แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390


    ครั้งที่ ๓๙๐


    พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสมบำเพ็ญพระบารมีมา ควรที่คนอื่นจะอนุโมทนาชื่นชมสาธุการ แต่ก็มีบุคคล เช่นท่านพระเทวทัต ที่ยังริษยาในคุณความดีนั้นได้

    เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสอะไรกับท่านพระเทวทัต ย่อมเป็นประโยชน์กับท่านพระเทวทัตในภายหลัง แม้ว่าจะยังไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้นทันทีที่ได้ฟัง เพราะว่าทันทีที่ได้ฟัง โกรธ อาฆาต พยาบาท แต่เมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด เมื่อท่านพระเทวทัตกำลังจะสิ้นชีวิต ก็เห็นคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะนั้น ซึ่งนั่นก็แล้วแต่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นอย่างไร แต่ขอให้ทราบว่า ไม่มีผู้ใดที่จะรู้สิ่งที่ควร ที่เหมาะเท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าคำพูดนั้นจะไม่เป็นที่รักในขณะที่ได้ฟัง แต่อาจจะเป็นในขณะอื่นก็ได้ เมื่อท่านพระเทวทัตใคร่ครวญคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่ท่านพระเทวทัตในภายหลัง แต่ถ้าไม่ใช้คำที่ไม่เป็นที่รักถึงขั้นนั้น ท่านพระเทวทัตอาจจะไม่รู้สึกว่า ตัวท่านนั้นเป็นอย่างไร และมีความคิดที่ไม่ถูกต้องในพระผู้มีพระภาคมากเพียงไร

    ถ. คนเรานี้ ถ้ากระทำอะไรไปจนถึงขีดสุดแล้ว แต่ไม่ได้รับการโต้ตอบเลย ก็ทำให้ความคิด ความเห็นเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน คือ หลังจากที่พระผู้มีพระภาคตรัสคำพูดนี้แล้ว พระเทวทัตก็กระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความอาฆาต และกระทำไปจนกระทั่งถึงที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ไม่มีการโต้ตอบอะไรเลย ทำให้ท่านพระเทวทัตเห็นคุณของพระผู้มีพระภาค จนกระทั่งก่อนที่ท่านจะมรณะ ท่านก็คิดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าของพระพุทธเจ้า ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ประโยชน์ของพระสูตรนี้ คงจะอยู่ในตรงนี้

    สุ. ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงให้พุทธบริษัทมีวจีสุจริต แต่บางครั้ง ในพระสูตรบางตอน จะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคเองตรัสคำที่รุนแรง เช่นกับท่านพระเทวทัต เป็นต้น แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่า คำพูดใดก็ตาม ถ้าเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าคำพูดนั้นไม่เป็นที่รัก แต่ผู้พูดคำนึงถึงประโยชน์ ก็ควรที่จะพูด เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง

    ท่านผู้ฟังก็ได้ทราบประวัติของป่าอันธวันแล้ว ซึ่งเป็นที่ที่ท่านพระกุมารกัสสปะพำนักอยู่ และเทวดาที่เป็นสหายของท่านในอดีตอนันตชาติได้มาอนุเคราะห์ท่าน โดยถามปัญหาในที่ที่ท่านพำนักอยู่ คือ ที่ป่าอันธวัน

    จากประวัติของป่าอันธวันก็ดี จากประวัติของท่านพระกุมารกัสสปะก็ดี จะเห็นได้ว่า สังสารวัฏฏ์ยาวนานมากเพียงไรกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้า จะต้องมีการอบรมเจริญสะสมปัญญาที่จะละความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นสังสารวัฏฏ์ ถ้ายังคงเป็นความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์ คือ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะดับความสงสัย ความไม่รู้ ความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏอยู่ทุกขณะนี้ไม่ได้เลย

    แต่เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานของแต่ละบุคคลนั้น ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของแต่ละท่าน เพราะว่าแม้การเกิดเป็นบุคคลใด ในภพไหน ในชาติไหน ก็เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ท่านเห็นความวิจิตรของการสะสมที่ปรากฏในชาติปัจจุบันนี้ แสดงย้อนไปถึงเหตุในอดีตได้ว่า เหตุในอดีตที่ท่านสะสมมา แต่ละภพ แต่ละชาติที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานในแต่ละชาติ ที่วิจิตรไปตามกรรม และการสะสม

    ขอเล่าถึงชีวิตของพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเป็นภิกษุต่างประเทศ ท่านบวชในเวลาไม่นานนัก ท่านเป็นผู้ที่สนใจการเจริญวิปัสสนา และพยายามแสวงหาสถานที่ สำนักที่สงบเงียบ ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้ไปสู่สำนักที่ท่านพอใจ เห็นว่าเป็นสถานที่สงบเงียบ ในเวลาไม่นานนัก ท่านก็กลับมา และก็ได้เล่าให้ฟังอย่างจริงใจ ตรงตามความจริง ท่านเป็นผู้ที่เคารพในความจริง ท่านกล่าวว่า ที่โน่นเงียบเกินไป เงียบจนอยู่ไม่ได้ เวลากลับมาที่กรุงเทพ พอได้ยินเสียงรถก็ดีใจ

    ถึงกับดีใจ นี่เป็นชีวิตจริงๆ เป็นสภาพธรรมจริงที่เกิดขึ้น ในเมื่อบุคคลนั้นไม่พร้อมที่จะยินดีในความสงบอย่างพระอรหันต์ เพราะว่าคุณธรรมยังไม่ถึง

    การสะสมมาที่จะพอใจในเสียง ในรูป ในรส ในโผฏฐัพพะใดๆ เมื่อยังมีอยู่ ตามความเป็นจริงในเพศใด ในเพศนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริง ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถละเยื่อใยที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่เป็นอกุศลอย่างแรงนั้นได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ว่าหลบหลีกไป และเวลาที่โลภะ โทสะเกิด ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ละเอียดมาก เป็นเรื่องจริงเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ที่จะต้องอบรม จนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด แทงตลอดในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับ ตามความเป็นจริง

    ในขณะนี้ บุคคลสองคนกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมก็ได้ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้ ถ้าเป็นทางกาย สภาพอ่อนหรือแข็งก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม ที่กำลังรู้ในอ่อนหรือในแข็งก็เป็นนามธรรม แต่ความต่างกันของบุคคลสองคนนั้น คือ คนหนึ่งยึดถือในสภาพของรูปที่ปรากฏ ในสภาพนามธรรมที่กำลังรู้ แต่อีกบุคคลหนึ่ง อารมณ์ คือ สภาพธรรมที่อ่อนที่แข็ง ที่ตึงที่ไหว ที่ร้อนที่เย็น ที่กำลังปรากฏเหมือนกัน แต่ว่าสามารถที่จะละคลาย ไม่ยึดถือบรรลุคุณธรรมได้ถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าการสะสมอบรมต่างกัน แต่ไม่มีความต่างกันในเรื่องของสถานที่ ในเรื่องของเวลา ในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะเหตุว่า แม้ในขณะนั้น บุคคลที่สะสมอบรมปัญญามา ย่อมสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่บุคคลที่ยังไม่ได้สะสมปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังคงสงสัย ยังคงไม่ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์

    เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สติระลึก เพื่อความรู้ ชินขึ้นชัดขึ้นในสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง จากศูนย์ฝึกเครื่องมือกล แคมป์สน

    ๒๖ กันยายน ๒๕๑๖

    กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

    ผมฟังวิทยุมาตลอด ผมเลื่อมใสในการบรรยายในเรื่องมหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ผมติดอานาปานสติ สมัยเดินธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพที่เชียงใหม่ ไปกันสองรูป ตอนจะเข้าไปนมัสการพระธาตุ ข้าพเจ้าทำทักษิณา คือ การเวียนขวาแล้วภาวนาพุทธคุณจบพระไตรรัตน์ มีไก่วิเศษตัวหนึ่ง มาจิกเท้าพระธุดงค์อีกรูปหนึ่ง ตอนทำประทักษิณ แต่ข้าพเจ้าไม่จิก เพราะข้าพเจ้าถอดรองเท้าถือไว้ พระธุดงค์รูปนั้นท่านมิได้ถอด นี้เป็นประสบการณ์จากอานาปานสติ ผมจะทิ้งไปใช้มหาสติปัฏฐาน ก็เสียดาย ขอท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยบรรยายว่า อานิสงส์ของมหาสติปัฏฐาน กับ อานาปานสติ ใครจะมากกว่ากัน ผมพอใจ และขอขอบพระคุณในการเสียเวลาตอบปัญหานี้มาก ขาดการบรรยายธรรมไปเล็กน้อย สวัสดี

    สุ. เรื่องผลของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจให้ชัดเจนว่าการเจริญสติแต่ละขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น เพื่อผล คืออะไร

    ท่านผู้นี้ท่านกล่าวว่า ท่านติดอานาปานสติ และจะทิ้งอานาปานสติไปใข้มหาสติปัฏฐานก็เสียดาย เพราะท่านเข้าใจว่า ผลของการเจริญอานาปานสติที่ท่านเขียนมา คือ มีไก่วิเศษตัวหนึ่งมาจิกที่เท้าพระธุดงค์อีกรูปหนึ่งตอนทำประทักษิณ แต่ข้าพเจ้าไม่จิก เพราะข้าพเจ้าถอดรองเท้าถือไว้ พระธุดงค์รูปนั้นท่านมิได้ถอด นี้เป็นประสบการณ์จากอานาปานสติ ผมจะทิ้งไปใช้มหาสติปัฏฐานก็เสียดาย

    ถ้ายังคิดถึงเรื่องแปลกประหลาด อัศจรรย์ต่างๆ อย่างเช่น ไก่จะจิกเท้า หรือไม่จิกเท้า เป็นความอัศจรรย์อย่างไร อัศจรรย์หรือไม่อัศจรรย์ ก็ไม่อัศจรรย์

    บางท่าน เวลาที่ท่านใช้คำว่าเจริญวิปัสสนา มักจะมีความคิด หรือความไขว้เขวในเรื่องสิ่งแปลกๆ ที่อัศจรรย์เสมอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวท่าน บางทีเห็นนกมาเกาะที่หัวเตียงก็คิดว่า วันนี้คงจะบรรลุมรรคผล หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ไม่ทราบว่าทำไมถึงอาศัยเหตุการณ์แวดล้อม ทำให้เกิดความอยาก หรือความปรารถนา หรือความคิดหวังในสิ่งซึ่งไม่ควรแก่เหตุ เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้แล้วละ แต่ไม่ใช่ว่าหวังรอ หรือหวังคอย เห็นอะไรก็คอย คอยที่จะให้บรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยเจ้า และถ้าอานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติ เพียงเพื่อไม่ให้ไก่จิก ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบให้แน่นอนว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อความรู้ในสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดและเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นการที่จะให้เกิดความแปลก ความอัศจรรย์อะไรขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการติดข้อง และเห็นว่าเป็นผลอันวิเศษของการปฏิบัติเช่นนั้น

    จากจดหมายของท่านผู้นี้ ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สามคามสูตร

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในหมู่บ้านสามคาม ในสักกชนบท พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ มีข้อความบางตอนว่า

    ดูกร อานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรค หรือปฏิปทา ความวิวาทนั้น มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์

    จากข้อความใน สามคามสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความวิวาทมีแม้ในสงฆ์เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้ใดที่ละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิตแล้ว ก็มีความสงบ จะไม่วิวาทในเรื่องของข้อปฏิบัติ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีความเข้าใจผิด ไม่ได้ไตร่ตรองความละเอียดในข้อปฏิบัติให้ถูกต้องจริงๆ แล้ว ท่านก็ย่อมจะปฏิบัติผิด

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญานี้ ต้องให้เหตุตรงกับผล และให้ผลตรงกับเหตุ ถ้าเหตุไม่ตรงกับผล ผลไม่ตรงกับเหตุ ไม่ใช่ผลที่แท้จริง ไม่ใช่เหตุที่แท้จริง จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ข้อปฏิบัติที่ผิดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งย่อมเป็นเหตุให้เกิดการมวิวาทได้

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ด้วยข้อความข้างต้น

    ข้อความใน อรรถกา ปปัญจสูทนี อธิบายว่า

    เวลาที่มีการทะเลาะ การวิวาทกันนั้น ย่อมแบ่งออกเป็นพวก ทั้งในสมณบริษัท และตลอดไปจนถึงฆราวาสซึ่งอุปัฏฐากพระภิกษุที่วิวาทกันเป็นสองพวกนั้น และตลอดไปตั้งแต่มนุษย์ จนกระทั่งถึงเทวดา จนกระทั่งถึงพรหม ตามความเห็นผิดซึ่งยังมีอยู่ เว้นพระอริยสาวกทั้งหลายเสียแล้ว ก็แบ่งเป็นสองฝ่ายตามลำดับ

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    แต่ว่าพวกอธรรมวาทีก็มีมากกว่าพวกธรรมวาที ต่อจากนั้น พวกชนทั้งหลายย่อมยึดถือเอาคนจำนวนมากถือเอา พวกที่อธิบายอธรรมมีมากกว่า ย่อมยึดถือเอาอธรรม พวกชนเหล่านั้นบำเพ็ญอธรรมอยู่ ย่อมเกิดในอบายทั้งหลาย ความวิวาทที่เกิดขึ้นแล้วในท่ามกลางสงฆ์ ในวิหารอย่างหนึ่ง ย่อมมีเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้

    ถ้าพระภิกษุทั้งหมดเข้าใจข้อปฏิบัติถูก ประพฤติปฏิบัติถูก ย่อมไม่มีการวิวาทในเรื่องข้อปฏิบัติ แต่เวลาที่มีการวิวาท มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ย่อมแสดงว่า ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติตรงตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สองบทว่า ภควโต อจฺจเยน ความว่า ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ในกาลบัดนี้ ภิกษุทั้งหลายยังมีความเคารพยกย่องพระศาสดาว่าเป็นใหญ่อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุที่พระองค์ยังมีเดชสูงสุดอยู่ เพราะเหตุที่พระองค์เป็นผู้มีผู้เสมอเหมือนมิได้ ชนทั้งหลายจึงไม่อาจก่อการวิวาทขึ้นได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงล่วงลับไปแล้ว ชนทั้งหลายพึงก่อการวิวาทนั้นขึ้น แต่ชนทั้งหลายพึงก่อการวิวาทนั้นขึ้นในที่ใด ท่านพระอานนท์เถระ เมื่อแสดงการทะเลาะกันนั้น จึงกราบทูลว่า เพราะเหตุแห่งอาชีวะอันยิ่ง หรือเพราะปาติโมกข์อันยิ่ง

    แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุแห่งอาชีวะอันยิ่ง หรือเพราะปาติโมกข์อันยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า เป็นแต่เพียงเรื่องที่มีประมาณน้อย ไม่สำคัญเท่ากับการวิวาทในเรื่องของมรรค

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌาชีเว ความว่า เพราะเหตุแห่งอาชีวะ หรือเพราะอาชีวะเป็นเหตุ อธิบายว่า สิกขาบททั้ง ๖ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ในคัมภีร์ปริวาร โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม ต้องอาบัติปาราชิก และสิกขาบททั้งหมดที่เหลือ เว้นสิกขาบท ๖ เหล่านั้น ชื่อว่าอธิปาติโมกข์ คือปาติโมกข์อันยิ่ง

    หลายบทว่า อปฺปมตฺตโก โส อานนฺท ความว่า เพราะชื่อว่า ความวิวาทที่บังเกิดขึ้น ปรารภอาชีวะอันยิ่ง และปาติโมกข์อันยิ่ง เป็นสภาพที่บุคคลกำหนดได้ด้วยถ้อยคำของคนอื่นก็ดี ตามธรรมดาของตนก็ดี ละเสียได้โดยง่าย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า การวิวาทนั้นเป็นของมีประมาณน้อย

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ในข้อนั้น มีนัยดังต่อไปนี้

    ภิกษุบางรูปในโลกนี้ คิดสิ่งทั้งหลายว่า เราเมื่อไม่อวดอุตตริมนุสสธรรม ก็ไม่อาจเพื่อที่จะได้อะไรๆ ดังนี้เป็นต้น จึงได้อวดอุตตริมนุสสธรรม เพราะเหตุแห่งอาชีวะ เพราะอาชีวะเป็นเหตุ หรือว่าย่อมเที่ยวชักสื่อ หรือว่าภิกษุใดกระทำการพูดเลียบเคียง โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือว่าภิกษุไม่เป็นไข้ ใคร่ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หรือภิกษุณีขอโภชนะอันประณีตนั้นมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564