แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297


    ครั้งที่ ๑๒๙๗


    สาระสำคัญ

    อกุศลกรรมบถทางมโนทวาร

    วจีทวารเป็นทางของมโนกรรม

    กรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก

    กายทวารของสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นมโนกรรม

    กรรมบถ (หนทางของกรรมที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้น)

    เห็นภัยแม้โทษเพียงเล็กน้อยของอกุศลจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๗


    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า อภิชฌาที่เป็นอกุศลกรรมบถ ต้องเป็นทุจริตอย่างเดียว แต่อภิชฌาองค์นี้ พระอนาคามียังละไม่ได้ พระอนาคามียังจะมีการเพ่งเล็งที่เป็นทุจริตในสิ่งของของคนทั่วๆ ไปอีกหรือ ก็ต้องไม่มี เพราะพระอนาคามีละได้แล้ว ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่วิจิตรพิสดารขนาดไหน ท่านก็ไม่ติด ไม่ยินดีแล้ว ท่านจะคิดเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นด้วยการขโมย หรือทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นไปได้อย่างไร

    สุ. จะใช้คำว่าโลภะก็ได้ จะคำว่าอภิชฌาก็ได้ เป็นเรื่องของศัพท์ เป็นเรื่องของคำ อย่าติดที่พยัญชนะ เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลยังมีโลภะ แต่ไม่มีอกุศลกรรมบถที่จะให้ไปสู่อบายภูมิตั้งแต่เป็นพระโสดาบันแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องของอภิชฌาหรือโลภะของแต่ละบุคคล ต้องตามระดับขั้น

    ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ โลภะก็มี ถ้าจะใช้คำว่าอภิชฌา สำหรับปุถุชนก็ย่อมมี ทั้งที่เป็นโลภะธรรมดา หรือที่เพ่งเล็งต้องการอยากได้ของของบุคคลอื่น ถ้าเป็นอกุศลกรรม แต่ถ้าไม่ใช่อกุศลกรรม ก็เป็นเพียงความยินดี ต้องการ ไม่สละวัตถุที่กำลังเป็นอารมณ์

    ถ. ในธรรมบทท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นโลภะ ยังไม่ล่วงกรรมบถ ต่อเมื่อมีจิตคิดว่า ไฉนหนอสิ่งนี้จึงเป็นของเรา กรรมบถจึงจะแตก ท่านแสดงว่าองค์ของอภิชฌา มี ๒ ได้แก่ สิ่งของของคนอื่น ๑ มีจิตน้อมมาเพื่อตน ๑ แต่สิ่งของที่สวยๆ งามๆ เห็นแล้ว ต้องเห็นว่าเป็นของสวย มีความชื่นชมยินดีในสิ่งของนั้น ขณะที่ชื่นชมยินดีสิ่งของนั้น อภิชฌายังไม่แตก เป็นเพียงโลภะ ต่อเมื่อใดมีจิตที่น้อมมาว่า ไฉนหนอสิ่งนี้พึงเป็นของเรา ช่วงนั้นกรรมบถจึงจะแตก

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่นำเรื่องนี้มากล่าว เพราะเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถทางมโนทวาร ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียด ที่ว่าไฉนหนอสิ่งนี้พึงเป็นของเรา ถ้าผิดเพี้ยนไปจากประโยคนี้ จะเหมือนกันไหม หรือว่าต้องพูดอย่างนี้เท่านั้น ถ้าไม่พูดประโยคนี้ เป็นประโยคอื่น ยังคงเป็นอภิชฌาที่เป็นมโนกรรมไหม

    การที่จะวัดว่า อกุศลจิตหรืออกุศลเจตนานั้นถึงขั้นอกุศลกรรมหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น มารดาบอกลูกว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน เป็นอกุศลกรรมบถไหม เป็นวาจาที่ฟังแล้วเผ็ดร้อนไหม กล่าวออกไปแล้วด้วย ในขณะนั้นจิตเป็นอะไร เวลาที่รักลูก เมตตาลูก กับเวลาที่โกรธ วาจาต้องต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้ามารดาท่านหนึ่งบอกบุตรว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน ขณะนั้นจิตเป็นอะไร เป็นโทสมูลจิต มีกำลังทำให้ไหววาจาทางวจีทวารออกไป แต่ครบองค์ของวจีทุจริตหรือเปล่า เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า

    การพูดมีหลายอย่าง หลายลักษณะ พูดเล่น พูดจริง พูดทีเล่นทีจริง บางท่านอาจจะโกรธคนอื่น กลั่นแกล้งคนอื่นนิดๆ หน่อยๆ เป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ไหม จะพาไปสู่อบายภูมิ สมควรไหม หรือว่าไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าโลภมูลจิตเกิดขึ้น พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่เป็นทุจริตกรรม ถ้าต้องการซื้อหามาในทางสุจริต ก็เป็นแต่เพียงโลภมูลจิต แต่ถ้าถึงกับคิดขโมย มีแผนการจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่อยากได้และพูดว่า ไฉนหนอของนี้พึงเป็นของเรา ถ้าพูดเท่านั้นว่า ของนี้สวย ทำอย่างไรจะได้ อย่างนี้จะเป็นทุจริตกรรมไหม แต่ต้องมีอกุศลเจตนาที่จะกระทำทุจริตจริงๆ วางแผนการหรือคิดในใจที่จะประกอบทุจริตกรรม ขณะนั้นจึงเป็นมโนกรรม ต้องมีการกระทำที่สมควรแก่การที่จะเป็นอกุศลกรรมบถ

    เพราะฉะนั้น เปลี่ยนคำ เปลี่ยนประโยคได้ จะพูดหรือไม่พูดก็ได้ เพียงแต่คิด ไม่ใช้ประโยคนี้ก็ได้ หรือถ้าจะใช้ประโยคนี้ แต่ในใจไม่ได้คิดที่จะกระทำทุจริตได้ไหม เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับอกุศลเจตนา โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถ อย่าลืม ต้องเป็นเรื่องของทุจริตกรรม

    สำหรับพยาปาทะ โดยนัยเดียวกัน ถ้าโกรธ ทุกคนก็โกรธ แต่ยังไม่มีการคิดทำร้ายคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นเพียงอกุศลเจตนาที่เป็นอกุศลจิต ยังไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ แต่ถ้าคิดจริงๆ จะทำร้ายจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลกรรมบถทางใจ และจะล่วงออกเป็นทางกายหรือทางวาจา เมื่อการกระทำนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่ล่วงออกไป ก็เป็นมโนกรรมทางมโนทวาร

    สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด วันนี้ทั้งวันท่านผู้ฟังคิดเรื่องความเห็นบ้าง หรือเปล่า ตั้งแต่เช้ามาคิดเรื่องความเห็นบ้างไหม บาปไม่มี บุญไม่มี คิดอย่างนี้ บ้างไหมตั้งแต่เช้า หรือไม่ได้คิดอะไร มีชีวิตดำเนินไปตามปกติประจำวัน

    แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด ขอเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล เวลาที่ท่านผู้ฟังมาฟังธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิทางกายทวารได้ไหม และถ้ามีการสนทนาธรรม ก็เป็นสัมมาทิฏฐิทาง วจีทวาร เพราะคงจะไม่นั่งเฉยๆ และก็คิดเอาๆ เรื่องของบาป เรื่องของบุญ เป็นชั่วโมง เป็นนาทีว่า บาปมี บุญมี หรือบางท่านอาจจะคิดว่า บาปไม่มี บุญไม่มี คิดไปเป็นชั่วโมงอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะมีท่านผู้ใดทำอย่างนี้หรือเปล่า แต่เวลาที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น จะมีทวารของความเห็นผิดด้วย คือ เป็นกายทวาร หรือวจีทวาร หรือแม้ไม่ใช่ความเห็นผิด ท่านผู้ฟังลองพิจารณาคำพูดของท่าน ท่านคิดอย่างไร ท่านพูดอย่างนั้น ไม่ค่อยจะเก็บเอาไว้ใช่ไหม บางท่านพูดไปแล้วเสียใจ ถ้าคิดให้ดีก่อนที่จะพูดจะดีกว่า แต่โดยมากคิดแล้วก็พูดเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไร ขณะที่ท่านพูดถึงความเห็นนั้น ถ้าเป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษต่างๆ ก็มีวจีทวาร เป็นทวารของมโนกรรม คือ มิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ

    ในการสนทนาธรรม ย่อมมีบางท่านเป็นสัมมาทิฏฐิ บางท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น จะไม่นั่งเฉยๆ เงียบๆ และก็คิด แต่จะแสดงความเห็นออกไปโดยเป็นวจีทวารของสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ

    แต่บางท่านอาจจะคิดเรื่องของมิจฉาทิฏฐิอยู่บ่อยๆ และนานๆ เป็นอัธยาศัย เพราะเป็นผู้ที่ไม่พูด แต่คิด ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ท่านจะพิจารณาว่า ชีวิตประจำวันจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ท่านทำอย่างนี้บ่อยหรือไม่ คือ นั่งคิดเรื่องกรรมไม่มี โลกนี้ โลกหน้าไม่มี หรือว่าในวันหนึ่งๆ ชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น จนกว่าจะมีการสนทนาหรือการแลกเปลี่ยนความคิดกัน และในขณะที่ท่านคิดอย่างไร ด้วยจิตอย่างไร ก็มีวจีทวารเป็นทางของมโนกรรม คือ มิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิในขณะนั้น

    ขอเชิญท่านที่มีตัวอย่างจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ท่านเคยทำอย่างไรบ้าง

    ถ. เป็นตัวอย่างของนักศึกษาธรรมที่สนทนาธรรม ระหว่างที่เขาสนทนาธรรม ก็คิดถึงเรื่องของอภิธรรม เรื่องจิต เจตสิก ทำให้ไม่สบายใจว่า นี่เป็นจิตอะไร เป็นเจตสิกอะไร ผมก็ให้ข้อคิดเขาว่า อย่าไปคิดมาก เราเจริญสติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างนี้ถูกต้องที่สุดแล้ว ส่วนที่มาเรียน พระอภิธรรม ได้เท่าไรก็เท่านั้น ก็เป็นประโยชน์ ไม่ต้องคิดว่า นั่นเป็นตัตรมัชฌัตตตา หรือเป็นอัปปมัญญา หรือเป็นสัพพจิตตสาธารณะ ผมก็ช่วยเขาได้เท่านั้น อาจารย์ลองช่วยเขามากกว่านี้

    สุ. การคิดเรื่องธรรม ดีกว่าคิดเรื่องอื่น แต่ที่ดีกว่านั้นต้องหมายความว่า เป็นกุศลจิตขณะที่คิด ถ้าสติปัฏฐานเกิด สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตได้ ถ้าเป็นกุศลจิตจะคิดด้วยความแยบคาย ค่อยๆ พิจารณา หาเหตุผลว่าเป็นอย่างนี้ถูกต้องสมบูรณ์ไหม หรือว่าอาจจะยังขาดเหตุผลบางประการซึ่งจะต้องศึกษาจากตำราเล่มนั้นเล่มนี้ประกอบอีกเพื่อที่จะให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ในขณะที่กำลังไตร่ตรองธรรมโดยละเอียดรอบคอบอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ถ้าคิดแล้ว งง วุ่นวาย ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล คิดแล้วก็เหนื่อย ไม่ใช่การไตร่ตรองพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผลด้วยความรอบคอบ ด้วยความแยบคาย

    การที่คิดเรื่องธรรม คือ พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระลึกลักษณะสภาพของจิตในขณะที่กำลังคิดนั้นด้วยว่า กำลังคิดในคลองของเหตุผลซึ่งทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น หรือว่าคิดไปเรื่อยๆ และก็งงไปเรื่อยๆ หรือว่าไม่มีอะไรจะคิด ก็คิดไปคิดมา เท่านั้นเอง โดยเรื่องที่คิดก็ยังไม่ตามคลองของธรรม เป็นการสงสัย และเป็นการเพิ่มความสงสัยขึ้นไปอีกในสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้

    อย่างเช่น อ่านเรื่องของตัตรมัชฌัตตตาจากอรรถกถาของสังยุตตนิกาย เมื่อต้องการความละเอียดเพิ่มขึ้น ก็อ่านอรรถกถาของอังคุตตรนิกายประกอบด้วย อย่างนั้นจะทำให้ความเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าชวนให้งง สงสัยไปเรื่อยๆ อย่างนั้นก็ต้องเป็นอกุศล

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และน่าคิดน่าพิจารณาตามกำลังของสติปัญญาจริงๆ เช่น กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก ไม่ใช่อภิชฌา พยาปาทะ และมิจฉาทิฏฐิ

    แม้ว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ มโนกรรม คือ อภิชฌา ๑ พยาปาทะ ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ ก็จริง แต่ต้องเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า กรรมได้แก่เจตนา เพราะฉะนั้น จึงได้แก่เจตนาเจตสิก ไม่ใช่โลภเจตสิก ไม่ใช่โทสเจตสิก ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ หรือทิฏฐิเจตสิก

    เพราะฉะนั้น มโนกรรม คือ อกุศลเจตนาที่เกิดร่วมกับอภิชฌา อกุศลเจตนาที่เกิดร่วมกับพยาปาทะ และอกุศลเจตนาที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ เพราะขณะใดที่ อกุศลจิตเกิดขึ้น จะปราศจากอกุศลเจตนาไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าอกุศลเจตนานั้นเกิดกับจิตประเภทใด เช่น ถ้ามีการเพ่งเล็งอยากจะได้สิ่งของของคนอื่น ในขณะนั้นเจตนาก็มี และโลภะก็แรงถึงขั้นที่ต้องการจะให้ของของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต แสดงให้เห็นว่า โลภะมีกำลัง

    ที่ทรงแสดงว่า มโนกรรมมี ๓ คือ อภิชฌา ๑ พยาปาทะ ๑ ทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ ๑ นั้น ก็เป็นการแสดงว่า ถึงอย่างไรกรรมก็ต้องได้แก่เจตนาเจตสิกนั่นเอง แต่เมื่อเจตนาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ทำอย่างไรจะรู้ว่า อกุศลจิตนั้นถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรม จึงได้ทรงแสดงมโนกรรมไว้ว่า เมื่ออกุศลจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตนานั้นมีกำลังเพราะประกอบด้วยอภิชฌา ซึ่งในขณะนั้นเมื่อยังไม่ล่วงออกไปทางกายหรือทางวาจา จึงเป็นมโนกรรม พยาปาทะก็เช่นเดียวกัน หรือมิจฉาทิฏฐิ ก็เช่นเดียวกัน

    ท่านที่มีความเห็นผิด อยู่เฉยๆ ไม่ได้เหมือนกัน เหมือนกับท่านที่มีสัมมาทิฏฐิ ท่านก็มีทวารหรือทางที่จะกระทำของกรรม อย่างท่านที่มีความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิ ท่านก็จะแสดงมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นของท่านกับบุคคลอื่น เพราะท่านเข้าใจว่าความเห็นผิดนั้นเป็นความเห็นถูก นอกจากนั้นยังมีการกระทำทางกายต่างๆ ซึ่งเป็นการกระทำด้วยความเห็นผิด เช่นเดียวกับสัมมาทิฏฐิ ท่านที่มีสัมมาทิฏฐิก็จะต้องมี กายและวาจาเป็นทางของการกระทำกรรมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

    อย่างเช่น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยกาย ขณะนั้นก็เป็นกายทวารของสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นมโนกรรม หรือการที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดแสดงธรรมที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นวจีทวารของสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นมโนกรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสัมมาทิฏฐิก็ดี หรือมิจฉาทิฏฐิก็ดี ซึ่งเป็นมโนกรรม ก็จะต้องมีทวารหรือการกระทำทางหนึ่งทางใด จะเป็นทางกายหรือทางวาจาก็ได้ ซึ่งเป็นกรรมบถ เป็นหนทางของกรรมที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้น จึงต้องทราบว่า กรรมได้แก่ เจตนา ไม่ใช่ได้แก่ โลภะ หรือโทสะ หรือทิฏฐิ

    เรื่องของกรรมคงจะยังไม่ชัดเจน จนกว่าท่านผู้ฟังจะอ่านแล้วอ่านอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกบ่อยๆ แต่ความสำคัญ คือ ไม่ควรจะคิดว่าครบองค์หรือไม่ครบองค์ และล่วงทุจริตกรรมไปทางไหน จะเป็นกายกรรม หรือมโนกรรมทางทวารไหน จะ เป็นทางวจีทวาร หรือกายทวาร ขอแต่เพียงว่า ควรระลึกรู้ลักษณะสภาพของอกุศลจิต เพื่อที่จะได้เกิดหิริโอตตัปปะตามขั้นของแต่ละบุคคล

    เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นปุถุชน ยังคงล่วงทุจริตกรรมเพราะขาดหิริโอตตัปปะ ไม่เห็นว่าอกุศลกรรมในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ควรละอาย และเป็นสิ่งที่ควรเว้น จึงล่วงได้ แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านละเว้นอกุศลกรรมตามคุณธรรมของท่าน จนถึงขั้นที่เห็นภัยแม้โทษเพียงเล็กน้อยของอกุศลจิต จึงสามารถที่จะละหรือดับได้เป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ขอให้พูดถึงหนทางที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่า หนทางที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี เหล่านี้ ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้แสดงหนทางที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามความจริง มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ไม่ใช่ว่าแยกกัน เพราะต้องอาศัยสติ ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๙๑ – ๑๓๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564