รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 044


    ตอนที่ ๔๔

    ถ้าสติของผู้นั้นระลึกรู้ลักษณะของกาย ก็รู้เฉพาะลมหยาบหรือละเอียด โดยนัยที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ถ้าในขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของเวทนาว่าความสุขในขณะนั้นประกอบด้วยปิติ หรือว่าปราศจากปิตินั่นเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เป็นมหัคคตะ ในขณะนั้นเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รวดเร็วมากทีเดียว เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จำกัดว่าจะเจริญแต่เฉพาะกายอย่างเดียว ให้รู้รูปอย่างเดียวไม่รู้อย่างอื่น นั่นไม่ถูกเลย ไม่เป็นการเจริญปัญญา การเจริญปัญญานั้น ไม่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกที่ลม เกิดความรู้สึกยินดีได้ไหม โสมนัสพอใจได้ เมื่อเกิดโสมนัสพอใจ สติเจริญระลึกลักษณะของเวทนาความรู้สึกโสมนัสยินดีนั้นได้ ผู้เจริญสติต้องระลึกรู้ ไม่ใช่ว่าทิ้งไปหมด ให้กลับมาจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียว ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วเป็นสมถภาวนา ไม่ใช่เป็นการเจริญสติ ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานจะก็รวดเร็วมาก ชำนาญมาก ไม่ว่านามใดปรากฏหลังจากที่ระลึกรู้ลักษณะของรูปแล้ว สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามนั้น ของความรู้สึกนั้น ของจิตนั้นได้ บางท่านกล่าวว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น อานาปานบรรพต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ก็ยิ่งน่าสงสัยใหญ่ว่าเมื่อเจริญสมถภาวนาจิตเป็นมหัคคตะคือเป็นฌานจิตแล้วจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้อย่างไร ก็ยิ่งต้องน่าสงสัยใหญ่เพราะว่าเปลี่ยนไปแล้ว เหมือนกับอสุภบรรพ กล่าวว่าต้องเจริญสมถภาวนาให้ฌาณกิจเกิดเสียก่อน ระลึกถึงความเป็นอสุภะจนกระทั่งจิตสงบเป็นปฐมฌานแล้วก็ถึงเป็นบาทของวิปัสสนา นั่นไม่ใช่กายาฯ แล้ว ระลึกถึงมหัคคตจิตจะเป็นกายานุปัสสนาได้อย่างไร แต่ว่าโดยความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานยังคงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติที่ระลึกรู้กาย แล้วก็เห็นกายในกายนั้นเอง ถ้าท่านจะย้อนกลับไปอ่านทบทวนอานาปานบรรพ ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว จะไม่มีเวทนาหรือปิติอยู่ในหมวดนั้นเลย

    อรรถกถาของทีฆนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อความว่า

    ชาวเมืองกุรุเจริญสติปัฏฐานกัน เวลาพบปะกันก็ถามกันว่า เจริญสติปัฏฐานหมวดใด

    ก็อาจจะเป็นข้อสงสัยว่า คนนั้นคงจะเจริญแต่สติปัฏฐานหมดนั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่เหมือนกัน คนระลึกรู้ทางตาก่อนอย่างอื่น ถามเขาก็บอกว่า ไม่ได้ระลึกรู้นามอื่นรูปอื่นเลย ระลึกรู้ทางตาบ่อยมากกว่าอย่างอื่น ทำไมเรายังคุยกันได้อย่างในสมัยนี้ ในสมัยโน้นก็เหมือนกัน ผู้นั้นก็บอกว่าในวันนั้น จิตโน้มไปหรือว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งใดวันนั้น แต่ไม่ใช่ว่าหมายความว่า ผู้นั้นจะเจริญอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิต เพราะว่าปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจนละคลายความสงสัยความไม่รู้ เมื่อผู้นั้นระลึกรู้ลักษณะของนามเห็นบ่อยๆ เนืองๆ กว่าทางอื่น แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของสีบ่อยๆ เนืองๆ กว่าทางอื่น ผู้นั้นก็ทราบว่าคนทางนี้เป็นหนทางที่ให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามทางตาที่เห็นกับสีที่กำลังปรากฏทางตา แต่ว่ายังไม่ได้มนสิการระลึกรู้ลักษณะของนามทางหู นามทางจมูก หรือทางอื่นๆ เลย เมื่อสติระลึกรู้ความจริงข้อนี้เป็นปัจจัย ก็ทำให้ในภายหลังสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามทางอื่น รูปทางอื่นต่อไปในวันหนึ่งๆ เรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นชินขึ้น แต่ไม่ใช่ไประลึกรู้รูปเดียวตลอดเวลา สำหรับท่านที่เคยได้ยินได้ฟังว่า ให้ระลึกรู้แต่เฉพาะรูปอย่างเดียวและก็รูปเดียวด้วย ขอให้คิดว่าเจริญสติอย่างไรถึงได้ไปรู้รูปเดียวได้ น่าอัศจรรย์ไหม คนนั้นก็มีเห็นตลอดทั้งวัน มีได้ยินตลอดทั้งวัน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ และก็เจริญสติปัฏฐานอย่างไรจึงได้สามารถที่จะไปรู้รูปอยู่ได้รูปเดียว นั่นไม่ใช่การเจริญสติ แต่ว่าเป็นการบังคับสติ โดยที่ผู้นั้นไม่ทราบเลยว่า เป็นไปด้วยความต้องการหรือไม่ ขณะที่สิ่งอื่นก็มีปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าผู้นั้นไม่รู้แล้วก็ไปรู้อยู่ได้เพียงอย่างเดียว เป็นการบังคับสติหรือไม่ใช่ เป็นไปด้วยอำนาจของความต้องการหรือไม่ใช่

    ท่านผู้ฟังถามในคราวก่อนว่า ผู้ที่เดินไปแล้วก็บรรลุพระอรหันต์ได้ไม่ปฏิเสธเลย แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่รู้ลักษณะของนามทางตารูปทางตา นามทางหูรูปทางหูในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านไปรู้อยู่ที่รูปที่ปรากฏในขณะที่เดินเพียงเท่านั้น ปัญญาของผู้ที่เป็นพระอรหันต์นั้นต้องละความยึดถือในสังขารธรรมทั้งปวงด้วยการรู้ชัด ไม่ใช่เพียงขั้นพระโสดาบันเท่านั้น แต่ยังมีปัญญาเพิ่มพูนจนกระทั่งละกิเลสได้หมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่วิสัยหรือว่าไม่ใช่ความจริงที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเจริญสติแล้วรู้เพียงรูปรูปเดียว เป็นสิ่งที่ผิดปกติเป็นไปไม่ได้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นไปได้อย่างไรในเมื่อขณะนี้ชีวิตจริงๆ ของทุกคนมีเห็น มีสี มีได้ยิน มีเสียง มีได้กลิ่น มีกลิ่นปรากฏ มีการลิ้มรส มีรสปรากฏ มีเย็นร้อนอ่อนแข็ง มีการคิดนึก มีสุขมีทุกข์ โดยที่ไม่ต้องบังคับเลยแต่ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้ว การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สิ่งที่มีจริงตามปกติจึงจะชื่อว่าเป็นความรู้ ไม่ใช่ว่ายังคงไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้อยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อชีวิตจริงๆ เป็นปกติไม่รู้ทางไหนบ้าง การเจริญสติปัฏฐานก็เป็นการเจริญปัญญาเพื่อรู้สิ่งที่เคยไม่รู้ตามปกติ ไม่ใช่ไปบังคับให้จดจ้องอยู่ที่รูปอย่างเดียว ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วเป็นด้วยความต้องการและเป็นการบังคับสติแน่นอน ทำไมสิ่งอื่นมีแล้วไม่รู้ ขณะนั้นขณะที่เห็นแล้วไม่รู้ชื่อว่าสังวรทางตาได้ไหม ขณะที่ได้ยินทางหูแล้วไม่รู้ชื่อว่าสังวรทางหูได้ไหม ถ้าไม่สังวรขณะนั้นจิตเป็นโมหมูลจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต เพราะฉะนั้นยังคงไม่สังวร คือไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าสติไม่ระลึกรู้ปัญญาก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ชัด แล้วก็ขอให้พิจารณาว่าความจริงเป็นไปได้ไหมที่สติจะระลึกรู้เพียงลักษณะของรูปเพียงรูปเดียวถ้าไม่ใช่การบังคับสติ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าไม่ใช่การบังคับสติแล้วจะรู้รูปเพียงรูปเดียวเท่านั้นไม่ได้ นามอื่นก็รู้ รูปอื่นก็รู้ตามปกติ ตามความเป็นจริง เป็นการกั้นสติไว้ถ้ารู้รูปเพียงรูปเดียว

    สำหรับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ทุกท่านก็คงจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ใช่หมกมุ่นเพลิดเพลินไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ด้วยการที่เคยเป็นไปกับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปของนามตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าการเจริญสตินั้นเป็นประโยชน์ทุกเมื่อ ทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นในที่ใดก็ตาม มีท่านผู้ใดทราบไหมว่า ท่านจะสิ้นชีวิตลงในขณะไหน ในสถานที่ใด ที่โรงพยาบาลได้ไหม เจริญสติปัฏฐานที่โรงพยาบาลได้ไหม ที่โรงพยาบาลมีคนมาก คนไข้มาก หมอมาก พยาบาลมาก เป็นที่ที่ท่านจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าท่านคิดว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นท่านจะต้องอยู่ตามลำพังในห้องเล็กๆ เท่านั้นเอง ออกมาก็ไม่ได้ เห็นใครก็ไม่ได้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นท่านจะเป็นผู้ประมาทไหม เพราะเหตุว่าผู้ที่มีปัญญานั้น แม้เมื่อจะสิ้นชีวิต ก็ยังเป็นประโยชน์ หมายความว่าถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เนืองๆ บ่อยๆ ท่านจะสิ้นชีวิตที่โรงพยาบาลมีผู้คนมาก ไม่ได้อยู่ในห้องตามลำพังเห็นคนเดียว แต่เพราะเหตุว่าท่านเจริญสติเป็นปกติ ปัญญาย่อมเป็นประโยชน์ได้แม้ในขณะที่จะสิ้นชีวิต แล้วท่านจะทราบได้ยังไงว่าท่านจะสิ้นชีวิตที่ไหน ที่กลางถนนสิ้นชีวิตได้ไหม มีรถยนต์มาก มีผู้คนข้ามถนนมาก มีร้านขายต่างๆ สารพัดอย่าง มีเสียงสารพัดเสียง ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่มีปกติเจริญสติแล้ว ใกล้จะตายหรือว่าในขณะที่จะสิ้นชีวิต ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร สติจะเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ท่านจะต้องเจริญสติปัฏฐานจนเป็นปกติไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม เพราะเหตุว่าท่านไม่ทราบว่าท่านจะสิ้นชีวิตลงที่ไหน แต่ว่าถ้าท่านได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เจริญปัญญาแล้ว แม้ในขณะที่จะสิ้นชีวิตปัญญานั้นก็ยังเป็นประโยชน์ได้ เวลาขับรถยนต์สิ้นชีวิตได้ไหม ได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติแม้ในขณะที่ขับรถยนต์ เวลาที่ท่านจะสิ้นชีวิต ปัญญาจะเกิดได้ไหม เกิดไม่ได้ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ปัญญาก็ย่อมสามารถจะเกิดได้แม้ในขณะที่ท่านจะสิ้นชีวิตในขณะที่กำลังขับรถยนต์ ปัญญาเกิดได้ไหม ถ้าปัญญาเกิดได้เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเคยเจริญเป็นปกติแม้ในขณะนั้นปัญญาจึงจะเกิดได้ ไม่จำกัดเลย กำลังรับประทานอาหารอร่อยๆ สิ้นชีวิตได้ไหม ได้อีกเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ปัญญาจะเกิดในขณะนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่ว่าจะนั่งที่ไหน รับประทานอาหารที่ไหน เห็นอะไร ได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แล้วแม้ว่าท่านจะสิ้นชีวิตในขณะที่รับประทานอาหารอร่อยๆ ปัญญาก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แม้ในขณะที่จะสิ้นชีวิต นี่ก็เป็นเหตุเป็นผลอยู่ซึ่งเลือกไม่ได้เลย เมื่อความตายเลือกไม่ได้ ทำไมจึงจะยับยั้งการเจริญสติปัฏฐานซึ่งควรจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    ในพระไตรปิฎก ท่านก็คงจะเคยได้ยินพยัญชนะที่ว่า ให้เร่งรีบหรือว่ามีความเพียรในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ให้ท่านรีบไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด นั่นยังเร่งรีบน้อยไปใช่ไหม กว่าจะไปถึงก็ไม่ใช่เร่งรีบเสียแล้ว แต่ว่าถ้าเร่งรีบจริงๆ แล้ว ทุกขณะที่ระลึกได้ในขณะนี้ เหมือนบุคคลที่ถูกไฟไหม้ศีรษะ เป็นผู้ที่ไม่ประมาท โดยการที่ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เห็นอะไร สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ ทุกบรรพเป็นปกติตั้งแต่ลมหายใจ จนกระทั่งถึงอสุภะ อสุภะก็เคยเห็นกันใช่ไหม ซากศพต่างๆ ตัวท่านเองไม่ผิดกันเลย เพียงแต่ยังไม่เปิดออกมาให้เห็น ไม่มีอะไรที่ต่างกันเลยกับอสุภะ แต่ยังปิดเอาไว้ แต่ว่าถ้าผู้ใดระลึกได้ในความเป็นอสุภะ ผู้นั้นก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นเครื่องระลึกที่เกี่ยวกับกายแม้แต่การระลึกถึงอสุภะก็ระลึกที่กาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เห็นก็รู้ แทนที่จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ได้ยินก็รู้ แทนที่จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ รู้เรื่องรู้ความหมายก็เป็นนามที่เกิดต่อทางใจ เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ผิดปกติเลย

    ดิฉันเคยเรียนให้ทราบแล้วว่า เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่ลมหายใจไปจนกระทั่งถึงเห็นกระดูกที่ผุจนเป็นผง นั่นเป็นกายส่วนหนึ่งสติระลึกและก็รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าไม่ระลึก หลงลืมสติ เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ ที่ว่าเร่งรีบหรือว่าให้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ว่าให้ไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใด นั่นช้าไป ช้าไปมากทีเดียว เร่งรีบจริงๆ ก็คือระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ ในขณะนี้นั้นเอง

    ถ้าศึกษาจากพระสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หรือว่าสติปัฏฐานสูตรในนิกายต่างๆ แล้วก็ตาม ก็ยังทรงอนุเคราะห์ด้วยการตรัสถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สติจะต้องระลึกรู้ชัด เพื่ออนุเคราะห์ให้ทราบว่า เวลาที่สติระลึกแล้ว ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างไร

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม พระภิกษุชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เพราะทราบว่าการเจริญปัญญานั้นจะต้องเจริญอย่างนั้นจริงๆ จึงจะละการเห็นผิด การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ แต่ผู้ฟังสมัยนี้ ถ้าได้ฟังเรื่องของมหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับอายตนะทั้งภายในภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ชื่นชมไหม ถ้าคนในสมัยนี้คิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นมากเกินไป ก็ไม่ชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    มีข้อความเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านผู้ฟังยังสงสัยในการเจริญสติปัฏฐาน อย่างพยัญชนะที่ว่ามหาบุรุษ เคยได้รับคำถามจากท่านผู้ฟังว่า คำว่า มหาบุรุษ นั้นหมายความถึงผู้ใด เพราะบางท่านก็ไม่กล้าระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ เพราะลมหายใจเป็นส่วนของกายที่ละเอียดมาก เป็นวิสัยของมหาบุรุษ แต่ถ้านามรูปใดปรากฏกับท่านผู้ใดก็ไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ไปขวนขวายที่จะรู้สิ่งที่เป็นวิสัยของท่านผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏกับท่าน

    สำหรับท่านที่เข้าใจว่า มหาบุรุษ หมายเฉพาะพระผู้มีพระภาค ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มหาปุริสสสูตร สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ามหาบุรุษ มหาบุรุษดังนี้ บุคคลทั้งหลายเป็นมหาบุรุษได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่ามหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น

    ดูกร สารีบุตร ก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

    ข้อความต่อไป

    พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

    ดูกร สารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น

    อีกนัยหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจว่าหมายเฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต (วัสสการสูตร) ข้อ ๓๕ มีข้อความว่า

    ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า พวกตนย่อมบัญญัติผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการ คือ

    รู้อรรถความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ๑ เป็นผู้มีสติระลึกสิ่งที่ได้กระทำ คำที่พูดแล้วแม้นานได้ ๑ เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในกรณียกิจอันเป็นของคฤหัสถ์ ๑ มีปัญญาพิจารณาจัดทำกรณียกิจนั้นได้ ๑

    นี่เป็นมหาอำมาตย์ มหาบุรุษของมหาอำมาตย์จึงเป็นในลักษณะนั้น

    วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์พึงอนุโมทนา ขอท่านพระโคดมทรง อนุโมทนาแก่ข้าพระองค์ แต่ถ้าข้าพระองค์พึงคัดค้าน ขอท่านพระโคดมทรงคัดค้านแก่ข้าพระองค์ ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พระองค์ไม่ทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์เลย พระองค์ไม่ทรงคัดค้านเลย พระองค์ย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการ คือ

    บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนมากให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรรู้ เป็นอริยะ ได้แก่ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ๑


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 9
    3 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ