แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362


    ครั้งที่ ๓๖๒


    สุ. ท่านผู้ฟังเขียนถามมาว่า ท่านพระติสสะที่ไม่ไปป่า เพราะทราบว่า ไปแล้วไม่บรรลุ ท่านทราบล่วงหน้าได้อย่างไร โปรดชี้แจงด้วย ขอขอบพระคุณ

    ขอชี้แจงว่า ไม่ได้กล่าวว่า ท่านทราบว่าไปแล้วไม่บรรลุ แต่ตามข้อความใน ปรมัตถโชติกา มีว่า พระติสสะกล่าวว่า อย่าเลยคุณ ผมชอบใจการเฝ้าและการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค ท่านจงไปเถิด ดังนี้ แล้วก็ไม่ได้ไป

    นี่เป็นการรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ฟังธรรมด้วยกัน ใครมีฉันทะที่จะอุปสมบท ที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของพรรพชิต ผู้นั้นก็ขออุปสมบทเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต นั่นเป็นการรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตน เพราะว่าบุคคลในครั้งนั้นไม่ได้เข้าใจผิดว่า จะต้องไปทำเหมือนกัน หรือจะต้องตามอย่างกันโดยที่ไม่รู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง

    ขอให้สังเกตชีวิตของท่านพระติสสะ ตลอดไปจนถึงเมื่อเวลาที่พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมแก่ท่านขณะที่ท่านเป็นฆราวาส หลังจากที่ลาสิกขาบทแล้ว ในเวลาที่จบเทศนา ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งระหว่างที่ท่านเฝ้าฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคไม่ไปสู่ป่านั้น ท่านจะไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือ เพราะคำพยากรณ์ที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาของท่านพระเมตเตยยะ ไม่มีข้อความใดเลยที่จะบอกฆราวาสซึ่งเป็นติสสะในขณะนั้นว่า ให้ไปสู่ป่า และทำอย่างนั้นๆ เหมือนๆ กันเป็นลำดับขั้น ไม่มีเลย แต่ทรงพยากรณ์เรื่องของสภาพชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านผู้ฟัง เป็นผู้ที่เข้าใจการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ท่านจะเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงข้อความประการใดก็ตามในพระสูตร ก็เพราะผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ขณะที่ฟัง สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้นมี ตามี หูมี จมูกมี ลิ้นมี กายมี ใจมี เกิดปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงสามารถแทงตลอด บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าท่านเข้าใจว่า จะต้องไปสู่ป่า ไปทำวิปัสสนา ท่านก็ตรวจสอบข้อความในติสสเมตเตยยสูตรได้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกับติสสะฆราวาสให้ทำอย่างนั้นหรือเปล่าและเมื่อจบเทศนา ท่านติสสะก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล โดยที่แม้ระหว่างที่ท่านอุปสมบท ท่านก็ไม่ได้ไปสู่ป่า แต่ท่านพระเมตยะไป จะให้ท่านพระ เมตเตยยะไม่ไปได้ไหม ห้ามได้ไหม ใครจะไป ก็ห้ามไม่ให้ไป ใครจะไม่ไป ก็ให้ไป ได้ไหม

    ถ. ที่อาจารย์พูดนี้ ผมไม่ได้ขัดแย้งด้วยประการทั้งปวง เรื่องจะไม่ให้ไป หรือให้ไป ห้ามไม่ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แต่ส่วนมาก เช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกก็ตาม ทำไมจึงชอบไปอยู่ในป่า หรือตรัสรู้ตามโคนไม้ ประโยชน์ของป่าหรือประโยชน์ของบ้านนี้ต่างกันอย่างไร

    สุ. อาคารบ้านเรือน ชีวิตการครองเรือน ไม่ใช่สถานที่เหมาะแก่เพศของบรรพชิต จริงหรือไม่จริง จริง และป่าเหมาะสำหรับเพศของฆราวาสหรือเปล่า ไม่เหมาะใช่ไหม นอกจากอยากจะไปเพราะคิดว่า จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ไปเพราะหวังว่าจะได้บรรลุ แต่การอยู่ป่าจริงๆ เหมาะสำหรับเพศฆราวาสหรือเปล่า ถ้าเหมาะ คนนั้นก็ไม่ใช่ฆราวาสอีกต่อไป ถ้าพอใจในชีวิตอย่างบรรพชิต ก็ต้องมีชีวิตอย่างบรรพชิต เป็นบรรพชิตจริงๆ

    เมื่อเป็นชีวิตจริง ก็เจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามชีวิตจริงที่สะสมมาเป็นบรรพชิต ซึ่งชีวิตของบรรพชิตนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลให้เจริญกุศลทุกขั้น ถ้าเป็นเรื่องของสถานที่ที่สงบเงียบ ป่าชัฏ ลอมฟางต่างๆ เหมาะควรแก่การที่จะเจริญฌานสมาธิ สามารถที่จะระลึกชาติได้ รู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ และแทงตลอดอริยสัจธรรม ซึ่งโดยมากในพระสูตรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องของสถานที่ที่สงบเงียบ

    เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งผู้นั้นไม่ได้เข้าใจผิด เพราะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    สำหรับศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ เจตนาที่จะงดเว้น ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ซึ่งท่านจะได้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นจริง ที่สะสมมาของแต่ละบุคคลนั้น ต้องต่างกันตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ตัวท่านเองเท่านั้นที่จะทราบว่า ท่านสะสมกิเลสในเรื่องนี้มามากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้พุทธบริษัทต่างกัน เป็นเพศบรรพชิต และเป็นเพศฆราวาส

    สำหรับฆราวาส ก็มีทั้งที่ครองเรือน และไม่ครองเรือน ซึ่งเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของแต่ละท่าน และการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ละคลายดับกิเลสได้จริงเป็นสมุจเฉทนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา รู้จักสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่แต่ละท่านได้สะสมมา

    อย่างเช่น เรื่องของท่านติสสะ เมื่อท่านได้ฟังธรรม ท่านมีศรัทธาที่จะอุปสมบทเป็นบรรพชิต แต่แม้กระนั้นเวลาที่ญาติพี่น้องชักชวนให้ท่านลาสิกขาบท ท่านก็สึก ลาสิกขาบท ชีวิตตามความเป็นจริงของท่านเป็นอย่างไร ท่านอบรมเจริญสติปัญญา รู้ว่า ท่านมีอัธยาศัยอย่างนั้น เมื่อท่านได้ฟังพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล และภายหลังอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์

    จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมของแต่ละท่านในขณะนี้เป็นจริงอย่างไร ท่านจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านมากน้อยอย่างไร ก็เป็นเรื่องของอุปนิสัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ถ้าท่านไม่ได้สะสมอุปนิสัยที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน การเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะท่านมีการสะสมอุปนิสัยมา เมื่อได้ฟังเหตุผล สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเป็นอย่างใด นั่นก็เป็นไปตามที่แต่ละท่านสะสมมา

    ชีวิตของท่านพระติสสะเป็นตัวอย่าง ที่จะให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะไปเร่งรัดกาลเวลาที่จะดับกิเลสให้หมดได้ เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ท่านสามารถที่จะไปเร่งรัด ละกิเลสด้วยวิธีการต่างๆ เพราะจะต้องเป็นการเจริญอบรมให้เกิดปัญญา ซึ่งท่านสามารถจะพิสูจน์ได้ รู้ได้ด้วยตัวของท่านเองว่า ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ขณะนี้ปัญญาต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ และท่านก็ยังรู้หนทางข้อประพฤติปฏิบัติด้วยว่า เพราะเหตุใด อบรมเจริญอย่างไร ปัญญาจึงเป็นพละ จึงคมกล้า สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ เพราะว่าในขณะนี้เป็นชีวิตจริง แต่ละท่านจะมีนามอะไร มีรูปอะไรเกิดขึ้นปรากฏ ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ท่านจะมีชีวิตเป็นบรรพชิต ท่านจะมีชีวิตเป็นฆราวาสอย่างไร ก็เป็นชีวิตที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมตามความเป็นจริง ที่ปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว สามารถที่จะรู้แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรตรวจสอบ พิสูจน์ปัญญาของท่านเองว่า อบรมมามากน้อยอย่างไร สามารถที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้หรือไม่

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวฬุทวารสูตร มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของฆราวาสที่สามารถอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และจะละเว้นอกุศลกรรมบถ แม้ในเรื่องของศีลข้อ ๓ ด้วย

    ข้อความมีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่อเวฬุทวาระ พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวาระได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมผู้เป็นโอรสของเจ้าศากยะ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงเวฬุทวารคามแล้ว

    ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระสมณโคดมพระองค์นั้น ทรงกระทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์เห็นปานนั้น เป็นความดี

    นี่เป็นความคิดของชาวบ้านพราหมณคามในครั้งนั้น ซึ่งคงจะตรงกับพุทธบริษัทในครั้งนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคาม ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค บางพวกประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ๆ ว่า ขอเราทั้งหลาย พึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน พึงลูบไล้จันทน์ที่เขานำมาแต่แคว้นกาสี พึงทัดทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน ฯลฯ เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ด้วยประการใด ขอท่านพระโคดม โปรดทรงแสดงธรรมด้วยประการนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนา ผู้มีความพอใจ ผู้มีความประสงค์อย่างนั้นๆ เถิด

    ขอให้ท่านพิจารณาข้อความ ที่เป็นความประสงค์ของชาวบ้านเวฬุทวารคาม ว่า ตรงกับความประสงค์ของท่านหรือเปล่า นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตรงไหม ตรง มีใครที่ไม่ตรงบ้างไหม ทุกอย่างที่ชาวบ้านเวฬุทวารคามปรารถนา ช่างเหมือนกับความปรารถนาของท่าน ขอเราทั้งหลายพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน ผู้ครองเรือนมีบุตร อยากให้บุตรอยู่ด้วยหรือเปล่า นี่ประการหนึ่งแล้ว พึงลูบไล้จันทน์ที่เขานำมาแต่แคว้นกาสี สมัยโน้นก็ปรารถนาเครื่องหอมประเภทนั้น แต่ว่าสมัยนี้มีใครไม่ปรารถนาบ้างไหม พึงทัดทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน มีใครไม่ยินดีบ้างไหม เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ายังไม่ถึงปรินิพพาน ยังไม่บรรลุความเป็นพระอรหันต์ อยากจะเกิดที่ไหน ก็ต้องเป็นสุคติภูมิ โดยเฉพาะถ้าเป็นไปได้ สุคติโลกสวรรค์ก็คงจะสบายกว่า ดีกว่าโลกมนุษย์ เพราะฉะนั้น ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ... พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ด้วยประการใด ขอท่านพระโคดม โปรดทรงแสดงธรรมด้วยประการนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนา ผู้มีความพอใจ ผู้มีความประสงค์อย่างนั้นๆ เถิด

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยาย อันควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคาม ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงคนอื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร

    อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วน ๓ อย่างนี้

    ธรรมที่น้อมนำมาในตนนี้ ธรรมดาๆ ไหม แต่เป็นธรรมของพระอริยเจ้า ซึ่งแม้คฤหบดีก็สามารถที่จะมีธรรมนั้นได้ และเมื่อเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ย่อมจะงดเว้นปาณาติบาต กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต ชักชวนบุคคลอื่นให้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย เทียบเคียงกับชีวิตประจำวันของท่านที่ต้องการจะดับกิเลสได้ว่า กระทำอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ายัง ควรไหมที่จะเริ่มกระทำ จนเป็นอุปนิสัย เป็นอัธยาศัยที่แท้จริง ด้วยการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า จึงจะไม่มีการกระทำปาณาติบาตอีกเลย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร

    อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทานด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากอทินนาทานด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากอทินนาทานด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วน ๓ อย่างนี้

    ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะว่า จะต้องเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอริยเจ้า แม้คฤหัสถ์ แม้ผู้ที่ต้องการจะดับกิเลส ก็ควรที่จะได้ประพฤติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนี้ด้วย เพราะถ้าเป็นบุคคลอื่น จะชักชวนสักเท่าไร ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เกิดศรัทธาเพียงพอที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แต่ให้ทราบว่า นี่เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเพื่อท่านผู้ฟังจะได้เกิดศรัทธาปสาทะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๓๖๑ – ๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564