รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 049


    ตอนที่ ๔๙

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อะไรมา สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย มีผมเป็นต้นมา

    ถ้าจะไปพบผมข้างนอกตกอยู่แถวไหนก็ตาม ผมมาจากไหน ก็ต้องมาจากกาย

    โดยเหตุที่การมาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย จึงเรียกว่า กาย

    คำว่า กายานุปัสสี แปลว่า ผู้มีปกติเล็งเห็นซึ่งกาย หรือผู้เล็งเห็นอยู่ซึ่งกาย

    ถึงพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายอันมีแล้ว ก็ควรทราบว่า ทรงพูดถึงกายเป็นคำที่สองอีกว่า กายานุปัสสี ดังนี้

    ในมหาสติปัฏฐาน กาเยกายานุปัสสี

    กาเย คำแรก ได้แก่ สรรพกาย กายทั้งหมด

    ส่วนกายา คำหลังนั้น ได้แก่ กายเฉพาะส่วน เช่น ผม เป็นต้น

    ซึ่งต้องแตก ต้องย่อย ถ้าไม่แตก ไม่ย่อย ไม่กระจัดกระจายแล้ว ไม่มีหนทางที่จะละการยึดถือย่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล ได้เลย เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานที่จะรวมๆ เอาไว้ ไม่แยก ไม่กระจัดกระจาย จะไม่มีโอกาสประจักษ์สภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่กระจัดกระจาย ไม่แยกรูปออกเป็นแต่ละรูป แต่ละส่วน การยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลเป็นตัวตนก็จะหมดสิ้นไปไม่ได้เลย ก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ข้อความมีว่า ถึงแม้ผู้มีพระภาคตรัสว่า กายอันมีแล้ว ก็ควรทราบว่า ทรงพูดถึงกายเป็นคำที่ ๒ อีกว่า กายานุปัสสี ดังนี้ แล้วก็จริง แต่ก็ยังมีพยัญชนะที่ว่า กายานุปัสสี คือเห็นกายที่เป็นส่วนๆ ที่กระจัดกระจายออกเป็นส่วนๆ ไม่ใช่เห็นรวมกัน

    เพื่อทรงแสดงซึ่งการกำหนด และการแยกกัน ซึ่งความเป็นก้อนเป็นแท่ง เป็นต้น โดยไม่เจือกัน คือ ไม่เล็งเห็นเวทนาในกาย ไม่เล็งเห็นจิตหรือธรรมในกาย เป็นอันทรงแสดงซึ่งการกำหนดในวัตถุคือกายว่า ผู้เล็งเห็นกายดังนี้ ด้วยการแสดงซึ่งอาการแห่งการเล็งเห็นกายโดยไม่เจือกัน

    อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เล็งเห็นธรรมอันใดอันหนึ่ง นอกจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ไม่ใช่เล็งเห็นหญิงและบุรุษ พ้นจากผมและขน เป็นต้น

    คือในข้อนี้ กายแม้อันใด อันได้แก่ประชุมแห่งภูตรูป และอุปาทายรูป มีผมและขน เป็นต้น ไม่ใช่เล็งเห็นธรรมอย่างเดียว อันนอกไปจากภูตรูป และอุปาทายรูป แม้ในกายนั้น ที่กายเมื่อพิจารณาแล้ว ที่จะไปเห็นธรรมอื่นอีกนอกจากมหาภูตรูปและอุปทานภายในรูปในกายนั้นไม่มี และมหาภูตรูปก็ได้ทรงแสดงไว้แล้ว อุปาทายรูปก็ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาแยกส่วนของรูปที่ประชุมรวมกัน ก็จะมีแต่ลักษณะของมหาภูตรูป และอุปาทายรูปตามที่ได้ทรงแสดงไว้ และตามสภาพของความเป็นจริง แต่ไม่ใช่จะเล็งเห็นธรรมอื่นอันนอกไปจากมหาภูตรูป และอุปาทายรูปที่กายนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ตามที่ถูก ได้แก่ ผู้เล็งเห็นซึ่งการประชุมแห่งอวัยวะ เหมือนผู้เล็งเห็นซึ่งเครื่องรถ คือ ผู้เล็งเห็นการประชุมแห่งผมและขน เป็นต้น เหมือนผู้เล็งเห็นซึ่งอวัยวะแห่งบ้านเมือง คือ ผู้เล็งเห็นซึ่งความประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทายรูป อันเป็นเหมือนการแยกกันแห่งต้นกล้วยและใบกล้วย และเป็นเหมือนแบกำมือเปล่า

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้ทรงแสดงซึ่งการแยก ซึ่งความเป็นก้อนเป็นแท่งออก ด้วยการทรงแสดงวัตถุ คือ กาย อันหมายความว่า ประชุมโดยประการต่างๆ

    คือในข้อนี้ คำว่า กาย หรือ สตรี บุรุษ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากประชุมตามที่กล่าวแล้วไม่มีเลย สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำซึ่งความถือผิดด้วยอาการนั้นๆ ในวัตถุอันสักว่าประชุมแห่งของธรรมดาตามที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า

    บุคคลพบสิ่งใด ชื่อว่า ไม่เห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งใด ชื่อว่า ไม่พบสิ่งนั้น เมื่อไม่พบก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่พ้น ดังนี้

    ได้กล่าวคำนี้ไว้ เพื่อแสดงซึ่งการแยกความเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นต้น

    พบความจริงของสภาพธรรมกันแล้วหรือยัง ยังไม่พบถ้าไม่เจริญสติ ปัญญาไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่พบสัจธรรม ไม่พบสภาพธรรมตามความเป็นจริง บุคคลพบสิ่งใด ชื่อว่าไม่เห็นสิ่งนั้น เวลาที่ยังไม่พบสภาพธรรมตามความเป็นจริง อะไรบ้าง เห็นสัตว์ เห็นบุคคล เห็นวัตถุ เห็นสิ่งของต่างๆ เป็นตัวตนบ้าง เป็นสัตว์ เป็นบุคคลบ้าง กำลังนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง เมื่อประชุมรวมกันก็ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ไม่ว่าจะเป็นรูป ที่กายของสัตว์บุคคล หรือว่าที่รูปวัตถุภายนอกก็ตาม เวลาที่ประชุมรวมกันแล้วจะต้องทรงอยู่ในลักษณะอย่างใด ถ้าเป็นคนเป็นสัตว์ก็กล่าวว่า ตั้งอยู่ ทรงอยู่ ในอิริยาบถนั้น ในอิริยาบถนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปภายในที่กาย ไม่ว่ารูปวัตถุภายนอกก็ตาม เมื่อประชุมรวมกันแล้ว ก็สามารถที่จะเป็นก้อนเป็นแท่งที่ตั้งอยู่ ทรงอยู่ ในลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด ถ้าเป็นคน บอกว่าคนนั่ง กระเป๋า เก้าอี้ ถ้าตั้งอยู่กับนอนลงไปเหมือนกันไหม ก็ยังมีสิ่งที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ให้ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในลักษณะอิริยาบถหนึ่ง อิริยาบถใดนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่พบความจริง ยังไม่พบสัจธรรม ยังไม่พบธรรม ท่านโบราณอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า เห็นสิ่งใด ชื่อว่าไม่พบสิ่งนั้น เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของ ไม่กระจัดกระจายออกไปเป็นรูปแต่ละทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ละรูปไป ถ้าไม่กระจัดกระจายแล้ว เห็นสิ่งใด ชื่อว่าไม่พบสิ่งนั้น ไม่พบรูปธรรมแต่ละรูปตามความเป็นจริง ไม่พบนามธรรมแต่ละนามธรรมตามความเป็นจริง ยังประชุมรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ บุคคลพบสิ่งใด ชื่อว่าไม่เห็นสิ่งนั้น ถ้าพบสัจธรรม รู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป อิริยาบถไม่มี สัตว์บุคคลไม่มีแล้วอิริยาบถจะมีได้อย่างไร โคทั้งตัวไม่มี คนทั้งคนไม่มี กระเป๋าทั้งใบไม่มี ต้นไม้ทั้งต้นไม่มี เป็นลักษณะของรูปแต่ละรูป เมื่อคนไม่มี สัตว์ไม่มี วัตถุสิ่งของไม่มี จะมีอิริยาบถนั่งนอนยืนเดินได้อย่างไร กระจัดกระจายออกหมดแล้ว ต้องกระจัดกระจายออก ถ้าไม่กระจัดกระจายออกก็ยังประชุมรวมกันเป็นก้อนทรงอยู่ตั้งอยู่ ก็ยังหลงยึดติดอยู่

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพิจารณาด้วย แม้แต่พยัญชนะข้อความที่ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวว่า บุคคลพบสิ่งใด ชื่อว่าไม่เห็นสิ่งนั้น ถ้าพบรูปทางตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่เป็นตัวตน ถ้าพบรูปทางหู ไม่มีอิริยาบถนั่งนอนยืนเดิน ถ้าพบกลิ่นตามความเป็นจริง ลักษณะของกลิ่นเท่านั้นที่ปรากฏ รสเท่านั้นที่ปรากฏ ร้อนเท่านั้นที่ปรากฏ อ่อนแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ อิริยาบถไม่มีสัตว์บุคคลไม่มี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็ในข้อนี้ ควรทราบเนื้อความแม้อันนี้ ด้วยคำว่า เป็นต้น คือ ผู้นี้เป็นผู้เล็งเห็นกายในกายอันหนึ่งเท่านั้น ไม่ชื่อว่าเล็งเห็นสิ่งอื่นๆ อธิบายอย่างไร อธิบายว่า

    บุคคลทั้งหลายย่อมแลเห็นพยับแดด แม้ในที่ไม่มีน้ำว่าเป็นน้ำ ฉันใด ก็แลเห็นซึ่งความเที่ยง ความสุข ความเป็นตัวตน ความสวยงามในกายนี้ อันไม่เที่ยง อันเป็นทุกข์ อันไม่ใช่ตัวตน อันไม่สวยงาม ฉันนั้น

    ตามที่ถูก ผู้เล็งเห็นซึ่งความประชุมแห่งกาย คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่เป็นตัวตน ความไม่สวยงามเท่านั้นชื่อว่า กายานุปัสสี อันแปลว่า ผู้เล็งเห็นซึ่งกาย

    อีกนัยหนึ่ง เบื้องหน้าแต่นี้ กายใดที่มีลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นเบื้องต้น มีกระดูกอันเน่าผุเป็นที่สุด ที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่าแล้ว ฯลฯ คำว่า ภิกษุนั้น เวลาหายใจออกก็มีสติ ดังนี้ก็ดี

    กายใดที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า บางคนในโลกนี้ย่อมเล็งเห็นปฐวีกาย อาโป กาย เตโชกาย วาโยกาย เกสากาย โลมกาย ฉวิกาย จัมกาย มังสกาย รูหิรกาย นหารูกาย อัฏฐิกาย อัฏฐิมิญชกาย ตามความเป็นของไม่เที่ยง ผู้นั้นชื่อว่า กาเยกายานุปัสสี อันแปลว่า ผู้เล็งเห็นกายในจำพวกกาย เพราะเล็งเห็นในกายนี้ โดยประการทั้งปวง ดังนี้

    อีกนัยหนึ่ง ควรเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้เล็งเห็นซึ่งกาย คือ ประชุมแห่งของธรรมดา มีผมเป็นต้น อันมีในกายต่างๆ ด้วยการเล็งเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ควรถือเอาอย่างนี้ว่า เรามีอยู่ในกายบ้าง กายเป็นของเราบ้าง และเล็งเห็นซึ่งประชุมแห่งอาการต่างๆ มีผมเป็นต้นนั้น

    อีกอย่างหนึ่ง ควรเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้เล็งเห็นซึ่งกายในจำพวกกาย เพราะเล็งเห็นซึ่งกาย อันได้แก่ประชุมแห่งอาการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ทั้งสิ้น อันมีนัยมาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทา โดยนัยเป็นต้นว่า เล็งเห็นตามความไม่เที่ยงในกายนี้ ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเที่ยง ดังนี้

    จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติตามกายานุปัสสนานี้ ย่อมเล็งเห็นกายนี้ว่า เป็นของไม่เที่ยง ด้วยอำนาจแห่งอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเที่ยง เล็งเห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเป็นสุข เล็งเห็นว่าไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเป็นตัวตน ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพลิดเพลิน ย่อมปราศจากความยินดี ไม่ใช่ยินดี ย่อมทำให้ดับ ไม่ใช่ทำให้เกิด ย่อมสละ ไม่ใช่ถือไว้ ผู้นั้นเมื่อเล็งเห็นสิ่งนั้นว่าไม่เที่ยง ก็ละความเข้าใจว่าเที่ยงได้ เมื่อเล็งเห็นว่าเป็นทุกข์ ก็ละความเข้าใจว่าเป็นสุขได้ เมื่อเล็งเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ละความเข้าใจว่าเป็นตัวตนได้ เมื่อหน่าย ก็ละความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลาย ก็ละความยินดีได้ เมื่อดับ ก็ละความเกิดขึ้นได้ เมื่อสละ ก็ละความยึดถือได้ ควรทราบอย่างนี้

    วิสุทธิมรรค ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส มีข้อความว่า

    ลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร อะไรปิดบังไว้

    ตอบว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้น และความดับไป และเพราะสันตติบังไว้

    ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และอิริยาบถปิดบังไว้

    อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะ ฆนะปิดบังไว้

    ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดดับไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สภาพที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มี ลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั่นเองเป็นลักษณะที่เป็นทุกข์ และเป็นลักษณะของอนัตตาไม่ใช่ตัวตนด้วย ลักษณะทั้ง ๓ นี้เป็นลักษณะของสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องดับไป การเกิดดับนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่าแยกกัน ฉะนั้นลักษณะทั้ง ๓ นี้เป็นสามัญญลักษณะ เป็นลักษณะธรรมดาของสังขารธรรมที่เกิดขึ้นและก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา สาธารณะทั่วไปหมด เป็นสามัญลักษณะธรรมทั้งปวง ไม่ว่าในภพไหน ในโลกไหน เพราะฉะนั้นข้อความที่ว่า อนิจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ ความเกิดขึ้นและความดับไป และเพราะสันตติปิดบังไว้ ข้อนี้คงไม่เป็นปัญหา สันตติการเกิดดับสืบต่อ สืบต่อกันไว้เรื่อยๆ ก็ทำให้ไม่ประจักษ์การเกิดดับ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ทุกลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนัสการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และอิริยาบถปิดบังไว้ สำหรับท่านที่คิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องพิจารณาอิริยาบถ นั่งจนเมื่อยแล้วก็เปลี่ยนเป็นยืนจนเมื่อย แล้วก็เปลี่ยนเป็นเดินจนเมื่อย ท่านก็กล่าวว่าอิริยาบถใหม่ปิดบังไว้ไม่ให้เห็นทุกข์ที่มีในขณะนั้น นี่ไม่ใช่ไตรลักษณ์ ทุกลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์นั้นคือ ความเกิดดับ ความบีบคั้นเนืองๆ ไม่ขาดสายคือ การเกิดขึ้นแล้วดับไปของสังขารธรรมที่ปรากฏทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เมื่อพิจารณาแล้ว ก็มีลักษณะที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าอิริยาบถนั่งเมื่อยเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้น เป็นสามัญญลักษณะของสังขารธรรมทุกชนิด ไม่ว่าในภูมิไหน อย่างในรูปพรหมภูมิไม่มีกายปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท พรหมจะนั่งเท่าไหร่ก็ไม่เมื่อย ไม่มีเมื่อยเลย เพราะฉะนั้นสำหรับพรหมภูมิก็ไม่มีทุกขลักษณะสิ ถ้าจะเอาทุกขเวทนาที่เกิดจากการนั่งว่าปิดบังความทุกข์ไว้ ก็ต้องไม่มีทุกขลักษณะ มีแต่อนิจจลักษณะ กับอนัตตลักษณะ ทุกลักษณะจะขาดไปไม่ได้ เพราะสิ่งใดที่เกิดปรากฏเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ แล้วแต่ว่า พรหมภูมิจะมีรูปกี่ชนิด มีนามกี่ชนิด ที่เกิดปรากฏและก็ดับลงไป ลักษณะที่บีบคั้นเนืองๆ เกิดแล้วดับเกิดแล้วดับนั้นเป็นทุกข์ แม้ในพรหมโลกก็จะต้องมีไตรลักษณ์ไม่ใช่เหลือเพียง ๒ ลักษณะ ถึงแม้ในอรูปพรหม ท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นพระโสดาบันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้วก็เจริญสติปัฏฐานต่อในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรม ถ้าอย่างนั้นอิริยาบถก็ไม่มีที่จะปิดบังไว้ ก็ต้องไม่มีทุกขลักษณะใช่ไหม แต่ไม่ได้เลย ไตรลักษณะนั้นเป็นสามัญญลักษณะของสาขารธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น แม้ในอรูปพรหมภูมิ นามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ความไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา แต่คำว่าอิริยาบถปิดบังไว้ ก็สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่มีรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วไม่แยกฆนะ ไม่กระจัดกระจายออก ก็ไม่ประจักษ์ความเป็นทุกขลักษณะคือความเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดที่ยังไม่กระจัดกระจาย ไม่แยกรูปที่ประชุมรวมกันแล้ว จะไม่ประจักษ์การเกิดดับซึ่งเป็นทุกข์เลย

    ข้อความต่อไปที่ว่า

    เมื่อมนสิการความเกิด และความดับแล้ว เพิกสันตติ อนิจจลักษณะก็ปรากฏ โดยสภาวะตามความเป็นจริง

    มาจากพยัญชนะที่ว่า สนฺตติยา วิโกปิตาย

    เมื่อใฝ่ใจถึงความบีบคั้นเนืองๆ เพิกถอนอิริยาบถเสีย ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามสภาพที่เป็นจริง

    ความนี้มาจากพยัญชนะที่ว่า อิริยาปเถ อุคฺฆาฏิเต

    เมื่อแยกธาตุต่างๆ แยกฆนะ คือ กลุ่มก้อนเสีย อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามสภาพที่เป็นจริง

    ความนี้มาจากพยัญชนะที่ว่า ฆนวินิพฺโพเค กเต

    ที่ว่าเพิกอิริยาบถ หมายถึงในขณะที่ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน อิริยาบถ แต่กระจัดกระจายฆนะคือความเป็นกลุ่มก้อนออก ไม่ให้อิริยาบถปิดบัง ก็จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นทุกข์ ยังควบคุมรวมกลุ่มกันเป็นก้อนเป็นแท่ง ที่จะไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เห็นโต๊ะ เห็นขวด เห็นถ้วยแก้ว เห็นเก้าอี้ ตั้งอยู่ ไม่กระจัดกระจายว่าเป็นรูปทางตา หรือว่าเวลาที่กระทบสัมผัสก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏลักษณะที่อ่อนแข็ง ที่ปรากฏทำกาย เพื่อความเป็นขวดที่ตั้งอยู่ แก้วที่ตั้งอยู่ ก็จะได้หมดไปหายไป มีแต่ลักษณะของรูป ที่กระทบสัมผัสแล้วเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ไม่ยึดถือรูปนั้นว่าเป็นตัวตน ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระจัดกระจาย แตกย่อยฆนะการรวมเป็นกลุ่มก้อนออก จึงจะประจักษ์ความเป็นอนัตตา แล้วจึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นแล้วดับไป แม้ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าต้องเมื่อยเสียก่อนแล้วจึงเปลี่ยน ทุกข์ถึงจะปรากฏ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่สอนสติปัฏฐาน ๔ เพื่อมุ่งไปสู่พระนิพพาน และอีกอาจารย์หนึ่งตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานก็เพื่อมุ่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกัน ใครจะถามอาจารย์ว่าทางไหนจะดีกว่ากัน และจะรวดเร็วกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงจะถามดิฉัน ไม่กลัวว่าจะตอบว่าทางนี้จะถูกหรือ ไม่ควรที่จะนับถือคำพูดของบุคคล แต่ควรพิจารณาเหตุผล ฟังไปพิจารณาไป ตรวจสอบ เทียบเคียงกับความเป็นจริงและสภาพธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นความเห็นของแต่ละคนก็ย่อมจะคลาดเคลื่อนได้ แต่ว่าถ้าตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง และผู้ที่ตรัสรู้แจ้งแล้วได้ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ผู้ที่ศึกษาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าไม่คลาดเคลื่อน เป็นทางเดียว เอกายนมัคโค การเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาแปลว่า ปัญญาที่รู้ชัด พร้อมกับสติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    6 ก.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ