แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412


    ครั้งที่ ๔๑๒


    สำหรับข้อความในพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นปฐมเหตุที่ให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับพระภิกษุที่จะงดเว้นการดื่มสุรา ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปาจิตติย์ วรรคที่ ๖ สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑ เรื่องพระสาคตะ มีข้อความว่า

    ข้อ ๕๗๕

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกในเจติยชนบท ได้ทรงพระดำเนินไปทางตำบลบ้านรั้วงาม คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนชาวนา คนเดินทาง ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังทรงพระดำเนินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ขอพระองค์อย่าได้เสด็จไปยังท่ามะม่วงเลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะที่ท่ามะม่วงมีนาคอาศัยอยู่ในอาศรมชฎิล เป็นสัตว์มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษมีพิษร้าย มันจะได้ไม่ทำร้ายพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า

    เมื่อเขากราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระองค์ได้ทรงดุษณี

    แม้ครั้งที่สองแล ... แม้ครั้งที่สามแล ...

    ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงตำบลบ้านรั้วงามแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ตำบลบ้านรั้วงามนั้น

    ครั้งนั้นแล ท่านพระสาคตะเดินผ่านไปทางท่ามะม่วง อาศรมชฎิล ครั้นถึงแล้วได้เข้าไปยังโรงบูชาไฟ ปูหญ้าเครื่องลาด นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า นาคนั้นพอแลเห็นท่านพระสาคตะเดินผ่านเข้ามา ได้เป็นสัตว์ดุร้ายขุ่นเคือง จึงบังหวนควันขึ้นในทันใด แม้ท่านพระสาคตะก็บังหวนควันขึ้น มันทนความลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟสู้ในทันที แม้ท่านพระสาคตะก็เข้าเตโชธาตุกสิณสมาบัติ บันดาลไฟต้านทานไว้ ครั้นท่านครอบงำไฟของนาคนั้นด้วยเตโชกสิณแล้ว เดินผ่านไปทางตำบลบ้านรั้วงาม

    ท่านพระสาคตะ ท่านเป็นพระภิกษุผู้เป็นเอตทัคคะในการเข้าฌานสมาบัติ เตโชธาตุ

    ส่วนพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลบ้านรั้วงาม ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จหลีกไปสู่จาริกทางพระนครโกสัมพี พวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพีได้ทราบข่าวว่า พระคุณเจ้าสาคตะได้ต่อสู้กับนาคผู้อยู่ ณ ตำบลท่ามะม่วง พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครโกสัมพี จึงพวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพีพากันรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระสาคตะ กราบไหว้ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วถามท่านว่า ท่านขอรับอะไรเป็นของหายาก และอะไรเป็นของชอบของพระคุณเจ้า พวกกระผมจะจัดของอะไรถวายดี

    เมื่อเขาถามอย่างนั้นแล้ว พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวตอบคำนี้กะพวกอุบาสกว่า มี ท่านทั้งหลาย สุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบเป็นของหายาก ทั้งเป็นของชอบของพวกพระ ท่านทั้งหลายจงแต่งสุรานั้นถวายเถิด

    ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพีได้จัดเตรียมสุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบไว้ทุกๆ ครัวเรือน พอเห็นท่านพระสาคตะเดินมาบิณฑบาต จึงต่างพากันกล่าวเชื้อเชิญว่า นิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มสุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบเจ้าข้า นิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มสุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบเจ้าข้า

    ครั้งนั้น ท่านพระสาคตะได้ดื่มสุราใสสีแดงดังเท้าดังนกพิราบทุกๆ ครัวเรือนแล้ว เมื่อจะเดินออกจากเมือง ได้ล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง

    พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากเมืองพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสาคตะล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงช่วยกันหามสาคตะไป

    ภิกษุเหล่านั้น รับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว หามท่านพระสาคตะไปสู่อาราม ให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาค แต่ท่านพระสาคตะได้พลิกกลับ นอนผันแปรเท้าทั้งสองไปทางพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตมิใช่หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เออก็บัดนี้ สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตอยู่หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    ข้อนั้นไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาคตะได้ต่อสู้กับนาคอยู่ที่ตำบลท่ามะม่วงมิใช่หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    ใช่ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เดี๋ยวนี้สาคตะสามารถจะต่อสู้แม้กับงูน้ำได้หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วถึงวิสัญญีภาพนั้น ควรดื่มหรือไม่

    ภิกษุกราบทูลว่า

    ไม่ควรดื่ม พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาครับสั่งต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของสาคตะไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนสาคตะจึงได้ดื่มน้ำที่ทำผู้ดื่มให้เมาเล่า การกระทำของสาคตะนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

    พระบัญญัติ

    ๑๐๐.๑ เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย

    จบเรื่องพระสาคตะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์

    ข้อ ๕๗๖

    ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำด้วยแป้ง สุราที่ทำด้วยขนม สุราที่ทำด้วยข้าวสุก สุราที่หมักส่าเหล้า สุราที่ผสมด้วยเครื่องปรุง

    ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำดองดอกไม้ น้ำดองผลไม้ น้ำดองน้ำผึ้ง น้ำดองน้ำอ้อยงบ น้ำดองที่ผสมด้วยเครื่องปรุง

    คำว่า ดื่ม คือ ดื่ม โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    บทภาชนีย์

    ติกปาจิตตีย์

    ข้อ ๕๗๗

    น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่า มิใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

    ทุกทุกกฏ

    ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ

    ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ

    ไม่ต้องอาบัติ

    ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ไม่ต้องอาบัติ

    อนาปัตติวาร

    ข้อ ๕๗๘

    ภิกษุดื่มน้ำที่มีกลิ่น รส เหมือนน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา ๑ ภิกษุดื่มน้ำเมาที่เจือลงในแกง ๑ ... ที่เจือลงในเนื้อ ๑ ... ที่เจือลงในน้ำมัน ๑ ... น้ำเมาในน้ำอ้อยที่ดองมะขามป้อม ๑ ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะซึ่งไม่ใช่ของเมา ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล

    จบ สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑

    ข้อความใน ทุติยสมันตปาสาธิกา ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สุราปานสิกขาบทที่ ๑ ซึ่งเป็นข้อความที่อธิบายอาบัติปาจิตตีย์ในเรื่องของการดื่มสุรา มีว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๑ แห่งสุราปานวรรค ดังต่อไปนี้

    สามบทว่า อนนุจฺฉวิกํ ภิกฺขเว สาคตสฺส มีรูปความที่ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่า การดื่มน้ำเมา เป็นการไม่สมควรแก่สาคตะผู้สำเร็จอภิญญา ๕

    เมรัยที่เขาทำด้วยรสแห่งดอกมะซางเป็นต้น ชื่อว่า ปุปผาสวะ เมรัยที่เขาคั้นผลลูกจันทน์เป็นต้นแล้ว ทำด้วยรสแห่งผลลูกจันทน์เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ผลาสวะ เมรัยที่เขาทำด้วยรสชาติแห่งผลลูกจันทน์ (หรือองุ่น) เป็นต้น ชื่อว่า มัธวาสวะ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขาทำด้วยน้ำผึ้งก็มี เมรัยที่ชื่อว่า คุฬาสวะ เขาทำด้วยน้ำอ้อยสด เป็นต้น.

    ธรรมดาสุราที่เขาใส่เชื้อแป้ง กระทำด้วยรสแม้แห่งจั่นมะพร้าวเป็นต้น ย่อมถึงการนับว่า สุราทั้งนั้น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตักเอาน้ำใสแห่งสุราใส่เชื้อแล้วนั่นแล (ที่เหลือ) ย่อมถึงการนับว่าเมรัยทั้งนั้น

    ที่ท่านอรรถกถาจารย์อธิบายความหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ในพระบาลีนี้ เพื่อให้เข้าใจชัดถึงความละเอียดของธรรม เพื่อการประพฤติปฏิบัติตามอย่างถูกต้องของบุคคลที่ปฏิบัติธรรม แม้แต่เรื่องของสุราและเมรัย ซึ่งท่านก็จะได้ศึกษาให้เข้าใจแน่ชัดว่า ถ้าดื่มแล้วต้องอาบัติแน่ ถ้าเป็นน้ำเมา

    เพราะฉะนั้น ด้วยประการต่างๆ ที่มีผู้สงสัยหรือเคลือบแคลง ท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านก็ได้อธิบายไว้โดยละเอียด

    สามบทว่า อนฺตมโส กุสคฺเคนาปิ ปิวติ มีความว่า ภิกษุดื่มสุราหรือเมรัยนั่นตั้งแต่เชื้อ แม้ด้วยปลายหญ้าคา เป็นปาจิตตีย์ แต่เมื่อดื่มแม้มากด้วยประโยคเดียว เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว เมื่อดื่มขาดเป็นระยะๆ เป็นอาบัติมากตัวโดยนับประโยค

    บทว่า สูปสํปาเก มีความว่า ชนทั้งหลายใส่น้ำเมาลงนิดหน่อยเพื่ออบกลิ่น แล้วต้มแกง เป็นอนาบัติ ในเพราะแกงใส่น้ำเมาเล็กน้อยนั้น แม้ในต้มเนื้อก็นัยนี้เหมือนกัน ก็ชนทั้งหลายย่อมเจียวน้ำมันกับน้ำเมา แม้เพื่อเป็นยาระงับลม ไม่เป็นอาบัติ ในน้ำมันแม้นั้นที่ไม่ได้เจือน้ำเมาจนเกินไปเท่านั้น ในน้ำมันที่เจือน้ำเมาจัดไป จนมีสี กลิ่น และรสแห่งน้ำเมาปรากฏ เป็นอาบัติแท้

    สองบทว่า อมชฺชํ อริฏฺฐํ มีความว่า ในยาดองชื่ออริฏฐะซึ่งไม่ใช่น้ำเมา ไม่เป็นอาบัติ ได้ยินว่า ชนทั้งหลายทำยาดองชื่ออริฏฐะ ด้วยรสแห่งมะขามป้อมเป็นต้น นั่นแหละ ยาดองนั้นมีสี กลิ่น และรสคล้ายน้ำเมา แต่ไม่เมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอายาดองชื่ออริฏฐะนั้น จึงตรัสคำนี้ แต่ยาดองอริฏฐะที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุงจัดเป็นน้ำเมา ไม่ควรตั้งแต่เชื้อ

    บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น

    ในพระวินัยปิฎก แม้ใน สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๑ เรื่องท่านพระสาคตะ ชี้ให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสตินี่เอง พระภิกษุทั้งหลายในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้อุปสมบท ยังไม่มีสิกขาบทบัญญัติข้อหนึ่งข้อใดเลย จนกว่าการกระทำที่เป็นปกติในชีวิตของภิกษุนั้นปรากฏว่า เป็นโทษ ไม่ควรแก่สมณเพศ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท แม้แต่ในเรื่องของอาหาร ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทรมานตัว หรือคิดว่า ไม่ควรที่จะบริโภคอาหารที่มีรสอร่อยจึงจะเป็นการเจริญวิปัสสนา แม้จะเป็นบรรพชิต เป็นภิกษุแล้ว ท่านก็ฉันภัตตาหารที่ประณีตได้ แต่ว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย

    บางท่านก็อาจจะมีอาหารที่เป็นสัปปายะ และเมื่ออุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธารู้ว่า อาหารใดเป็นสัปปายะ ก็ใคร่ที่จะถวายอาหารที่เป็นสัปปายะแก่พระภิกษุ แต่แม้กระนั้น ก็มีพระภิกษุที่ท่านยังไม่เห็นโทษของการดื่มสุรา เมื่อท่านเป็นภิกษุ ท่านก็ยังติดในรสของสุรา ท่านจึงเห็นว่า รสสุรานั้นควรที่จะได้ถวายแก่ท่านพระสาคตะ เพราะเหตุว่าเป็นรสที่อร่อย หรือท่านเห็นว่าเป็นรสที่เหมาะที่ควร เมื่อท่านพระสาคตะได้บริโภคสุราทุกครัวเรือน ผลก็คือว่า เป็นผู้ที่หมดสติ

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า สุรามีโทษหรือไม่มีโทษ มีโทษมากหรือมีโทษน้อย ควรงดเว้น หรือควรที่จะบรรเทา พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติ จนกระทั่งปัญญาคมกล้า สามารถจะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมของพระอริยเจ้า แต่บังคับคนอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย

    ถ้าเป็นพระภิกษุ สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ เป็นสิ่งซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

    ท่านผู้ฟังจะศึกษาข้อความโดยละเอียดได้ใน มังคลัตถทีปนีแปล (เล่ม ๓) กถาว่าด้วยการเว้นจากบาป และความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ซึ่งเป็นมงคลกถาที่ ๖

    สำหรับศีลข้อที่ ๕ คือ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี มีองค์ ๔ ซึ่งข้อความใน มังคลัตถทีปนีแปล (เล่ม ๓) มีข้อความว่า

    ข้อ ๑๗๔

    ส่วนการดื่มน้ำเมา ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถา ขุททกปาฐะว่า เจตนาเป็นเหตุกลืนกินน้ำเมา คือ สุราและเมรัย เป็นไปทางกายทวารด้วยประสงค์ในอันดื่ม พึงทราบว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน ก็สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐาน มีองค์ ๔ เหล่านี้ คือ

    บรรดาสุรา เป็นต้น น้ำดื่มอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเมา ๑

    จิตมีความเป็นผู้ใคร่จะดื่มปรากฏ ๑

    ผู้ดื่มถึงความพยายามอันเกิดแต่จิตนั้น ๑

    น้ำเมาที่ดื่มแล้ว ไหลเข้าไป ๑

    ส่วนใน ฎีกา สุราปานสิกขาบท กล่าวไว้ด้วยสามารถการดื่มสุราของภิกษุว่า ก็ในสุราปานสิกขาบทนี้มีองค์ ๒ เหล่านี้ คือ ความเป็นน้ำเมา ๑ การดื่มน้ำเมานั้น ๑

    ซึ่งท่านจะพิจารณาได้ถึงจิตใจของท่านว่า มีองค์หนึ่งองค์ใดในสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานนี้บ้างไหม เช่น น้ำดื่มอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเมา นี่ก็เป็นที่ทราบ เป็นที่รู้ใช่ไหมว่า น้ำอะไรเป็นสุรา เป็นเมรัย

    จิตมีความเป็นผู้ใคร่จะดื่มปรากฏ

    เมื่อทราบว่าเป็นสุราเมรัยแล้ว มีจิตใคร่จะดื่มหรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งท่านก็จะทราบดีว่า สำหรับตัวท่านนั้นมีความใคร่ที่จะดื่มสุราไหม

    ผู้ดื่มถึงความพยายามอันเกิดแต่จิตนั้น

    บางครั้งทราบว่า เป็นสุรา และก็อาจจะมีความคิดใคร่ที่จะดื่ม แต่อาจจะไม่ดื่มก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ต้องการในรสสุรานั้น ผู้ดื่มถึงความพยายามอันเกิดแต่จิตนั้น นอกจากใคร่ที่จะดื่มแล้ว ก็ยังขวนขวายพยายามที่จะดื่มด้วย

    และองค์ที่ ๔

    น้ำเมาที่ดื่มแล้ว ไหลเข้าไป ๑

    คือ สำเร็จในการดื่มสุรา

    สำหรับการดื่มน้ำเมา ก็ทราบได้ว่า บุคคลพึงดื่มด้วยจิตเป็นอกุศลแท้ จะปฏิเสธว่าไม่ใช่อกุศลจิตได้ไหมในขณะที่ดื่มสุรา

    ธรรมดารสสุรานี้ เมื่อเริ่มดื่มใหม่ๆ เป็นครั้งแรก ยากใช่ไหมที่จะชอบ รู้สึกว่าคงจะมีรสที่ไม่เป็นธรรมดา แต่แม้กระนั้นก็ตาม ภายหลังที่ได้ดื่มเป็นนิสัยแล้ว ย่อมมีความยินดี มีความต้องการในรสนั้น ด้วยเหตุนั้น บุคคลพึงดื่มด้วยจิตเป็นอกุศลแท้

    ขอกล่าวถึงโทษของการดื่มสุรา ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการดื่มสุราแก่สิงคาลกคหบดีบุตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๑๗๙

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการนี้ คือ ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑ มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑

    ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ

    ท่านผู้ฟังก็จะเห็นโทษของการดื่มสุราเมรัยทั้ง ๖ ประการได้ เช่น ประการที่ ๑ ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง เพราะเหตุว่าผู้ที่ติดในรสสุรา ก็จะดื่มมากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอาจจะหมดสิ้นทรัพย์สมบัติก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564