แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416


    ครั้งที่ ๔๑๖


    สุ. สำหรับโทษของการดื่มน้ำเมา ใน มังคลัตถทีปนีแปล ข้อ ๑๘๙ ได้กล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน สัพพลหุสสูตร ใน อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมอำนวยผลให้เกิดในนรก ในกำเนิดเดรัจฉาน ในปิตติวิสัย วิบากแห่งปาณาติบาตที่เบากว่าวิบากทั้งปวง ย่อมอำนวยความเป็นผู้มีอายุน้อยให้แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

    ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทานอันบุคคลส้องเสพแล้ว ... อำนวยผลให้เกิดในปิตติวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานที่เบากว่าวิบากทั้งปวง ย่อมอำนวยความเสื่อมโภคะให้แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

    ภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจารอันบุคคลส้องเสพแล้ว ... วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารที่เบากว่าวิบากทั้งปวง ย่อมอำนวยเวรพร้อมทั้งศัตรูให้แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

    ภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลส้องเสพแล้ว ... วิบากแห่งมุสาวาทที่เบากว่าวิบากทั้งปวง ย่อมอำนวยการกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริงให้แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

    ภิกษุทั้งหลาย การดื่มสุราและเมรัยอันบุคคลส้องเสพแล้ว ... วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยที่เบากว่าวิบากทั้งปวง ย่อมอำนวยความเป็นคนบ้าให้แก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์

    , ถ้าเราจะรักษาศีลให้เคร่งครัด หมากพลู บุหรี่ เลิกให้หมด ประหยัดด้วย ฐานะเศรษฐกิจก็ดี

    สุ. ขอให้พิจารณาใคร่ครวญเรื่องของศีลให้ละเอียด มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นไม่มีศีลไปทั้งหมด ถ้าจะนับหมากพลู บุหรี่ด้วย อะไรๆ ต่างๆ ก็เลยเป็นขาดศีลข้อนี้ แต่ความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรื่องของสุราเมรยมัชชะ ก็ควรที่จะได้ทราบถึงจุดประสงค์ที่ทรงบัญญัติว่า เพราะท่านพระสาคตะเสพสุราซึ่งเป็นที่ตั้งของความมึนเมา ส่วนวัตถุอื่นซึ่งจะให้โทษเสมอกัน ก็ควรที่จะละเว้น

    ที่จะให้เป็นผู้ที่ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม และเป็นผู้ที่รักษาศีล ถ้าผู้ใดเว้นสิ่งที่ทรงบัญญัติให้เว้น แต่ยังกินหมาก สูบบุหรี่อยู่ ก็คงจะไม่ใช่ศีลขาดแน่ เพราะฉะนั้น เพื่อที่ท่านจะได้ทราบความละเอียด ขอให้พิจารณาถึงเหตุที่ได้ทรงบัญญัติ และจุดประสงค์ของการที่ทรงบัญญัติด้วย เพื่อที่จะได้วินิจฉัยในเรื่องของศีลให้ถูกต้อง

    สำหรับท่านที่ข้องใจความหมายของคำว่ามัชชะ ตามที่ปรากฏในอรรถกถา ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า

    ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา นี้ ดังต่อไปนี้

    สุรา ๕ ชนิด คือ สุราที่ทำด้วยแป้ง ๑ สุราที่ทำด้วยขนม ๑ สุราที่ทำด้วยข้าวสุก ๑ สุราที่ทำด้วยแป้งเหล้า ๑ สุราที่ทำด้วยเครื่องปรุง ๑ ชื่อว่าสุรา

    ของหมักดอง ๕ ชนิด คือ น้ำดองดอกไม้ ๑ น้ำดองผลไม้ ๑ น้ำดองที่ทำด้วยอ้อย ๑ น้ำดองที่ทำจากน้ำผึ้ง ๑ น้ำดองที่ผสมด้วยเครื่องปรุง ๑ ชื่อว่าเมรัย

    สุราและเมรัย แม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่ามัชชะ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมึนเมา

    จากพยัญชนะนี้ ก็จะเข้าใจความหมายว่า ชื่อว่ามัชชะ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมึนเมา

    ชนทั้งหลายย่อมดื่มสุราและเมรัยนั้นด้วยเจตนาใด เจตนานั้น ชื่อว่า ปมาทัฏฐาน เพราะเป็นเหตุแห่งความประมาท

    เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท ปมาทัฏฐานา ในเพราะการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย สุราเมรยมชฺชมฺหิ

    อรรถกถา ปรมัตถโชติกา มีข้อความว่า

    ก็ในข้อว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานานี้ ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    ที่ชื่อว่าสุรา ได้แก่ สุรา ๕ ชนิด คือ สุราทำด้วยแป้ง ๑ สุราทำด้วยขนม ๑ สุราทำด้วยข้าวสุก ๑ สุราทำด้วยของที่เจือกัน ๑ สุราทำด้วยเครื่องปรุง ๑

    ที่ชื่อว่าเมรัย ได้แก่ เมรัย ๕ ชนิด คือ น้ำดองดอกไม้ ๑ น้ำดองผลไม้ ๑ น้ำดองที่ทำด้วยอ้อย ๑ น้ำดองที่ทำด้วยน้ำผึ้ง ๑ น้ำดองที่ทำด้วยเครื่องปรุง ๑

    คำว่า มัชชะ อธิบายว่า สุราและเมรัยทั้ง ๒ ชนิดนั้นแล ชื่อว่ามัชชะ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเมา

    ก็หรือว่า วัตถุแม้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเมามีอยู่ บุคคลเป็นผู้เมาแล้ว เป็นผู้ประมาทแล้ว ด้วยวัตถุใดที่ตนดื่มแล้ว วัตถุนี้ ท่านเรียกว่ามัชชะ

    อรรถของมัชชะ คือ เป็นที่ตั้งแห่งความเมา

    บทว่า ปมาทฏฺฐานํ วิเคราะห์ว่า บุคคลย่อมดื่ม คือว่า ย่อมกลืนกินซึ่งน้ำที่ทำผู้ดื่มกินแล้วให้มึนเมานั้นด้วยเจตนาใด เจตนานั้น ท่านเรียกว่า ปมาทฏฺฐาน เพราะเป็นเหตุแห่งความเมา

    เจตนาที่เป็นเครื่องกลืนกินน้ำเมา คือ สุราและเมรัย ที่เป็นไปทางกายทวาร ด้วยประสงค์ที่จะกลืนกินเข้าไป บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ การดื่มน้ำเมา กล่าวคือ สุราและเมรัย

    และเท่าที่ปรากฏในส่วนอื่นๆ ของอรรถกถา ก็โดยนัยเดียวกัน ที่ชื่อว่ามัชชะ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความมึนเมา

    เพราะฉะนั้น ความหมายของมัชชะก็ควรจะกว้าง ที่ว่า วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความมึนเมา ดังนั้น สุราเมรัยชื่อว่ามัชชะ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความมึนเมา โดยอรรถของคำว่ามัชชะ

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ลงชื่อจริง ใช้นามว่าผู้ไม่ประสงค์ออกนาม และไม่มีตำบลที่อยู่ด้วย ท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ มีข้อความว่า

    กราบเรียนอาจารย์สุจินต์ที่นับถือ

    ตามที่อาจารย์ได้บรรยายธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องในการพิจารณาในขั้นหนึ่ง แต่ถ้าพูดในขั้นของปุถุชนที่ยังไม่เบื่อในชีวิต ยังข้องอยู่ ยังไม่เห็นทุกข์ของวัฏฏสังสาร ยังเห็นว่าชีวิตยังมีความสุขอยู่ ยังไม่กำหนดรู้เรื่องความทุกข์ของชีวิตและเรื่องทุกข์ของวัฏฏะแล้ว จะปฏิบัติวิปัสสนาที่แท้จริงไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนถึงการดับทุกข์เป็นขั้นๆ ขั้นของปุถุชนที่ยังข้องอยู่ใน โลกียวิสัย ก็ควรให้รู้เรื่องการดับทุกข์ในขั้นโลกียะก่อน เมื่อดับทุกข์ขั้นโลกียะได้แล้ว คือ พ้นทุกข์ด้านโลกียะ หรือพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในขั้นโลกียะแล้ว จึงจะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูก จะเป็นภัยแก่ผู้ปฏิบัติ จะต้องหลงอยู่ในนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วไปยึดถือว่า สิ่งนั้นเป็นความจริง

    ที่กระผมเขียนมานี้ เป็นข้อคิดอันหนึ่ง ขอแสดงความนับถือ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

    สุ. ไม่ทราบว่า ท่านผู้เขียนจดหมายนี้ ท่านมีความประสงค์อะไร อย่างในจดหมายฉบับนี้ ท่านก็บอกว่า นี่เป็นข้อคิดอันหนึ่ง

    สำหรับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อให้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าสอนให้หลงอยู่ในนิมิต ก็ไม่ทราบแน่ว่า ท่านเจ้าของจดหมายมีความมุ่งหมายอย่างไร

    และที่ท่านบอกว่า ตามที่อาจารย์ได้บรรยายธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง ในการพิจารณาในขั้นหนึ่ง แต่ถ้าพูดในขั้นของปุถุชนที่ยังไม่เบื่อชีวิต ยังข้องอยู่ ยังไม่เห็นทุกข์ของวัฏฏสังสาร ยังเห็นว่าชีวิตยังมีความสุขอยู่ ยังไม่กำหนดรู้เรื่องความทุกข์ของชีวิต และเรื่องทุกข์ของวัฏฏะแล้ว จะปฏิบัติวิปัสสนาที่แท้จริงไม่ได้

    ซึ่งความจริงแล้ว ทุกท่านที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังเป็นผู้ที่มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ และยังเป็นผู้ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังยินดีอยู่ แต่กระนั้น ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อจะละการติด การยึดถือ การเห็นผิด เห็นว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งถ้าโลภะเกิดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สติก็ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา นี่เป็นสิ่งที่ต้องอบรมเจริญเพื่อรู้ตามความเป็นจริง

    และที่ในจดหมายกล่าวว่า ถ้าปฏิบัติไม่ถูกจะเป็นภัยต่อผู้ปฏิบัติ จะต้องหลงอยู่ในนิมิตที่เกิดขึ้น และไปยึดถือว่า สิ่งนั้นเป็นความจริง

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นการให้หลงติดในนิมิต แต่เป็นการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นผู้ที่มีเจตนาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่กิเลสก็ดับยากเสียเหลือเกิน ไม่ใช่ว่าจะดับหมดสิ้นได้ง่ายๆ เลย ที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ นั้น ต้องด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระโสดาบันบุคคล จึงจะเป็นผู้ที่ดับทุจริตกรรม เป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ ด้วยการที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ควรดับ เมื่อได้อบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัดในสภาพธรรมและเห็นความจริงของสภาพธรรมแล้ว ก็สามารถที่จะดับเจตนาที่เป็นไปในการที่จะประพฤติอกุศลกรรมบถที่เป็นทุจริตกรรมได้

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อการขัดเกลาและการดับกิเลสนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะรักษาศีล ๕ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย แต่ต้องเป็นผู้ที่ขัดเกลา โดยการละเว้นอกุศลกรรมยิ่งกว่านั้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น จะละเว้นแม้การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งการขัดเกลาอกุศลนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้ากิเลสมีกำลังแรงกล้าแล้ว จะทำให้เป็นทุจริตกรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ได้

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อบรมขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นผู้ที่รักษาศีล ๘ อันมีสัมมาอาชีวะเป็นที่ ๘ ศีลนี้ชื่อว่าอาชีวัฏฐมกศีล สำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ก็จะต้องเป็นผู้ที่ควรดำเนินชีวิตไปด้วยความบริสุทธิ์ในความเป็นอยู่ ในอาชีวะ คือ ในอาชีพ ด้วยเหตุนี้ อาชีวัฏฐมกศีลจึงเป็นศีล ๘ สำหรับฆราวาส สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสที่จะอบรมเจริญศีลอุโบสถ แต่ว่าเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เว้นกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ไม่ใช่เว้นเฉพาะมุสาวาท

    ศีล ๘ โดยนัยของอุโบสถก็ประการหนึ่ง ถ้าท่านศึกษาเรื่องของศีลอุโบสถต่อไปจะทราบว่า สำหรับผู้ที่อบรมขัดเกลากิเลสเพื่อจะได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ท่านมุ่งหวังที่จะดับกิเลสหมด จนถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงได้รักษาศีลอุโบสถ เพื่อประพฤติเช่นพระอรหันต์ในวันอุโบสถ

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า

    คำว่า กายิกวาจสิโก ได้แก่ กายสุจริต ๓ และวจีสุจริต ๔

    ทั้ง ๒ นั้น พระผู้มีพระภาคถือเอาแล้วซึ่งศีล มีอาชีวะเป็นที่ ๘ อาชีวัฏฐมกศีล ย่อมทรงแสดงด้วยคำว่า กายิกวาจสิโก นี้

    ปรมัตถมัญชุสา ฎีกาวิสุทธิมรรค มีข้อความว่า

    อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ นั้น เป็นการงดเว้นจากทุจริต ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ซึ่งมีอาชีวะเป็นเหตุ จัดเป็นสัมมาอาชีวะ

    ถ้ากล่าวโดยลำดับแห่งเทศนา สัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น ถ้ากล่าวโดยปฏิบัติ อาชีวัฏฐมกศีลเป็นเบื้องต้น คือ มีกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะบริสุทธิ์ในเบื้องต้น

    ที่กล่าวว่า ถ้ากล่าวโดยปฏิบัติ อาชีวัฏฐมกศีลเป็นเบื้องต้น ไม่ได้หมายความว่า จะแยกการปฏิบัติออกจากชีวิตประจำวัน เพราะว่าชีวิตประจำวันของทุกท่านก็มีอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่จะต้องดำเนินไปตามอาชีพที่สุจริตพร้อมกับการเว้นกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ด้วย

    ขึ้นชื่อว่าวจีทุจริตแล้ว ควรเว้นทั้งนั้น ถ้าสามารถจะเว้นได้ ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้น และเว้นในขณะนั้น ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่มุ่งจะเว้นเฉพาะมุสาวาท และรักษาแต่เฉพาะศีล ๕ เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกายทุจริต ๓ หรือวจีทุจริต ๔ ก็ควรที่จะละเว้น ขัดเกลาให้เบาบางเท่าที่สามารถจะทำได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564