แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403


    ครั้งที่ ๔๐๓


    ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้จริง ต้องเห็นว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมเท่านั้น และก็ดับไป ต้องให้ถึงความเป็นอย่างนี้ คือ รู้จริงๆ ประจักษ์จริงๆ ในสภาพชีวิตตามปกติตามธรรมดา โดยเห็นว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้น จึงจะละคลาย และแทงตลอดได้

    วันหนึ่งๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไป เป็นอะไรบ้าง สารพัดอย่าง ไม่รู้ตัวเลย อยากจะริเริ่มอะไรอีกตั้งหลายอย่างก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยอำนาจความยึดถือในตัวตน ไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ลักษณะแม้ในขณะนั้น ก็เป็นเพียงนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมที่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารทั้งหมดนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย เพราะอาหารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมผู้ถึงเวท รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว กำหนดรู้อาหารทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาไม่อาศัยในอาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่งนิพพานอันไม่มีโรค พิจารณาแล้วเสพปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะทั้งหลายหมดสิ้นไป ฯ

    ความหมายของอาหารที่ทรงแสดงไว้ โดยปรมัตถธรรมมีทั้งนามอาหาร และรูปอาหาร ซึ่งยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาอีกมาก แต่ให้ทราบว่า นามธรรมใด รูปธรรมใด นำมาซึ่งผล เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น นามธรรมนั้น รูปธรรมนั้นเป็นอาหาร เช่น เจตนาซึ่งเป็นกรรม ก็เป็นมโนสัญเจตนาหาร เพราะถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็จริง แต่ก็เป็นอาหาร คือ นำมาซึ่งปฏิสนธิจิต และวิบากจิตในภายหลังได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหวทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย เพราะความหวั่นไหวดับไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหาแล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ถือมั่น แต่นั้นพึงเว้นรอบ ฯ

    ความหวั่นไหวนี่มีเป็นปกติ แต่รู้ไหมว่าเมื่อไร ก็เมื่อกิเลสเกิดขึ้น กระเพื่อมไปแล้ว หวั่นไหวไปแล้ว แล้วแต่ว่า จะเป็นไปด้วยกำลังของโลภะ หรือว่าด้วยกำลังของโทสะ ซึ่งรู้ได้จริงๆ เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เป็นผลของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จากการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ รู้ชัด ตรง ถูกต้องตามลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ลักษณะของความหวั่นไหวเพราะกิเลสต่างๆ ขณะนั้น ก็รู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    บางคนหวั่นไหวไปเสียตั้งมากมาย คนอื่นเห็น คนอื่นรู้ แต่คนที่หวั่นไหวไม่รู้เลยว่า กำลังของกิเลสพาให้หวั่นไหวไปถึงแค่นั้น และไม่ระลึกรู้ด้วยว่า หวั่นไหวไปแล้วทั้งทางกาย ทั้งทางวาจามากแค่ไหน แต่ว่าบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมภายในที่เกิดกับตน และภายนอกที่เกิดกับบุคคลอื่นด้วย เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้หลงลืมสติ จึงรู้ในลักษณะอาการที่ปรากฏของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้ว่า เป็นความหวั่นไหวถึงขั้นไหน

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน นี้เป็นข้อที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วนผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสาระอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า เป็นภัยใหญ่ในเพราะนิสัย คือ ตัณหา ทิฐิ และมานะทั้งหลายแล้ว เป็นผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ

    เคยเห็นมานะบ้างไหม มากหรือน้อย บางท่านมีมานะว่า ได้บรรลุในสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุ เห็นไหมว่า มานะนั้นมีหลายอย่าง ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยหลายทางด้วยกัน แม้ในธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ แต่เพราะเหตุว่ามีมานะจึงเกิดมานะว่า ได้บรรลุในธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพราะฉะนั้น การขัดเกลากิเลส จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมากมายสักเพียงไรกว่าที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท จริงๆ ซึ่งถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เยื่อใย ความยึดถือ ทั้งตัณหา ทิฐิ และมานะ ย่อมมีในนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดตามปกติได้ เพราะขณะนั้นสติไม่เกิด ไม่ละว่า ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ นี้เป็นข้อ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    สัตว์เหล่าใดผู้เข้าถึงรูปภพ และตั้งอยู่ในอรูปภพ สัตว์เหล่านั้น เมื่อยังไม่รู้ชัดซึ่งนิพพาน ก็ยังเป็นผู้จะต้องมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้ว (ไม่) ดำรงอยู่ด้วยดีในอรูปภพ ชนเหล่านั้นน้อมไปในนิพพานทีเดียว เป็นผู้ละมัจจุเสียได้ ฯ

    ตลอดทั่วไปหมด ไม่ว่าที่ไหน เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะละได้

    ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะเจริญกุศล เกิดในสวรรค์ หรือว่าอบรมเจริญสมถภาวนาเกิดเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรม มิฉะนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ต้องมาสู่ภพใหม่ เพราะว่ายังมีปัจจัยที่จะให้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องความเห็นผิดคลาดเคลื่อนของผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมมีความเห็นตรงกันข้ามกับผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นามรูปที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่า นามรูปนี้เป็นของจริง พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นามรูปนั่นเป็นของเท็จ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่า นิพพานนี้เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริง นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ

    พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ท่านผู้มีความสำคัญในนามรูป อันเป็นของมิใช่ตนว่าเป็นตน จงดูโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้ยึดมั่นแล้วในนามรูป ซึ่งสำคัญนามรูปนี้ว่าเป็นของจริง ก็ชนทั้งหลายย่อมสำคัญ (นามรูป) ด้วยอาการใดๆ นามรูปนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการที่เขาสำคัญนั้นๆ นามรูปของผู้นั้นแล เป็นของเท็จ เพราะนามรูปมีความสาบสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความไม่สาบสูญไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแล เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ของจริง ฯ

    ท่านผู้ฟังพิสูจน์ได้ใช่ไหมว่า สำหรับท่านในขณะนี้ นามรูปเป็นของจริง หรือว่าเป็นของเท็จ ถ้านามรูปเป็นของจริง นิพพานเป็นของเท็จ ถ้านามรูปเป็นของเท็จ นิพพานเป็นของจริง

    ถ้าไม่ประจักษ์ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่แยกขาดออกจากกันจริงๆ แต่ละทวาร ก็ยังปรากฏเหมือนไม่ดับ ยังเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นโลก เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ

    เวลาที่เห็นสภาพธรรมซึ่งเป็นนามเป็นรูป แต่ปรากฏลักษณะของความเป็นตัวตน ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป และก็มีปัจจัยที่จะให้นามชนิดใด รูปชนิดใดเกิด ก็เป็นเฉพาะลักษณะของนามชนิดนั้น รูปชนิดนั้นจริงๆ

    ถ้าปรากฏว่า ยังสืบต่อติดกันแน่น เป็นโลก เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า แม้นามรูปมีลักษณะเกิดขึ้นปรากฏ แต่เป็นเท็จสำหรับผู้ที่เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นจริงตามลักษณะที่แท้จริงของนามรูปนั้นๆ ถ้าตราบใดที่ยังเห็นอย่างนี้อยู่ นิพพานก็เป็นของเท็จสำหรับบุคคลนั้น เพราะไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน

    แต่เมื่อไรนามรูปที่กำลังปรากฏ สลายจากการเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลที่เคยเห็นเป็นอย่างนั้น และประจักษ์ชัดในลักษณะของนามรูปว่า ที่เห็นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นไม่จริง ที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปที่สามารถจะปรากฏได้ทางตาเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ต่อเมื่อใดเห็นว่า นามรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยสภาพที่แท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อนั้นนิพพานก็จะเป็นของจริง

    เพราะฉะนั้น ความเห็นต้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ยังมีความเห็นผิดหลงเหลืออยู่มากมายสักเท่าไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เพียรที่จะระลึก เพื่อรู้ตามความเป็นจริงของนามนั้นๆ ของรูปนั้นๆ เพื่อที่จะได้เห็นว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นเท็จ และนิพพานก็จะเป็นของจริงสำหรับพระอริยเจ้าที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรมแล้ว

    แสดงให้เห็นว่า พระธรรมโดยละเอียดย่อมเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้น มนสิการให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่ได้ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดไว้ ให้รู้ในสภาพธรรมของนามรูปจริงๆ ไม่เหมือนกับที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งตราบใดที่ยังยึดถืออย่างนั้น ก็เป็นความเห็นผิด

    การมนสิการในลักษณะสภาพธรรม ต้องสะสมอบรมจนกว่าจะเป็นความรู้ชัดจริงๆ ความคิดนึก ความคาดคะเน ความคิดคำนึงมีกันได้ แต่ว่าความละเอียดที่จะพิจารณารู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องสะสมอบรมด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ

    ท่านผู้ฟังคงจะเคยได้ยินถ้อยคำ หรือแม้บทเพลงที่ว่า โลกมายา มีใครบ้างที่ไม่รู้ ไม่เคยได้ยินเลยว่า โลกนี้เป็นมายา พูดกันบ่อย บทเพลงหลายบทก็จะเป็นเรื่องความไม่เที่ยง ความแปรผัน ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ของโลก ของทะเล ของดินฟ้าอากาศต่างๆ ให้เห็นความเป็นมายา ความเปลี่ยนแปลง แต่แม้ว่าจะรู้บ้างถึงกับกล่าวถ้อยคำอย่างนี้ก็จริง แต่เพราะขาดการมนสิการในเหตุผล และการศึกษาในข้อปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะรู้บ้างอย่างนี้ ก็ทำให้เพิ่มกิเลส หรือสะสมความเห็นผิดต่อไปได้ โดยการกล่าวว่า เมื่อโลกไม่เที่ยงเป็นมายาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็อย่าไปเดือดร้อนเลย มาสนุกสนานรื่นเริงกันเถอะ

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีความรู้บ้างในเรื่องของความไม่เที่ยง ในความเป็น มายา ในความแปรปรวนของสภาพธรรม แต่ขึ้นอยู่กับการมนสิการโดยละเอียดของแต่ละคนว่า ประโยชน์จริงๆ ของการรู้อย่างนี้คืออะไร รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าไปกังวลเดือดร้อนเลย มาสนุกสนานกันเสียเถอะ นั่นก็ไม่ได้ประโยชน์จริงๆ จากความรู้อย่างนี้

    แต่ถ้ารู้อย่างนี้ และศึกษาให้เข้าใจว่า มีทางใดที่จะประจักษ์ชัดในสภาพที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งปรากฏเป็นมายา เป็นความเท็จ และเกิดปัญญาที่จะประพฤติปฏิบัติ จนสามารถที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรมนั้นได้ จะเป็นประโยชน์กว่าการที่จะรู้เพียงเล็กน้อย และไม่มนสิการให้ปัญญาเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่าพึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อิฏฐารมณ์ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่าเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั้นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบ เนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็น พระอนาคามี ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๔๐๑ – ๔๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564