แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411


    ครั้งที่ ๔๑๑


    เป็นไปได้ไหมเวลาผลเกิดขึ้นแล้ว ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผลทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ต้องมีเหตุจึงได้เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไปใน เจติยราชชาดก มีว่า

    ข้อ ๑๑๖๕

    พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นเสียอย่างอื่น ในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ฝนย่อมตกในเวลาไม่ใช่ฤดูกาล ย่อมไม่ตกตามฤดูกาล

    ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบ

    ข้อ ๑๑๖๖

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในทิศ พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระชิวหาของพระราชาพระองค์นั้น จะเป็นแฉกเหมือนลิ้นงู ฉะนั้น

    ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกลงไปอีก

    ข้อ ๑๑๖๗

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในทิศ พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระชิวหาของพระราชาพระองค์นั้น จะไม่มีเหมือนปลา ฉะนั้น

    ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งกว่านี้ไปอีก

    ข้อ ๑๑๖๘

    พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระราชาพระองค์นั้นจะมีแต่พระธิดาเท่านั้นมาเกิด หามีพระราชโอรสมาเกิดในราชสกุลไม่

    ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งไปกว่านี้อีก

    ข้อ ๑๑๖๙

    พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระราชาพระองค์นั้นจะไม่มีพระราชโอรส ถ้ามีก็พากันหลีกหนีไปยังทิศน้อยทิศใหญ่

    ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งกว่านั้นลงไปอีก

    ข้อ ๑๑๗๐

    พระเจ้าเจติยราชนั้น แต่ก่อนเคยเสด็จเที่ยวไปได้ในอากาศ ภายหลังถูกพระฤๅษีสาปแล้ว เสื่อมอำนาจ ถึงกำหนดเวลาของตนแล้ว ก็ถูกแผ่นดินสูบ

    เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญฉันทาคติ บุคคลไม่พึงเป็นผู้มีจิตถูกฉันทาคติ เป็นต้น ประทุษร้าย พึงกล่าวแต่คำสัจเท่านั้น

    จบเจติยราชชาดกที่ ๖

    ชาดกทั้งหลายเป็นเรื่องยาว และข้อความในพระไตรปิฎกก็เป็นข้อความเฉพาะที่เป็นภาษิตเท่านั้น ที่ว่า บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญฉันทาคติ บุคคลไม่พึงเป็นผู้มีจิตถูกฉันทาคติเป็นต้นประทุษร้าย พึงกล่าวแต่คำสัจเท่านั้น

    ในเรื่องของธรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าท่านจะมีความเห็น หรือมีการแนะนำบุคคลใด ก็ควรที่จะได้พิจารณาในเหตุในผลให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้เจริญในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลด้วย

    สำหรับโทษของมุสาวาท ถึงแม้ว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวว่า จะต้องถูกแผ่นดินสูบ หรือว่าจะได้รับโทษเช่นนั้นเช่นนี้บ้าง แต่ผู้ที่ตั้งใจจะกล่าวมุสาวาท จะด้วยฉันทาคติ หรือโทสาคติก็ตาม ในขณะนั้น ก็ยังคงกล่าวมุสาต่อไป โดยที่ไม่เห็นว่า เป็นโทษ เป็นภัย ซึ่งความจริงแล้ว อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมให้ผลตามควรแก่สภาพของอกุศลธรรมนั้นๆ

    ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหมด และเห็นว่า มุสาวาทแม้เล็กน้อยก็เป็นโทษ จึงงดเว้น ไม่กล่าวมุสาวาทเลย มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องพูดในสิ่งที่ไม่จริง เพื่อใคร เพื่ออะไร เพื่อบุคคลอื่น หรือว่าเพื่อตัวท่านเอง เพราะฉะนั้น ก็ต้องเต็มไปด้วยฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ ในขณะที่กล่าวคำไม่จริง

    บุคคลในอดีต ที่มั่นคงในการงดเว้นมุสาวาทเพราะเห็นว่าเป็นโทษ มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจมั่นคงของท่านใน ขุททกนิกายชาดก จัมเปยยชาดก มีข้อความว่า

    ข้อ ๒๑๙๒

    พระยานาคราชกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระราชา ถึงแม้ว่าลมจะพึงพัดภูเขาไปก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี ถึงกระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย

    ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้าจะทำลายไป ทะเลจะเหือดแห้งไป มหาปฐพีมีนามว่าภูตธรา และพสุนธราจะพึงม้วนได้ เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งราก ถึงกระนั้นข้าพระพุทธเจ้าจะไม่กล่าวคำเท็จเลย

    นี่คือท่านที่มีความตั้งใจมั่นในขณะนั้นที่จะไม่กล่าวเท็จ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งนั้น ก็จะไม่กล่าวเท็จ ถ้าทะเลจะเหือดแห้งไป มีใครจะทำอะไรได้ไหม ก็มีปัจจัยที่จะให้ทะเลเหือดแห้งไป ทะเลก็เหือดแห้งไป แต่ด้วยเหตุไรเล่าจึงจะต้องทำอกุศลกรรม คือ มุสาวาท

    ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมุสา ไม่ว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี พอถึงกาลถึงสมัยที่พระอาทิตย์จะเผาผลาญแผ่นดิน จะทำลายโลก เหตุการณ์นั้นก็ต้องเกิดขึ้นตามควรแก่ปัจจัยนั้น

    แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี ก็เป็นเรื่องที่ยับยั้งไม่ได้ ท้องฟ้าจะทำลายไป ทะเลจะเหือดแห้งไป มหาปฐพีจะม้วนได้ เมรุบรรพตจะพึงถอนไปทั้งราก บุคคลนั้นในขณะนั้นก็มั่นคงที่จะไม่กล่าวมุสาวาทเลย

    เป็นเรื่องซึ่งควรจะตั้งใจ ส่วนกระทำได้จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นมั่นคงที่จะละเว้นมุสาวาท หรือว่ายังมีกิเลสที่เกิดขึ้นเป็นไปทำให้กระทำมุสาวาท

    ข้อความใน มหาสุตโสมชาดก ข้อ ๓๓๖ ก็มีข้อความที่คล้ายคลึงกัน

    นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนใด เหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนนั้น ย่อมไม่รักษานรชนนั้นจากทุคติได้เลย ถ้าแม้ลมจะพึงพัดเอาภูเขามาได้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึงตกลงมา ณ แผ่นดินได้ และแม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสได้ ถึงอย่างนั้น หม่อมฉันก็ไม่พึงพูดเท็จเลย พระราชา

    ฟ้าพึงแตกได้ ทะเลพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูติพึงพลิกได้ เมรุบรรพตจะพึงเพิกถอนได้พร้อมทั้งราก ถึงอย่างนั้นหม่อมฉันก็จะไม่กล่าวเท็จเลย

    ข้อความที่ว่า นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนใด เหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนนั้น ย่อมไม่รักษานรชนนั้นจากทุคติได้เลย คือ บางท่านมีความจำเป็นที่จะต้องมุสาเพื่อประโยชน์ของตนในชาตินี้ เหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนในชาตินี้นั้น ย่อมไม่รักษานรชนนั้นจากทุคติได้เลย อาจจะทำให้แก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบันชาตินี้ได้บ้าง แต่ผลของมุสาวาทนั้น ย่อมทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

    ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุให้ประพฤติอกุศลกรรม แต่ผู้ที่เห็นโทษ ก็มีเจตนาที่จะวิรัติเท่าที่สามารถจะกระทำได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ขัดเกลา แม้ว่ากุศลกรรมจะกระทำให้ท่านเกิดในตระกูลดี มีทรัพย์ มียศ มีสมบัติทุกสิ่งทุกประการ แต่ก็ยังมุสาวาทได้ตลอด เพราะท่านไม่เห็นว่าเป็นโทษ แม้ไม่มีความจำเป็นที่จะมุสาวาทเลย และบุคคลนั้นก็เป็นผู้ว่าง ไม่มีกิจการงานใดที่จะต้องประกอบการอาชีพ ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องมุสา แต่กระนั้นกิเลสอกุศลที่สะสมมา ก็ทำให้เกิดมุสาวาทขึ้น

    มีไหมอย่างนี้ นึกขึ้นมา ฝันในเรื่องต่างๆ และก็พูดเรื่องที่ไม่จริงต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความวิจิตรของจิต ถ้าท่านเห็นบุคคลใดที่สะสมอกุศลธรรมมามากกล่าวมุสา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมุสาเลย ท่านย่อมจะเห็นว่า โทษของการไม่ขัดเกลากิเลสนั้นเป็นอย่างนี้ เมื่อเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ท่านก็เว้นที่จะไม่กระทำอย่างนั้น และขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น แต่ที่กิเลสจะดับได้จริงๆ นั้น ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    ขอกล่าวต่อถึงศีลข้อที่ ๕ คือ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๖๐ มีข้อความเกี่ยวกับ กรรมบถ ๑๐

    กุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง

    ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

    ๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

    ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการประพฤติผิดในกาม

    ๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเท็จ

    ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดส่อเสียด

    ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดคำหยาบ

    ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ

    ๘. อนภิชฌา ความไม่โลภอยากได้ของเขา

    ๙. อัพยาบาท ความไม่ปองร้ายเขา

    ๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

    ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่มีสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี แต่ในศีล ๕ ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๒๘๖ มีข้อความกล่าวถึงศีล ๕ คือ

    สิกขาบท ๕ อย่าง

    ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการฆ่าสัตว์

    ๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการลักทรัพย์

    ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการประพฤติผิดในกาม

    ๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการพูดเท็จ

    ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    ในกุศลกรรมบถไม่มีศีลข้อที่ ๕

    การที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ เพราะเห็นโทษของการดื่มน้ำเมา การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้น ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างมาก ขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นเป็นเพราะกิเลส เป็นเพราะอวิชชาที่ทำให้หลงลืมสติ

    วันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก เพราะกิเลสมีมาก เป็นปัจจัยให้หลงลืมสติ และถึงแม้จะอบรมเจริญสติ ก็ยังคงหลงลืมสติอยู่ ไม่สามารถที่จะมีสติได้ตลอดเวลา เมื่อกิเลสยังมีอยู่ ก็เป็นปัจจัยใหหลงลืมสติ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้น จึงไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เป็นบุคคลผู้หลงลืมสติได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า เห็นคุณของสติ และเห็นโทษของการหลงลืมสติ

    น้ำเมาทำให้หลงลืมสติ เป็นโทษอย่างมาก เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงไม่มีอกุศลจิตที่จะดื่มน้ำเมา เป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕

    การที่บุคคลใดจะงดเว้นอกุศล ก็แล้วแต่ว่า เห็นโทษของอกุศลนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นโทษ ก็ไม่งดเว้น เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า ท่านเห็นโทษมากน้อยเพียงใด

    มีท่านผู้ฟังบางท่านบอกว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่ไม่บังคับ ท่านดื่มสุราได้ ก็เป็นเรื่องของท่านผู้นั้น ไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับได้ แม้ว่าได้ฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติ แต่ท่านก็ยังคงดื่มสุราบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น

    บุคคลที่ไม่ดื่มเหล้า แต่ไม่เจริญสติปัฏฐานมีไหม ก็มีมาก ถ้ามีศรัทธาในคำสอน ไม่ว่าจะในศาสนาไหนก็ตาม ถ้าผู้ที่เป็นศาสดาสอนให้เว้นการดื่มสุรา บุคคลนั้นก็ไม่ดื่มสุรา แต่ว่าไม่ได้สอนเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน บุคคลนั้นก็ไม่เจริญสติปัฏฐาน เพียงแต่เป็นผู้ที่เว้นการดื่มสุรา แต่ไม่ใช่ด้วยการอบรมเจริญสติ เกิดหิริ รังเกียจในกิเลส ในการหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แล้วแต่ความวิจิตรที่ได้สะสมมา

    สำหรับท่านที่ไม่งดเว้นสุรา แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ท่านก็อาจจะคิดถึงเจ้าสรกานิศากยะซึ่งเป็นผู้ที่ดื่มสุรา แต่ก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็น พระโสดาบันบุคคลก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะบังคับได้ แต่ขอให้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย ส่วนท่านจะงดเว้นได้มาก ได้น้อยประการใด ก็เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564