเรื่อยๆ และจิตที่ทำปฏิสนธินั่นเอง ประเภทเดียวกัน ในขณะสุดท้ายของชาตินี้ จะเกิดขึ้นกระทำจุติกิจ เพราะฉะนั้น ๓ กิจนี้ แน่นอน

    แต่ตทาลัมพนกิจ ไม่แน่ เมื่อมหาวิบากมีถึง ๘ ดวง มหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดจะเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจ แล้วแต่ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้น บางคนมีมหาวิบากซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงขาดมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ที่จะทำกิจ ตทาลัมพนะ

    ถ. เกี่ยวอะไรกับความพอใจในการที่จะมีปัญญา คือถ้าเราพอใจแค่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สุ. ถ้าผู้นั้นสะสมอัธยาศัยที่ประกอบด้วยปัญญาจนถึงกับการเกิดของผู้นั้นเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ย่อมมีโอกาสที่มหาวิบากญาณสัมปยุตต์จะเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจ มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งชวนะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ และเมื่อชวนะดับไปแล้ว มหาวิบากญาณสัมปยุตก็เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจต่อ

    ถ. เป็นการสะสมปัจจัยของปัญญาต่อไป ใช่ไหม

    สุ. เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในชีวิตของบุคคลนั้น ซึ่งปฏิสนธิด้วยมหาวิบากชั้นเลิศ ย่อมมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งจะทำให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด และดับไป เป็นปัจจัยให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจต่อ ในขณะที่บุคคลอื่นอาจจะได้รับผลของทานอย่างประณีต เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ในประเทศที่ร่ำรวยมากก็ได้ แต่ถ้าปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ บุคคลนั้นจะไม่มีมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ที่จะ เกิดต่อจากมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น การเกิดด้วยจิตดวงหนึ่งดวงใด จึงเป็นการแสดงถึงอนาคตในชาตินั้นก่อนจะจุติว่า มีโอกาสจะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่ามหาวิบากสามารถที่จะเกิดเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์หลังจากที่ชวนญาณสัมปยุตต์ดับไปแล้วหรือเปล่า

    ถ. บุคคลที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ชวนะของเขาสามารถจะเป็นญาณสัมปยุตต์ได้ไหม

    สุ. ได้

    ถ. เมื่อชวนะสามารถเป็นญาณสัมปยุตต์ ตทาลัมพนะก็น่าจะเป็น ญาณสัมปยุตต์ได้ด้วย

    สุ. ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ก็มีได้

    ถ. ถ้าเป็นญาณวิปปยุตต์มีไม่ได้ แต่ชวนะมีได้

    สุ. ชวนะมีได้

    ถ. ก็เสพอารมณ์เดียวกัน ทำไม ...

    สุ. ทำกิจต่างกัน

    ถ. อกุศลวิบากจิตทุกดวงประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น คนที่มีความเดือดร้อนใจ ทุกข์ร้อนใจ อย่างนี้ไม่ใช่ผลของบาป ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ นั่นเป็นเหตุแล้ว เป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นเหตุ

    ถ. เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของคนที่กำลังทุกข์ใจ แสดงว่าไม่ใช่ผลของบาป

    สุ. ไม่ใช่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ต้องแยกเป็นตอนๆ กำลังทุกข์ใจ ขณะที่กำลังทุกข์ใจ ไม่ใช่วิบาก

    ถ. ไม่ใช่ผลของกรรม

    สุ. ไม่ใช่วิบาก ผลของกรรมมีหลายอย่าง โดยอุปนิสสยปัจจัยได้ แต่ไม่ใช่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นวิบาก จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเห็นสิ่งที่ไม่ดี โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ขณะที่ได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าพอใจ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก กายวิญญาณอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เท่านั้น ที่เป็นวิบาก

    นอกจากนั้น มีปัจจัยหนึ่ง คือ อุปนิสสยปัจจัย อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น อกุศลที่ได้ทำไปแล้วเป็นอุปนิสสยปัจจัย ทำให้อกุศลจิตเกิด เดือดร้อนใจ กระสับกระส่าย กระวนกระวายได้ แต่ไม่ใช่วิบากจิต

    ถ้าเป็นวิบากจิตต้องเป็น ๑ ใน ๗ แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ หรือ สันตีรณะ ที่ชื่อว่าเป็นวิบากจิต เป็นอกุศลวิบาก

    แต่อกุศลจิตซึ่งกำลังเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นผลของอกุศลที่ได้กระทำแล้ว โดยอกุศลที่ได้กระทำแล้วนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัย มีกำลังทำให้อกุศลเกิดขึ้น มีความ เดือดเนื้อร้อนใจ แต่ไม่ได้เป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้น เป็นอุปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น

    ทุกท่านที่ทำกรรมไม่ดีและเดือดเนื้อร้อนใจ มี ใช่ไหม อาจจะกับมารดาบิดา หรือผู้ที่ไม่สมควรต่างๆ เมื่อกระทำแล้วระลึกได้ ไม่ควรเลยที่กระทำอย่างนั้น นี่ ยังไม่ใช่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นผลของกัมมปัจจัย แต่เป็นผลของอกุศลจิต ซึ่งอกุศลจิตนั้นมีกำลังทำให้อกุศลจิตเกิดอีกโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย แต่ไม่ใช่เป็น กัมมปัจจัย ถ้าเป็นกัมมปัจจัย ต้องทำให้วิบากจิตเกิด ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัย ทำให้อกุศลจิตเกิด หรือทำให้กุศลจิตเกิดก็ได้ คือ รู้สึกตัว ต่อจากนั้นก็จะไม่กระทำอีก ขณะนั้นอกุศลก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้โดยอุปนิสสยปัจจัย แต่ถ้าโดยกัมมปัจจัย ผลคือวิบากทั้งหมด ซึ่งไม่มีใครสามารถบันดาลได้ นอกจากกรรมเท่านั้นที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    ถ. เวลารู้ความหมายของคำ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. ได้ เจริญสติ เพราะรู้ว่าขณะนั้น สภาพรู้กำลังรู้คำ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564