แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371


    ครั้งที่ ๓๗๑


    ขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทแก่ภิกษุ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทภิกษุทั้งหมดนั้น ไม่พ้นจากการเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถา มหาสุญญตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่ทรงพร่ำสอนภิกษุ โดยตรัสอุปมาพระองค์ว่า

    นายช่างที่ทำภาชนะดิน ใช้มือทั้งสองข้างค่อยๆ จับดินที่ยังสดอยู่ ไม่แห้งเกินไป และยังไม่สุก ด้วยความรู้สึกว่าอย่าได้แตก นายช่างได้ปฏิบัติในภาชนะดินนั้น ฉันใด พระผู้มีพระภาคจักปฏิบัติในพวกภิกษุ ฉันนั้น หามิได้

    ไม่ได้ถนอมเหมือนอย่างกับนายช่างหม้อที่ค่อยๆ ปั้นหม้อให้เป็นรูปร่าง อย่าให้แตก แต่ว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงปฏิบัติในพวกภิกษุอย่างนั้นเลย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ข้อว่า ข่มขี่แล้ว ข่มขี่อีก ตำหนิแล้ว ตำหนิอีก ความว่า

    เรา คือ พระผู้มีพระภาค กล่าวสอนครั้งเดียวแล้วจะนิ่งเสีย หามิได้ เราตำหนิโทษแล้ว จักพร่ำสอนอีก แล้วๆ เล่าๆ นายช่างนั้นเอาภาชนะที่แตกรวบรวมเข้าด้วยกัน ทุบแล้ว ทุบอีก แล้วจึงถือเอาฉันใด เราก็จักโอวาทพร่ำสอน แล้วๆ เล่าๆ ฉันนั้น

    บางท่านอาจจะคิดว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระไตรปิฎกนั้น ซ้ำเหลือเกิน พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้น จะไม่พ้นจากเรื่องของการรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เพราะเหตุว่าท่านยังไม่รู้ชัดจริงๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงซ้ำแล้วซ้ำอีก ทรงโอวาทพร่ำสอน แล้วๆ เล่าๆ ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    ข้อว่า โย สาโร โส ฐสฺสติ ความว่า

    บรรดาเธอทั้งหลายที่เราโอวาทแล้วอย่างนี้ ผู้ใดมีมรรคผลเป็นสาระ ผู้นั้นจักดำรงอยู่ แม้โลกียคุณ ก็เรียกว่าสาระได้ในที่นี้

    จะเห็นได้ว่า ภิกษุไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ ถ้าไม่มีธรรมที่เป็นสาระ คือ มรรคผล หรือแม้โลกียคุณ คือ ปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่ก็ได้รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นจริงๆ จึงจะสามารถดำรงอยู่ได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม แต่ว่ากิเลสที่สะสมมามาก ก็มีปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นประจำวันด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานบ้างแล้ว กิเลสจะไม่ปรากฏเลย จะไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นเลย แต่ว่าสภาพตามความเป็นจริงนั้น คือ สติก็อบรมเจริญไป และปัจจัยที่มีที่จะให้กิเลสเกิดขึ้น กิเลสก็เกิดขึ้นเป็นปกติ จนกว่าสตินั้นจะอบรมเจริญมีกำลังที่ปัญญาได้รู้ชัดในสภาพธรรมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว จึงจะเป็นผู้ที่ดำรงอยู่ไม่หวั่นไหวได้ นั่นสำหรับบรรพชิต

    ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๓ โกสลสูตรที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้เห็นชัดว่า จะต้องละฉันทราคะ

    ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาสีและโกศลชนบทมีประมาณเท่าใด แว่นแคว้นของ พระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด พระเจ้าประเสนทิโกศล ประชาชนกล่าวว่า เป็นผู้เลิศในกาสีและโกศลชนบท และแว่นแคว้นประมาณนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่โดยแท้ ความแปรปรวนมีอยู่ แม้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น เมื่อหน่ายในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเลิศแห่งสมบัติ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งเลวเล่า

    ท่านผู้ฟังลองนึกเปรียบเทียบถึงชีวิตของท่านตามปกติ ตามความเป็นจริงเพื่อที่จะได้พิจารณาถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนพระภิกษุ โดยทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า สภาพธรรม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่แต่ละบุคคลได้นั้น เป็นสิ่งที่เล็กน้อยหรือเลว เมื่อเปรียบเทียบกับสมบัติของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่แม้กระนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังหน่ายในการดำรงอยู่ แม้ในสมบัติที่ประณีต ที่น่าพอใจ ที่เป็นเลิศ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้สมบัติที่เป็นเลิศ ก็ไม่ควรที่จะติดข้องอยู่ในสมบัตินั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนส่องทิศให้ไพโรจน์อยู่ในที่มีประมาณเท่าใด โลกธาตุพันหนึ่งมีอยู่ในที่มีประมาณเท่านั้น ในโลกธาตุพันหนึ่งนั้น มีดวงจันทร์พันดวง ดวงอาทิตย์พันดวง ขุนเขาสิเนรุหนึ่งพัน ชมพูทวีปพันทวีป อมรโคยานพันทวีป อุตตรกุรุพันทวีป ปุพพวิเทหะพันทวีป มหาสมุทรสี่พัน เทวโลกชั้นมหาราชสี่พัน ชั้นจาตุมหาราชิกาหนึ่งพัน ชั้นดาวดึงส์หนึ่งพัน ชั้นยามาหนึ่งพัน ชั้นดุสิตหนึ่งพัน ชั้นนิมมานรดีหนึ่งพัน ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีหนึ่งพัน ชั้นพรหมโลกหนึ่งพัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พันโลกธาตุมีประมาณเท่าใด ท้าวมหาพรหม โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในพันโลกธาตุนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ความแปรปรวนก็มีอยู่ แม้แก่ท้าวมหาพรหม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพันโลกธาตุนั้น เมื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า

    ใครคิดอยากจะเป็นพรหมบ้างไหม คงจะสบาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีอายุยืนยาวนานมากทีเดียว แต่แม้กระนั้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนทั้งหมดทีเดียว ไม่ควรที่จะติดข้อง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่โลกนี้พินาศมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในพรหมโลกชั้นอาภัสสรโดยมาก สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยใจ มีปีติเป็นภักษา มีแสงสว่างด้วยตัวเอง เที่ยวไปได้ในอากาศ มีปรกติดำรงอยู่ได้ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ตลอดกาล ยืนยาวนาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกพินาศอยู่ อาภัสสรเทพทั้งหลาย โลกกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มี แม้แก่อาภัสสรเทพทั้งหลาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น เมื่อหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า

    ถึงชั้นอาภัสสรพรหม ก็ควรที่จะหน่าย ไม่ใช่ควรที่จะติด ซึ่งบางท่านอาจจะบอกว่า ไกลนัก ไกลไป เพราะเหตุว่าท่านก็ยังติดอยู่ในโลกนี้ ยังไม่ได้ไกลไปถึงพรหมโลก แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทต่อไปอีก เพื่อที่จะให้ไม่ติดในอะไรเลยจริงๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้หนึ่ง ย่อมจำปฐวีกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณ …

    บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวาโยกสิณ … บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณ … บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณ … บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโลหิตกสิณ … บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณ ... บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณ … บุคคลผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาบ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ที่บุคคลผู้หนึ่งจำได้ เป็นยอด สัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลมีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย แม้มีสัญญาอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า

    ท่านผู้ฟังหลายท่านกล่าวว่าจิตไม่สงบ ไม่เป็นสมาธิ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติไม่ได้ ท่านคิดว่า จะต้องเจริญสมถภาวนาเสียก่อน แต่การเจริญสมถภาวนานั้น จะต้องอบรมด้วยปัญญาที่รู้วิธีว่า เจริญอย่างไรจิตจึงจะสงบระงับจากการรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มีปัจจัยให้จิตรู้

    อย่างเช่น หู โสตปสาทเป็นปัจจัยที่สามารถรับกระทบเสียง ซึ่งการที่จะให้เวลามีเสียงกระทบ และทั้งๆ ที่มีโสตปสาท แต่ไม่ให้จิตรับรู้เสียงนั้น ยากเหลือเกิน แต่ผู้ที่ต้องการสงบมาก จะต้องอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จิตไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจว่า จะต้องอบรมเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบเสียก่อนแล้วจึงจะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ท่านไม่รู้เลยว่า กว่าจิตของท่านจะสงบจริงๆ ที่เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้องนั้น ยากแค่ไหน

    แม้ในครั้งกระโน้น บรรดาพระภิกษุทั้งหลายที่อบรมเจริญสมถภาวนา มีสัญญาในปฐวี เตโช วาโย อาโปกสิณ เป็นต้น ก็มี แต่พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลให้ละการยึดถือสภาพธรรมแม้ในขณะที่จิตสงบ แม้ในสัญญานั้น ก็ให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ที่จะรู้ว่ากำลังเห็น ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพที่ได้ยิน ที่รู้เสียงในขณะนี้ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ สติก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะที่จิตสงบ แม้ในสัญญา คือ ความจำในลักษณะของเตโชกสิณ หรือปฐวีกสิณ หรือวาโยกสิณ หรือกสิณใดๆ ที่ทำให้จิตสงบในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น บางท่านเข้าใจว่า ถ้าท่านอบรมเจริญสมาธิเป็นสมถภาวนา เมื่อจิตสงบแล้ว วิปัสสนาก็เกิดขึ้นเอง แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนานั้น หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และที่รู้ก็เพราะสติเกิดขึ้น ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น เวลาที่จิตสงบเป็นสมาธิแล้ว สติจึงสามารถตามรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย

    แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ แม้ในขณะที่เป็นฌานจิต สติก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ฌานจิตนั้นก็ไม่เที่ยง ฌานจิตนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย แม้มีสัญญาอย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปใยในสิ่งที่เลวเล่า

    อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ หมายความว่า เป็นผู้ที่สดับเรื่องของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ เนืองๆ บ่อยๆ ด้วย จึงจะเป็นผู้ที่เห็นอยู่อย่างนี้ และก็เห็นความแปรปรวน จึงไม่ยึดถือสภาพของฌานจิตนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถึงเรื่องของอภิภายตนะ ซึ่งหมายความถึงขณะที่อกุศลธรรมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑ ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑ ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็วเป็นเลิศ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย แม้ปฏิบัติอย่างนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในปฏิปทานั้น เมื่อหน่ายในปฏิปทานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า

    นี่เป็นชีวิตปกติตามความเป็นจริงของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งมีปฏิปทา ๔ คือ บางท่านปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า เป็นต้น ท่านอยู่ในประเภทไหน

    แต่ไม่ว่าจะอยู่ในประเภทไหนก็ตาม ไม่ติด ไม่ยึดถือในความเป็นสัตว์ ในความเป็นบุคคล หรือแม้ความยินดีต้องการที่จะอยู่ในปฏิปทาประเภทใด เช่น บางท่านอาจจะพอใจ หรือใคร่ที่จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว แต่แม้กระนั้น ลักษณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะติด ไม่ควรที่จะกังวล ไม่ควรที่จะปรารถนา แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ซึ่งการที่จะละความปรารถนาในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นั้น ก็เพราะสติเกิดขึ้นทันที รู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น และเพราะว่าสภาพธรรมนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ปัญญาต้องรู้อย่างนี้ด้วย แม้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิด

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสัญญา ๔ ประการ ได้แก่ กามาวจรสัญญา รูปาวจรสัญญา เป็นต้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๓๗๑ – ๓๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564