แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288


    ครั้งที่ ๑๒๘๘


    สาระสำคัญ

    ความประพฤติเป็นไปตามการสะสมของแต่ละท่าน

    กิจของจิต ๑๔ กิจ

    อถ.ติก.นิทานสูตร - เหตุปัจจัย ที่มา ที่เกิดขึ้นของกรรมต่างๆ

    อถ.จตุก.เจตนาสูตร - กรรมเป็นเขตแดน วิบากก็เกิดขึ้น

    อถ.สค.อุฏฏิฐสูตรที่ ๗ กรรมกระทำอัตภาพให้ติดกันไปเป็นพืด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


    สำหรับคุณธรรมของท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านเป็นพระอัครสาวกแล้ว ข้อความใน อรรถกา สุสิมสูตรที่ ๙ มีว่า

    พระเถระเห็นความประพฤติทรามของเหล่าภิกษุ ก็ไม่ผัดเพี้ยนว่า ค่อยพูดกันวันนี้ พูดกันวันพรุ่งนี้ อธิบายว่า ท่านสั่งสอนพร่ำสอนในที่นั้นๆ เลย

    ไม่รอที่จะตักเตือนภิกษุผู้มีความประพฤติทราม

    จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งชอบสอนผู้อื่น แต่ตัวเองถูกผู้อื่นสอนเข้าก็โกรธ ส่วน พระสารีบุตรเถระให้โอวาทแก่ผู้อื่นด้วย ตัวเองแม้ถูกโอวาท ก็ยอมรับด้วยเศียรเกล้า

    เล่ากันมาว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบ เรียนท่านพระสารีบุตรเถระว่า ท่านพระสารีบุตรขอรับ ชายผ้านุ่งของท่านห้อยลงมาแน่ะ ท่านพระเถระไม่พูดอะไรเลย ไป ณ ที่เหมาะแห่งหนึ่ง นุ่งเรียบร้อยแล้วก็มายืนประนมมือพูดว่า เท่านี้เหมาะไหม อาจารย์ พระเถระกล่าวว่า ผู้บวชในวันนั้นเป็นคนดี อายุ ๗ ขวบโดยกำเนิด ถึงผู้นั้นพึงสั่งสอนเรา เราก็ยอมรับด้วยกระหม่อม ดังนี้

    ควรที่จะสะสมอย่างนี้ไหม ไม่ถือตัวว่าเป็นอาจารย์ รับคำแนะนำที่ดีของคนอื่น ได้ไหม ควรไหม หรือควรคิดว่าเมื่อเป็นครูอาจารย์แล้วจะไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของใครทั้งสิ้น ถ้าได้ฟังเรื่องการสะสมของแต่ละท่าน คงจะทำให้ท่านผู้ฟังเห็นว่า สิ่งใดควรที่จะกระทำตาม และกระทำได้

    ถ้าอาจารย์ท่านใดเป็นผู้ที่ยอมรับฟังคำแนะนำของผู้ที่เรียกว่าเป็นลูกศิษย์ ที่มีเหตุผลที่ควรทำตาม และผู้อื่นคิดว่าอาจารย์ผู้นี้อยู่ในอำนาจของลูกศิษย์คนนั้น ถูกหรือผิด ในเมื่อเป็นคำแนะนำที่ดี ไม่ว่าจะเป็นใคร อย่างเช่น ท่านพระสารีบุตรและสามเณรอายุ ๗ ขวบ

    เพราะฉะนั้น พิจารณาจิตของตนเองในขณะนั้นๆ ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เวลาที่มองดูการกระทำของบุคคลอื่นซึ่งควรจะชื่นชม แต่บางคนก็คิดว่า ทำไมอาจารย์อยู่ในอำนาจของลูกศิษย์คนนั้นคนนี้ นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด

    นี่เป็นเรื่องความวิจิตรของจิต

    ในคราวก่อนที่มีผู้กล่าวว่า เอาขยะซึ่งเป็นอาหารที่เหลือไปทิ้ง และเข้าใจว่า ถ้าวันหนึ่งท่านหิว โซซัดโซเซไปพบอาหาร ก็คงจะเป็นผลของการเอาขยะไปทิ้งและ มีบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากอาหารที่ท่านทิ้งไปโดยไม่มีเจตนา แต่ข้อสำคัญต้องเข้าใจว่า กรรมได้แก่เจตนา เจตนาเท่านั้นที่เป็นกรรม ถ้าทิ้งเฉยๆ อย่าคิดว่าเป็นกุศลกรรม แต่ถ้าให้ แม้จะเป็นอาหารเหลือแต่มีเจตนาให้เพื่อเป็นประโยชน์ ในขณะนั้นจึงจะเป็นกรรม

    เพราะฉะนั้น สำหรับกฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันทางฝ่ายอกุศลก็มี ทางฝ่ายกุศลก็มี และถ้ากรรมใหญ่ๆ ไม่มีที่จะให้ผลก่อนจะจุติ กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ นั้น ก็สามารถทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้

    ถ. คติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ ทั้ง ๔ อย่างนี้ต้องเกิดพร้อมกัน หรือว่าแยกกันได้

    สุ. แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ละกรรม แต่ละขณะ เช่น คติสมบัติ เกิดแล้ว ก็แล้วไปแล้ว กาลสมบัติ ก็แล้วแต่ ไฟไหม้ ฝนตก น้ำท่วมเมื่อไร ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์เมื่อไร ประชาชนผู้คนมีจิตใจเมตตาประกอบด้วยกุศลเมื่อไร มากไปด้วยอกุศลเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละกาล

    ถ. ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกัน เกิดทีละอย่างก็ได้

    สุ. แล้วแต่เหตุการณ์

    ที่ได้กล่าวถึงเรื่องของกรรม ก็เพราะท่านผู้ฟังขอให้กล่าวถึงกิจของจิตทั้ง ๑๔ กิจ ซึ่งเริ่มด้วยปฏิสนธิกิจ เป็นกิจที่เกิดต่อจากจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อน

    ถ้าปราศจากกรรม ปฏิสนธิจิตก็ไม่มี และถ้าปราศจากกิเลส กรรมทั้งหลายก็ไม่มี เพราะฉะนั้น โดยนัยของปฏิจจสมุปปาทะ คือ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร มีข้อความที่ได้กล่าวถึงเรื่องของกรรมต่างๆ คือ กรรม ๑๑ กรรม ๑๒ กรรม ๑๖ และได้แสดงถึงนิทาน หรือนิทานะ ไม่ใช่นิทานที่เล่าให้เด็กฟัง แต่หมายความถึงเหตุปัจจัย ที่มา ที่เกิดขึ้นของกรรมต่างๆ ซึ่งมีข้อความว่า

    ข้อว่า โลโภ นิทานํ กมฺมานํ สมุทยาย ความว่า สภาวะ คือ ความโลภ ความอยากได้ ชื่อว่าโลภะ เป็นนิทาน คือ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ย่อมมีเพื่อทำให้เป็นกลุ่มแก่การเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปในวัฏฏะ

    แสดงให้เห็นว่า กรรมทุกอย่าง ทุกประเภท มีโลภะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ลองพิจารณาดูแต่ละกรรมๆ ปัจจัยที่ลึก ปัจจัยดั้งเดิม ปัจจัยแท้ๆ ของแต่ละกรรมนั้นก็คือโลภะ ความอยากได้ ย่อมมีเพื่อทำให้เป็นกลุ่มแก่การเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะกรรมเดียว กรรมทุกกรรมที่ได้เกิดแล้ว ที่กำลังเกิดอยู่ และที่จะเกิดต่อไป ย่อมมีโลภะเป็นเหตุ ที่ทำให้สัตว์เป็นไปในวัฏฏะ

    บทว่า โลภปกตํ ความว่า อันความโลภกระทำทั่วแล้ว

    พิจารณาจริงๆ จะเห็นจริงๆ ว่า ไม่มีขณะใดเลยที่ปราศจากโลภะ รับประทานอาหาร แสวงหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทำงานทุกอย่าง เลี้ยงชีพทุกอย่าง กระทำกิจในบ้านทุกอย่าง ก็เพราะว่า อันความโลภกระทำทั่วแล้ว ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา

    อธิบายว่า กรรมอันบุคคลผู้อันความโลภครอบงำแล้ว คือ อันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ

    ถ้าพิจารณาจริงๆ ถึงเหตุแท้ๆ ของกรรมทั้งหลาย ก็คือ อันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ

    ความโลภเป็นเหตุเกิดขึ้นของกรรมนั้น เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า มีโลภะเป็นเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยชื่อว่าสมุทัย อธิบายว่า กรรมมีความโลภเป็นปัจจัย ดังนี้

    ข้อว่า ยตฺถสฺส อตฺตภาโว นิพฺพตฺตติ ความว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดแต่ความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย และข้อความที่ว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดแต่ความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ก็คือเกิดแล้วในชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น ฯ นี่คือตัวท่าน

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น มีรูปขันธ์เกิดสืบต่อมาจากปฏิสนธิ และก็มีเวทนาขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ เป็นประจำ มีสัญญาขันธ์ สภาพที่จำสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ มีสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลงในสิ่งที่ต่างๆ ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    ถ้าไม่มีขันธ์ทั้งหลาย กรรมทั้งหลายให้ผลไม่ได้ แต่เมื่อมีขันธ์ทั้งหลาย กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ วรรคที่ ๓ เจตนาสูตร ข้อ ๑๗๑ มีว่า

    ก็กรรมท่านกล่าวว่า เขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก

    ถ้าไม่มีกรรมเป็นเขตแดน วิบากก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น กรรมท่านกล่าวว่าเขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก

    ใครจะได้รับผลของกุศลกรรมมากน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต ซึ่งจะเป็นแดนงอกขึ้นของวิบากของกรรมนั้นๆ

    ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างประณีต อย่างดี อย่างมาก เขตของกุศลวิบากก็มาก แต่ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนๆ เขตของกุศลวิบากก็น้อย เพราะฉะนั้น บางคนเกิดมามีสุขน้อยกว่าทุกข์ เพราะย่อมแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต คือ เป็นแดนงอกขึ้นของวิบาก

    สำหรับที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง กระทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ไม่ว่าจะเป็นในกามภูมิ หรือในรูปภูมิ อรูปภูมิก็ตาม จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นย่อมต้องกระทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ จะไม่มีกิจของจิตเกิน ๑๔ กิจเลย

    สำหรับกิจที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ หรือจะกล่าวว่า จุติกิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจก็ได้ เพราะปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดสืบต่อจากจุติจิตซึ่งกระทำจุติกิจของชาติก่อน และสำหรับจุติจิตของชาตินี้ เมื่อกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าก็จะเกิดสืบต่อจากจุติจิตซึ่งกระทำจุติกิจของชาตินี้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เป็นเรื่องที่แน่นอน และต้องมีอยู่ระหว่างที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฎฐัพพะ การคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตดวงต่อไปต้องกระทำภวังคกิจระหว่างที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้โผฏฐัพพะ ยังไม่คิดนึก และกิจสุดท้าย คือ จุติ

    ส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังกลัวจุติ คือ กลัวตาย และเห็นว่าความตายหรือมรณะ เป็นทุกข์ แต่ตามความจริงขณะที่ตาย ไม่มีใครรู้สึกตัว เหมือนกับในขณะที่เกิด ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้สึกตัวเลยในขณะนั้น เพราะเป็นวิบากจิตซึ่งทำกิจสืบต่อจากจุติเพียงขณะเดียวเท่านั้นและดับไป และจะไม่มีปฏิสนธิจิตนี้อีกเลย เช่นเดียวกับขณะจุติ ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จุติจิตยังไม่เกิด แต่เวลาที่จุติจิตจะเกิด กระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น และในขณะนั้นก็ ไม่รู้สึกตัวเหมือนกับขณะที่ปฏิสนธิ หรือขณะที่เป็นภวังค์

    ในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นภวังค์ไม่รู้สึกตัวฉันใด เวลาที่จุติจิตเกิดขึ้นกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ก็ไม่รู้สึกตัวเหมือนในขณะที่เป็นภวังค์และปฏิสนธิฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น น่ากลัวไหม ไม่น่ากลัวเลย แต่ที่กลัว คือ กลัวการพลัดพรากจากความเป็นบุคคลนี้ จากสิ่งซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจทั้งหมด

    เป็นเรื่องเศร้าไหม เรื่องของการพลัดพราก เรื่องของการที่จะต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แต่ก็เคยตาย เคยจุติมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ เคยสูญสิ้นความเป็นบุคคลต่างๆ แต่ละภพแต่ละชาติ และไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เพียงที่จะเกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติต่อๆ ไป จะต้องมีการเกิดอีก และก็มีการจุติอีก

    ซึ่งการสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้นั้น เพราะจุติจิตเกิดขึ้นเพียง ขณะเดียวเท่านั้นสามารถทำให้พ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้ได้ และปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้น ถ้าการตาย การพลัดพราก เป็นเรื่องของความเศร้าโศก ก็จะเป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของคนที่จุติจิตเกิดแล้วดับไปและปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที มีสภาพของความเป็นบุคคลใหม่ทันที

    และที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นทุกข์ หรือกลัวจุติ ก็เป็นเพราะว่าก่อนจุติ ทุกขเวทนาเกิด เวลาที่เกิดความเจ็บปวด บางท่านรู้สึกว่าอย่างมากที่สุดก็แค่ตาย คือ อย่างไรๆ ความปวดเจ็บนั้นก็คงไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกขเวทนาก่อนที่จะจุติหรือสิ้นชีวิตนั้นย่อมมีกำลัง เพราะฉะนั้น ความทุกข์ที่ใหญ่ที่สุด คงจะได้แก่ทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามี เพราะบางท่านจากโลกนี้ไปเหมือนลืมตาและหลับตา หรือว่าหลับตาและลืมตา ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ขาดความรู้สึกตัว ในขณะที่เป็นบุคคลนี้ และเกิดใหม่ทันทีเป็นบุคคลต่อไป แต่ก็ต้องแล้วแต่แต่ละบุคคล ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า จุติจิตของแต่ละบุคคลจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในลักษณะใด ณ สถานที่ใด

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อุฑฑิตสูตรที่ มีข้อความว่า

    กรรมกระทำอัตภาพให้ติดกันไปเป็นพืด ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่รู้ความเกิดติดต่อกันไปแห่งจิตดวงหนึ่งที่ไม่ห่างกัน เพราะถูกเวทนาในเวลาใกล้ต่อความตายที่มีกำลังปิดบังไว้ ราวกับถูกภูเขาปิดบังอยู่ ย่อมไม่รู้ความตายอันนั้น

    แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ตายนั้น ไม่มีใครรู้สึกตัว เหมือนขณะเดี๋ยวนี้เองซึ่งจิตก็เกิดดับสืบต่อติดกันเป็นพืด เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธินับไม่ถ้วน ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อไป และกรรมก็ทำให้มีการเห็นทางตา จิตเกิดดับสืบต่อทางจักขุทวารวิถีในขณะนี้ มีภวังค์คั่น โดยกรรมนั่นอีก ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อกันไปเป็นพืดโดยไม่เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของจิตแต่ละขณะในขณะนี้ ฉันใด เวลาที่จุติจิตเกิดและปฏิสนธิจิตเกิดต่อ ก็ฉันนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ในขณะนั้นได้

    และเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ไม่มีการรู้สึกตัว ขณะที่เป็นภวังค์ก็ไม่รู้สึกตัว คือ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จุติจิตก็ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว ก็เหมือนกับปฏิสนธิ เหมือนกับภวังค์ เพียงแต่ว่าจุติจิตทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ โดยไม่มีการที่จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกได้เลย ในสังสารวัฏฏ์

    ถ้าอ่านชาดกต่างๆ ประวัติพุทธสาวก จะเห็นได้ว่า แต่ละภพ แต่ละชาติที่ แต่ละท่านได้เกิดขึ้น ไม่มีการย้อนกลับไปเป็นคนเก่า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564