แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296


    ครั้งที่ ๑๒๙๖


    สาระสำคัญ

    มโนกรรมหรือเป็นวจีกรรม

    มโนกรรมกับกายกรรม

    จดหมายจากเชียงใหม่

    จดหมายจากจังหวัดนครราชสีมา

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด (กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก)

    อส.จิตตุปาทกัณฑ์ว่าด้วยมโนกรรมทวาร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


    ถ. ตกลงอภิชฌาเมื่อสักครู่นี้ มโนกรรมมีแน่ ใช่ไหม

    สุ. จะทำอะไรก็ตามแต่ที่เป็นทุจริตกรรมเกิดขึ้น ต้องวินิจฉัยว่าขณะนั้นเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ถ้าเห็นกระเป๋าเงินตกแล้วเก็บ ตั้งใจมาก่อนหรือเปล่า

    ถ. ไม่ตั้งใจ

    สุ. ไม่คืนเจ้าของ ก็เป็นกายกรรม แต่ถ้าตั้งใจ รู้ว่าคนนี้มีเงินในกระเป๋าเท่าไร และคิดว่า มีโอกาสเมื่อไรที่จะได้กระเป๋าเงินนั้น ขณะนั้นเป็นอะไร

    ถ. มโนกรรม

    สุ. เป็นมโนกรรม แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏ คือ ทุจริต เพราะฉะนั้น สำหรับกายกรรมต้องเป็นกายทวาร หรืออาจจะเป็นทางมโนทวารก็ได้ แต่สำหรับมโนกรรม เวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นต้องวินิจฉัยว่า กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม

    ถ. สมมติว่า ไปบ้านของผู้หนึ่งผู้ใด และเห็นว่าเขามีสิ่งของที่เราพอใจ เราอยากได้ คิดที่จะขโมย แต่เรายังไม่ได้ขโมย

    สุ. ขณะนั้นต้องเป็นมโนกรรม และเมื่อขโมยแล้ว แน่นอนที่สุดกรรมนั้นเป็นมโนกรรม

    ถ. ไม่ได้รวมทั้ง ๒ อย่าง

    สุ. ไม่ใช่กายกรรม

    ถ. ผมคิดว่าจะเป็นทั้งมโนกรรมและกายกรรมรวมกัน

    สุ. ทำไมไปรวมกัน ก็แยกกันแล้ว กรรมใดเป็นกายกรรมก็เป็นกายกรรม กรรมใดเป็นมโนกรรมก็เป็นมโนกรรม ต่างกันที่ว่า กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. แล้วแต่องค์ว่า ประกอบด้วยความเพียรมากน้อยแค่ไหน และผู้ที่เสียประโยชน์เป็นผู้ที่ทรงคุณมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละกรรม ถ้าเป็นข้อปาณาติบาต จะทำให้รับโทษมากเพราะประกอบด้วยองค์อื่นอย่างไร เช่น ประกอบด้วยความเพียรมาก หรือความพยาบาทมาก กิเลสมีกำลังมาก หรือว่าความเพียรน้อย หรือวัตถุที่ต้องการให้มาเป็นของของตนนั้นมีค่าน้อย โทษก็น้อย แต่ไม่มีไม้บรรทัดวัด ไม่มีอะไรที่จะวัดอย่างปรอทวัดอุณหภูมิเลย เพราะว่าเป็นความวิจิตรของจิตจริงๆ ในสังสารวัฏฏ์ที่สั่งสมมาต่างๆ กันในแสนโกฏิกัปป์ เป็นปัจจัยทำให้จิตของแต่ละคนในขณะนี้ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ ตามสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดขึ้นแต่ละขณะ

    มีจดหมายจากต่างจังหวัด ขออ่านให้ฟังบางฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังคงจะอนุโมทนา อย่างจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เขียนมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ถึงคุณธงชัยที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้อความมีว่า

    ถึง พันเอกธงชัย แสงรัตน์ ที่เคารพอย่างสูง

    ท่านได้ส่งหนังสือมหาสติปัฏฐานมาให้ พ่อได้รับแล้ว รู้สึกดีใจมาก แต่ไม่ สบายใจว่าท่านยังไม่ได้อ่านเลย เพิ่งได้มาใหม่สดๆ ร้อนๆ ท่านก็รีบส่งมาให้พ่อก่อน พ่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นธรรมที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนทุกคนจริงๆ จะขาดเสียไม่ได้เลย

    ต่อมาท่านก็ได้ส่งหนังสือพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน และจดหมายจากจาร์กาตาร์ เขียนโดย นีน่า วัน กอร์คอม เป็นหนังสือธรรมที่มีคุณค่าแก่ผู้อ่านมาก พ่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ตอนเช้าๆ ฟังอาจารย์สุจินต์บรรยายธรรมในวิทยุอีก รู้สึกเพิ่มความเข้าใจธรรมดีขึ้น พ่อยังนึกถึงคำเตือนของท่านที่ว่า การศึกษาธรรมจะให้เข้าใจอย่างถูกต้องนั้น จะต้องหมั่นอ่าน หมั่นฟังให้มากๆ และติดต่อกันไปบ่อยๆ จึงจะได้ผลสมความปรารถนาของท่านผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายช่างไม้และลูกมือของนายช่างไม้จับด้ามมีดทุกๆ วัน วันหนึ่งคงจะเห็นรอยนิ้วมือที่ด้ามมีดฉะนั้น คำเตือนนี้ดีมาก พ่อจะไม่ลืมเลย

    บ้านพ่ออยู่ใกล้ถนนซอยเข้าหมู่บ้าน คนเขาเดินไปจ่ายตลาดกันตอนเช้าทุกๆ เช้ามานานแล้ว เขาคงด้อมๆ มองๆ พ่อฟังธรรมในวิทยุทุกๆ เช้าเป็นแน่ วันหนึ่ง มีชาวบ้านที่รู้จักกันคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ชอบโต้แย้งปัญหาต่างๆ นานาของคนอื่นอยู่เสมอๆ เขาเข้ามาที่บ้านของพ่อ เพื่ออยากจะรู้ธรรมหรือจะมาลองภูมิอย่างใดก็ ไม่ทราบ มาถามพ่อว่า “พ่อน้อย ตอนเช้ามืด มืดอยู่ ทำไมไม่หลับให้สบายเหมือนอย่างชาวบ้านเขาเล่า ฟังแต่ธรรมในวิทยุทุกๆ เช้าเท่านั้น ไม่เบื่อหรือ ผมเดินไปมาแถวนี้มานานแล้ว ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรภายในบ้านเลย อยู่บ้านแบบเก่าๆ ไม่ทันโลกสมัยใหม่เขา ชาวบ้านชาวเมืองเขาอยู่ดีกินดีกัน สร้างตึกสร้างบ้านกันใหญ่โต บางประเทศเขาไปถึงโลกพระจันทร์ก็มี โดยเขาไม่สนใจธรรมเลย”

    พ่อตอบเขาอย่างใจเย็นว่า “ การฟังธรรม ถ้าเข้าใจธรรมอย่างถูกต้องแล้ว ไม่เบื่อแน่ คิดเสียว่าตื่นเช้ามาเราก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้พ่อน้อยก็มีความสุขทางใจอย่างไม่มีอะไรเปรียบแล้ว ถึงจะอยู่บ้านเก่าแก่อย่างคุณว่า พ่อน้อยก็ไม่มีความทุกข์ร้อนแม้แต่น้อย ถึงชาวบ้านอย่างคุณมาถาม คล้ายๆ ดูถูกพ่อน้อยชัดๆ พ่อน้อยก็ไม่เป็นทุกข์ทางใจอีก เพราะพระธรรมของพระพุทธองค์เตือนว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่ไหนเลย ไม่ต้องยึด นี่แหละการฟังธรรม ได้รับความเจริญทางด้านจิตใจ ไม่มีโลภ โกรธ หลงกันแล้ว สุขหนอๆ เท่านั้น ความเจริญของโลกภายนอกถ้าขาดธรรมแล้ว ก็แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน เป็นคนเห็นแก่ตัวกันไปหมด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่มีการเผื่อแผ่กันเลย เพราะไม่รู้โลกภายในตัวเรา โลกภายนอกจึงวุ่นวายอย่างทุกวันนี้ ตาก็อยากเห็นมากๆ หูก็อยากได้ยินมากๆ ลิ้นก็อยากลิ้มรสมากๆ จมูก กาย ใจ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าธรรมมีในใจแล้ว เข้าสังคมใดก็สบาย แม้สังคมสัตว์ก็เข้ากันได้ ไม่เบียดเบียนกันเลย ธรรมดีอย่างนี้”

    พ่อตอบเขาอย่างนี้ ท่านคิดว่าพ่อเข้าใจธรรมบ้างหรือเปล่า ถ้าท่านคิดว่า พ่อเข้าใจธรรมบ้างแล้ว พ่อก็ดีใจเป็นอย่างมาก จะได้สมกับความตั้งใจของท่านที่ได้จัดส่งหนังสือธรรมมาให้อ่านหลายเล่ม พ่อก็ให้คนอื่นที่สนใจอ่านบ้างหลายท่าน

    ท้ายที่สุดนี้ ขอรายการธรรมของท่านจงอยู่นานแสนนานเถิด ขอภัยอันตรายทั้งหลายอย่าได้มากล้ำกรายท่าน ตลอดถึงครอบครัวของท่านด้วย

    โดยความเคารพอย่างสูง

    อีกฉบับหนึ่งจากจังหวัดนครราชสีมา เขียนมาเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๗

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ

    คืนวันหนึ่ง กระผมตื่นตอน ๔ นาฬิกา หาสถานีวิทยุเพื่อฟังรายการต่างๆ ไปเรื่อยๆ ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงบรรยายธรรมเกี่ยวกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผมต้องสะดุดกึก ฟังดู พอฟังรู้เรื่องเท่านั้น ผมต้องตื่นตอน ๔ นาฬิกาทุกๆ วัน จนรู้ว่าอาจารย์อยู่ที่ใด ผมมีความคิดว่า เราได้ฟังคนเดียวไม่เหมาะ ฉะนั้น ต้องแจก ญาติโยมที่มาทำบุญทุกคนให้ได้ฟังกัน จึงขอถามอาจารย์ว่า ชื่อเทปมีอะไรบ้าง และหนังสือธรรมของอาจารย์มีอะไรบ้าง ผมจะขอใช้ทุนส่วนตัวซื้อเท่าที่พอจะมีกำลังประมาณ ๑๐๐ ม้วน เพื่อที่จะไม่ต้องรบกวนผู้อื่น ถ้าหากอาจารย์ได้รับจดหมายแล้ว กรุณาช่วยตอบด้วย ผมจะลงมากรุงเทพวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๗ นี้

    ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้อาจารย์จงสุขกายสบายใจเทอญ

    ข้อความตอนท้ายมีว่า ผมกำลังจะตั้งห้องสมุดขนาดเล็กตามกำลังที่จะทำได้ก่อน

    นี่ก็เป็นเรื่องของผู้ฟังต่างจังหวัด

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และต้องพิจารณามาก เพราะว่าเรื่องของกรรมนั้นคงจะไม่ใช่วิสัยของคนทั่วๆ ไปที่จะเข้าใจได้โดยถ่องแท้ โดยละเอียด ข้อสำคัญที่จะต้องทราบ คือ กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น

    แต่ถ้ากล่าวโดยนัยกว้าง กรรม ได้แก่ จิตซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลเจตนา หรือกุศลเจตนา ซึ่งบางครั้งจะพูดกว้างๆ ว่า อกุศลจิต ถ้าโดยเจาะจงก็ต้องหมายเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เช่น กายกรรม ๓ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ในขณะนั้นต้องมีพยาปาทะ ต้องมีความไม่พอใจ ต้องมีความโกรธขั้นรุนแรงที่สามารถจะกระทำปาณาติบาตได้ เพราะถ้าเป็นความโกรธเพียงเล็กน้อย ความขุ่นใจนิดหน่อย จะไม่มีการฆ่าเลย เพราะฉะนั้น สภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทสะจะต้องมีกำลังขึ้นจึงสามารถที่จะกระทำการฆ่าได้

    เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนั้นจะเป็นกายกรรม จะปราศจากพยาปาทะได้ไหม และถ้าอ่านตามตัวหนังสือ พยาปาทะเป็นมโนกรรม เพราะว่ากายกรรมมี ๓ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ วจีกรรมมี ๔ คือ มุสาวาท ๑ ผรุสวาจา ๑ ปิสุณาวาจา ๑ สัมผัปปลาปวาจา ๑ มโนกรรมมี ๓ คือ อภิชฌา ๑ พยาปาทะ ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑

    และถ้าได้ยินเพียงชื่อหรือตามตัวอักษร ก็ต้องคิดว่า ขณะใดที่มีความโกรธเป็นพยาปาทะ ขณะนั้นเป็นมโนกรรม แต่ถ้าพิจารณาถึงลักษณะสภาพของความโกรธ หรือความผูกโกรธที่เป็นโทสะที่มีกำลังแล้ว ใช้คำว่าพยาปาทะได้ เช่นเดียวกับโลภะ เป็นสภาพที่ต้องการอารมณ์ ยึด ติด ไม่สละอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ขณะที่มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่ยังไม่ใช่ทุจริต เพราะเป็นแต่เพียงความชอบ ความติด การไม่สละ แต่เมื่อใดที่มีความคิดเพ่งเล็งต้องการอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นทุจริต และมีการถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้มาเป็นของตน นั่นก็เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอทินนาทาน

    แต่ในขณะนั้นต้องพิจารณาว่ามีอภิชฌาไหม ก็ต้องมี เพราะว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงความต้องการ หรือไม่สละในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่ยังถึงขั้นถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน นั้นแสดงว่ามีความต้องการ มีอภิชฌา มีความเพ่งเล็ง อยากจะได้ทรัพย์สิ่งของของคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าจะติดที่คำว่ามีอภิชฌา ท่านผู้ฟังก็อาจจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นมโนกรรม เพราะใช้คำว่าอภิชฌา แต่ความจริงจะใช้คำว่า โลภะ จะใช้คำว่าอภิชฌาก็ได้ หรือจะใช้คำว่าโทสะ หรือคำว่าพยาปาทะก็ได้ แต่การที่จะพิจารณาว่า เป็นกรรมที่เป็นกายกรรม หรือวจีกรรม หรือมโนกรรม ต้องเป็นความละเอียดกว่านั้น ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วย มโนกรรมทวาร มีข้อความว่า

    กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ๒๙ อันเป็นไปในภูมิ ๓ (คือ กามภูมิ รูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมภูมิ) ชื่อว่ามโนกรรมและมโนทวาร

    กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ๒๙ คือ อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง รวมเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง และ มหากุศลจิต ๘ ดวง รวมเป็น ๒๐ ดวง รูปาวจรกุศลจิต ได้แก่ รูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ รวมเป็น ๕ ดวง และอรูปาวจรกุศลจิตอีก ๔ ดวง รวมเป็นรูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต เป็นมหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง รวมทั้งหมดก็เป็นกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ๒๙

    หมายความว่า จิตทุกดวงที่เป็นกุศลและอกุศล ประกอบด้วยเจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตทุกดวงที่เป็นกุศลและอกุศลโดยที่ยังไม่ได้กระทำกรรมทางหนึ่งทางใด กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาทั้งหมดนั้น ชื่อว่ามโนกรรม ในขณะที่ยังไม่ได้กระทำกรรมทางกายหรือทางวาจา

    เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องพิจารณาว่า กำลังของอกุศลย่อมเพิ่มขึ้น จากโลภมูลจิตธรรมดา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ เมื่อมีการเห็นแล้ว ที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดโลภมูลจิต ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งปัจจัยที่จะให้โลภมูลจิตเกิดเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีการสะสมโลภะเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์จนเป็นสภาพธรรมที่เป็นปกติที่มีกำลัง ที่โลภะจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเห็นสิ่งที่พอใจ และในขณะนั้นเป็นอกุศลเจตนาแล้ว เพราะว่าเกิดกับอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวว่าเป็นกรรมบถ เป็นทาง หรือเป็นคติที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ต้องพิจารณาว่า ต้องเป็นทุจริตกรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่โลภมูลจิตเกิดขึ้นก็จะเป็นกรรมบถทั้งหมดที่จะเป็นทางให้ไปสู่อบายภูมิ แต่ต้องมีกำลังขึ้นจนถึงกับกระทำกรรมทางหนึ่งทางใด คือ ที่ชื่อว่าเป็นกายกรรมเพราะเรียกตามทวาร หรือเพราะว่า การกระทำนั้นส่วนมากสำเร็จโดยทวารนั้น เช่น ปาณาติบาต การฆ่า ทุกคนทราบว่าต้องสำเร็จลงด้วยกายกรรม ต้องมีการกระทำทางกาย ถ้าไม่มีการกระทำทางกาย ปาณาติบาตก็สำเร็จไม่ได้ ถึงแม้บางครั้งอาจจะสำเร็จโดยวจีทวาร คือ การใช้บุคคลอื่นทำก็จริง แต่การสิ้นชีวิตจะมีได้ ต้องอาศัยการกระทำทางกายเป็นกายกรรม เพราะฉะนั้น เมื่ออาศัยกาย ปาณาติบาตจึงเป็นกายกรรม เพราะส่วนมากเกิดทางกายทวาร

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ที่จะแยกเรื่องของกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ซึ่งถ้าท่านผู้ใดสนใจ สามารถศึกษาค้นคว้าได้จากอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วยกรรม และว่าด้วยมโนกรรมทวาร เพราะข้อความละเอียดก็มีกล่าวว่า มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมเกิดขึ้นได้ทางทวารทั้ง ๓ แสดงให้เห็นว่า สำหรับทางฝ่ายอกุศล กายกรรมเกิดได้ทางกาย และทางวาจา วจีกรรมก็เกิดโดยนัยเดียวกัน คือ เกิดทางกายทวารก็ได้ หรือทางวจีทวารก็ได้ แต่สำหรับมโนกรรมนั้นกว้างขวางกว่า คือ เกิดได้ทั้งกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร สำหรับอกุศลกรรม

    ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ใดสนใจในเรื่องของกรรม ก็ต้องศึกษาต่อไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๙๑ – ๑๓๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564